การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน บริษัทฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1. ในเดือนมกราคม 2562 นายน้ํา นายไม้ และนายฟ้าตกลงร่วมลงทุนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญแห่งหนึ่ง มีวัตถุประสงค์ขายและซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ Harley Davidson เพื่อแสงหากําไรแบ่งปันกัน ห้างหุ้นส่วนฯ มีหนี้ค้างชําระค่าเครื่องมือซ่อมมอเตอร์ไซค์แก่นายโตจํานวน 1 ล้านบาท
ต่อมาในเดือนมีนาคม 2562 นายฟ้าได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว และต่อมาในเดือนมิถุนายน 2562 นายน้ําและนายฟ้าได้ร่วมลงทุนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญทํากิจการ ขายและซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ Harley Davidson อีกแห่งหนึ่ง บริเวณใกล้ ๆ กับห้างหุ้นส่วนเดิม ได้รับเงินกําไร 4 ล้านบาท และห้างหุ้นส่วนซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ดังกล่าวเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจ้างซ่อมรถ ของนายโต เป็นหนี้จํานวน 1 แสนบาท โดยสัญญาจ้างดังกล่าวนายฟ้าและนายโตเป็นผู้ลงลายมือชื่อ ในฐานะคู่สัญญา
ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายน้ำ นายฟ้า นายไม้ และนายโต มีสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทหรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1025 “อันว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกัน เพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจํากัด”
มาตรา 1033 “ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนมิได้ตกลงกันไว้ในกระบวนจัดการห้างหุ้นส่วนไซร้ ท่านว่าผู้เป็น หุ้นส่วนย่อมจัดการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ทุกคน…
ในกรณีเช่นนี้ ท่านให้ถือว่าผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทุกคน”
มาตรา 1038 “ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทําเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความ ยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ
ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกําไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหาย
เพราะเหตุนั้น แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทําการฝ่าฝืน”
มาตรา 1049 “ผู้เป็นหุ้นส่วนจะถือเอาสิทธิใด ๆ แก่บุคคลภายนอกในกิจการค้าขายซึ่งไม่ปรากฏ ชื่อของตนนั้นหาได้ไม่”
มาตรา 1050 “การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขาย ของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกัน โดยไม่จํากัดจํานวนในการชําระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น”
มาตรา 1051 “ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วน ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
1. การที่นายน้ำ นายไม้ และนายฟ้า ตกลงร่วมลงทุนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยมีวัตถุประสงค์ ขายและซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ Harley Davidson เพื่อหากําไรมาแบ่งปันกัน และห้างหุ้นส่วนมีหนี้ค้างชําระ ค่าเครื่องมือซ่อมมอเตอร์ไซค์แก่นายโตจํานวน 1 ล้านบาทนั้น หนี้ดังกล่าวถือเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่หุ้นส่วน ได้จัดทําไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วน ดังนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน คือ นายน้ํา นายไม้ และ นายฟ้าจึงต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ดังกล่าวโดยไม่จํากัดจํานวนตามมาตรา 1025 และมาตรา 1050 และแม้นายฟ้า จะได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าวแล้ว นายฟ้าก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ดังกล่าว เพราะเป็น หนี้ที่ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากหุ้นส่วนไปตามมาตรา 1051 ดังนั้น หนี้จํานวน 1 ล้านบาท ดังกล่าวนี้ นายโตในฐานะเจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องให้นายน้ํา นายไม้ และนายฟ้าร่วมกันรับผิดชําระหนี้แก่ตนได้
2. การที่นายน้ำและนายฟ้าได้ร่วมลงทุนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่งทํากิจการ ขายและซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ Harley Davidson และอยู่บริเวณใกล้ ๆ กับห้างหุ้นส่วนเดิมนั้น ประเด็นที่ต้อง วินิจฉัยคือ การกระทําของนายน้ำและนายฟ้าเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคหนึ่งหรือไม่
กรณีของนายน้ำซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับนายไม้ในห้างหุ้นส่วนเดิม เมื่อได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนกับนายฟ้าตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญขึ้นใหม่ และประกอบกิจการที่สภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการ ของห้างหุ้นส่วนเดิมโดยมิได้รับความยินยอมจากนายไม้นั้น ย่อมถือว่านายน้ํากระทําการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 1038 วรรคหนึ่งแล้ว เพราะแม้ว่านายน้ําจะมิได้ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม โดยตรง แต่การเข้าไปเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนใหม่และอยู่ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการก็ถือว่าเป็นการกระทําเสมือนเป็นการประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิมเช่นเดียวกัน เนื่องจากห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันว่าจะให้หุ้นส่วนผู้ใดเป็นผู้จัดการ กฎหมายให้ถือว่าหุ้นส่วนทุกคนเป็นผู้จัดการและมีอํานาจ จัดกิจการงานของห้างหุ้นส่วนได้ทุกคน (มาตรา 1033) ดังนั้น กรณีนี้นายไม้ย่อมมีสิทธิตามมาตรา 1038 วรรคสอง คือสามารถเรียกเอาผลกําไรที่นายน้ําหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับ ความเสียหายเพราะการกระทําของนายน้ำได้
ส่วนนายฟ้านั้น เมื่อไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกับนายในห้างหุ้นส่วนเดิมเพราะได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนแล้วย่อมสามารถประกอบกิจการหรือเข้าไปเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขาย แข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิมได้ ไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด
3. การที่ห้างหุ้นส่วนที่นายน้ําและนายฟ้าร่วมกันจัดตั้งขึ้นใหม่เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาจ้างซ่อมรถ ของนายโตจํานวน 1 แสนบาท โดยสัญญาจ้างดังกล่าวมีนายฟ้าและนายโตเป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะคู่สัญญานั้น เฉพาะนายฟ้าเท่านั้นที่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากนายโต ส่วนนายน้ําเมื่อมิได้เป็นคู่สัญญากับนายโตจึงไม่มีสิทธิ
เรียกร้องเอาจากนายโตได้ตามมาตรา 1349
สรุป นายโตมีสิทธิเรียกร้องให้นายน้ํา นายไม้ และนายฟ้า ร่วมกันรับผิดในหนี้ค่าเครื่องมือซ่อม รถมอเตอร์ไซค์จํานวน 1 ล้านบาทได้
นายไม้มีสิทธิเรียกร้องให้นายน้ํารับผิดกรณีที่นายน้ํากระทําการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1038 วรรคหนึ่งได้
นายฟ้ามีสิทธิเรียกร้องให้นายโตรับผิดในหนี้ตามสัญญาจ้างซ่อมรถจํานวน 1 แสนบาทได้
ข้อ 2. ให้ท่านอธิบายความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด อย่างน้อย 12 รายการ โดยยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทประกอบ การอธิบาย
ธงคําตอบ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติถึงความแตกต่างระหว่าง “หุ้นส่วนไม่จํากัด
ความรับผิด” กับ “หุ้นส่วนจํากัดความรับผิด” ไว้ดังนี้ คือ
1. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดมีได้ทั้งในห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจํากัด ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิดมีได้เฉพาะในห้างหุ้นส่วนจํากัดเท่านั้น (มาตรา 1025 และมาตรา 1077)
2. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน ส่วน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะรับผิดเพื่อหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยจํากัดเฉพาะในจํานวนเงินที่ตนรับว่าจะลงหุ้นเท่านั้น
(มาตรา 1077)
3. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดจะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จํากัดจํานวน
ไม่ว่าหนี้นั้นจะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลังที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดจะได้จดทะเบียน แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะต้อง
รับผิดโดยไม่จํากัดจํานวนก็แต่เฉพาะในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่เกิดขึ้นก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจะได้จดทะเบียนเท่านั้น
(มาตรา 1079)
4. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถนําชื่อของตนไปเรียกขานระคนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เอาชื่อของตน ไปเรียกขานระคนเป็นชื่อของห้างหุ้นส่วน (มาตรา 1081)
5. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ (มาตรา 1026 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิดสามารถลงหุ้นได้เฉพาะเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้น จะลงหุ้น ด้วยแรงงานไม่ได้ (มาตรา 1083)
6. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดนอกจากจะมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้า ได้แล้ว ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด กฎหมายได้บัญญัติ ห้ามมิให้แบ่งเงินปันผลหรือดอกเบี้ยแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด นอกจากผลกําไรที่ห้างหุ้นส่วนทํามาค้าได้ เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา 1084)
7. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดอาจจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ได้เพราะกฎหมายไม่ห้าม แต่หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดจะแสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดให้บุคคลภายนอกทราบว่าตนได้ลงหุ้นไว้มากกว่าจํานวนซึ่งได้จดทะเบียนไว้ไม่ได้ ถ้ามีการฝ่าฝืน หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนนั้นก็จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามจํานวนที่ตนได้แสดงตนหรือคุยโม้โอ้อวดไว้ด้วย (มาตรา 1085)
8. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด มีสิทธิเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ (มาตรา 1087) ส่วนหุ้นส่วน จํากัดความรับผิด กฎหมายห้ามมิให้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการรวมทั้งห้ามสอดเข้าไปเกี่ยวข้องการจัดการงานของ ห้างหุ้นส่วนด้วย (มารตรา 1087 และมาตรา 1088)
9. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด จะประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนไม่ได้ หรือ
จะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่นที่ประกอบกิจการค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนเดิม ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน (มาตรา 1066 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถประกอบกิจการ ค้าขายแข่งขันกับห้างหุ้นส่วนได้ (มาตรา 1090)
10. หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด ถ้าจะโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่น จะต้องได้รับความยินยอม จากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ด้วย (มาตรา 1040 ประกอบมาตรา 1080) ส่วนหุ้นส่วนจํากัดความรับผิด สามารถ โอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ (มาตรา 1091)
11. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความ สามารถ โดยหลักห้างหุ้นส่วนนั้นย่อมเป็นอันเลิกกัน (มาตรา 1055 (5) ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าผู้เป็น หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดคนใดคนหนึ่งตาย ล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความสามารถไม่เป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนนั้น
จะต้องเลิกกัน (มาตรา 1092)
12. เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดผิดนัดชําระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิฟ้องให้หุ้นส่วนไม่จํากัดความรับผิด คนใดคนหนึ่งชําระหนี้ได้ (มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080) แต่ถ้าตราบใดที่ห้างหุ้นส่วนจํากัดยังมิได้เลิกกัน แม้ห้างหุ้นส่วนจะผิดนัดชําระหนี้แล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องให้หุ้นส่วนจํากัดความรับผิดชําระหนี้ได้ (มาตรา 1095)
ข้อ 3. ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเกี่ยวกับ “การประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท” ในประเด็นดังต่อไปนี้
โดยยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทประกอบการอธิบาย
(ก) เรื่อง “วิธีการเรียกประชุม
(ข) เรื่อง “องค์ประชุม
(ค) เรื่อง “การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน”
ธงคําตอบ
(ก) เรื่อง “วิธีการเรียกประชุม”
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1175 “คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ให้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษ ให้กระทําการดังว่านั้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน
คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุม ปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอให้ลงมติด้วย” ตามมาตรา 1175 ได้กําหนดวิธีการในการบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ไว้ดังนี้ คือ
1. จะต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่อย่างน้อยหนึ่งคราวก่อนวันนัดประชุมม่น้อยกว่า 7 วัน และ
2. จะต้องส่งคําบอกกล่าวเป็นจดหมายส่งทางไปรษณีย์ตอบรับไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน
ทั้ง 1. และ 2. นั้น ถ้าเป็นการบอกกล่าวเรียกประชุมเพื่อลงมติพิเศษแล้ว ให้กระทําการดังกล่าว ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน
3. คําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่นั้น จะต้องระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะ ประชุมปรึกษากัน และในกรณีที่เป็นคําบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่เพื่อลงมติพิเศษให้ระบุข้อความที่จะนําเสนอ ให้ลงมตินั้นด้วย
(ข) เรื่อง “องค์ประชุม
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1178 “ในการประชุมใหญ่ ถ้าไม่มีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ถึงจํานวน หนึ่งในสีแห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อยแล้ว ท่านว่าที่ประชุมอันนั้นจะปรึกษากิจการอันใดหาได้ไม่
ตามมาตรา 1178 ได้กําหนดไว้ว่า ในการประชุมใหญ่นั้น จะต้องมีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมกันแทนหุ้น รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของทุนของบริษัทจึงจะถือว่าครบองค์ประชุมและสามารถประชุมเพื่อปรึกษา กิจการกันได้ มิฉะนั้นแล้วที่ประชุมอันนั้นก็จะปรึกษากิจการอันใดไม่ได้
(ค) เรื่อง “การออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนน”
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1182 “ในการลงคะแนนโดยวิธีชูมือนั้น ท่านให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคนที่มาประชุมเอง หรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นมาประชุมแทนมีเสียงหนึ่งเป็นคะแนน แต่ในการลงคะแนนลับ ท่านให้นับว่าผู้ถือหุ้นทุกคน มีคะแนนเสียงเสียงหนึ่งต่อหุ้นหนึ่งที่ตนถือ
มาตรา 1190 “ในการประชุมใหญ่ใด ๆ ข้อมติอันเสนอให้ลงคะแนนท่านให้ตัดสินด้วยวิธีชูมือ เว้นแต่ เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น จะได้มีผู้ถือหุ้นสองคนเป็นอย่างน้อยติดใจร้องขอให้ ลงคะแนนลับ”
มาตรา 1193 “ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน จะเป็นการชูมือก็ดี หรือในการลงคะแนนลับก็ดี ให้ผู้เป็น ประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด”
ในการออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนนนั้น มี 2 วิธี คือ
1. การลงคะแนนโดยเปิดเผยหรือโดยวิธีชูมือ ซึ่งจะนับคะแนนผู้ถือหุ้น 1 คนต่อ 1 เสียง (มาตรา 1182)
2. การลงคะแนนลับ ซึ่งเกิดขึ้นได้เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น ได้มีผู้ถือหุ้น 2 คนเป็นอย่างน้อยได้ร้องขอให้ลงคะแนนลับ (มาตรา 1190) และเมื่อมีการลงคะแนนลับการนับคะแนนให้ถือว่า ผู้ถือหุ้นทุกคนมีคะแนน 1 หุ้นต่อ 1 เสียง (มาตรา 1182)
ในการลงคะแนนไม่ว่าจะโดยวิธีที่ 1 หรือวิธีที่ 2 นั้น ในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียงเพื่อเป็นเสียงชี้ขาด (มาตรา 1193)