การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3007 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 2

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท  อ้างว่าจำเลยได้อาศัยที่ดินดังกล่าวของมารดาโจทก์  เมื่อมารดาโจทก์เสียชีวิต  โจทก์ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวมาและไม่ประสงค์จะให้จำเลยอาศัยอีกต่อไป  ได้บอกกล่าวให้จำเลยขนย้ายออกจากที่ดินพิพาท  แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมขนย้าย  ที่ดินพิพาทหากนำออกให้เช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละ  4,000  บาท  ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ขนย้ายออกจากที่ดินพิพาทและชดใช้ค่าเสียหายนับแต่วันบอกกล่าวให้ขนย้ายจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน  20,000  บาท  จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นน้าชายโจทก์  จำเลยไม่ได้อาศัยแต่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบ  เปิดเผยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า  10  ปีแล้ว  จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยครอบครองปรปักษ์  โจทก์ไม่เสียหายขอให้ศาลยกฟ้อง

ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี  คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความโดยจำเลยยอมขนย้ายออกจากที่พิพาทภายใน  2  เดือนนับแต่ศาลมีคำพิพากษาตามยอม  ส่วนโจทก์ไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย  ศาลชั้นต้นพิพากษายอมหลังจากศาลมีคำพิพากษาตามยอมได้  2  สัปดาห์ จำเลยจึงทราบโดยมีหลักฐานว่าทนายจำเลยได้ร่วมมือกับฝ่ายโจทก์หลอกลวงจำเลยให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว  จำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น  ดังนี้จำเลยจะอุทธรณ์เช่นว่านี้ได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  138  ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น  และข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความเหล่านั้นไว้  แล้วพิพากษาไปตามนั้น

ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้  เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

มาตรา  223  ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา  138  168  188  และ  222  และในลักษณะนี้  คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น  ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์  เว้นแต่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นจะได้บัญญัติว่าให้เป็นที่สุด

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่มีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความแล้ว  จะอุทธรณ์ต่อไปไม่ได้  เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นอย่างหนึ่งอย่างใด  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา  138  วรรคสอง  กล่าวคือ

(1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล

(2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

(3) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่ามิได้เป็นไปตามข้อตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ

กรณีตามอุทาหรณ์  จำเลยจะอุทธรณ์ได้หรือไม่  เห็นว่า  จำเลยประสงค์จะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้น  อ้างว่า  ทนายจำเลยได้ร่วมมือกับฝ่ายโจทก์หลอกลวงจำเลยให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ  กรณีเช่นนี้  เท่ากับกล่าวอ้างว่าสัญญาประนีประนอมเกิดขึ้นจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล  ตามมาตรา  138  วรรคสอง  (1) ดังนั้น  จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์เช่นว่านั้นได้  ตามมาตรา  138  วรรคสอง  (1)  ประกอบมาตรา  223 (ฎ.1150/2519)

สรุป  จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ 

 

ข้อ  2  โจทก์ที่  1  ที่  2  ที่  3  และที่  4  ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสี่  ซึ่งเป็นทายาทคนละ  1  ส่วน  รวม  4  ส่วน  ใน  5  ส่วน  คิดเป็นราคาที่ดินที่ขอแบ่งทั้งหมด  200,000  บาท  จำเลยให้การว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์มรดกขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสี่  คนละ  1  ส่วน  รวม  4  ส่วน  จำเลยอุทธรณ์ว่า  พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์  ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าจะรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาได้หรือไม่  อย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  224  วรรคแรก ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา  ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  เว้นแต่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้  หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจแล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในคดีที่ทายาทหลายคนร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยแม้ได้ความว่า  โจทก์จะได้ฟ้องรวมกันมาก็ตาม  หากจำเลยให้การต่อสู้ว่าทรัพย์ที่โจทก์ขอแบ่งมิใช่ทรัพย์มรดก  กรณีเช่นนี้สิทธิในการอุทธรณ์ก็ต้องถือตามทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกจากกัน  (ฎ.2125/2524  ฎ.5917/2544 (ประชุมใหญ่))

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลจะรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาหรือไม่  เห็นว่า  โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับแบ่งที่ดินทรัพย์มรดกแก่โจทก์ทั้งสี่คน คนละ  1  ส่วน  รวม  4  ส่วน  คิดเป็นราคาที่ขอแบ่งทั้งหมด  200,000  บาท  จำเลยให้การว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์มรดก  ขอให้ยกฟ้อง  แม้ได้ความว่า  โจทก์ทั้งสี่จะฟ้องรวมกันมาก็ตาม  การอุทธรณ์ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน  เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน  เมื่อที่ดินที่โจทก์ทั้งสี่ตีราคาเป็นทุนทรัพย์รวมกันมานั้น  ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน  50,000  บาท  (คนละ  50,000  บาท)  ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยกับโจทก์แต่ละคนจึงมีราคาไม่เกิน  50,000  บาท  ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง  ตามมาตรา  224  วรรคแรก

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า  พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก  ถือเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลในการรับฟังพยานหลักฐาน  อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง  จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว  ทั้งกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นของมาตรา  224  คือ  ไม่มีความเห็นแย้งหรือได้รับรองอุทธรณ์ข้อเท็จจริงจากผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคอนุญาตเป็นหนังสือให้อุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้  กรณีเช่นนี้  ศาลจึงไม่อาจรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาได้แต่ประการใด  (ฎ.5971/2544  (ประชุมใหญ่))

สรุป  ศาลไม่อาจรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาได้   

 

ข้อ  3  ในคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด  ให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี  ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์  10  ล้านบาท  จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ  ในชั้นบังคับคดี  เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินของจำเลยไว้ตามคำขอของโจทก์  เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา  แต่นายแดงมายื่นคำร้องต่อศาลว่าที่ดินที่ยึดหาใช่ของจำเลยไม่  แต่เป็นของนายแดงผู้ร้อง  ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยที่ดินที่ยึด  โจทก์แถลงคัดค้าน  ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วเห็นว่าที่ดินที่ยึดเป็นของจำเลย  และมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของนายแดง นายแดงอุทธรณ์พร้อมกับคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไว้ก่อนมีคำพิพากษา  ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์  ต่อมาศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้ยกคำร้องที่ขอให้งดการขายทอดตลาดของนายแดง

ดังนี้  ศาลใดไต่สวนและมีคำสั่งยกคำร้องของนายแดง  และคำสั่งยกคำร้องของนายแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  254  วรรคท้าย  ในระหว่างระยะเวลานับแต่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือชี้ขาดอุทธรณ์ไปจนถึงเวลาที่ศาลชั้นต้นได้ส่งสำนวนความที่อุทธรณ์หรือฎีกาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา  แล้วแต่กรณี  คำขอตามมาตรานี้ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น  ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะสั่งอนุญาตหรือยกคำขอเช่นว่านี้

มาตรา  264  นอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา  253  และมาตรา  254  คู่ความชอบที่จะยื่นคำขอต่อศาล  เพื่อให้มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  เช่น  ให้นำทรัพย์สินหรือเงินที่พิพาทมาวางต่อศาลหรือต่อบุคคลภายนอก  หรือให้ตั้งผู้จัดการหรือผู้รักษาทรัพย์สินของห้างร้านที่ทำการค้าที่พิพาท  หรือให้จัดให้บุคคลผู้ไร้ความสามารถอยู่ในความปกครองของบุคคลภายนอก

คำขอตามวรรคแรกให้บังคับตามมาตรา  21  มาตรา  25  มาตรา  227  มาตรา  228  มาตรา  260  และมาตรา  262

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  การที่ศาลจะสั่งอนุญาตให้คุ้มครองประโยชน์  ตามมาตรา  264  นั้น  จะต้องเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิ  หรือประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดที่พิพาทให้ได้รับการคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะพิพากษา

คดีนี้เมื่อนายแดงบุคคลภายนอกยื่นคำร้องต่อศาลว่า  ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้หาใช่ของจำเลยไม่  แต่เป็นของนายแดงผู้ร้อง  โจทก์แถลงคัดค้าน  กรณีเช่นนี้  คดีพิพาทดังกล่าวถือว่าเป็นข้อพิพาทในชั้นบังคับคดีที่เรียกว่า  คดีร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด  (คดีร้องขัดทรัพย์)  นายแดงผู้ร้องมีฐานะเสมือนเป็นโจทก์  ส่วนโจทก์เดิมหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีฐานะเป็นจำเลย

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า  ศาลใดเป็นศาลที่ไต่สวนและมีคำสั่งยกคำร้องที่ขอให้งดการขายทอดตลาดของนายแดง  เห็นว่า  เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา  264  วรรคสองแล้ว  จะเห็นว่ามิได้บัญญัติให้นำมาตรา  254  มาใช้บังคับด้วย  ดังนั้นหากศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ฎีกาแล้ว  (ซึ่งถือว่าเป็นการสั่งรับแทนศาลอุทธรณ์  ศาลฎีกา)  อำนาจในการสั่งคำร้องขอคุ้มครองตามมาตรา  264  นี้  ก็ตกอยู่กับศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาทันที  ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่ง  ต่างกับกรณีตามมาตรา  254  ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว  แต่หากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกายังไม่รับสำนวนลงสารบบ  ก็ยังเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นเท่านั้นที่จะพิจารณาสั่ง 

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่นายแดงอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินที่ยึดพร้อมกับยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไว้ก่อนมีคำพิพากษา  ถือเป็นคำร้องขอวิธีการชั่วคราว  ตามมาตรา  264  (ไม่ใช่เรื่องขอทุเลาการบังคับตามมาตรา  231  (ฎ.1606/2534))  กรณีเช่นนี้  ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา  จึงเป็นศาลที่มีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งคำร้องของนายแดง

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า  การที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องของนายแดงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เห็นว่า  เมื่อศาลอุทธรณ์ไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของนายแดงที่ขอให้งดการขายทอดตลาด  กรณีเช่นนี้มีผลเท่ากับศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดต่อไปได้  ซึ่งถ้าหากเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดเสร็จไปแล้ว  แต่ปรากฏต่อมาว่าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับว่าที่ดินที่ยึดเป็นของนายแดง  ให้ปล่อยที่ดินที่ยึด  ก็จะเป็นเหตุให้นายแดงต้องเสียสิทธิในที่ดิน  เป็นที่เสียหายแก่นายแดง  เพราะไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้  ดังนั้น  การที่ศาลอุทธรณ์สั่งยกคำร้องของนายแดง  โดยยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์  คำสั่งยกคำร้องของศาลอุทธรณ์ย่อมไม่ชอบด้วยมาตรา  264  (เทียบ  ฎ. 3452/2533)

สรุป  ศาลอุทธรณ์เป็นศาลที่ไต่สวนและมีคำสั่งยกคำร้องของนายแดง  และคำสั่งยกคำร้องของนายแดงไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

ข้อ  4  ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่  1234  ให้แก่โจทก์  โจทก์ยื่นคำแถลงต่อศาลแพ่งว่า  จำเลยไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์  ขอให้ออกคำบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทหากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยใช้ราคา  1,000,000  บาท  ศาลแพ่งได้ออกคำบังคับตามคำแถลงของโจทก์  จำเลยได้ทราบคำบังคับแต่ไม่ยอมปฏิบัติจนล่วงพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับแล้ว

ให้วินิจฉัยว่า  (ก)  โจทก์จะร้องขอให้บังคับคดีดังกล่าวได้หรือไม่  (ข)  หากจำเลยได้ทราบคำบังคับ  ซึ่งได้ออกโดยชอบแล้ว  ศาลแพ่งจะออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้หรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  271  ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี  (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา)  มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน  คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา  หรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง  โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

 มาตรา  275  วรรคแรก  ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้บังคับคดี  ให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลเพื่อให้ออกหมายบังคับคดี

มาตรา  278  วรรคแรก  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งภาคนี้ว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี  นับแต่วันที่ได้ส่งหมายบังคับคดีให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา  หรือถ้าหมายนั้นมิได้ส่งนับแต่วันออกหมายนั้นเป็นต้นไป  ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  ในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางและออกใบรับให้กับมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดและยึดถือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้  และมีอำนาจที่จะเอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด  ทั้งมีอำนาจที่จะจำหน่ายทรัพย์สินหรือเงินรายได้จากการนั้นและดำเนินวิธีการบังคับทั่วๆไป  ตามที่ศาลได้กำหนดไว้ในหมายบังคับคดี

วินิจฉัย

(ก)  กรณีตามอุทาหรณ์  โจทก์จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำบังคับดังกล่าวได้หรือไม่  เห็นว่า  ตามมาตรา  271  กำหนดให้  คู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดี  (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)  ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยอาศัยและตามคำบังคับซึ่งได้ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น  ซึ่งเมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้วได้ความว่า  ศาลแพ่งเพียงแต่พิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่  1234  แก่โจทก์  มิได้กำหนดให้จำเลยใช้ราคาแทนในเมื่อไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทได้  การที่โจทก์ขอให้ออกคำบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาท  หากไม่สามารถโอนได้ให้ใช้ราคา  1,000,000  บาท  จึงเป็นการขอให้ออกคำบังคับนอกเหนือไปจากตามคำพิพากษาของศาล  จึงไม่ชอบด้วยมาตรา  271  แม้จะล่วงพ้นกำหนดเวลาตามคำบังคับและจำเลยไม่ยอมปฏิบัติตามคำบังคับ  โจทก์ก็ไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีตามคำบังคับซึ่งนอกเหนือไปจากคำพิพากษาได้

(ข)  กรณีตามอุทาหรณ์  หากจำเลยได้ทราบคำบังคับซึ่งได้ออกโดยชอบแล้ว  ศาลแพ่งจะออกหมายบังคับแก่จำเลยเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้หรือไม่  เห็นว่า  การขอให้ออกหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  275  นั้น  จะต้องเป็นการบังคับคดีที่ต้องดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากหมายบังคับคดีเป็นหมายของศาลที่ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจในฐานเป็นผู้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะรับชำระหนี้หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้นำมาวางกับมีอำนาจที่จะยึดหรืออายัดและเอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด  ตามมาตรา  278  เมื่อได้ความว่า  การบังคับตามคำพิพากษากำหนดให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์อันเป็นหนี้เกี่ยวกับการกระทำนิติกรรม  (ไม่อาจดำเนินการโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีได้)  และเมื่อจำเลยทราบคำบังคับแล้ว  แต่ไม่ยอมปฏิบัติ  กรณีเช่นนี้  โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้บังคับคดีโดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้  (ฎ. 2701/2537)  กรณีมิใช่การบังคับคดีที่จะต้องอาศัยหรือดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี  ศาลแพ่งจึงไม่อาจออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้

สรุป

(ก)  โจทก์ร้องขอให้บังคับคดีตามคำบังคับไม่ได้

(ข)  ศาลแพ่งไม่อาจออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยเพื่อให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้

Advertisement