การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3008 (LA 308),(LW 309) กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ  (คะแนนเต็มข้อละ  25  คะแนน)

ข้อ  1  นายมะม่วงร้องทุกข์กล่าวหาว่า  นายมังคุดฆ่านายมันแกวบุตรชายของตนตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288 พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและสรุปสำนานสั่งฟ้องนายมังคุดตามข้อกล่าวหาดังกล่าว  แต่ในที่สุดพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยคดีแรกในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายมันแกวถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  291  นายมะม่วงไม่เห็นด้วย  
จึงนำคดีมายื่นฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยต่อศาลด้วยตนเองในคดีหลังขอให้ลงโทษนายมังคุดฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  อีกคดีหนึ่ง

ให้วินิจฉัยตามประเด็นต่อไปนี้

 (ก)  คดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยต่อศาลด้วยตนเอง  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้หรือไม่

(ข)  หากปรากฏว่าในการไต่สวนมูลฟ้องคดีหลัง  นายมังคุดจำเลยได้นำเอกสารรายงานการตรวจศพของแพทย์มาถามค้านนายมะม่วงโจทก์เกี่ยวกับเรื่องวิถีกระสุนปืน  เพื่อสนับสนุนว่าตนมิได้มีเจตนาฆ่านายมันแกว  แต่นายมะม่วงโจทก์ไม่ยอมรับรองความถูกต้องของพยานเอกสารดังกล่าว  นายมังคุดจำเลยจะขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลได้หรือไม่

(ค)  หากศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีหลังแล้วเห็นว่าคดีมีมูล  จึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา  นายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  162  ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(1) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์  ให้ไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ให้จัดการตามอนุมาตรา  (2)

(2) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์  ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

มาตรา  165  วรรคสอง  จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ

มาตรา  170  วรรคแรก  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด  แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

วินิจฉัย

(ก)  ตามมาตรา  162(1)  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  โดยหลักแล้วศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องทุกคดี  เว้นแต่พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว  ต้องจัดการตามมาตรา  162(2)  กล่าวคือ  ไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนประทับฟ้องไว้พิจารณาก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้หรือไม่  เห็นว่า  แม้พนักงานอัยการจะได้ฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลยในคดีแรกด้วยก็ตาม  แต่พนักงานอัยการได้ฟ้องนายมังคุดในข้อหากระทำโดยประมาท  เป็นเหตุให้นายมันแกวถึงแก่ความตาย  ตาม  ป.อ.  มาตรา  291  ซึ่งเป็นความผิดคนละข้อหากับคดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ฟ้องนายมังคุดเป็นจำเลย  ขอให้ลงโทษฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นของมาตรา  162(1)  ที่ศาลจะจัดการสั่งตามอนุมาตรา  (2)  คือ  ใช้ดุลพินิจสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนได้  ดังนั้นศาลจึงอยู่ในบังคับที่ต้องจัดการสั่งตามหลักในอนุมาตรา  (1)  กล่าวคือ  ต้องจัดการสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อน

(ข)  โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์  จำเลยไม่มีสิทธินำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ  ตามมาตรา  165  วรรคสอง

กรณีตามอุทาหรณ์  ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง  นายมังคุดจำเลยนำเอกสารรายงานการตรวจศพของแพทย์  มาถามค้านนายมะม่วงโจทก์เกี่ยวกับเรื่องวิถีกระสุนปืน  เพื่อสนับสนุนว่าตนมิได้มีเจตนาฆ่านายมันแกว  แต่นายมะม่วงโจทก์ไม่ยอมรับรองความถูกต้องของพยานหลักฐานเอกสารดังกล่าว  และนายมังคุดจะขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลนั้น  ในกรณีเช่นนี้เท่ากับว่านายมังคุดจำเลยเรียกพยานหลักฐานของตนเข้าสืบจึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา  165  วรรคสอง  ดังนั้นนายมังคุดจึงไม่อาจของส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานต่อศาลได้  (ฎ. 6557/2539)

(ค)  การที่ศาลไต่สวนมูลฟ้องคดีหลังที่นายมะม่วงเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายมังคุดจำเลยฐานฆ่านายมันแกวตายโดยเจตนา  ตาม  ป.อ.  มาตรา  288  แล้วเห็นว่า  คดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณานั้น  เห็นว่า  แม้นายมังคุดจะมีฐานะเป็นจำเลยในคดีหลังแล้วก็ตาม  แต่คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลเช่นว่านั้น  ย่อมเป็นอันเด็ดขาดตามมาตรา  170  วรรคแรก  ดังนั้นนายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้

สรุป 

(ก)  ศาลจะสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องก่อนไม่ได้

(ข)  นายมังคุดไม่อาจขอส่งเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้

(ค)  นายมังคุดจำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งคดีมีมูลต่อศาลอุทธรณ์ไม่ได้

 

ข้อ  2  ให้วินิจฉัยว่า  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในกรณีดังต่อไปนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

(ก)  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่  1  และจำเลยที่  2  ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  297  จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ  เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์  จำเลยที่  2  หลบหนี  ศาลชั้นต้นให้ออกหมายจับจำเลยที่  2  แล้วเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันนัดสืบพยานโจทก์  โจทก์จำเลยที่  1 และทนายจำเลยทั้งสองมาศาล  ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จนเสร็จ  เมื่อถึงวันนัดสืบพยานจำเลย  เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่  2  มาส่งศาล  จำเลยที่  2  แถลงไม่ติดใจซักค้านพยานโจทก์และไม่ติดใจสืบพยานจำเลยที่  2  ศาลชั้นต้นได้สืบพยานจำเลยที่  1  จนเสร็จ  และงดสืบพยานจำเลยที่  2  แล้วนัดฟังคำพิพากษา

(ข)  พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท  1  ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ. 2522  มาตรา  66  วรรคสาม  ซึ่งมีอัตราโทษประหารชีวิต  ในวันนัดพิจารณา  ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยในเรื่องทนายความ  จำเลยแถลงว่า  ไม่ต้องการทนายความ  ศาลชั้นต้นจึงได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง  จำเลยให้การรับสารภาพ  ศาลชั้นต้นได้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย  ในวันนัดสืบพยานโจทก์  ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จสิ้นและให้รอฟังคำพิพากษาในวันเดียวกันก่อนศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา  จำเลยแต่งทนายความให้เข้ามาฟังคำพิพากษาด้วย  ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาให้โจทก์  จำเลย  และทนายจำเลยฟัง  แล้วให้ลงลายชื่อไว้

ธงคำตอบ

มาตรา  172  วรรคแรก  การพิจารณาและสืบพยานในศาล  ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น

มาตรา  173  วรรคแรกและวรรคสอง  ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต  หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายก็ให้ศาลตั้งทนายความให้

(ก)   วินิจฉัย

การสืบพยานในศาลไม่ว่าชั้นสืบพยานโจทก์  พยานร่วมหรือพยานจำเลยจะต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยตามมาตรา  172  วรรคแรก  เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร  จะอนุญาตให้จำเลยไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยานนั้นได้ตามมาตรา  172  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  172  ทวิ

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์  จำเลยที่  2  หลบหนี  ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่  2  แล้ว  เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์  เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์  โจทก์  จำเลยที่  1  และทนายจำเลยทั้ง  2  มาศาลแต่ไม่มีจำเลยที่  2  ดังนี้  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  แม้ว่าการสืบพยานจะได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่  1  แต่ก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่  1  ได้กระทำแทนจำเลยที่  2  เนื่องจากคดีอาญาเป็นคดีที่ต้องนำตัวจำเลยมาลงโทษ  การพิจารณาต้องพิจารณาคดีต่อหน้าจำเลยแต่ละคน  เมื่อต่อมาจับจำเลยที่  2  ได้ในภายหลังกรณีเช่นนี้  ศาลก็ต้องสืบพยานโจทก์สำหรับจำเลยที่  2 ที่ถูกจับได้ในภายหลังใหม่  ทั้งนี้  เพราะการสืบพยานต้องกระทำต่อหน้าจำเลยตามมาตรา  172  วรรคแรก  (ฎ.1736/2550 , ฎ. 651/2549)

อนึ่ง  แม้ภายหลังเจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลยที่  2  มาส่งศาล  และจำเลยที่  2  แถลงติดใจไม่ซักค้านพยานโจทก์และไม่ติดใจสืบพยานก็ไม่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่ต้นกลับมาชอบด้วยกฎหมายได้

(ข)  วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภทที่  1  ตาม  พ.ร.บ.  ยาเสพติดให้โทษ  พ.ศ. 2522  มาตรา  66  วรรคสาม  อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต  ซึ่งตามมาตรา  173  วรรคแรก  วางหลักว่า  ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่า  มีทนายความหรือไม่  ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้  อันเป็นคนละกรณีกับวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว  ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกที่ศาลต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่  ดังนั้น  ตามมาตรา  173  วรรคแรก  เมื่อจำเลยไม่มีทนายความศาลก็ต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะต้องการทนายความหรือไม่  ทั้งนี้เพื่อความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่

แต่คดีนี้ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่า  ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยในเรื่องทนายความ  จำเลยแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ  ดังนี้  จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความโดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย  แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไปจนเสร็จ  แม้ต่อมาจำเลยจะได้แต่งทนายความเข้ามา  แต่ก็เป็นการแต่งทนายความเข้ามาในภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จนเสร็จแล้ว  ดังนั้น  จะเห็นได้ว่า  ขณะที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้  ยังไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือในการดำเนินคดี  จึงเป็นการดำเนินพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  173  วรรคแรก  (ฎ. 3133/2551) 

สรุป  การดำเนินกระบวนพิจารณาทั้ง  (ก)  และ  (ข)  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยที่หนึ่ง  จำเลยที่สอง  และจำเลยที่สาม  ร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย  ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  340 , 83  (ฟ้องถูกต้องตามกำหมายทุกประการ)  แต่ทางพิจารราฟังได้ว่า  จำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วนำมาขายให้จำเลยที่สามโดยที่จำเลยที่สามรับซื้อทั้งที่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้จากการกระทำความผิด  อันเป็นความผิดฐานรับของโจร  โดยจำเลยทั้งสามมิได้หลงต่อสู้

ดังนี้  ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  192  วรรคสอง  วรรคสาม  และวรรคหก  ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง  ให้ศาลยกฟ้องคดีนั้น  เว้นแต่ข้อแตกต่างนั้นมิใช่ในข้อสาระสำคัญและทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้  ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้

ในกรณีที่ข้อแตกต่างนั้นเป็นเพียงรายละเอียด  เช่น  เกี่ยวกับเวลาหรือสถานที่กระทำความผิดหรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดฐานลักทรัพย์  กรรโชก  รีดเอาทรัพย์  ฉ้อโกง  โกงเจ้าหนี้  ยักยอก  รับของโจร  และทำให้เสียทรัพย์  หรือต่างกันระหว่างการกระทำผิดโดยเจตนากับประมาท  มิให้ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งนี้มิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ  เว้นแต่จะปรากฏแก่ศาลว่าการที่ฟ้องผิดไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้  แต่ทั้งนี้ศาลจะลงโทษจำเลยเกินอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง  แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้

วินิจฉัย

ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามได้หรือไม่  เห็นว่า  ความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้อง  ย่อมรวมการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง  ดังนั้นแม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่หนึ่ง  และจำเลยที่สองร่วมกับจำเลยที่สาม  กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์  แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่า  เฉพาะจำเลยที่หนึ่ง  และจำเลยที่สองเท่านั้นที่ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหาย  กรณีเช่นนี้  ศาลย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตามมาตรา  192  วรรคหก  (ฎ. 2161 / 2531)

ส่วนในกรณีของจำเลยที่สามได้ความว่า  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่สาม  ฐานร่วมกับจำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สองฐานปล้นทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่สามกระทำความผิดฐานรับของโจร  ซึ่งถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสาระสำคัญ  เพราะการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องก็เป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่  3  คนขึ้นไป  ซึ่งความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรตามมาตรา  192  วรรคสาม  ถือเป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด  มิใช่ข้อแตกต่างสาระสำคัญ  (ฎ. 1043 / 2535)

แต่อย่างไรก็ดี  ตามบทบัญญัติมาตรา  192  วรรคสองนั้น  การที่ศาลจะมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้น นอกจากจะได้ความว่าข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อที่มิใช่สาระสำคัญแล้วยังต้องปรากฏด้วยว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ด้วย  ดังนั้น  เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่สามมิได้หลงต่อสู้  ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่สามฐานรับของโจรได้

สรุป  ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่หนึ่งและที่สองในความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้  และลงโทษจำเลยที่สามในความผิดฐานรับของโจรได้

 

ข้อ  4  คดีอาญาเรื่องหนึ่ง    ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  20  ปี  ฐานฆ่าผู้อื่น  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง  เมื่อวันจันทร์ที่  29  มกราคม  2533  และเดือนกุมภาพันธ์  2533  มี  28  วัน 

(ก)  จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น  ในวันพฤหัสบดีที่  1  มีนาคม  2533  หรือ

(ข)  จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวันอังคารที่  20  กุมภาพันธ์  2533  ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย  ต่อมาวันศุกร์ที่  23  เดือนเดียวกัน  จำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต  หลังจากนั้นในวันอังคารที่  27  กุมภาพันธ์  2533  จำเลยนำอุทธรณ์ฉบับใหม่มายื่นต่อศาลชั้นต้น  โดยแถลงว่าขอถอนอุทธรณ์ฉบับแรกไปนั้นเพราะเข้าใจผิดว่าจะมีการอภัยโทษจำเลย  เมื่อปรากฏว่าไม่มีการอภัยโทษ  จำเลยจึงยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น  โจทก์คดีนี้ไม่อุทธรณ์

แต่ละกรณีดังกล่าว  ศาลชั้นต้นจะสั่งอุทธรณ์ของจำเลยอย่างไร 

ธงคำตอบ

มาตรา  15  วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ  ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

มาตรา  198  วรรคแรก  การยื่นอุทธรณ์  ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง

มาตรา  202  วรรคสอง  เมื่อถอนไปแล้ว  ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน  ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์  จะเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการแก้คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  23   แต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการพิเศษ  แต่ศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น  เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  193/5  ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นสัปดาห์  เดือน  หรือปี  ให้คำนวณตามปีปฏิทิน

ถ้าระยะเวลามิได้กำหนดนับแต่วันต้นแห่งสัปดาห์  วันต้นแห่งเดือนหรือปี  ระยะเวลาย่อมสิ้นสุดลงในวันก่อนหน้าจะถึงวันแห่งสัปดาห์  เดือน  หรือปีสุดท้าย  อันเป็นวันตรงกับวันเริ่มระยะเวลานั้น  ถ้าในระยะเวลานับเป็นเดือนหรือปีนั้น  ไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้าย  ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลา

(ก)   วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลชั้นต้นจะสั่งอุทธรณ์ของจำเลยอย่างไร  เห็นว่า  โดยหลักแล้ว  เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาแล้วหากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด  1  เดือน  นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟังตามมาตรา  198   ซึ่งกำหนดระยะเวลา  1  เดือน  ต้องคำนวณตามปีปฏิทิน  และถ้าไม่มีวันตรงกันในเดือนสุดท้ายก็ให้ถือเอาวันสุดท้ายแห่งเดือนนั้นเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาตาม  ป.พ.พ.  มาตรา  193/5  เมื่อได้ความว่า  ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันจันทร์ที่  29  มกราคม  2533  และเดือนกุมภาพันธ์  2533  มี  28  วัน  ดังนั้น  จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่  28  กุมภาพันธ์  2533  และหากจำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในเวลากำหนดดังกล่าวไม่ทัน  จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องขอให้ขยายเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ  เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยตาม  ป.วิ.พ. มาตรา  23  ประกอบมาตรา  15  แต่เมื่อได้ความว่า  วันที่  28  กุมภาพันธ์ 2533  เป็นวันพุธมิใช่วันหยุดราชการ  กรณีจึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปได้  จำเลยจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์เกิน  1  เดือน  นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษา  เมื่อจำเลนยื่นอุทธรณ์ในวันที่  1  มีนาคม  2533  ซึ่งถือว่าเกิน  1  เดือน  ศาลชั้นต้นจึงต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์  (ฎ. 8721/2544)

(ข)  วินิจฉัย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  ศาลชั้นต้นจะสั่งอุทธรณ์ของจำเลยอย่างไร  เห็นว่า  จำเลยยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนด  1  เดือน  คือวันที่  20  กุมภาพันธ์  2533  ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย  ต่อมาวันที่  23  เดือนเดียวกันจำเลยยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์  ศาลชั้นต้นอนุญาต  กรณีเช่นนี้  เมื่อจำเลยถอนอุทธรณ์ไปแล้ว  และคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง (โจทก์)  มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น  ย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน  ดังนั้น  จำเลยจะนำอุทธรณ์ฉบับใหม่มายื่นต่อศาลไม่ได้  ทั้งนี้แม้จะยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ก็ตาม  ต้องห้ามตามมาตรา  202  วรรคสอง

สรุป  ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้ง  (ก)  และ (ข)

Advertisement