การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3111 (LAW 3011) กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. จงตอบคําถามดังต่อไปนี้

Advertisement

1.1 ประเด็นข้อพิพาทคืออะไร ศาลจะสามารถตั้งประเด็นข้อพิพาทได้อย่างไร และหากคู่ความ
ไม่เห็นด้วยกับการตั้งประเด็นข้อพิพาทของศาลจะต้องทําอย่างไร

1.2 โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหาย จําเลย ยื่นคําให้การว่าจําเลยไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท ความประมาทเกิดจากฝ่ายโจทก์ กรณีเช่นนี้ ภาระการพิสูจน์ตกแก่ฝ่ายใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏจากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจ คําคู่ความและคําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใด
ก่อนหรือหลังก็ได้

คู่ความมีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นําสืบที่ศาลกําหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลง ด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคําร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลสั่งกําหนดประเด็นข้อพิพาทหรือ
หน้าที่นําสืบ ให้ศาลชี้ขาดคําคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยาน คําชี้ขาดคําคัดค้านดังกล่าวให้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 226

วินิจฉัย

1.1 ประเด็นข้อพิพาท คือ ประเด็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง ในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเกี่ยงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถามคู่ความทุกฝ่าย ถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็น ข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

ในกรณีที่คู่ความไม่เห็นด้วยกับการตั้งประเด็นข้อพิพาทของศาล คู่ความมีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทที่ศาลกําหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยคู่ความที่ไม่เห็นด้วยจะต้องแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้น หรือยื่นคําร้องต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ศาลสั่งกําหนดประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคสาม) มิฉะนั้นจะถือว่าสละประเด็นข้อพิพาทนั้น

1.2 กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่าจําเลยขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์ของ โจทก์ได้รับความเสียหาย จําเลยยื่นคําให้การว่าจําเลยไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท ความประมาทเกิดจากฝ่ายโจทก์นั้น ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จําเลยประมาททําให้โจทก์เสียหายตามฟ้องหรือไม่ เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่า จําเลยขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่จําเลยให้ปฏิเสธว่าจําเลยไม่ได้ประมาท ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจําเลยเป็นฝ่ายประมาท แต่จําเลยปฏิเสธ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

สรุป ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจําเลยขอให้ศาลลงโทษฐานลักทรัพย์ในเคหสถาน จําเลยให้การปฏิเสธ ทางพิจารณาโจทก์มีพยานซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจําเลยมีความผิด ดังนี้

(1) นายหนึ่งผู้เสียหายเบิกความว่า หลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจ นายสองซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับบ้านของ ผู้เสียหายบอกแก่ผู้เสียหายว่าเห็นจําเลยซึ่งเป็นคนรู้จักกันมาก่อนเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของผู้เสียหาย

(2) นายสองประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งเป็นญาติกับผู้เสียหายเบิกความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ นายสองเห็นจําเลยซึ่งเป็นคนรู้จักกันมาก่อน แต่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน เข้าไปลักทรัพย์ ในบ้านของผู้เสียหาย โดยก่อนเบิกความ นายสองไม่ได้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณตน ด้วยความพลั้งเผลอ แต่ได้สาบานตนต่อหน้าศาลหลังจากเบิกความเสร็จแล้วทันทีในวันนั้นว่าข้อความที่ตนเบิกความไปแล้วเป็นความจริง

(3) สิบตํารวจโทสามผู้จับกุมจําเลยเบิกความตามบันทึกการจับกุมที่พยานเป็นผู้ทําขึ้นว่าชั้นจับกุมจําเลยให้ถ้อยคําด้วยความสมัครใจรับว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจําเลยได้กระทําผิดตามฟ้องจริง รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุมที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานต่อศาล ให้วินิจฉัยว่า คําเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวรับฟังได้หรือไม่

ธงค่าตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 95 วรรคหนึ่ง “ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้น

(1) สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้
(2) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง…”

มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่…”

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 84 วรรคสี่ “ถ้อยคําใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจในขั้นจับกุม หรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคํานั้นเป็นคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทําความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน….”

มาตรา 226/3 “ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนํามาเบิกความต่อศาล หรือที่บันทึก ไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนําเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น
ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า

ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่

(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่นายหนึ่งผู้เสียหายเบิกความว่า หลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจ นายสองซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับ บ้านของผู้เสียหาย บอกแก่ผู้เสียหายว่า เห็นจําเลยซึ่งเป็นคนรู้จักกันมาก่อนเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของผู้เสียหายย่อมถือว่านายหนึ่งผู้เสียหายทราบข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นโดยตรงในคดีมาจากนายสอง ซึ่งเป็นพยานบอกเล่า และห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงแวดล้อมที่หลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจ นายสองก็บอก แก่ผู้เสียหายว่านายสองเห็นจําเลยซึ่งรู้จักกันมาก่อนโดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนด้วย ได้เข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของผู้เสียหายไปตามฟ้องจึงเห็นได้ว่านายสองได้บอกแก่ผู้เสียหายพยานโจทก์ในระยะเวลา กระชั้นชิดกับที่เหตุเกิด นายสองยังไม่มีโอกาสไตร่ตรองเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นเพื่อปรักปรําใส่ร้าย จําเลยให้ต้องรับโทษ ดังนั้น คําเบิกความของนายหนึ่งพยานโจทก์ ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าจึงรับฟังได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3 (1) (คําพิพากษาฎีกาที่ 63/2533)

(2) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 91 ซึ่งนํามาใช้ในคดีอาญาได้ด้วย (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 15) ได้บัญญัติ หลักเกณฑ์ไว้ว่า พยานบุคคลที่ศาลจะรับฟังนั้นจะต้องสามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ และจะต้องเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงที่เรียกว่าประจักษ์พยาน และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ซึ่งนํามาใช้ในคดีอาญาได้ด้วยเช่นกันนั้น มีหลักเกณฑ์ว่า ก่อนเบิกความพยานต้อง สาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน พยานบุคคลที่เบิกความโดยมิได้สาบานตน หรือปฏิญาณตนย่อมรับฟังไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี พยานบุคคลที่เบิกความโดยมิได้สาบานตนหรือปฏิญาณตนโดย ความพลั้งเผลอ หากให้การหรือเบิกความจบแล้ว ได้สาบานตนรับรองต่อศาลว่าข้อความที่ตนเบิกความไปแล้ว เป็นความจริง ถือได้ว่ามีการสาบานตนตามความมุ่งหมายของกฎหมายแล้ว คําเบิกความนั้นรับฟังได้ (คําพิพากษา ฎีกาที่ 693/2487 และ 217/2488)

การที่นายสองประจักษ์พยานโจทก์ซึ่งเป็นญาติกับผู้เสียหายนั้น ก็มิได้มีกฎหมายบัญญัติว่าห้ามมิให้รับฟังแต่อย่างใด และหากศาลเห็นว่านายสองเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและชอบด้วยเหตุผลพอให้ รับฟังได้ว่าเป็นจริง ศาลก็มีอํานาจรับฟังคําเบิกความของนายสองได้ (ฎีกาที่ 1351/2539) และแม้ว่านายสองได้ เบิกความโดยที่ก่อนเบิกความไม่ได้สาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณตนด้วยความพลั้งเผลอก็ตาม แต่เมื่อนายสองได้สาบานตนต่อหน้าศาลหลังจากเบิกความเสร็จแล้วทันทีในวันนั้นว่า ข้อความที่ตนได้เบิกความไปแล้วเป็นความจริง ก็ถือได้ว่ามีการสาบานตนตามความมุ่งหมายของกฎหมายแล้ว คําเบิกความของนายสองประจักษ์พยานโจทก์จึงรับฟังได้

(3) ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคสี่ มีหลักว่า ถ้อยคําที่เป็นคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่า ตนได้กระทําความผิดที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น การที่สิบตํารวจโทสาม ผู้จับกุมจําเลยเบิกความตามบันทึกการจับกุมที่สิบตํารวจโทสามเป็นผู้ทําขึ้นว่า ชั้นจับกุมจําเลยให้ถ้อยคํา ด้วยความสมัครใจรับว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จําเลยได้กระทําผิดตามฟ้องจริง ก็เป็นเพียงการยืนยัน ถึงข้อเท็จจริงตามคําให้การรับสารภาพของจําเลยในชั้นจับกุม ซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังตามบทบัญญัติดังกล่าว (คําพิพากษาฎีกาที่ 1850/2555) คําเบิกความของสิบตํารวจโทสามจึงรับฟังไม่ได้

สรุป คําเบิกความของนายหนึ่งผู้เสียหายตาม (1) และนายสองประจักษ์พยานโจทก์ตาม (2) ศาลรับฟังได้ แต่คําเบิกความของสิบตํารวจโทสามพยานโจทก์ผู้จับกุมจําเลยตาม (3) รับฟังไม่ได้

 

ข้อ 3. วันที่ 30 ธันวาคม 2564 นายวันซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลถูกเงินรางวัล 3,000,000 บาท แต่ยัง ไม่ได้นําไปขึ้นเงินเพราะถูกกักตัวเนื่องจากโควิด-19 เป็นเวลา 7 วัน นายวันเห็นในเฟสบุ๊คของ นายทรี ได้แชร์ประกาศขายรถยนต์ Porsche Cayenne มือสองของนายหู ราคา 2,500,000 บาท จึงได้ติดต่อผ่านนายทรีเพื่อขอซื้อรถยนต์จากนายทู นายทูตกลงขายรถยนต์ด้วยวาจาให้กับนายวัน แต่นายวันไม่มีเงินสด ต้องรอนําสลากกินแบ่งรัฐบาลไปขึ้นเงินรางวัลเสียก่อน หลังจากครบกําหนด กักตัว นายจึงให้นายวันทําสัญญากู้ยืมเงินเป็นหนังสือจํานวน 5,000,000 บาท เพื่อประกันการ ชําระหนี้ของนายวัน โดยมีนายทรีเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว และนายที่ได้ส่งมอบรถยนต์ให้กับนายวันไป

ต่อมานายวันนําสลากกินแบ่งรัฐบาลไปขึ้นเงินรางวัล และโอนเงินจํานวน 2,500,000 บาท ตาม ราคาขายรถยนต์ให้แก่นายหู นายทูเอาสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกเงิน ตามสัญญากู้ยืมเงินอีก นายวันปฏิเสธว่าไม่ได้ทําสัญญากู้ยืมเงินกับนายทู สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว เกิดจากการประกันหนี้ซื้อขายรถยนต์ และมูลหนี้ซื้อขายรถยนต์ได้ระงับไปแล้ว เช่นนี้

(ก) นายวันจะอ้างนายทรีเป็นพยานบุคคลเพื่อนําสืบว่ามูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีเพียง 2,500,000 บาท เท่ากับราคารถยนต์ที่ซื้อขายกันได้หรือไม่

(ข) นายวันจะอ้างนายทรีเป็นพยานบุคคลเพื่อนําสืบถึงการทําสัญญาซื้อขายรถยนต์ด้วยวาจา
ระหว่างนายวันกับนายทูได้หรือไม่

จงวินิจฉัย พร้อมทั้งยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมี ข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และ มิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นํา พยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร ในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง หรือขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้าง อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความ ในเอกสารนั้นอยู่อีก เว้นแต่กรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ที่สามารถนําสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารได้ คือ

1. กรณีต้นฉบับเอกสารสูญหายหรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้
โดยประการอื่น
2. พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม
3. พยานเอกสารที่แสดงนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือบางส่วน
4. สัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์
5. คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายทูนําสัญญากู้ยืมเงินมาฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 5,000,000 บาท จากนายวัน แต่นายวันปฏิเสธว่าไม่ได้ทําสัญญากู้ยืมเงินกับนายทู สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเกิดจาก การประกันหนี้ซื้อขายรถยนต์ Porsche Cayenne มือสองของนายทูราคา 2,500,000 บาท หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จึงมีเพียง 2,500,000 บาทนั้น เมื่อการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้กู้ยืมเงินเป็นสําคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องนําเอกสารมาแสดงต่อศาล การนําสืบว่าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีเพียง 2,500,000 บาท จึงเป็นการนําสืบให้แตกต่างจากข้อความที่ปรากฏ ในสัญญากู้ยืมเงิน คือ เป็นการนําสืบเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น ดังนั้น นายวันจะอ้างนายทรี เป็นพยานบุคคลเพื่อนําสืบว่ามูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีเพียง 2,500,000 บาท เท่ากับราคารถยนต์ที่ซื้อขายกัน ไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)

(ข) การที่นายวันกล่าวอ้างว่า สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเกิดจากการประกันหนี้ซื้อขายรถยนต์ และมูลหนี้ซื้อขายรถยนต์ได้ระงับไปแล้ว นายวันจะอ้างนายทรีเป็นพยานบุคคลเพื่อนําสืบถึงการทําสัญญาซื้อขาย รถยนต์ด้วยวาจาระหว่างนายวันกับนายทูได้หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตร 456 วรรคสาม จะได้กําหนดให้สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคา 20,000 บาท หรือกว่านั้นขึ้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือมีการวางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันไม่ได้ก็ตาม แต่การนําสืบถึงการทําสัญญาซื้อขายรถยนต์ ด้วยวาจาดังกล่าว มิได้เป็นการนําสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขาย แต่เป็นการนําสืบเพื่อให้เห็นที่มาของมูลหนี้ ตามสัญญากู้ยืมเงินที่ระงับไปแล้ว อันเป็นการนําสืบว่าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของโจทก์ไม่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็น ข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง ดังนั้น นายวันจึงสามารถอ้างนายทรีเป็นพยานบุคคลเพื่อนําสืบ ถึงการทําสัญญาซื้อขายรถยนต์ด้วยวาจาระหว่างนายวันกับนายทูได้

สรุป

(ก) นายวันจะอ้างนายทรีเป็นพยานบุคคลเพื่อนําสืบว่ามูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมีเพียง 2,500,000 บาท เท่ากับราคารถยนต์ที่ซื้อขายกันไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข)

(ข) นายวันสามารถอ้างนายทรีเป็นพยานบุคคลเพื่อนําสืบถึงการทําสัญญาซื้อขายรถยนต์ ด้วยวาจาระหว่างนายวันกับนายทูได้ เพราะเป็นการนําสืบว่าหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินของโจทก์ไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็น ข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง

Advertisement