การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายหนึ่งขับรถยนต์โดยประมาทชนนายสองถึงแก่ความตาย เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้วพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายหนึ่งฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นางสมรภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการศาลอนุญาต
ระหว่างการสืบพยานโจทก์ นางสมรยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนคำร้องที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการระบุเหตุผลว่ามีความคิดเห็นหลายเรื่องไม่ตรงกันกับพนักงานอัยการ หากดำเนินการร่วมกันต่อไปเกรงว่าจะ
เป็นผลเสียแก่คดี ศาลอนุญาต ในวันเดียวกันนั้นนายสักบิดาตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายของนายสองทราบเรื่อง จึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการแทนนางสมรทันที ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของนายสักว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 36 วรรคแรก คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาอีกหาได้ไม่ …
ในกรณีที่ผู้เสียหายคนเดียวมีผู้จัดการแทน ตามมาตรา 5 หลายคน ผู้จัดการแทนผู้เสียหายบางคนได้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไป ผู้จัดการแทนผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้
เมื่อได้ความว่านายสองได้ถูกนายหนึ่งขับรถยนต์โดยประมาทชนถึงแก่ความตายนั้น ถือว่านายสองเป็นผู้เสียหายโดยตรง จากการที่นายหนึ่งได้ขับรถยนต์โดยประมาท ตามมาตรา 2(4) และเมื่อนายสองได้ถึงแก่ความตาย เห็นว่า นางสมรภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสองและนายสักบิดาตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายของนายสองต่างก็เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนนายสองได้ ตามมาตรา 5(2) แต่เมื่อได้ความว่านางสมรได้ใช้สิทธิจัดการแทนนายสองไปแล้วด้วยการยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องในการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการดังกล่าว
ซึ่งผลของการถอนคำร้องนั้นมีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้อง (ฎ. 892/2514) เมื่อศาลอนุญาตย่อมเกิดผลในทางกฎหมายทำให้ไม่สามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้อีก ตามมาตรา 36 ผลในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นมีผลถึงนายสักบิดานายสองด้วย เมื่อได้ความว่านายสักไม่สามารถฟ้องคดีได้ ก็ทำให้ไม่สามารถขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานด้วยเช่นเดียวกัน (ฎ. 1790/2492)
สรุป ศาลต้องสั่งยกคำร้องนายสัก
ข้อ 2 นายเย็นเป็นโจทก์ฟ้องนายร้อนเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกาย จากการที่นายร้อนใช้ขวดเบียร์ตีทำร้ายนายเย็นขณะนั่งรับประทานอาหารด้วยกัน นายร้อนรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายร้อน 1 เดือน นายร้อนอุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษ ต่อมานายเย็นได้ฟ้องนายร้อนให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่ง แต่ก่อนการพิจารณาในคดีแพ่ง นายร้อนตายในระหว่างอุทธรณ์ในคดีอาญา ดังกล่าว และนายอุ่นผู้จัดการมรดกของนายร้อนเข้ามารับมรดกความในคดีแพ่ง นายเย็นจึงอ้างคำพิพากษาในคดีอาญาเพื่อให้ศาลในคดีแพ่งบังคับเอากับกองมรดกของนายร้อน ดังนี้ ศาลในคดีแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
(1) โดยความตายของผู้กระทำความผิด
มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
วินิจฉัย
คำพิพากษาคดีอาญาที่จะมีผลผูกพันให้คดีส่วนแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามนั้นต้องเป็นคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้วเท่านั้น
ศาลในคดีแพ่งจะถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาหรือไม่ เห็นว่า การที่นายร้อนได้ถึงแก่ความตายในระหว่างอุทธรณ์ ย่อมมีผลทำให้คดีอาญาระงับไป ตามมาตรา 39(1) เมื่อได้ความว่า คดีอาญาได้ระงับไปก่อนคดีถึงที่สุด ย่อมส่งผลให้คำพิพากษาคดีอาญาของศาลล่างนั้นระงับไป ไม่มีผลบังคับแก่คู่ความอีกต่อไป ศาลในคดีแพ่งจะนำข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญาซึ่งยังไม่ถึงที่สุดมารับฟังในคดีแพ่งไม่ได้ ในกรีดังกล่าวไม่ต้องด้วย มาตรา 46 แต่อย่างใด ศาลจึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีแพ่งใหม่
(ฎ. 1104 – 1105/2501 , 623/2529)
สรุป ศาลต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีแพ่งใหม่ ไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
ข้อ 3 ในคดีอาญาฐานลักทรัพย์เรื่องหนึ่ง เมื่อทางตำรวจจับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว นำส่งพนักงานสอบสวน ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะถามคำให้การของผู้ต้องหา ได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่าผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้โดยไม่ได้แจ้งอย่างอื่นใดอีก ซึ่งผู้ต้องหารับทราบและผู้ต้องหาขอให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดจริงด้วยความเต็มใจ รายละเอียดการกระทำผิดเกี่ยวกับการรับสารภาพนั้น พนักงานสอบสวนได้บันทึกไว้ และให้ผู้ต้องหาลงชื่อในบันทึกนั้นรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน ต่อมาพนักงานอัยการได้นำสิบส่งบันทึกคำรับสารภาพของผู้ต้องหานั้นต่อศาล ทางศาลได้รับไว้
เช่นนี้ ถ้าท่านเป็นศาล จะรับฟังคำรับสารภาพนั้นเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้เพียงใดหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 134/4 ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้…
ถ้อยคำใดๆที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้
วินิจฉัย
ในการถามคำให้การผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
หากได้ความว่าพนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิดังกล่าวข้างต้นไม่ครบ ถ้อยคำของผู้ต้องหาที่ได้ให้ไว้ย่อมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานของผู้ต้องหาได้ ตามมาตรา 134(1)(2) ประกอบวรรคท้าย
เมื่อได้ความว่า ทางตำรวจจับผู้ต้องหาได้แล้ว ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะถามคำให้การผู้ต้องหา ได้แจ้งสิทธิตามกฎหมายต่อผู้ต้องหา เฉพาะตาม (1) เท่านั้น ไม่ได้แจ้งสิทธิในข้อ (2) ให้ผู้ต้องหาทราบแต่อย่างใด ส่งผลให้ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาได้ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนในกรณีดังกล่าว ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาได้ เนื่องจากพนักงานสอบสวนแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ตามมาตรา 134(1)(2) ประกอบวรรคท้าย
สรุป หากข้าพเจ้าเป็นศาล จะไม่รับฟังบันทึกคำรับสารภาพของผู้ต้องหาเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหานั้น แม้ผู้ต้องหาจะให้การสารภาพด้วยความเต็มใจก็ตาม
ข้อ 4 นายกลางถูกจับและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน โดยมีนายภาวิตใช้ตำแหน่ง ข้าราชการเป็นหลักประกันให้แก่นายกลาง หลังจากนายกลางได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวได้สามวัน นายภาวิตพบว่านายกลางกำลังจะหลบหนีไปต่างจังหวัด และนายภาวิตเห็น ร.ต.อ. เศรษฐพงษ์อยู่ในบริเวณนั้นจึงขอให้ ร.ต.อ. เศรษฐพงษ์ทำการจับนายกลาง ร.ต.อ. เศรษฐพงษ์ จึงทำการจับนายกลางทันทีโดยไม่มีหมายจับ
ดังนี้ การจับของ ร.ต.อ. เศรษฐพงษ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใด โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราว ตามมาตรา 117
มาตรา 117 เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนีให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าวมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าว อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้…
วินิจฉัย
นายภาวิต ใช้ตำแหน่งข้าราชการหลักประกันให้แก่นายกลางผู้ต้องหาซึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างสอบสวน ต่อมานายภาวิตพบว่านายกลางกำลังจะหลบหนีไปต่างจังหวัด และนายภาวิตเห็น ร.ต.อ. เศรษฐพงษ์ อยู่ในบริเวณนั้นจึงขอให้ ร.ต.อ. เศรษฐพงษ์ ทำการจับนายกลาง ร.ต.อ. เศรษฐพงษ์จึงทำการจับนายกลางทันทีโดยไม่มีหมายจับ ดังนี้ ร.ต.อ. เศรษฐพงฐ์ มีอำนาจในการจับนายกลางได้แม้ว่าจะไม่มีหมายจับก็ตาม เนื่องจากเป็นกรณีที่บุคคลซึ่งเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนี บุคคลผู้เป็นหลักประกันสามารถขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ การจับของ ร.ต.อ.เศรษฐพงษ์ จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 78(4) ประกอบมาตรา 117
สรุป การจับของ ร.ต.อ. เศรษฐพงษ์ชอบด้วยกฎหมาย