การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3109 (LAW 3009) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. นายหนึ่งมีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายคือนางสอง มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ พระภิกษุเอ นายบี และเด็กหญิงซี ก่อนที่นายหนึ่งจะสมรสกับนางสอง นายหนึ่งมีลูกติดมาคนหนึ่งชื่อนางสาวชมพู แต่นายหนึ่งไม่ได้เลี้ยงดูนางสาวชมพู เพราะนายหนึ่งได้เสียกับนางสาวแดง (มารดานางสาวชมพู) ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ในขณะนั้นยังไม่มีรายได้ที่จะส่งเสียนางสาวชมพู อย่างไรก็ดีนายหนึ่งได้แจ้ง ในใบสูติบัตรว่าตนเองเป็นบิดาและให้นางสาวชมพูใช้นามสกุล หากปรากฏว่านายหนึ่งได้เสียชีวิตลง นายหนึ่งมีทรัพย์มรดกทั้งหมด 15,000,000 บาท และได้ทําพินัยกรรมระบุให้นางสาวแดงได้ ทรัพย์มรดก 5,000,000 บาท

Advertisement

ให้ท่านวินิจฉัยว่า ใครเป็นทายาทของนายหนึ่งบ้างและเป็นทายาทประเภทใด และได้ทรัพย์มรดก คนละเท่าไหร่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1603 “กองมรดกย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรม ทายาทที่มีสิทธิ์ตามกฎหมาย เรียกว่า “ทายาทโดยธรรม” ทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรม เรียกว่า “ผู้รับพินัยกรรม”

มาตรา 1620 วรรคสอง “ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทําพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจําหน่ายทรัพย์ หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จําหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรม ไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้
(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกทั้งหมด 15 ล้านบาท ได้ทําพินัยกรรม ระบุให้นางสาวแดงได้ทรัพย์มรดก 5 ล้านบาทนั้น นางสาวแดงย่อมถือเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมซึ่งเรียกว่า ผู้รับพินัยกรรมตามมาตรา 1603 และมีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายหนึ่งจํานวน 5 ล้านบาท ส่วนทรัพย์มรดกของ นายหนึ่งอีก 10 ล้านบาท ซึ่งนายหนึ่งมิได้ระบุไว้ในพินัยกรรมว่าจะยกให้แก่ผู้ใดนั้น ต้องนํามาแบ่งปันให้แก่ทายาท โดยธรรมของนายหนึ่งต่อไปตามมาตรา 1620 วรรคสอง ซึ่งผู้มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่งในฐานะทายาทโดยธรรม ได้แก่ นางสองซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง พระภิกษุเอ นายบี และเด็กหญิงซี ซึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) โดยพระภิกษุเอนั้น แม้จะเป็นพระภิกษุก็ตาม แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามหรือถูกจํากัดสิทธิในการรับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรม แต่อย่างใด เพียงแต่มาตรา 1622 ได้กําหนดไว้ว่า พระภิกษุนั้นจะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในฐานะที่เป็นทายาท โดยธรรมไม่ได้ เว้นแต่จะได้สึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกําหนดอายุความตามมาตรา 1754 เท่านั้น

และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่นายหนึ่งจะสมรสกับนางสองนั้น นายหนึ่งมีลูกติดคนหนึ่งชื่อ นางสาวชมพู ซึ่งแม้ว่านายหนึ่งจะไม่ได้เลี้ยงดูนางสาวชมพู แต่นายหนึ่งได้แจ้งในสูติบัตรว่าตนเป็นบิดา และ ให้นางสาวชมพูใช้นามสกุล ย่อมถือว่านางสาวชมพูเป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายหนึ่งบิดาได้รับรองแล้วโดยพฤตินัย ดังนั้น นางสาวชมพูย่อมเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมด้วยตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627

เมื่อผู้มีสิทธิรับมรดกของนายหนึ่งในฐานะทายาทโดยธรรมมี 5 คน คือ นางสอง พระภิกษุเอ นายบี เด็กหญิงซี และนางสาวชมพู โดยนางสองซึ่งเป็นภริยาของนายหนึ่งนั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็น ทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1635 (1) ดังนั้น นางสอง พระภิกษุเอ นายบี เด็กหญิง และนางสาวชมพู จึงได้รับ มรดกในส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน คือคนละ 2 ล้านบาท ตามมาตรา 1633

สรุป มรดกทั้งหมดของนายหนึ่งจํานวน 15 ล้านบาท จะตกได้แก่นางสาวแดงตามพินัยกรรม 5 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 10 ล้านบาท จะตกได้แก่ทายาทโดยธรรมคือ นางสอง พระภิกษุเอ นายบี เด็กหญิงซี และนางสาวชมพู คนละ 2 ล้านบาท

 

ข้อ 2. นายเมฆจดทะเบียนสมรสกับนางฝน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายหมอกและนายลม นายหมอก อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับนางสาวเดือน หลังจากอยู่กินกันได้ 2 เดือน นายหมอกก็เดินทาง ไปทํางานที่ต่างประเทศ นางสาวเดือนไปหาหมอก็พบว่าตัวเองตั้งครรภ์ได้ 3 อาทิตย์ ส่วนนายลม จดทะเบียนรับ ด.ญ.ฟ้า มาเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมานายลมเดินทางไปหานายหมอกที่ต่างประเทศ นายหมอกและนายลมประสบอุบัติเหตุในต่างประเทศและถึงแก่ความตาย พอนายเมฆทราบข่าว ก็หัวใจวายถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนางสาวเดือนคลอดบุตรออกมาชื่อ ด.ญ.ดาว ภายใน 310 วัน นับแต่เวลาที่นายหมอกถึงแก่ความตาย นายเมฆมีมรดกเป็นเงินสดจํานวน 1 ล้านบาท จงแบ่งมรดกของนายเมฆ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1604 วรรคหนึ่ง “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคลหรือสามารถ มีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน
เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่ ถ้าผู้สืบสันดาน คนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้น รับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกันเช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเมฆจดทะเบียนสมรสกับนางฝน และมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายหมอกและนายลมนั้น เมื่อนายเมฆได้ถึงแก่ความตาย โดยหลักแล้วมรดกของนายเมฆจํานวน 1 ล้านบาท ย่อมตกแก่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมซึ่งได้แก่ นางฝนภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเมฆในฐานะคู่สมรสตาม มาตรา 1629 วรรคสอง และนายหมอกกับนายลมซึ่งเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายในฐานะผู้สืบสันดานตาม
มาตรา 1629 (1)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหมอกและนายลมซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ได้ถึงแก่ความตายก่อนเจ้ามรดกตาย นายหมอกและนายลมจึงไม่มีสภาพบุคคลอยู่ในเวลาที่นายเมฆเจ้ามรดก ถึงแก่ความตาย นายหมอกและนายลมจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายเมฆตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง ดังนั้น จึงต้อง พิจารณาถึงการรับมรดกแทนที่ กล่าวคือ ถ้านายหมอกและนายลมมีผู้สืบสันดานและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง ก็ให้ผู้สืบสันดานนั้นเข้ารับมรดกแทนที่ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643
กรณีของนายหมอก การที่นายหมอกได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับนางสาวเดือน และต่อมา นางสาวเดือนได้คลอดบุตรออกมาชื่อ ด.ญ.ดาว ภายใน 310 วันนับแต่เวลาที่นายหมอกถึงแก่ความตาย แต่เมื่อ ไม่ปรากฏว่านายหมอกได้รับรอง ด.ญ.ดาว ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายตามมาตรา 1627 แต่อย่างใด ด.ญ.ดาว จึงมิใช่ผู้สืบสันดานของนายหมอกตามมาตรา 1639 ดังนั้น ด.ญ.ดาวจึงไม่มีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายหมอก

กรณีของนายลม การที่นายลมได้จดทะเบียนรับ ด.ญ.ฟ้ามาเป็นบุตรบุญธรรม แม้ ด.ญ.ฟ้าจะเป็น ผู้สืบสันดานของนายลมตามมาตรา 1639 ประกอบมาตรา 1627 ก็ตาม แต่เมื่อ ด.ญ.ฟ้ามิใช่ผู้สืบสันดานโดยตรง ของนายลม ดังนั้น ด.ญ.ฟ้าจึงไม่มีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายลมตามมาตรา 1643

ส่วนนางสาวเดือนมิใช่ทายาทโดยธรรมของนายเมฆตามมาตรา 1629 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของ
นายเมฆ ดังนั้น มรดกทั้งหมดของนายเมฆจํานวน 1 ล้านบาท จึงตกแก่นางฝนแต่เพียงผู้เดียวตามมาตรา 1633

สรุป มรดกของนายเมฆทั้งหมดจํานวน 1 ล้านบาท ตกแก่นางฝนแต่เพียงผู้เดียว

 

ข้อ 3. นายมนัสกับนางมณีเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย มีบุตร 2 คน คือ นายมิ่งและนายมิตร บิดา มารดาถึงแก่ความตายแล้ว นายมิ่งมีนางแดงเป็นภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตร 1 คน คือ เด็กหญิงสวย ซึ่งนายมิ่งให้ใช้นามสกุลและส่งเสียเลี้ยงดูให้การศึกษาตลอดมา นายมิตรติดการพนัน นายมนัสจึงประกาศด้วยวาจาต่อญาติทุกคนว่าขอตัดนายมิตรมิให้รับมรดกของตน ต่อมานายมิ่ง ใช้อาวุธปืนยิงนายมนัสโดยเจตนาฆ่าเนื่องจากไม่พอใจที่ขอเงินแล้วนายมนัสปฏิเสธ แต่นายมนัส ไม่ถึงแก่ความตาย ศาลพิพากษาลงโทษจําคุกนายมิ่งในความผิดฐานพยายามฆ่านายมนัส คดี ถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้น 3 ปี นายมนัสป่วยและถึงแก่ความตาย โดยมีทรัพย์มรดกเป็นเงินสด 6,000,000 บาท ดังนี้ จงแบ่งมรดกของนายมนัส

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

(1) ผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทํา หรือพยายามกระทําให้เจ้ามรดกหรือผู้มีสิทธิ
ได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

มาตรา 1608 วรรคหนึ่ง “เจ้ามรดกจะตัดทายาทโดยธรรมของตนคนใดมิให้รับมรดกก็ได้ แต่ด้วยแสดงเจตนาชัดแจ้ง

(1) โดยพินัยกรรม
(2) โดยทําเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1633 “ทายาทโดยธรรมในลําดับเดียวกันในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 นั้น ชอบที่จะได้รับส่วนแบ่งเท่ากัน ถ้าในลําดับหนึ่งมีทายาทโดยธรรมคนเดียว ทายาทโดยธรรมคนนั้นมีสิทธิได้รับ ส่วนแบ่งทั้งหมด”

มาตรา 1635 “ลําดับและส่วนแบ่งของคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในการรับมรดกของผู้ตายนั้น ให้เป็นไปดังต่อไปนี้

(1) ถ้ามีทายาทตามมาตรา 1629 (1) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับมรดกแทนที่แล้วแต่กรณี คู่สมรส ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นมีสิทธิได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมนัสกับนางมณีเป็นสามีภริยาชอบด้วยกฎหมาย และมีบุตร 2 คน คือ นายมิ่งและนายมิตร เมื่อนายมนัสถึงแก่ความตาย มรดกของนายมนัสซึ่งเป็นเงินสดจํานวน 6 ล้านบาท ย่อมตกแก่ ผู้เป็นทายาทโดยธรรม ได้แก่นายมิ่งและนายมิตรบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายในฐานะผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) และนางมณีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายในฐานะคู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสอง โดยนางมณีมีสิทธิ ได้รับส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นทายาทชั้นบุตร ตามมาตรา 1635 (1) ดังนั้น นางมณี นายมิ่งและนายมิตร จะได้รับส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน ตามมาตรา 1633 คือได้รับคนละ 2 ล้านบาท

แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายมิ่งใช้อาวุธปืนยิงนายมนัสเจ้ามรดกโดยเจตนาฆ่า แต่นายมนัส ไม่ถึงแก่ความตาย และศาลได้พิพากษาลงโทษจําคุกนายมิ่งในความผิดฐานพยายามฆ่านายมนัส คดีถึงที่สุดแล้ว นายมิ่งจึงถูกกําจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1606 (1) แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายมิ่งถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อน เจ้ามรดกตาย แต่นายมิ่งมีผู้สืบสันดาน คือ เด็กหญิงสวย ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมาย แต่นายมิ่งบิดาให้การรับรอง โดยพฤตินัยแล้ว ด้วยการให้ใช้นามสกุลและส่งเสียเลี้ยงดูให้การศึกษาตลอดมาตามมาตรา 1627 เด็กหญิงสวยจึง เป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของนายมิ่ง ดังนั้น เด็กหญิงสวยจึงมีสิทธิเข้ารับมรดกแทนที่นายมิ่งได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643 คือ จะได้รับมรดกของนายมนัสจํานวน 2 ล้านบาท

ส่วนนายมิตรนั้น แม้นายมนัสจะประกาศตัดมิให้นายมิตรได้รับมรดกของนายมนัส แต่การตัดมิให้ นายมิตรได้รับมรดกนั้น นายมนัสได้พูดด้วยวาจามิได้แสดงเจตนาชัดแจ้งโดยพินัยกรรม หรือโดยทําเป็นหนังสือ มอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 1608 การตัดมิให้นายมิตรรับมรดกของนายมนัสจึงไม่มีผลเป็นการตัด มิให้รับมรดก นายมิตรจึงยังคงมีสิทธิได้รับมรดกของนางมนัสจํานวน 2 ล้านบาทเช่นเดิม

สําหรับนางแดง มิใช่ทายาทโดยธรรมของนายมนัสเจ้ามรดกตามมาตรา 1629 จึงไม่มีสิทธิได้รับ
มรดกของนายมนัส

สรุป มรดกของนายมนัสจํานวน 6 ล้านบาท จะตกแก่ นางมณี เด็กหญิงสวย และนายมิตร คนละ 2 ล้านบาท

 

ข้อ 4. นายเสือและนางแมวมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน คือ นายสิงห์ นายสิงห์จดทะเบียนสมรสกับ นางหนู มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ นายเป็ด ต่อมานายสิงห์และนางหนูทะเลาะกันอย่างรุนแรง ทั้งสอง จึงจดทะเบียนหย่ากันตามกฎหมาย หลังจากนั้นนายสิงห์ได้จดทะเบียนรับนางเจี๊ยบหลานสาวมาเป็น บุตรบุญธรรมตามกฎหมาย นางเจี๊ยบมีบุตรชาย 1 คน ชื่อ ด.ช.ไก่ ต่อมานางเจี๊ยบประสบอุบัติเหตุ ถึงแก่ความตาย หลังจากนั้นนายสิงห์ทําพินัยกรรมยกที่ดิน 1 แปลง มูลค่า 600,000 บาท ให้กับ นายเป็ด ส่วนทรัพย์มรดกอื่น ๆ ไม่ได้ทําพินัยกรรมยกให้ใคร นายสิงห์ถึงแก่ความตาย โดยมี ทรัพย์มรดกคือ ที่ดิน 1 แปลงตามพินัยกรรม และมีเงินสด 300,000 บาท นายเป็ดพบพินัยกรรม ของนายสิงห์ นายเป็ดได้แก้ข้อความในพินัยกรรมเป็นว่านายสิงห์ยกที่ดินและเงินสดทั้งหมด ให้แก่ตนแต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ ให้ท่านแบ่งมรดกของนายสิงห์

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1606 “บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกําจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ (5) ผู้ที่ปลอม ทําลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมด”

มาตรา 1620 วรรคหนึ่ง “ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทําพินัยกรรมไว้หรือทําพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผล บังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย”

มาตรา 1627 “บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้”

มาตรา 1629 “ทายาทโดยธรรมมีหกลําดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรคสอง แต่ละลําดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635”

มาตรา 1630 “ตราบใดที่ทายาทซึ่งยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ยังไม่ขาดสายแล้วแต่กรณี ในลําดับหนึ่ง ๆ ที่ระบุไว้ในมาตรา 1629 ทายาทผู้ที่อยู่ในลําดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลย

แต่ความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับในกรณีเฉพาะที่มีผู้สืบสันดานคนใดยังมีชีวิตอยู่หรือมีผู้รับ
มรดกแทนที่กันแล้วแต่กรณี และมีบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนั้นให้บิดามารดาได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่า เป็นทายาทชั้นบุตร”

มาตรา 1639 “ถ้าบุคคลใดซึ่งจะเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) (3) (4) หรือ (6) ถึงแก่ความตาย หรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าบุคคลนั้นมีผู้สืบสันดานก็ให้ผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
ถ้าผู้สืบสันดานคนใดของบุคคลนั้นถึงแก่ความตายหรือถูกกําจัดมิให้รับมรดกเช่นเดียวกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของ ผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ และให้มีการรับมรดกแทนที่กันเฉพาะส่วนแบ่งของบุคคลเป็นราย ๆ สืบต่อกัน เช่นนี้ไปจนหมดสาย”

มาตรา 1643 “สิทธิที่จะรับมรดกแทนที่กันนั้นได้เฉพาะแก่ผู้สืบสันดานโดยตรง ผู้บุพการีหามีสิทธิดังนั้นไม่”

มาตรา 1699 “ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกําหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผล ด้วยประการใด ๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อนายสิงห์เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย นายสิงห์มีทรัพย์มรดกคือที่ดิน 1 แปลง มูลค่า 600,000 บาท ที่นายสิงห์ได้ทําพินัยกรรมยกให้แก่นายเป็ด และเงินสดจํานวน 300,000 บาทนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายเปิดได้ปลอมพินัยกรรมโดยแก้ไขข้อความในพินัยกรรมเป็นว่า นายสิงห์ได้ยกที่ดิน
และเงินสดทั้งหมดให้แก่ตนแต่เพียงผู้เดียวนั้น นายเป็ดย่อมถูกกําจัดมิให้รับมรดกทั้งหมดของนายสิงห์ฐานเป็น ผู้ไม่สมควรตามมาตรา 1606 (5) ดังนั้น ข้อกําหนดในพินัยกรรมที่ยกที่ดิน 1 แปลง มูลค่า 600,000 บาท ให้แก่ นายเป็ดจึงไม่มีผลบังคับ จึงต้องนําที่ดินมูลค่า 600,000 บาท และทรัพย์นอกพินัยกรรมคือ เงินสดจํานวน 300,000 บาท ไปแบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมของนางสิงห์ต่อไปตามมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1699 และทายาทโดยธรรมของนายสิงห์ที่มีสิทธิได้รับมรดกของนายสิงห์ ได้แก่ นางเจี๊ยบบุตรบุญธรรมในฐานะ ผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1627 และนายเสือกับนางแมวซึ่งเป็นบิดามารดาตามมาตรา 1629 (2) เนื่องจากตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่งนั้นจะไม่ใช้บังคับในกรณีที่เจ้ามรดกมีทายาทตามมาตรา 1629 (1) คือผู้สืบสันดานยังมีชีวิตอยู่ หรือมีผู้รับมรดกแทนที่ และบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ในกรณีเช่นนี้ให้บิดามารดา ได้ส่วนแบ่งเสมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร (มาตรา 1630 วรรคสอง) ดังนั้น ทรัพย์มรดกของนายสิงห์ทั้งหมด 900,000 บาท จึงตกแก่นางเจี๊ยบ นายเสือ และนางแมว คนละ 300,000 บาท ส่วนนางหนูซึ่งได้จดทะเบียนหย่ากับนายสิงห์แล้ว จึงไม่มีสิทธิรับมรดก

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่านางเจี๊ยบซึ่งเป็นทายาทตามมาตรา 1629 (1) ได้ถึงแก่ความตาย ก่อนเจ้ามรดกตาย เมื่อนางเจี๊ยบมีบุตรคือ ด.ช.ไก่ ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง ดังนั้น ด.ช.ไก่ จึงมีสิทธิเข้ารับมรดก แทนที่นางเจี๊ยบในส่วนที่นางเจี๊ยบจะได้รับคือ 300,000 บาทได้ ตามมาตรา 1639 และมาตรา 1643

ดังนั้น มรดกของนายสิงห์คือ ที่ดิน 1 แปลง มูลค่า 600,000 บาท และเงินสดจํานวน 300,000 บาท จึงตกได้แก่นายเสือ นางแมว และ ด.ช.ไก่ คนละ 300,000 บาท

สรุป มรดกทั้งหมดของนางสิงห์จึงตกแก่ นายเสือ นางแมว และ ด.ช.ไก่ คนละ 300,000 บาท

Advertisement