การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้พร้อมดอกเบี้ยจากจําเลยเป็นจํานวนเงินหนึ่งล้านบาท ในกรณี ดังต่อไปนี้
(ก) ถ้าจําเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ในชั้นชี้สองสถาน ศาลไม่ได้กําหนดเรื่องอายุความ ไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุดังกล่าวนี้ได้หรือไม่ หากจากทาง นําสืบปรากฏว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความจริง
(ข) จําเลยให้การว่าจําเลยกู้เงินไปจากโจทก์จริง แต่ชําระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ถ้าโจทก์ จําเลย
ไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาอย่างไร
(ค) จําเลยให้การว่าสัญญากู้เป็นสัญญาปลอม โจทก์จําเลยไม่สืบพยาน ศาลจะพิพากษาอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่
(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล
มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น แต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ
จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”
มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”
มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และสอบถาม คู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้น อย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็น ประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้”
วินิจฉัย
คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ฝ่ายหนึ่ง ยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง รับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)
สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า
ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้พร้อมดอกเบี้ยจากจําเลยเป็นจํานวนเงินหนึ่งล้านบาท และจําเลยให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น คําให้การของจําเลยเป็นเพียงคําให้การที่คลุมเครือไม่ชัดเจนเป็นเพียงคําให้การปฏิเสธโดยไม่แสดงเหตุผลของการปฏิเสธว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะเหตุใด จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดี ดังนั้น แม้จาก การนําสืบจะปรากฏว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความจริง ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุดังกล่าวนี้ไม่ได้
(ข) การที่จําเลยให้การว่าจําเลยกู้เงินไปจากโจทก์จริง แต่จําเลยชําระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วนั้น ข้อเท็จจริงที่ว่าจําเลยกู้เงินจากโจทก์จริงหรือไม่เป็นอันยุติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3) จึงไม่ต้องสืบพยาน เพราะ มิใช่ประเด็นข้อพิพาทในคดี แต่การที่จําเลยให้การว่าได้ชําระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วนั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงที่จําเลย กล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่รับ กรณีนี้จึงเกิดประเด็นข้อพิพาทว่า “จําเลยชําระหนี้เงินกู้ ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วจริงหรือไม่” และเมื่อจําเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง หน้าที่นําสืบจึงตกแก่ฝ่ายจําเลย ถ้าโจทก์และจําเลยไม่สืบพยาน ศาลต้องพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี
(ค) การที่จําเลยให้การว่าสัญญากู้เป็นสัญญาปลอมนั้น เป็นกรณีที่จําเลยให้การต่อสู้ว่าเอกสารที่ โจทก์นํามาฟ้องนั้นเป็นเอกสารปลอม มิใช่เป็นกรณีที่จําเลยได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ ดังนั้นประเด็นข้อพิพาท
จึงมีว่า “สัญญากู้ที่โจทก์นํามาฟ้องเป็นสัญญากู้ปลอมหรือไม่” ซึ่งเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างสัญญากู้ดังกล่าว ภาระการพิสูจน์ถึงความถูกต้องแท้จริงของสัญญากู้จึงตกแก่โจทก์ ถ้าโจทก์และจําเลยไม่สืบพยานศาลจะต้องพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดี โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์
สรุป
(ก) ศาลจะพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุดังกล่าวไม่ได้
(ข) ศาลต้องพิพากษาให้จําเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี
(ค) ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์
ข้อ 2. โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเคหสถาน จําเลยให้การปฏิเสธชั้นพิจารณาคู่ความนําพยานบุคคลเข้าสืบดังนี้
(1) ผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่าหลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจ นายหนึ่งบอกแก่ผู้เสียหายว่านายหนึ่ง เห็นจําเลยคนรู้จักกันมาก่อนเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านผู้เสียหาย โดยมีนายหนึ่งพยานโจทก์นั่งฟัง ผู้เสียหายอยู่ในห้องพิจารณาด้วยจนผู้เสียหายเบิกความจบ
(2) นายหนึ่งประจักษ์พยานโจทก์เบิกความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ พยานเห็นจําเลยเข้าไปลักทรัพย์ ในบ้านผู้เสียหายตามฟ้อง แต่ก่อนเบิกความนายหนึ่งไม่ได้สาบานหรือกล่าวคําปฏิญาณตน ด้วยความพลั้งเผลอ โดยได้สาบานตนต่อหน้าศาลหลังจากเบิกความเสร็จแล้วทันทีในวันนั้นว่าข้อความที่ตนเบิกความไปแล้วเป็นความจริง ทนายจําเลยคัดค้านว่าคําเบิกความของนายหนึ่งเป็นการผิดระเบียบ
(3) นายสองประจักษ์พยานโจทก์เบิกความตอบข้อซักถามจนจบยืนยันว่า จําเลยกระทําความผิดตามฟ้องแล้วศาลให้เลื่อนคดีไปให้ทนายจําเลยถามค้านในนัดหน้าเพราะหมดเวลาราชการเสียก่อน ครั้นถึงวันนัดนายสองไม่ได้มาศาลเพื่อให้ทนายจําเลยถามค้านเนื่องจากถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว
(4) สิบตํารวจโทสามผู้จับกุมจําเลยพยานโจทก์เบิกความตามบันทึกการจับกุมที่พยานเป็นผู้ทําขึ้น ว่า ชั้นจับกุมจําเลยให้ถ้อยคําด้วยความสมัครใจรับว่าได้ลักเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปจริงรายละเอียดปรากฏตามบันทึกการจับกุมที่อ้างส่งเป็นพยานต่อศาล
(5) จําเลยอ้างตนเองเข้าเบิกความว่าไม่ได้กระทําความผิดตามฟ้องโดยอ้างฐานที่อยู่ แต่ตอนตอบ โจทก์ถามค้านนั้นจําเลยรับว่าได้กระทําความผิดตามฟ้องจริง
ให้วินิจฉัยว่า ศาลรับฟังคําเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวหรือไม่ และคําเบิกความของจําเลย ตอนตอบโจทก์ถามค้านดังกล่าวศาลรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้หรือไม่
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 95 วรรคหนึ่ง “ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้น
(1) สามารถเข้าใจและตอบคําถามได้
(2) เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง….”
มาตรา 112 “ก่อนเบิกความพยานทุกคนต้องสาบานตนตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติ ของตน หรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน เว้นแต่…”
มาตรา 114 “ห้ามไม่ให้พยานเบิกความต่อหน้าพยานอื่นที่จะเบิกความภายหลัง และศาลมีอํานาจ ที่จะสั่งพยานอื่นที่อยู่ในห้องพิจารณาให้ออกไปเสียได้
แต่ถ้าพยานคนใดเบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนเบิกความต่อหน้าตนมาแล้ว และคู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งอ้างว่าศาลไม่ควรฟังคําเบิกความเช่นว่านี้ เพราะเป็นการผิดระเบียบ ถ้าศาลเห็นว่าคําเบิกความเช่นว่านี้ เป็นที่เชื่อฟังได้ หรือมิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของพยานคนก่อน หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัย ชี้ขาดของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความเช่นว่านี้เป็นผิดระเบียบก็ได้”
มาตรา 117 “คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถามพยานได้ในทันใดที่พยานได้สาบานตน และแสดงตนตามมาตรา 112 และ 116 แล้ว…
เมื่อคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งชอบที่จะถามค้านพยานนั้นได้
เมื่อได้ถามค้านพยานเสร็จแล้ว คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะถามติงได้….”
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวล กฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ เท่าที่พอจะใช้บังคับได้”
มาตรา 84 วรรคสี่ “ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตํารวจในชั้นจับกุม หรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคํานั้นเป็นคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทําความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน…”
มาตรา 226/3 “ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนํามาเบิกความต่อศาล หรือที่บันทึกไว้ ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนําเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้นให้ถือเป็นพยานบอกเล่า
ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่
(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้”
มาตรา 227 วรรคหนึ่ง “ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ําหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษา ลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทําผิดจริง และจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น”
มาตรา 233 “จําเลยอาจอ้างตนเองเป็นพยานได้ ในกรณีที่จําเลยอ้างตนเองเป็นพยานศาลจะให้ เข้าสืบก่อนพยานอื่นฝ่ายจําเลยก็ได้ ถ้าคําเบิกความของจําเลยนั้นปรักปรําหรือเสียหายแก่จําเลยอื่น จําเลยอื่นนั้น
ซักค้านได้
ในกรณีที่จําเลยเบิกความเป็นพยาน คําเบิกความของจําเลยย่อมใช้ยันจําเลยนั้นได้ และศาลอาจ รับฟังคําเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่ผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่า หลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจนายหนึ่งบอกแก่ผู้เสียหายว่า นายหนึ่งเห็นจําเลยซึ่งนายหนึ่งรู้จักมาก่อนเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านผู้เสียหายนั้น ย่อมถือว่าผู้เสียหายพยานโจทก์
เป็นพยานบอกเล่าและห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงแวดล้อมที่หลังเกิดเหตุไม่ถึงอึดใจ นายหนึ่งก็บอก แก่ผู้เสียหายว่านายหนึ่งเห็นจําเลยซึ่งรู้จักกันมาก่อนโดยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนด้วย ได้เข้าไป
ลักทรัพย์ในบ้านของผู้เสียหายไปตามฟ้อง จึงเห็นได้ว่านายหนึ่งได้บอกแก่ผู้เสียหายพยานโจทก์ในระยะเวลา กระชั้นชิด กับที่เหตุเกิด นายหนึ่งยังไม่มีโอกาสไตร่ตรองเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นเพื่อปรักปรําใส่ร้าย จําเลยให้ต้องรับโทษ ดังนั้น คําเบิกความของผู้เสียหายพยานบอกเล่าของโจทก์จึงรับฟังได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3 (1) (คําพิพากษาฎีกาที่ 63/2533)
และแม้ว่าในขณะที่ผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความนั้น มีนายหนึ่งพยานโจทก์ที่จะเบิกความ ภายหลังนั่งฟังผู้เสียหายอยู่ในห้องพิจารณาด้วยจนผู้เสียหายเบิกความจบ ก็ไม่ถือว่าคําเบิกความของผู้เสียหาย พยานโจทก์เป็นคําเบิกความที่รับฟังไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 แต่อย่างใด
(2) ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 95 ซึ่งนํามาใช้ในคดีอาญาได้ด้วย (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 15) ได้บัญญัติ หลักเกณฑ์ไว้ว่า พยานบุคคลที่ศาลจะรับฟังนั้นจะต้องสามารถเข้าใจและตอบคําถามได้ และจะต้องเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงที่เรียกว่าประจักษ์พยาน และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 112 ซึ่งนํามาใช้ในคดีอาญาได้ด้วยเช่นกันนั้น มีหลักเกณฑ์ว่า ก่อนเบิกความพยานต้อง สาบานตนหรือกล่าวคําปฏิญาณว่าจะให้การตามความสัตย์จริงเสียก่อน พยานบุคคลที่เบิกความโดยมิได้สาบานตน หรือปฏิญาณตนย่อมรับฟังไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี พยานบุคคลที่เบิกความโดยมิได้สาบานตนหรือปฏิญาณตนโดย ความพลั้งเผลอ หากให้การหรือเบิกความจบแล้ว ได้สาบานตนรับรองต่อศาลว่าข้อความที่ตนเบิกความไปแล้ว เป็นความจริง ถือได้ว่ามีการสาบานตนตามความมุ่งหมายของกฎหมายแล้ว คําเบิกความนั้นรับฟังได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 693/2487 และ 217/2488)
ดังนั้น คําเบิกความของนายหนึ่งประจักษ์พยานโจทก์ที่ก่อนเบิกความไม่ได้สาบานตน หรือกล่าวคําปฏิญาณตนด้วยความพลั้งเผลอ โดยได้สาบานตนต่อหน้าศาลหลังจากเบิกความเสร็จแล้วนั้นทันทีในวันนั้นว่า ข้อความที่ตนเบิกความไปแล้วเป็นความจริง จึงรับฟังได้
ส่วนการที่นายหนึ่งได้เบิกความโดยได้ฟังคําพยานคนก่อนคือผู้เสียหายพยานโจทก์ซึ่ง เบิกความต่อหน้าตนมาแล้วนั้น แม้ว่าคําเบิกความของนายหนึ่งเป็นการผิดระเบียบ แต่กฎหมายก็มิได้บัญญัติ ห้ามรับฟังโดยเด็ดขาด หรือห้ามมิให้ฟังเสียทีเดียว เมื่อศาลเห็นว่าคําเบิกความของนายหนึ่งเป็นที่เชื่อฟังได้ หรือ มิได้เปลี่ยนแปลงไปโดยได้ฟังคําเบิกความของผู้เสียหายพยานคนก่อนมาแล้ว หรือไม่สามารถทําให้คําวินิจฉัยชี้ขาด ของศาลเปลี่ยนแปลงไปได้ ศาลจะไม่ฟังว่าคําเบิกความของนายหนึ่งผิดระเบียบก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 114 วรรคสอง ดังนั้น คําเบิกความของนายหนึ่งจึงรับฟังได้หากเข้าข้อยกเว้นดังกล่าว
(3) หลักเกณฑ์การถามพยานบุคคลในศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 117 ซึ่งนํามาใช้ในคดีอาญา ได้ด้วย (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 15) นั้น ได้กําหนดลําดับของการถามพยานบุคคลไว้ว่า ฝ่ายที่อ้างพยานมาจะ ถามพยานของตนก่อนเรียกว่า “ซักถาม” เมื่อถามเสร็จแล้วให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านพยานนั้นได้เรียกว่า “ถามค้านหรือซักค้าน” เสร็จแล้วคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานมาจะถามพยานของตนได้อีกครั้งหนึ่งเรียกว่า “ถามติง” แต่อย่างไรก็ดี กฎหมายมิได้บัญญัติว่า หากพยานยังไม่ได้ตอบถามค้านหรือซักค้านแล้ว ห้ามมิให้รับฟังพยาน บุคคลปากนั้น ดังนั้น การที่นายสองประจักษ์พยานโจทก์ไม่ได้มาเบิกความตอบถามค้านหรือซักค้านของจําเลยเพราะถึงแก่กรรมไปก่อนวันนัด ก็มิใช่ความผิดของฝ่ายโจทก์ ศาลจึงมีอํานาจรับฟังคําเบิกความของนายสอง ประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 6333/2539)
(4) ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคสี่ มีหลักว่า ถ้อยคําที่เป็นคํารับสารภาพของผู้ถูกจับว่า ตนได้กระทําความผิดที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ดังนั้น การที่สิบตํารวจโทสาม ผู้จับกุมจําเลยเบิกความตามบันทึกการจับกุมที่สิบตํารวจโทสามเป็นผู้ทําขึ้นว่า ชั้นจับกุมจําเลยให้ถ้อยคํารับสารภาพ
ว่าลักทรัพย์ของผู้เสียหายตามข้อกล่าวหาด้วยความสมัครใจนั้นก็เป็นเพียงการยืนยันถึงข้อเท็จจริงตามคําให้การ รับสารภาพของจําเลยในชั้นจับกุม ซึ่งต้องห้ามมิให้รับฟังตามบทบัญญัติดังกล่าวเช่นกัน (คําพิพากษาฎีกาที่ 1850/2555) คําเบิกความของสิบตํารวจโทสามจึงรับฟังไม่ได้
(5) การที่จําเลยอ้างตนเองเข้าเบิกความว่าไม่ได้กระทําความผิดตามฟ้องโดยอ้างฐานที่อยู่นั้น จําเลยมีสิทธิอ้างตนเองเป็นพยานได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 233 วรรคหนึ่ง และตอนที่จําเลยตอบโจทก์ถามค้านนั้น จําเลยได้รับว่าได้กระทําความผิดตามฟ้องจริง คําเบิกความของจําเลยตอนตอบโจทก์ถามค้านดังกล่าว ศาลอาจรับฟังคําเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 233 วรรคสอง
สรุป คําเบิกความของผู้เสียหายพยานโจทก์ตาม (1) นายสองประจักษ์พยานโจทก์ตาม (3) และ ของนายหนึ่งถ้าเข้าข้อยกเว้นตาม (2) ศาลรับฟังได้ ส่วนคําเบิกความของสิบตํารวจโทสามพยานโจทก์ผู้จับกุมจําเลย รับฟังไม่ได้ และคําเบิกความของจําเลยตอนตอบโจทก์ถามค้านศาลรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า โจทก์ทําสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 จังหวัดแพร่ กับจําเลยโดยมี การทําสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนเรียบร้อย แต่โจทก์ต้องการไปซื้อบ้านไม้ที่ตั้งอยู่ในที่ดินที่ขายให้จําเลยไป โดยโจทก์อ้างว่าการซื้อขายนี้ไม่รวมบ้านไม้ที่ตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าวด้วย
ในกรณีนี้ หากจําเลยต้องการนําสัญญาซื้อขายที่ดินใช้เป็นพยานหลักฐานในศาลจะต้องมีวิธีการ นําเข้าสืบอย่างไร และฝ่ายโจทก์จะขอนําพยานบุคคลเข้าสืบว่าการซื้อขายที่ดินนี้เป็นการซื้อขายเฉพาะที่ดินไม่รวมตัวบ้านไม้ศาลจะรับฟังพยานบุคคลดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 90 วรรคหนึ่ง “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้าง หรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนาเอกสารนั้น ก่อนวัน สืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน”
มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมี
ข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และ มิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า โจทก์ทําสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดเลขที่ 1234 จังหวัดแพร่ กับจําเลยโดยมีการทําสัญญาเป็นหนังสือและจดทะเบียนเรียบร้อย แต่โจทก์ต้องการไปซื้อบ้านไม้ ที่ตั้งอยู่ในที่ดินที่ขายให้จําเลยไปโดยโจทก์อ้างว่าการซื้อขายนี้ไม่รวมบ้านไม้ที่ตั้งอยู่ในที่ดินดังกล่าวด้วยนั้น
ในกรณีนี้ หากจําเลยต้องการนําสัญญาซื้อขายที่ดินใช้เป็นพยานหลักฐานในศาล ถือว่าจําเลยได้อ้างอิงเอกสาร เป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตน ดังนั้น จําเลยจะต้องนําสําเนาเอกสารสัญญาซื้อขาย ที่ดินนั้นยื่นต่อศาลและส่งสําเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง
และการที่โจทก์จะขอนําพยานบุคคลเข้าสืบว่าการซื้อขายที่ดินนี้เป็นการซื้อขายเฉพาะที่ดินไม่รวมตัวบ้านไม้นั้น แม้โจทก์จะเป็นคู่ความที่มิได้เป็นฝ่ายอ้างพยานเอกสารมาแสดงก็ตาม ก็จะต้องอยู่ภายใต้บังคับ ของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 ด้วย กล่าวคือโจทก์จะนําพยานบุคคลเข้าสืบพยานเอกสาร หรือขอสืบพยานบุคคล ประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีกไม่ได้
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่โจทก์ขอนําพยานเข้าสืบนั้น เป็นการนําพยานบุคคลเข้ามาสืบ ประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารที่แสดงนั้น ข้อความในสัญญาหรือหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง
ตีความหมายผิด กรณีจึงมิใช่เป็นการนําพยานบุคคลมาสืบเพื่อประกอบข้ออ้างว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงสามารถรับฟังพยานบุคคลดังกล่าวได้เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94
สรุป หากจําเลยต้องการนําสัญญาซื้อขายที่ดินใช้เป็นพยานหลักฐานจําเลยต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง และฝ่ายโจทก์ขอนําพยานบุคคลเข้าสืบในกรณีดังกล่าว ศาลสามารถรับฟังพยานบุคคลนั้นได้