การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายชายเป็นจําเลยว่านายชายใช้ปืนยิงนายชอบโดยบันดาลโทสะ
เป็นเหตุให้นายชอบได้รับบาดเจ็บ และกระสุนปืนดังกล่าวยังพลาดไปโดนนายชาญที่บริเวณหน้าอก เป็นเหตุให้นายชาญถึงแก่ความตายทันที ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น นายชอบและนางแช่มซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายชาญต่างยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งคําร้องของนายชอบและนางแซ่มอย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้
(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”
มาตรา 3 “บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอํานาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไข ที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ
(2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ”
มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”
มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วม
เป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย ผู้ที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาได้นั้น จะต้องเป็นผู้เสียหาย ตามความใน ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 4, 5 และ 6 ก็ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายชายเป็นจําเลยว่านายชายใช้ปืนยิง นายชอบโดยบันดาลโทสะเป็นเหตุให้นายชอบได้รับบาดเจ็บ และกระสุนปืนดังกล่าวยังพลาดไปโดนนายชาญที่ บริเวณหน้าอกเป็นเหตุให้นายชาญถึงแก่ความตายทันที และระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น นายชอบและ
นางแจ่มซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายชาญต่างยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
ดังนี้ ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งเกี่ยวกับคําร้องของนายชอบและนางแช่มอย่างไรนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของนายชอบ การที่นายชอบได้รับบาดเจ็บจากการกระทําของนายชาย นายชอบจึงเป็น ผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้เสียหายที่แท้จริงตามนัยของ ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) แล้ว นายชอบจึงสามารถยื่นคําร้อง ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้ได้ ดังนั้น กรณีของนายชอบ ศาลชั้นต้นจึงต้องมีคําสั่งรับคําร้อง
ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนายชอบ
กรณีของนางแช่ม เมื่อนางแช่มเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับนายชาญจึงไม่ถือว่าเป็นภริยา
ของนายชาญตามกฎหมาย นางแช่มจึงไม่มีอํานาจจัดการแทนนายชาญผู้ตายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) และ ไม่มีอํานาจที่จะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 3 (2) และมาตรา 30 ได้
ดังนั้น กรณีของนางแช่ม ศาลชั้นต้นจะต้องมีคําสั่งไม่รับคําร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนางแช่ม
สรุป ศาลชั้น ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งรับคําร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนายชอบ แต่มีคําสั่งไม่รับคําร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนางแซ่ม
ข้อ 2. พันตํารวจโทดําพนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนคดีอาญาที่มีนายแดงเป็นผู้ต้องหาในข้อหา
ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยทําความเห็นสั่งฟ้องนายแดงผู้ต้องหา
และของดการสอบสวนแล้วส่งสํานวนพร้อมด้วยความเห็นไปยังพนักงานอัยการ แต่ไม่ได้ส่งตัว นายแดงผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการด้วยเนื่องจากนายแดงผู้ต้องหาได้รับบาดเจ็บสาหัส สมองกระทบกระเทือนอย่างแรงและมีเลือดออกในสมอง ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารกับผู้อื่นโดยวิธีใดได้ตลอดไป
ดังนี้ พนักงานอัยการจะรับสํานวนการสอบสวนดังกล่าวไว้เพื่อพิจารณาได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 14 “ในระหว่างทําการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหา หรือจําเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงาน
แพทย์ตรวจผู้นั้นเสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคําหรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริต หรือสามารถจะต่อสู้คดีได้…”
มาตรา 140 “เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทําผิด…
(2) ถ้ารู้ตัวผู้กระทําผิด ให้ใช้บทบัญญัติในมาตราต่อไปนี้
มาตรา 142 “ถ้ารู้ตัวผู้กระทําผิดและผู้นั้นถูกควบคุมหรือขังอยู่ หรือปล่อยชั่วคราว หรือเชื่อว่า คงได้ตัวมาเมื่อออกหมายเรียก ให้พนักงานสอบสวนทําความเห็นตามท้องสํานวนการสอบสวนว่าควรสั่งฟ้องหรือ
สั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมสํานวน…..”
วินิจฉัย
โดยหลักในคดีอาญานั้น เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว และเป็นกรณีที่รู้ตัวผู้กระทําผิดและผู้นั้นถูกควบคุมหรือขังอยู่ ให้พนักงานสอบสวนทําความเห็นตาม ท้องสํานวนการสอบสวนว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมสํานวน เพื่อให้พนักงานอัยการ พิจารณาต่อไป (ป.วิ.อาญา มาตรา 140 (2) ประกอบมาตรา 142)
แต่ตามอุทาหรณ์ปรากฏว่า นายแดงผู้ต้องหาในคดีนี้ได้รับบาดเจ็บสาหัส สมองกระทบกระเทือน อย่างแรงและมีเลือดออกในสมอง ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารกับผู้อื่นโดยวิธีใดได้ตลอดไป จึงถือว่าเป็นกรณีที่ ผู้ต้องหาเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ในระหว่างทําการสอบสวนตามนัยของ ป.วิ.อาญา มาตรา 14
วรรคหนึ่ง และตามมาตรา 14 วรรคสองได้กําหนดให้พนักงานสอบสวนต้องงดการสอบสวนทันทีจนกว่านายแดง ซึ่งเป็นผู้ต้องหานั้นจะหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และเป็นอํานาจของพนักงานสอบสวนที่จะ
ดําเนินการดังกล่าวได้โดยไม่จําต้องเสนอความเห็นและส่งสํานวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อสั่งการอย่างใด
อย่างหนึ่งเสียก่อน และไม่ถือว่าการสอบสวนได้เสร็จสิ้นแล้ว อันจะต้องส่งสํานวนการสอบสวนไปยังพนักงาน อัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 140 (2) และมาตรา 142 แต่อย่างใด ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์พนักงานอัยการ จะรับสํานวนการสอบสวนดังกล่าวไว้เพื่อพิจารณาไม่ได้
สรุป พนักงานอัยการจะรับสํานวนการสอบสวนดังกล่าวไว้เพื่อพิจารณาไม่ได้
ข้อ 3. นายดําใช้ปืนยิงนายขาวโดยเจตนาฆ่าในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองลําพูน นายขาวถูกยิงได้รับ บาดเจ็บและถูกนําตัวส่งโรงพยาบาลในจังหวัดลําพูนซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองลําพูน ต่อมาวันรุ่งขึ้นนายขาวถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่และถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลแห่งนั้นซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองเชียงใหม่
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนท้องที่ใดมีอํานาจสอบสวนคดีนี้ และพนักงานสอบสวนท้องที่ใด มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพนายขาว
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 18 วรรคหนึ่ง “ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พนักงานฝ่าย ปกครองหรือตํารวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอําเภอ และข้าราชการตํารวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตํารวจตรีหรือเทียบเท่า นายร้อยตํารวจตรีขึ้นไป มีอํานาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอํานาจ ของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอํานาจของตนได้”
มาตรา 150 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทําการชันสูตร พลิกศพโดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจําโรงพยาบาล ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจําโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้แพทย์ประจําสํานักงาน สาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจําสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
ให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทําบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทํารายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่องถ้ามีความจําเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและ ความจําเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของ สํานวนชันสูตรพลิกศพ และในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทําผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสํานวน ชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว และให้พนักงานอัยการดําเนินการต่อไปตามมาตรา 156
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
1. การที่นายดําใช้ปืนยิงนายขาวโดยเจตนาฆ่าในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองลําพูน นายขาว ถูกยิงได้รับบาดเจ็บและถูกนําตัวส่งโรงพยาบาลในจังหวัดลําพูนซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองลําพูน ดังนี้ แม้ต่อมาวันรุ่งขึ้นนายขาวจะถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่และถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลแห่งนั้นซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองเชียงใหม่ก็ตาม แต่กรณีนี้ถือว่าความผิดอาญา ได้เกิดขึ้นในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองลําพูน ดังนั้น พนักงานสอบสวนในท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองลําพูน จึงมีอํานาจสอบสวนความผิดอาญาในคดีนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18 วรรคหนึ่ง
2. เมื่อนายขาวได้ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองเชียงใหม่ พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นท้องที่ที่ศพนั้นอยู่จึงมีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพ นายขาว โดยร่วมกับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภาทําการ ชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 150 วรรคหนึ่ง
สรุป พนักงานสอบสวนท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองลําพูนมีอํานาจสอบสวนคดีนี้และพนักงานสอบสวนท้องที่สถานีตํารวจภูธรเมืองเชียงใหม่มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพนายขาว
ข้อ 4. พ.ต.ต. ดีเยี่ยมได้ยินเสียงคนร้องด้วยความเจ็บปวดจึงรีบวิ่งไปบริเวณที่ได้ยินเสียงนั้น เมื่อไปถึง บริเวณที่ได้ยินเสียง พ.ต.ต. ดีเยี่ยมเห็นนายโหระพานอนจมกองเลือดอยู่ริมถนนสาธารณะ โดยมี บาดแผลถูกอาวุธมีดแทง และพบนายตะขบถืออาวุธมีดเปื้อนเลือดนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ที่จอด อยู่ข้างตัวนายโหระพา พ.ต.ต. ดีเยี่ยมจึงแจ้งแก่นายตะขบว่าต้องถูกจับและทําการจับนายตะขบทันทีโดยไม่มีหมายจับ
ดังนี้ การจับของ พ.ต.ต. ดีเยี่ยมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80
มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือ พบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 ได้วางหลักไว้ว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มี หมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย เช่น เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําผิดซึ่งหน้า ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 80 เป็นต้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ พ.ต.ต. ดีเยี่ยมได้ยินเสียงคนร้องด้วยความเจ็บปวด จึงรีบวิ่งไปยังบริเวณ ที่ได้ยินเสียง เมื่อไปถึงบริเวณที่ได้ยินเสียง พ.ต.ต.ดีเยี่ยมเห็นนายโหระพานอนจมกองเลือดอยู่ริมถนนสาธารณะ โดยมีบาดแผลถูกอาวุธมีดแทง และพบนายตะขบถืออาวุธมีดเปื้อนเลือดนั่งคร่อมรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ข้างตัว นายโหระพานั้น แม้ พ.ต.ต. ดีเยี่ยมจะไม่เห็นนายตะขบใช้มีดแทงนายโหระพา แต่ถือเป็นกรณีที่ พ.ต.ต. ดีเยี่ยม พบในอาการใดซึ่งแทบไม่มีความสงสัยเลยว่า นายตะขบได้กระทําความผิดมาแล้วสด ๆ ดังนั้น พ.ต.ต. ดีเยี่ยม จึงมีอํานาจในการจับนายตะขบได้โดยไม่ต้องมีหมายจับเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง การจับของ พ.ต.ต. ดีเยี่ยมจึงชอบด้วยกฎหมาย
สรุป การจับของ พ.ต.ต. ดีเยี่ยมชอบด้วยกฎหมาย