การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3011 กฎหมายลักษณะพยาน
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์มอบอํานาจให้นางย้อยมารดาฟ้องจําเลยเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกให้ชําระค่าเสียหายจากการ ส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้า เป็นเงินจํานวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายสินค้าข้อที่ 15 ที่แนบมาท้ายคําฟ้อง จําเลยให้การในคําให้การว่า โจทก์เป็นผู้รับมอบอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่ทราบและไม่รับรอง และขาดอายุความไปแล้ว และความจริงจําเลยส่งมอบสินค้าถูกต้องและไม่ล่าช้า แต่โจทก์เป็นฝ่ายไม่ยอมรับสินค้า กลับให้ไปส่งอีกที่หนึ่งซึ่งต้องใช้เวลา 1 วัน ทําให้ล่าช้าออกไปเพราะฝ่ายโจทก์เอง

Advertisement

คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทอย่างไรและฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 84 “การวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงในคดีใดจะต้องกระทําโดยอาศัยพยานหลักฐานใน
สํานวนคดีนั้น เว้นแต่

(3) ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับหรือถือว่ารับกันแล้วในศาล”

มาตรา 84/1 “คู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคําคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้น มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้นแต่ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายหรือมีข้อสันนิษฐานที่ควรจะเป็นซึ่งปรากฏ
จากสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์เพียงว่าตนได้ปฏิบัติ ตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว”

มาตรา 177 วรรคสอง “ให้จําเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคําให้การว่า จําเลยยอมรับหรือปฏิเสธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น”

มาตรา 183 วรรคหนึ่ง “ในวันชี้สองสถาน ให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคําคู่ความและ คําแถลงของคู่ความ แล้วนําข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคําคู่ความและคําแถลงของคู่ความเทียบกันดู และ สอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่จะยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคําคู่ความ ให้ศาลกําหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และกําหนดให้คู่ความฝ่ายใดนําพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใด
ก่อนหรือหลังก็ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย ดังนี้คือ
1. คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร
2. ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด

ประเด็นที่ 1 คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทว่าอย่างไร

คําว่า “ประเด็นข้อพิพาท” หมายถึง ข้ออ้างข้อเถียงในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างในคําคู่ความ และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่รับ ดังนั้นปัญหาข้อใดที่ฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้างและ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งรับแล้ว ย่อมไม่เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาท (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84 (3), มาตรา 177 วรรคสอง และมาตรา 183 วรรคหนึ่ง)

การที่โจทก์ฟ้องจําเลยเรียกให้ชําระค่าเสียหายจากการส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้าเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีตามข้อตกลงในสัญญาซื้อขายสินค้าข้อที่ 15 ที่แนบมา ท้ายคําฟ้อง แต่จําเลยให้การว่าความจริงจําเลยส่งมอบสินค้าถูกต้องและไม่ล่าช้า แต่โจทก์เป็นฝ่ายไม่ยอมรับสินค้า กลับให้ไปส่งอีกที่หนึ่งซึ่งต้องใช้เวลา 1 วัน ทําให้ล่าช้าออกไปเพราะฝ่ายโจทก์เองนั้น จากคําฟ้องและคําให้การ ของจําเลยดังกล่าว จึงมีประเด็นข้อพิพาทอยู่ 2 ประเด็น คือ

1. จําเลยส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้าจริงหรือไม่ เนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจําเลยส่งมอบ สินค้าผิดขนาดและล่าช้า แต่จําเลยให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าจําเลยส่งมอบสินค้าถูกต้องและไม่ล่าช้า จึงทําให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทประเด็นนี้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคหนึ่ง และมาตรา 177 วรรคสอง

2. โจทก์เสียหายเพียงใด เนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกให้ชําระค่าเสียหายเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท แต่จําเลยไม่ให้การถึงเรื่องค่าเสียหายว่า เสียหายเพียงใด จึงไม่ถือว่าเป็นการยอมรับจํานวนค่าเสียหายดังกล่าว ของโจทก์ ทําให้เกิดประเด็นข้อพิพาทประเด็นนี้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 183 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 84 (3)

ส่วนกรณีที่จําเลยให้การโต้แย้งโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้รับมอบอํานาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ จําเลยไม่ทราบและ ไม่รับรอง และฟ้องโจทก์ขาดอายุความไปแล้วนั้น เป็นเพียงคําให้การที่คลุมเครือไม่ชัดเจน เป็นเพียงคําให้การปฏิเสธ โดยไม่แสดงเหตุผลของการปฏิเสธ จึงเป็นคําให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่ก่อให้เกิด ประเด็นข้อพิพาทในคดี

ประเด็นที่ 2 ภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตกแก่คู่ความฝ่ายใด
สําหรับภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ผู้ใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ผู้นั้นมีหน้าที่นําสืบ ซึ่งแยกพิจารณาตามประเด็นข้อพิพาทได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ที่ว่า “จําเลยส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้าจริงหรือไม่” เมื่อโจทก์เป็นฝ่าย กล่าวอ้างว่าจําเลยส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้า แต่จําเลยให้การปฏิเสธโดยมีเหตุผลของการปฏิเสธครบถ้วน ดังนั้นโจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์หรือหน้าที่นําสืบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 84/1

ประเด็นที่ 2 ที่ว่า “โจทก์เสียหายเพียงใด” เมื่อโจทก์กล่าวอ้างเรื่องความเสียหาย แม้จําเลย จะไม่ได้ให้การโต้แย้งจํานวนเงินค่าเสียหายด้วย หน้าที่นําสืบข้อนี้ก็ยังคงตกแก่โจทก์ กล่าวคือ เป็นหน้าที่ของ
ฝ่ายที่เรียกร้องจะต้องนําสืบถึงจํานวนค่าเสียหายให้ได้ตามที่ฟ้องมา

สรุป คดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นําสืบ ดังนี้
1. จําเลยส่งมอบสินค้าผิดขนาดและล่าช้าจริงหรือไม่ โจทก์มีหน้าที่นําสืบ
2. โจทก์เสียหายเพียงใด โจทก์มีหน้าที่นําสืบ

 

ข้อ 2. 2.1) ขั้นตอนการสืบพยานบุคคลนั้นมีการถามอยู่กี่ช่วง อย่างไรบ้าง

2.2) หากคู่ความประสงค์จะเสนอบันทึกถ้อยคําแทนการซักถามพยานจะสามารถทําได้อย่างไร

ธงคําตอบ

2.1) ขั้นตอนในการสืบพยานบุคคลนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 117 ได้กําหนดให้มีการถามอยู่ 3 ช่วง คือ การซักถาม การถามค้าน และการถามติง

1. การซักถาม (ถามครั้งแรก) คือ การถามโดยคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานนั้น เพื่อให้เบิกความ ตามประเด็นที่ผู้อ้างตั้งใจจะนําสืบเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ซึ่งคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานชอบที่จะตั้งข้อซักถาม
พยานได้ในทันทีที่พยานได้สาบานตน และแสดงตนแล้ว (มาตรา 117 วรรคหนึ่ง)

ในการซักถามนั้น จะต้องเป็นคําถามที่เกี่ยวข้องกับคดี และห้ามใช้คําถามนํา เว้นแต่คู่ความ อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล (มาตรา 118 วรรคหนึ่งและวรรคสาม)

2. การถามค้าน คือ การถามโดยคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งภายหลังจากที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยาน ได้ซักถามพยานเสร็จแล้ว (มาตรา 117 วรรคสอง) เพื่อทําลายน้ําหนักหรือลดน้ําหนักคําพยานของฝ่ายตรงข้าม และต้องเป็นคําถามที่เกี่ยวข้องกับคดี (มาตรา 118 วรรคสาม) และอาจใช้คําถามนําได้ เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้
แต่อย่างใด

3. การถามติง คือ การที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยาน ถามพยานปากนั้นอีกครั้งหนึ่งภายหลังที่ พยานนั้นถูกอีกฝ่ายหนึ่งถามค้านแล้ว (มาตรา 117 วรรคสาม)

ในการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจะถามติงพยาน ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายนั้นใช้คําถามอื่นใด นอกจากคําถามที่เกี่ยวกับคําพยานเบิกความตอบคําถามค้าน (มาตรา 118 วรรคสอง) และจะใช้คําถามนําไม่ได้ เว้นแต่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยินยอมหรือได้รับอนุญาตจากศาล (มาตรา 118 วรรคหนึ่ง)

เมื่อได้ถามติงพยานเสร็จแล้ว ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดซักถามพยานอีก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต จากศาล ถ้าคู่ความฝ่ายใดได้รับอนุญาตให้ถามพยานได้ดังกล่าวนี้ คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งย่อมถามค้านพยานได้อีก ในข้อที่เกี่ยวกับคําถามนั้น (มาตรา 117 วรรคสี่)

2.2) ในกรณีที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งประสงค์จะเสนอบันทึกถ้อยคําแทนการซักถามพยานทั้งหมด หรือแต่บางส่วนของผู้ที่ตนประสงค์จะอ้างเป็นพยานนั้น สามารถทําได้โดย

1. จะต้องยื่นคําร้องแสดงความจํานงพร้อมเหตุผลต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวัน สืบพยานในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน และให้ศาลพิจารณากําหนดระยะเวลาที่คู่ความจะต้องยื่นบันทึกถ้อยคําดังกล่าวต่อศาลและส่งสําเนาบันทึกถ้อยคํานั้นให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวัน
สืบพยานคนนั้น (มาตรา 120/1 วรรคสอง)

2. การยื่นคําร้องตาม 1. ต้องปรากฏว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่คัดค้าน และศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ คู่ความฝ่ายที่มีคําร้องเสนอบันทึกถ้อยคําแทนการสืบพยานได้ (มาตรา 120/1 วรรคหนึ่ง)

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องขอคืนเงินมัดจําจากจําเลยเนื่องจากจําเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน โดยสัญญา ดังกล่าวนั้นคู่สัญญาประสงค์ที่จะมีการให้เกิดสัญญาโดยทําเป็นหนังสือ จําเลยยื่นคําให้การว่าตนมิได้ผิดสัญญาขอให้ศาลยกฟ้อง

ในการสืบพยานโจทก์นั้น โจทก์ประสงค์จะนําสัญญาจะซื้อจะขายมาเป็นพยานหลักฐาน โดยมี การระบุในบัญชีพยานแล้ว แต่สัญญาดังกล่าวนั้น โจทก์ได้ให้นายเอกซึ่งเป็นเพื่อนจําเลยเก็บเอาไว้ เพราะนายเอกเป็นผู้รู้เห็นการทําสัญญา ในกรณีเช่นนี้โจทก์จะสามารถขอให้นายเอกส่งเอกสารสัญญามายังศาลได้อย่างไร และหากนายเอกไม่ส่งมายังศาล โจทก์จะสามารถขอนํานายเอกเข้าสืบแทนเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 90 วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคท้าย “ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐาน เพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของตนตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ยื่นต่อศาลและส่งให้คู่ความฝ่ายอื่นซึ่งสําเนา เอกสารนั้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน

คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงพยานหลักฐานไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนาเอกสาร
ให้คู่ความฝ่ายอื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(2) เมื่อคู่ความฝ่ายใดอ้างอิงเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่อยู่ในความครอบครองของ คู่ความฝ่ายอื่นหรือของบุคคลภายนอก

กรณีตาม (2) ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างอิงเอกสารขอให้ศาลมีคําสั่งเรียกเอกสารนั้นมาจากผู้ครอบครอง ตามมาตรา 123 โดยต้องยื่นคําร้องต่อศาลภายในกําหนดเวลาตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี และให้
คู่ความฝ่ายนั้นมีหน้าที่ติดตามเพื่อให้ได้เอกสารดังกล่าวมาภายในเวลาที่ศาลกําหนด”

มาตรา 93 “การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้นเว้นแต่

(2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนํามาไม่ได้ เพราะถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหาย หรือไม่สามารถ นํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจําเป็น และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสําเนาเอกสารหรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นํามา
ไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้”

มาตรา 94 “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟัง พยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี

(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง

(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นําเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก

แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ในอนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และ
มิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนําพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสาร ที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ถูกต้องทั้งหมด หรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด

มาตรา 123 “ถ้าต้นฉบับเอกสารซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่งอ้างอิงเป็นพยานหลักฐานนั้นอยู่ในความครอบครองของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง คู่ความฝ่ายที่อ้างจะยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลขอให้สั่งคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งส่งต้นฉบับเอกสารแทนการที่ตนจะต้องส่งสําเนาเอกสารนั้นก็ได้ ถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องนั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่งให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด…

ถ้าต้นฉบับเอกสารอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก หรือในครอบครองของทางราชการ หรือของเจ้าหน้าที่ซึ่งคู่ความที่อ้างไม่อาจร้องขอโดยตรงให้ส่งเอกสารนั้นมาได้ ให้นําบทบัญญัติในวรรคก่อน ว่าด้วยการที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารยื่นคําขอ และการที่ศาลมีคําสั่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ฝ่ายที่อ้าง ต้องส่งคําสั่งศาลแก่ผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อยเจ็ดวัน ถ้าไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2)

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอคืนเงินมัดจําจากจําเลยเนื่องจากจําเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ที่ดิน และจําเลยยื่นคําให้การว่าตนมิได้ผิดสัญญาขอให้ศาลยกฟ้อง และในการสืบพยานโจทก์นั้น โจทก์ประสงค์ จะนําสัญญาจะซื้อจะขายมาเป็นพยานหลักฐานโดยมีการระบุในบัญชีพยานแล้ว แต่สัญญาดังกล่าวนั้นโจทก์ได้ให้นายเอกซึ่งเป็นเพื่อนจําเลยเก็บเอาไว้นั้น ถือว่าโจทก์ได้อ้างอิงเอกสารเป็นพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้ออ้างหรือ ข้อเถียงของตน ดังนั้น โดยหลักแล้วโจทก์จะต้องนําสําเนาเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายยื่นต่อศาล และส่งสําเนา เอกสารดังกล่าวให้แก่จําเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายที่โจทก์อ้างอิงนั้นอยู่กับนายเอก ซึ่งถือว่า อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ดังนั้นโจทก์จึงไม่ต้องยื่นสําเนาเอกสารต่อศาล และไม่ต้องส่งสําเนา เอกสารให้แก่จําเลยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคสาม (2)

และตามอุทาหรณ์นั้น วินิจฉัยได้ดังนี้

หากโจทก์ต้องการนําเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐาน โจทก์จะต้อง
ปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 123 กล่าวคือ โจทก์จะต้องยื่นคําขอโดยทําเป็น คําร้องต่อศาล ขอให้สั่งให้บุคคลภายนอก) (นายเอก) ส่งต้นฉบับเอกสารดังกล่าวแทนการที่โจทก์จะต้องส่งสําเนา เอกสารนั้น และถ้าศาลเห็นว่าเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานสําคัญและคําร้องของโจทก์นั้นฟังได้ ให้ศาลมีคําสั่ง ให้นายเอกยื่นต้นฉบับเอกสารต่อศาลภายในเวลาอันสมควรแล้วแต่ศาลจะกําหนด แต่โจทก์จะต้องส่งคําสั่งศาลให้แก่นายเอกผู้ครอบครองเอกสารนั้นล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

ถ้าโจทก์ทําตามวิธีการดังกล่าวแล้ว แต่นายเอกปฏิเสธในการส่งเอกสารมายังศาล ย่อมถือว่า เป็นกรณีที่นําต้นฉบับเอกสารมาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจาก พฤติการณ์ที่โจทก์ผู้อ้างอิงเอกสารต้องรับผิดชอบตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) และเมื่อไม่ได้เอกสารนั้นมาสืบ ตามกําหนด เมื่อศาลเห็นสมควรก็ให้ศาลสืบพยานต่อไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 93 (2) (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 123 วรรคสอง) กล่าวคือ ศาลจะสืบพยานต่อไปโดยอนุญาตให้นําสําเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้

และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ก) ได้บัญญัติหลักไว้ว่า เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมี พยานเอกสารมาแสดง ย่อมต้องห้ามมิให้นําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารในเมื่อไม่สามารถนําเอกสารมาแสดง แต่อย่างไรก็ตามหลักดังกล่าวมีข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง คือในกรณีที่ต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทําลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนําต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2)) ดังนี้ ย่อมสามารถนําพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารได้

ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ หากนายเอกปฏิเสธในการส่งเอกสารและเป็นกรณีที่ถือว่านําต้นฉบับเอกสาร มาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือไม่สามารถนํามาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 93 (2) โจทก์จึงสามารถที่จะ ขอนําตัวนายเอกพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสาร (สัญญาจะซื้อจะขาย) ดังกล่าวได้ เพราะไม่ต้องห้าม
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

สรุป หากโจทก์ประสงค์จะนําสัญญาจะซื้อจะขายมาเป็นพยานหลักฐาน โจทก์สามารถขอให้ นายเอกส่งเอกสารสัญญาดังกล่าวมายังศาลได้โดยจะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 90 วรรคท้ายประกอบ
มาตรา 123

และหากนายเอกไม่ส่งเอกสารมายังศาล โจทก์สามารถขอนํานายเอกพยานบุคคลเข้าสืบ แทนพยานเอกสาร (สัญญาจะซื้อจะขาย) ดังกล่าวได้ เพราะไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 94

Advertisement