การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2106 (LAW 2006) กฎหมายอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายชนะชลได้ชวนนางสาวเมขลาซึ่งเป็นคู่รักไปเที่ยวนั่งรถชมวิวด้วยกัน โดยให้นางสาวเมขลา ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ที่นายชนะชลเป็นผู้ขับขี่ซึ่งนายชนะชลขับด้วยความเร็วสูงมาก
และเมื่อขับมาถึงทางโค้งก็ไม่ได้ลดความเร็วลง ทําให้รถคันดังกล่าวล้มลงเป็นเหตุให้นางสาวเมขลา ตกจากรถได้รับอันตรายสาหัสนอนหมดสติในพงหญ้าข้างทาง นายชนะชลตกใจกับเหตุการณ์ที่ เกิดขึ้น โดยหลบหนีไปไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่ได้แจ้งให้ผู้ใดทราบ นางสาวเมขลานอนหมดสติ ในที่เกิดเหตุเป็นเวลา 5 วัน จนพลเมืองดีมาพบและแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยเหลือพานางสาวเมขลาไปช่วยเหลือจนรอดชีวิต
จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายชนะชล
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคห้า “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้ กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดย ประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น
การกระทํา ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทํา เพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”
มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชนะชลได้ชวนนางสาวเมขลาซึ่งเป็นคู่รักไปเที่ยวนั่งรถชมวิวด้วยกัน และเมื่อขับรถมาถึงทางโค้งนายชนะชลก็ไม่ได้ลดความเร็วลง ทําให้รถคันดังกล่าวล้มลงเป็นเหตุให้นางสาวเมขลา ตกจากรถได้รับอันตรายสาหัสนอนหมดสติในพงหญ้าข้างทางนั้น ย่อมถือว่าการที่นางสาวเมขลาได้รับอันตรายสาหัส และนอนหมดสติซึ่งอาจถึงแก่ความตายได้นั้น เกิดจากการกระทําโดยประมาทของนายชนะชล อีกทั้งนางสาวเมขลา ก็มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับนายชนะชลในฐานะคู่รัก จึงเป็นหน้าที่ของนายชนะชลที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ เพื่อป้องกันมิให้นาวสาวเมขลาถึงแก่ความตายโดยให้นางสาวเมขลาซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ที่นายชนะชลเป็นผู้ขับขี่ซึ่งนายชนะชลขับด้วยความเร็วสูงมาก
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายชนะชลได้หลบหนีไปไม่ให้ความช่วยเหลือและไม่ได้แจ้งให้ผู้ใดทราบ
ย่อมถือว่านายชนะชลได้งดเว้นการที่จักต้องกระทําหรือหน้าที่ที่ต้องกระทําเพื่อป้องกันผลนั้น ซึ่งตามมาตรา 59 วรรคห้า ถือว่าเป็นการกระทําต่อนางสาวเมขลาด้วย และเมื่อเป็นการกระทําโดยเจตนาเพราะเป็นการ
กระทํา โดยรู้สํานึกในการที่กระทํานั้น และในขณะเดียวกันผู้กระทําย่อมเล็งเห็นผลของการกระทําได้ว่านางสาวเมขลา อาจจะถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น นายชนะชลจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานกระทําโดยเจตนาฆ่านางสาวเมขลา
โดยหลักย่อมเล็งเห็นผลตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคห้า และเมื่อนางสาวเมขลาไม่ตายเนื่องจาก มีพลเมืองดีมาพบและแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยเหลือจนนางสาวเมขลารอดชีวิต การกระทําของนายชนะชลซึ่งได้กระทําไปตลอดแล้วแต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล นายชนะชลจึงต้องรับผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคห้า ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง (คือมีความผิดฐาน พยายามฆ่านางสาวเมขลา ตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง)
สรุป นายชนะชลมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคห้า ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง
ข้อ 2 นายพายุคึกคะนองจึงได้ใช้ก้อนหินที่มีน้ําหนักถึงหนึ่งกิโลกรัมเศษและครึ่งกิโลกรัมจํานวนหลายก้อน
ทุ่มลงมาจากสะพานข้ามแม่น้ําซึ่งอยู่สูงจากระดับพื้นน้ํา 9 เมตร ลงไปยังเรือโดยสารลําหนึ่ง ซึ่งมีผู้โดยสารอยู่เป็นจํานวนมาก ในขณะที่เรือแล่นลอดใต้สะพาน หินก้อนหนึ่งถูกนายสายฟ้า ผู้โดยสารในเรือลํานั้นได้รับอันตรายสาหัส และหินอีกก้อนหนึ่งได้กระเด็นไปถูกนายฝนตกผู้โดยสารในเรืออีกลําหนึ่งซึ่งแล่นสวนทางมาถูกบริเวณตาข้างซ้ายซึ่งทําให้นายฝนตกตาบอด
จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายพายุ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดย เจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์
ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น”
มาตรา 60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทําเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่ง โดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทํานั้น….”
มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพายุคึกคะนองจึงได้ใช้ก้อนหินที่มีน้ําหนักถึงหนึ่งกิโลกรัมเศษและครึ่งกิโลกรัมจํานวนหลายก้อนทุ่มลงมาจากสะพานข้ามแม่น้ําซึ่งอยู่สูงจากระดับพื้นน้ํา 9 เมตร ลงไปยังเรือโดยสาร ลําหนึ่งซึ่งมีผู้โดยสารอยู่เป็นจํานวนมากและอยู่ในพื้นที่จํากัดขณะที่เรือแล่นลอดใต้สะพานนั้น นายพายุย่อม เล็งเห็นผลของการกระทํานั้นได้ว่าก้อนหินอาจไปถูกศีรษะซึ่งเป็นอวัยวะสําคัญของร่างกายของคนในเรือลํานั้น และอาจเป็นผลทําให้ถึงตายได้ จึงถือได้ว่านายพายุมีเจตนาฆ่าคนในเรือลํานั้นตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและ วรรคสอง เมื่อก้อนหินก้อนหนึ่งถูกนายสายฟ้าผู้โดยสารในเรือลํานั้นจนได้รับอันตรายสาหัส นายพายุจึงมีความผิด ฐานพยายามฆ่านายสายฟ้าตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง
และเมื่อถือว่านายพายุมีเจตนาฆ่านายสายฟ้า การที่ก้อนหินอีกก้อนหนึ่งกระเด็นไปถูกนายฝนตก ผู้โดยสารในเรืออีกลําหนึ่งซึ่งแล่นสวนทางมาถูกบริเวณตาข้างซ้ายซึ่งทําให้นายฝนตกตาบอด ก็ต้องถือว่านายพายุ มีเจตนาฆ่านายฝนตกด้วย เพราะเป็นการกระทําโดยพลาดตามมาตรา 60 ดังนั้น นายพายุจึงมีความผิดฐาน พยายามฆ่านายฝนตกตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง และมาตรา 60
สรุป นายพายุมีความผิดฐานพยายามฆ่านายสายฟ้าตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมีความผิดฐานพยายามฆ่านายฝนตกตามมาตรา 60 และมาตรา 80 วรรคหนึ่ง
ข้อ 3 นายนี้เวียต้องการฆ่านางวาสลีน จึงวางแผนฆ่านางวาสลีนด้วยการหาซื้อยาเบื่อหนู โดยนํายาเบื่อหนู ใส่ไปในโอ่งน้ําดื่มของนางวาสลีน นายเจอร์เก้นน้องชายของนางวาสลีนเห็นเหตุการณ์มาโดยตลอดจึงตะโกนร้องบอกนางวาสลีนพี่สาวของตนในทันทีไม่ให้ดื่มน้ําในโอ่งนั้น นายนีเวียตกใจที่ความแตก จึงรีบวิ่งหนี นายเจอร์เก้นโกรธที่นายนีเวียกระทํากับพี่สาวของตน จึงวิ่งไล่ยิงนายนีเวียไปทันที ขณะที่นายนีเวียวิ่งหนีไปตามทางแคบ ๆ มีรถจักรยานยนต์ของนายยูเซอรีนจอดขวางทางอยู่ นายนีเวียจึงวิ่งชนรถคันนั้นเพื่อไม่ให้โดนยิง ทําให้รถล้มลงและได้รับความเสียหาย โดยนายเจอร์เก้น ยิ่งถูกนายนีเวียได้รับบาดเจ็บสาหัส
จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายนีเวียและนายเจอร์เก้น
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดย เจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือ
เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์
ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น
มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้น
โดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”
มาตรา 72 “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทํา ความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
มาตรา 80 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดลงมือกระทําความผิดแต่กระทําไปไม่ตลอด หรือกระทําไปตลอดแล้ว
แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทําความผิด”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ความผิดทางอาญาของนายนีเวียและนายเจอร์เก้น แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ความรับผิดทางอาญาของนายนี้เวีย
การที่นายนีเวียซึ่งต้องการฆ่านางวาสลีน ได้วางแผนฆ่านางวาสลีนด้วยการหาซื้อยาเบื่อหนู โดย นํายาเบื่อหนูใส่ไปในโอ่งน้ําดื่มของนางวาสลีนนั้น การกระทําของนายนีเวียเป็นการกระทําโดยเจตนาประสงค์ต่อผล ตามมาตรา 59 วรรคสอง เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ ต่อผลของการกระทํานั้น (คือความตายของนางวาสลีน) ดังนั้น นายนีเวียจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อนางวาสลีน ตามมาตรา 59 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา….”
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางวาสลีนไม่ตายตามประสงค์ของนายนีเวีย เนื่องจาก นายเจอร์เก้นน้องชายของนางวาสลีนเห็นเหตุการณ์มาโดยตลอดจึงได้ตะโกนร้องบอกนางวาสลีนพี่สาวทันทีเพื่อไม่ให้ดื่มน้ำในโอ่งนั้น จึงเป็นกรณีที่นายนีเวียได้ลงมือกระทําความผิดและได้กระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้น
ไม่บรรลุผล ดังนั้น นายนีเวียจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านางวาสลีนตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง (มีความผิดฐานพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 289 (4) ประกอบ มาตรา 80 วรรคหนึ่ง)
ส่วนการที่นายนีเวียตกใจที่ความแตก จึงรีบวิ่งหนีเนื่องจากถูกนายเจอร์เก้นวิ่งไล่ยิง และได้วิ่ง ไปชนรถจักรยานยนต์ของนายยูเซอรีนที่จอดขวางทางอยู่ ทําให้รถล้มและได้รับความเสียหายนั้น นายนีเวียย่อม มีความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์เพราะเป็นการกระทําโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดย นายนีเวียจะอ้างว่าเป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็น เพราะเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง และไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้ตามมาตรา 67 (2) เพื่อให้ตนไม่ต้องรับโทษมิได้ เนื่องจากภยันตราย ที่เกิดขึ้นนั้นตนได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
ความรับผิดทางอาญาของนายเจอร์เก้น
การที่นายเจอร์เก้นโกรธที่นายนีเวียกระทําต่อพี่สาวของตนจึงวิ่งไล่ยิงนายนีเวียไปทันทีนั้น ถือว่า นายเจอร์เก้นได้กระทําต่อนายนีเวียโดยเจตนา เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และในขณะเดียวกัน ผู้กระทําประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น (คือความตายของนายนีเวีย) นายเจอร์เก้นจึงต้องรับผิดทางอาญาต่อ นายนีเวียตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แต่เมื่อการกระทําของนายเจอร์เก้นซึ่งได้ลงมือกระทําความผิด ไปตลอดแล้ว แต่การกระทํานั้นไม่บรรลุผล เพราะนายนีเวียไม่ตายเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น ดังนั้น นายเจอร์เก้นจึงมีความผิดทางอาญาฐานพยายามฆ่านายนี้เวียตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบ มาตรา 80 วรรคหนึ่ง (มีความผิดฐานพยายามฆ่าตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 30 วรรคหนึ่ง)
แต่อย่างไรก็ดี การที่นายเจอร์เก้นได้กระทําต่อนายนิเวียนั้น เป็นเพราะนายเจอร์เก้นโกรธที่ นายนีเวียจะฆ่าพี่สาวของตน จึงถือได้ว่านายเจอร์เก้นได้ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และเมื่อนายเจอร์เก้นได้กระทําต่อนายนีเวียผู้ข่มเหงในขณะนั้น นายเจอร์เก้นย่อมสามารถอ้างได้ว่าตนได้กระทําความผิดเพราะเหตุบันดาลโทสะ เพื่อให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้ตามมาตรา 72
สรุป นายนีเวียมีความผิดฐานพยายามฆ่านางวาสลีนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และมีความผิดฐาน ทําให้เสียทรัพย์ โดยจะอ้างว่าความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์เป็นการกระทําด้วยความจําเป็นไม่ได้
นายเจอร์เก้นมีความผิดฐานพยายามฆ่านายนีเวีย แต่อ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อให้ศาลลดหย่อนผ่อนโทษได้
ข้อ 4 นายเตารีดไอน้ําจ้างนายหม้อทอดไร้น้ํามันไปฆ่านายพัดลมไอเย็น นายหม้อทอดไร้น้ํามันไปบ้าน นายพัดลมไอเย็นเห็นนายพัดลมไอเย็นยืนคุยกับนายเครื่องซักผ้าฝาบน แต่นายหม้อทอดไร้น้ํามัน ไม่รู้จักนายพัดลมไอเย็นมาก่อนจึงถามนายพัดลมไอเย็นว่าคนไหนคือนายพัดลมไอเย็น นายพัดลมไอเย็นรู้ว่านายหม้อทอดไร้น้ำมันเป็นมือปืนรับจ้างจะมาฆ่าตน จึงได้ชี้ไปที่นายเครื่องซักผ้าฝาบนและบอกว่านี่คือนายพัดลมไอเย็น นายหม้อทอดไร้น้ํามันเข้าใจผิดว่านายเครื่องซักผ้าฝาบนเป็นนายพัดลมไอเย็นจึงใช้ปืนยิงนายเครื่องซักผ้าฝาบนถึงแก่ความตาย
จงวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายเตารีดไอน้ํา นายหม้อทอดไร้น้ำมัน และนายพัดลมไอเย็น
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทําโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือ
เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนากระทําโดยเจตนา ได้แก่กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกันผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น
มาตรา 61 “ผู้ใดเจตนาจะกระทําต่อบุคคลหนึ่ง แต่ได้กระทําต่ออีกบุคคลหนึ่งโดยสําคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสําคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาหาได้ไม่”
มาตรา 67 “ผู้ใดกระทําความผิดด้วยความจําเป็น
(1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อํานาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ
(2) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้น
โดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน ถ้าการกระทํานั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ”
มาตรา 84 “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทําความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยง ส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทําความผิด
ถ้าความผิดมิได้กระทําลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทํา ยังไม่ได้กระทําหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ….”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายเตารีดไอน้ํา นายหม้อทอดไร้น้ํามัน และนายพัดลมไอเย็น จะต้องรับผิดทางอาญา ดังนี้
ความรับผิดทางอาญาของนายเตารีดไอน้ำ
การที่นายเตารีดไอน้ำจ้างนายหม้อทอดไร้น้ํามันไปฆ่านายพัดลมไอเย็นนั้น ถือเป็นการ “ก่อ ให้ผู้อื่นไปกระทําความผิดแล้วตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง นายเตารีดไอน้ําจึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ และเมื่อ นายหม้อทอดไร้น้ํามันได้กระทําความผิดตามที่นายเตารีดไอน้ําได้ใช้แล้ว นายเตารีดไอน้ำจึงต้องรับโทษเสมือน
เป็นตัวการตามมาตรา 84 วรรคสาม (คือรับโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 289 (4) ประกอบ มาตรา 84 วรรคหนึ่งและวรรคสาม) และแม้ว่านายหม้อทอดไร้น้ํามันจะได้ฆ่านายเครื่องซักผ้าฝาบนเนื่องจาก สําคัญผิดว่าเป็นนายพัดลมไอเย็นก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ถูกใช้ได้กระทําเกินขอบเขตที่ใช้แต่อย่างใด
ความรับผิดทางอาญาของนายหม้อทอดไร้น้ำมัน
การที่นายหม้อทอดไร้น้ํามันใช้ปืนยิงนายเครื่องซักผ้าฝาบนถึงแก่ความตายนั้น ถือว่านายหม้อทอดไร้น้ำมันได้กระทําต่อนายเครื่องซักผ้าฝาบนโดยเจตนา เพราะเป็นการกระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทํา และ ในขณะเดียวกันก็ได้ประสงค์ต่อผลของการกระทํานั้น (คือความตายของนายเครื่องซักผ้าฝาบน) ตามมาตรา 59 วรรคสอง และแม้ข้อเท็จจะปรากฏว่า การที่นายหม้อทอดไร้น้ํามันใช้ปืนยิงนายเครื่องซักผ้าฝาบนนั้นเป็นเพราะ เข้าใจผิดว่านายเครื่องซักผ้าฝาบนเป็นนายพัดลมไอเย็น นายหม้อทอดไร้น้ํามันจะยกเอาความสําคัญผิดในตัวบุคคล มาเป็นข้อแก้ตัวว่าไม่ได้มีเจตนากระทําต่อนายเครื่องซักผ้าฝาบนไม่ได้ ดังนั้น นายหม้อทอดไร้น้ํามันจึงต้องรับผิด ทางอาญาฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 61 (เป็นความผิด ฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 61)
ความรับผิดทางอาญาของนายพัดลมไอเย็น
การที่นายหม้อทอดไร้น้ำมันไม่รู้จักนายพัดลมไอเย็น และได้ถามนายพัดลมไอเย็นว่าคนไหนคือนายพัดลมไอเย็น นายพัดลมไอเย็นซึ่งรู้ว่านายหม้อทอดไร้น้ำมันเป็นมือปืนรับจ้างจะมาฆ่าตน จึงชี้ไปที่นายเครื่องซักผ้าฝาบนและบอกว่านี่คือนายพัดลมไอเย็น ทําให้นายหม้อทอดไร้น้ํามันเข้าใจผิดว่านายเครื่องซักผ้าฝาบน
เป็นนายพัดลมไอเย็น จึงใช้ปืนยิงนายเครื่องซักผ้าฝาบนถึงแก่ความตายนั้น การกระทําของนายพัดลมไอเย็นนั้น ถือว่าเป็นการ “ก่อ” ให้ผู้อื่นกระทําความผิดตามมาตรา 84 วรรคหนึ่งแล้ว เพราะแม้ว่านายหม้อทอดไร้น้ำมันจะมีเจตนาที่จะฆ่าคน แต่ก็ไม่มีเจตนาที่จะฆ่านายเครื่องซักผ้าฝาบนเลย แต่ต้องการฆ่าเฉพาะนายพัดลมไอเย็นเท่านั้น ดังนั้น การที่นายพัดลมไอเย็นหลอกว่านายเครื่องซักผ้าฝาบนคือนายพัดลมไอเย็น จึงถือว่าเป็นการก่อให้ นายหม้อทอดไร้น้ํามันกระทําความผิดต่อนายเครื่องซักผ้าฝาบนนั่นเอง นายพัดลมไอเย็นจึงเป็นผู้ใช้และต้อง รับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา 84 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (คือต้องรับโทษฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 84 วรรคหนึ่งและวรรคสาม)
และกรณีดังกล่าว นายพัดลมไอเย็นจะอ้างเหตุจําเป็นตามมาตรา 67 (2) เพื่อไม่ต้องรับโทษก็ไม่ได้ เช่นกัน เพราะถือว่าภยันตรายที่ใกล้จะถึงดังกล่าวนั้นตนสามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้
สรุป นายเตารีดไอน้ำและนายพัดลมไอเย็นมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ และต้องรับโทษเสมือนเป็น
ตัวการตามมาตรา 84 วรรคหนึ่งและวรรคสาม
ส่วนนายหม้อทอดไร้น้ำมันมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนาตามมาตรา 59 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 61