การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2565
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2105 (LAW2005) ป.พ.พ.ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้
ข้อแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายเอกซื้อรถจักรยานยนต์ทะเบียน กข 99 จากนายโทในราคา 42,000 บาท โดยชําระราคาด้วยเช็ค ต่อมานายโททราบว่าเช็คที่นายเอกใช้สําหรับชําระราคารถจักรยานยนต์ให้ตนนั้นถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อยากทราบว่าการซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาซื้อขาย ประเภทใด และกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์โอนไปยังนายเอกเมื่อใด

Advertisement

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและ จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขาย ขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าต้นขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและ
สัตว์พาหนะด้วย

สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคํามั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มี หลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสําคัญ หรือได้วางประจําไว้ หรือได้ชําระหนี้ บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่

มาตรา 458 “กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทําสัญญาซื้อขายกัน”

วินิจฉัย

“สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” (หรือสัญญาซื้อขายสําเร็จบริบูรณ์) หมายถึง สัญญาซื้อขาย ที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อได้ตกลงที่จะชําระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว โดยไม่ต้องคํานึงว่าในขณะที่ ตกลงทําสัญญาซื้อขายกันนั้น ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชําระราคากันแล้วหรือไม่
“สัญญาจะซื้อจะขาย” คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่คู่กรณี ยังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทําสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอน กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทําตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กําหนดไว้ในภายหน้า คือ เมื่อได้ไป ทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกซื้อรถจักรยานยนต์ทะเบียน กข 99 จากนายโทในราคา 42,000 บาท โดยชําระราคาด้วยเช็คนั้น ถือเป็นสัญญาซื้อขายทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดาทั่วไป มิใช่เป็นการซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษแต่อย่างใด และเมื่อเป็นการตกลงซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง (ทรัพย์ที่ กําหนดไว้เป็นที่แน่นอนแล้ว) สัญญาซื้อขายรถจักรยายนต์ระหว่างนายเอกและนายโทจึงเป็นสัญญาซื้อขาย เสร็จเด็ดขาดและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ธรรมดาทั่วไปนั้นจะไม่อยู่ภายใต้ บังคับของมาตรา 456 วรรคหนึ่ง คือ ไม่ต้องทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

และเมื่อสัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเอกและนายโทมีผลสมบูรณ์ ดังนั้นกรรมสิทธิ์ ในทรัพย์สินที่ซื้อขายกันคือรถจักรยานยนต์ย่อมโอนไปเป็นของนายเอกผู้ซื้อนับตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทําสัญญา
ซื้อขายกันตามมาตรา 458 แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าเช็คที่นายเอกใช้ชําระราคารถจักรยายนต์ให้ตนนั้นจะ ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินก็ตาม

สรุป สัญญาซื้อขายรถจักรยานยนต์ระหว่างนายเอกและนายโทเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด
และกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์โอนไปยังนายเอกผู้ซื้อนับตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทําสัญญาซื้อขายกัน

 

ข้อ 2. นายนิดต้องการหาซื้อแจกันลายครามเพื่อเอาเข้าร่วมประกวดในงานของดีประเทศไทย จึงไปที่
ร้านขายแจกันโบราณของนายหน่อย นายหน่อยทราบว่านายนิดต้องการแจกันลายสวยงามเพื่อนําไปเข้าประกวด จึงแนะนําแจกันใบหนึ่งให้ แล้วบอกว่าแจกันใบที่ตนนํามาให้ดูนี้เคยผ่านการ ประกวดแล้วได้รับรางวัลเมื่อนานมาแล้ว นายนิดจึงตกลงซื้อ ปรากฏว่าเมื่อนําไปเข้าร่วมประกวด กรรมการพบว่าแจกันที่นายนิดนําเข้าประกวดนั้นเคยมีการแตกร้าวมาก่อน แต่มีการซ่อมแซม อย่างแนบเนียนจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แจกันใบดังกล่าวจึงตกรอบแรก นอกจากนี้ มีนายสิงมาอ้างกับนายนิดว่าแจกันใบนี้เป็นของตนที่ถูกขโมยมา พร้อมทั้งโชว์ภาพที่ตนถ่ายคู่กับ แจกันให้ดู ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายนิดจะเรียกให้นายหน่อยรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องและเพื่อ การรอนสิทธิได้หรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 472 “ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชํารุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้ เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดีท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด

ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชํารุดบกพร่องมีอยู่

มาตรา 475 “หากว่ามีบุคคลผู้ใดมาก่อการรบกวนขัดสิทธิของผู้ซื้อในอันจะครองทรัพย์สิน โดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขายก็ดี เพราะความผิดของ ผู้ขายก็ดี ท่านว่าผู้ขายจะต้องรับผิดในผลอันนั้น”

มาตรา 479 “ถ้าทรัพย์สินซึ่งซื้อขายกันหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเพราะเหตุ การรอนสิทธิก็ดี หรือว่าทรัพย์สินนั้นตก อยู่ในบังคับแห่งสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อม ความเหมาะสมแก่การที่จะใช้ หรือเสื่อมความสะดวกในการใช้สอย หรือเสื่อมประโยชน์อันจะพึงได้แต่ทรัพย์สินนั้น และซึ่งผู้ซื้อหาได้รู้ในเวลาซื้อขายไม่ก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ นายนิดจะเรียกให้นายหน่อยรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องและเพื่อการรอนสิทธิ
ได้หรือไม่ อย่างไร แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายนิดต้องการหาซื้อแจกันลายครามเพื่อเอาเข้าร่วมประกวดในงานของดีประเทศไทย จึงไปที่ร้านขายแจกันโบราณของนายหน่อย นายหน่อยทราบว่านายนิดต้องการแจกันลายสวยงามเพื่อนําไปเข้า ประกวด จึงแนะนําแจกันใบหนึ่งให้ แล้วบอกว่าแจกันใบที่ตนนํามาให้ดูนี้เคยผ่านการประกวดแล้วได้รับรางวัล เมื่อนานมาแล้ว นายนิดจึงตกลงซื้อ ปรากฏว่าเมื่อนําไปเข้าร่วมประกวด กรรมการพบว่าแจกันที่นายนิดนําเข้า ประกวดนั้นเคยมีการแตกร้าวมาก่อน แต่มีการซ่อมแซมอย่างแนบเนียนจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แจกันใบดังกล่าวจึงตกรอบแรกนั้น กรณีดังกล่าวถือว่าทรัพย์สินซึ่งตกลงซื้อขายกันคือแจกันนั้นมีความชํารุดบกพร่อง อย่างหนึ่งอย่างใด อันเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา นายหน่อยผู้ขายจึงต้องรับผิด ดังนั้น นายนิดจึงเรียกให้นายหน่อยรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องได้ตามมาตรา 472

2. กรณีที่จะถือว่าผู้ซื้อถูกรอนสิทธิและผู้ขายจะต้องรับผิดนั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีบุคคลอื่น ได้เข้ามาก่อการรบกวนสิทธิของผู้ซื้อในอันที่จะครอบครองทรัพย์สินโดยปกติสุข เพราะบุคคลผู้นั้นมีสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ได้ซื้อขายกันนั้นอยู่ในเวลาซื้อขาย และเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นหลุดไปจากผู้ซื้อทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เพราะเหตุการรอนสิทธินั้นตามมาตรา 275 ประกอบมาตรา 479 แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์นั้น นายสิงเพียงแต่ มาอ้างกับนายนิดว่าแจกันใบนี้เป็นของตนที่ถูกขโมยมาพร้อมทั้งโชว์ภาพที่ตนถ่ายคู่กับแจกันให้ดูเท่านั้น กรณี จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 475 ประกอบมาตรา 479 ในอันที่จะถือว่านายนิดถูกรอนสิทธิ ดังนั้น นายนิดจึงเรียกให้ นายหน่อยรับผิดเพื่อการรอนสิทธิไม่ได้

สรุป นายนิดสามารถเรียกให้นายหน่อยรับผิดเพื่อความชํารุดบกพร่องได้ แต่จะเรียกให้นายหน่อย รับผิดเพื่อการรอนสิทธิไม่ได้

 

ข้อ 3. นายหนึ่งทําสัญญาเป็นหนังสือกับนายสอง ขายฝากรถยนต์คันหนึ่งของนายหนึ่งไว้กับนายสอง ใน
ราคา 200,000 บาท เป็นจํานวนเท่ากับที่นายหนึ่งรับเงินจริงตามสัญญาขายฝาก แต่ในสัญญา ไม่ได้กําหนดค่าสินไถ่ ไม่ได้กําหนดเวลาไถ่คืน ขายฝากไปได้สามเดือน นายหนึ่งได้มาขอไถ่รถยนต์ คันนั้นคืนจากนายสอง นายสองตกลงให้นายหนึ่งนําเงินเข้าบัญชีธนาคารของนายสอง แต่เมื่อ นายหนึ่งนําเงิน 200,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารของนายสองเรียบร้อย นายสองกลับไม่ยอมส่งมอบ รถยนต์คันนั้นคืนโดยอ้างว่าเงินที่นายหนึ่งโอนมานั้นยังขาดดอกเบี้ยอีก 10,000 บาท และนายสอง ยังนํารถยนต์คันนั้นไปใช้จนเกิดอุบัติเหตุทําให้รถยนต์คันนั้นเสียหาย ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายหนึ่ง ได้ใช้สิทธิไถ่รถยนต์คันนั้นแล้วหรือยัง นายสองจะเรียกดอกเบี้ยอีก 10,000 บาท ได้หรือไม่ และ นายหนึ่งจะฟ้องร้องให้นายสองรับผิดในความเสียหายของรถยนต์คันนั้นได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 456 วรรคหนึ่ง “การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทําเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย”

มาตรา 491 “อันว่าขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมี ข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้”

มาตรา 492 วรรคหนึ่ง “ในกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กําหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกําหนด หรือผู้ไถ่ได้วางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ต่อสํานักงานวางทรัพย์ภายในกําหนดเวลาไถ่ โดยสละสิทธิ์ถอนทรัพย์ที่ได้วางไว้ ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชําระสินไถ่หรือวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่ แล้วแต่กรณี

มาตรา 494 “ท่านห้ามมิให้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากเมื่อพ้นเวลาดังจะกล่าวต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ กําหนดสิบปีนับแต่เวลาซื้อขาย
(2) ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ กําหนดสามปีนับแต่เวลาซื้อขาย

มาตรา 499 วรรคหนึ่ง “สินไถ่นั้น ถ้าไม่ได้กําหนดกันไว้ว่าเท่าใดไซร้ ท่านให้ไถ่ตามราคาที่ขายฝาก”

มาตรา 501 “ทรัพย์สินซึ่งไถ่นั้น ท่านว่าต้องส่งคืนตามสภาพที่เป็นอยู่ในเวลาไถ่ แต่ถ้าหากว่า ทรัพย์สินนั้นถูกทําลายหรือทําให้เสื่อมเสียไปเพราะความผิดของผู้ซื้อไซร้ ท่านว่าผู้ซื้อจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1. การที่นายหนึ่งทําสัญญาเป็นหนังสือกับนายสองขายฝากรถยนต์คันหนึ่งไว้กับนายสอง ในราคา 200,000 บาท เป็นจํานวนเท่ากับที่นายหนึ่งรับเงินจริงตามสัญญาขายฝากนั้น สัญญาขายฝากรถยนต์ ระหว่างนายหนึ่งกับนายสองย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 491 ประกอบมาตรา 456 วรรคหนึ่ง เนื่องจากเป็น การขายฝากสังหาริมทรัพย์ธรรมดาทั่วไป จึงไม่ต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

2. เมื่อสัญญาขายฝากดังกล่าว ไม่ได้กําหนดค่าสินไถ่ และไม่ได้กําหนดเวลาไถ่คืนไว้ ดังนั้น นายหนึ่งจึงมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินคืนได้ภายในกําหนด 3 ปีนับตั้งแต่เวลาขายฝากตามมาตรา 494 (2) และสามารถ ไม่ได้โดยใช้สินไถ่ตามราคาที่ขายฝาก คือ 200,000 บาท ตามมาตรา 499 วรรคหนึ่ง

และเมื่อขายฝากไปได้ 3 เดือน นายหนึ่งได้มาขอไถ่รถยนต์คันนั้นคืนจากนายสอง และนายสอง ก็ตกลงให้นายหนึ่งนําเงินเข้าบัญชีธนาคารของนายสอง เมื่อนายหนึ่งนําเงิน 200,000 บาท เข้าบัญชีของนายสอง เรียบร้อยแล้ว ย่อมถือว่านายหนึ่งได้ใช้สิทธิไถ่รถยนต์คันนั้นแล้วตามมาตรา 494 (2) และมาตรา 499 วรรคหนึ่ง และเมื่อนายหนึ่งได้ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินโดยชอบแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าวจึงโอนกลับมาเป็นของ นายหนึ่งแล้วตามมาตรา 492 วรรคหนึ่ง นายสองจึงต้องส่งมอบรถยนต์คันนั้นคืนให้แก่นายหนึ่งและจะเรียก ดอกเบี้ยอีก 10,000 บาทไม่ได้

3. การที่นายสองไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่นายหนึ่ง และยังนํารถยนต์คันนั้นไปใช้จนเกิด อุบัติเหตุทําให้รถยนต์คันนั้นเสียหาย นายหนึ่งย่อมสามารถเรียกให้นายสองรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความ เสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันนั้นได้ เพราะถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะความผิดของนายสองตามมาตรา 501

สรุป กรณีดังกล่าวถือว่านายหนึ่งได้ใช้สิทธิไถ่รถยนต์คันนั้นแล้ว นายสองจะเรียกดอกเบี้ยอีก 10,000 บาทไม่ได้ และนายหนึ่งสามารถฟ้องร้องให้นายสองรับผิดในความเสียหายที่เกิดกับรถยนต์คันนั้นได้

 

Advertisement