การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2109 (LAW2009) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายบรรเลงยืมชุดเครื่องเสียงจากนายบันเทิง เพื่อมาจัดงานเลี้ยงวันเกิดของนายบรรเลงที่บ้าน เนื่องจากชุดเครื่องเสียงของตนชํารุด อยู่ระหว่างการส่งซ่อม โดยนายบันเทิงเป็นคนใจดีและรักเพื่อน
จึงไม่ได้ถามว่าจะเอาไปใช้นานเท่าใด และนายบันเทิงก็เห็นว่าบ้านนายบรรเลงมียามคอยรักษาความปลอดภัยที่ประตูรั้วน่าจะไม่มีปัญหาอะไร ขณะที่นายบรรเลงใช้เครื่องเสียงอยู่นั้น ปรากฏว่า นายบันลือแขกในงานเลี้ยงวันเกิดได้มาขโมยลําโพงไป 1 ตัว เป็นเงิน 15,000 บาท เช้าวันรุ่งขึ้น นายบันเทิงทราบจากเพื่อนบ้านของนายบรรเลงว่า ลําโพงของนายบันเทิงที่นายบรรเลงยืมมามีคนขโมยไป 1 ตัว
ดังนี้ นายบันเทิงจะสามารถเรียกให้นายบรรเลงนําชุดเครื่องเสียที่เหลือมาคืนในเช้าวันรุ่งขึ้นที่ตนทราบเรื่องลําโพงที่หายไปได้หรือไม่ และนายบันเทิงจะเรียกให้นายบรรเลงชดใช้ราคาลําโพงที่ หายไปให้กับตนได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”
มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”
มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”
ของตนเอง”
มาตรา 644 “ผู้ยืมจําต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สิน
มาตรา 646 “ถ้ามิได้กําหนดเวลากันไว้ ท่านให้คืนทรัพย์สินที่ยืมเมื่อผู้ยืมได้ใช้สอยทรัพย์สินนั้น เสร็จแล้วตามการอันปรากฏในสัญญา แต่ผู้ให้ยืมจะเรียกคืนก่อนนั้นก็ได้เมื่อเวลาได้ล่วงไปพอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ ใช้สอยทรัพย์สินนั้นเสร็จแล้ว ถ้าเวลามิได้กําหนดกันไว้ ทั้งในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ายืมไปใช้เพื่อการใดไซร้ ท่านว่าผู้ให้ยืมจะเรียกของคืนเมื่อไหร่ก็ได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายบรรเลงยืมชุดเครื่องเสียงจากนายบันเทิงเพื่อมาจัดเลี้ยงวันเกิดของนายบรรเลงที่บ้านนั้น สัญญายืมชุดเครื่องเสียงดังกล่าวเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 และเมื่อนายบันเทิง ได้ส่งมอบชุดเครื่องเสียงให้นายบรรเลงแล้ว สัญญายืมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 641 และเมื่อสัญญา
ยืมชุดเครื่องเสียงนั้นมิได้กําหนดระยะเวลากันไว้ เพียงแต่รู้ว่ายืมไปใช้เพื่อการใด คือรู้ว่ายืมไปใช้ในงานวันเกิด ของนายบรรเลง ดังนั้น นายบันเทิงผู้ให้ยืมย่อมสามารถเรียกคืนทรัพย์สินที่ให้ยืมได้หลังจากพ้นงานวันเกิดของ นายบรรเลงไปแล้วตามมาตรา 646 วรรคหนึ่ง เนื่องจากเป็นเวลาที่พอแก่การที่ผู้ยืมจะได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมนั้น เสร็จแล้ว และข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ นายบันเทิงย่อมสามารถเรียกชุดเครื่องเสียงคืนจากนายบรรเลงได้ในเช้า วันรุ่งขึ้นที่ตนทราบเรื่องลําโพงที่หายไปได้ เพราะเป็นวันที่นายบรรเลงได้ใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมเสร็จแล้ว
ส่วนกรณีที่ลําโพง 1 ตัว ราคา 15,000 บาท ที่ถูกคนขโมยไปนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่านายบรรเลงผู้ยืม ได้นําไปใช้ไม่ถูกต้องตามมาตรา 643 กล่าวคือ ไม่ได้เอาไปใช้เพื่อการอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา ไม่ได้เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย และไม่ได้เอาไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ รวมทั้งไม่ปรากฏว่านายบรรเลงมิได้สงวนทรัพย์สินที่ยืมตามมาตรา 644 แต่อย่างใด เพราะงานเลี้ยงวันเกิดก็จัด ในบ้านของนายบรรเลงที่มียามรักษาความปลอดภัย ดังนั้น นายบันเทิงจะเรียกให้นายบรรเลงชดใช้ราคาลําโพง 15,000 บาท ไม่ได้
สรุป นายบันเทิงสามารถเรียกให้นายบรรเลงนําชุดเครื่องเสียงที่เหลือมาคืนในเช้าวันรุ่งขึ้นที่ตน ทราบเรื่องลําโพงที่หายไปได้ แต่จะเรียกให้นายบรรเลงชดใช้ราคาลําโพงที่หายไปให้ตนไม่ได้
ข้อ 2 นายจอนนี่ได้ขอยืมเงินจากนายสก็อตเพื่อนบ้านเป็นจํานวน 5,000 บาท โดยทําหลักฐานเป็นหนังสือ เอาไว้ ซึ่งมีนายปีเตอร์เป็นผู้เขียนหลักฐานการกู้ให้ เนื่องจากนายจอนนี่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ เพราะประสบอุบัติเหตุเมื่อครั้งยังเด็ก และทําให้จําเป็นต้องพิมพ์ลายนิ้วมือลงในหลักฐานการกู้ยืม ดังกล่าวในฐานะผู้กู้ ที่มีนายปีเตอร์และนางสาวแอนนาลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองในการพิมพ์ ลายนิ้วมือของนายจอนนี่ด้วย
ดังนี้ หากนายสก็อตจะฟ้องนายจอนนี่เพื่อเรียกเงินจํานวน 5,000 บาทคืน นายจอนนี่ต้องรับผิด ตามหลักฐานการกู้ดังกล่าวหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทําเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทําหนังสือไม่จําเป็นต้องเขียนเอง แต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น
ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทํานองเช่นว่านั้น ที่ทําลงในเอกสารแทน
การลงลายมือชื่อ หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ”
มาตรา 653 วรรคหนึ่ง “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่งได้กําหนดไว้ว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 ขึ้นไป จะฟ้องร้องบังคับ คดีกันได้จะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ ซึ่งการทํา หลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือนั้น ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่งได้กําหนดไว้ว่า บุคคลผู้จะต้องทําหนังสือนั้นไม่จําเป็น ต้องเขียงเอง จะเขียนหรือพิมพ์โดยผู้ใดก็ได้ แต่ที่สําคัญต้องมีการลงลายมือชื่อของผู้กู้ยืมตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 9 วรรคหนึ่ง และในกรณีที่ผู้กู้ยืมไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ก็สามารถพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับ หรือเครื่องหมายอื่นทํานองเช่นว่านั้นที่ทําลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อได้ หากมีพยาน ลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้ว ให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อตามมาตรา 9 วรรคสอง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจอนนี่กู้ยืมเงินจากนายสก็อตเป็นเงิน 5,000 บาท โดยได้ทําหลักฐาน เป็นหนังสือโดยให้นายปีเตอร์เป็นผู้เขียนหลักฐานการกู้ให้ เนื่องจากนายจอนนี่ไม่สามารถเขียนหนังสือได้ และทําให้ จําเป็นต้องพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือลงในหลักฐานการกู้ยืมดังกล่าวในฐานะผู้กู้ และเมื่อปรากฏว่ามีพยาน 2 คน คือ นายปีเตอร์และนางสาวแอนนา ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานรับรองในการพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือของนายจอนนี่ด้วย จึงถือว่าเอกสารดังกล่าวใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินของนายจอนนี่ได้ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จึงทําให้นายจอนนี่ต้องรับผิดตามหลักฐานการกู้เงินดังกล่าว ดังนั้น นายสก็อตจึงสามารถฟ้องนายจอนนี่เพื่อเรียกเงินกู้ยืมจํานวน 5,000 บาทคืนได้
สรุป หากนายสก็อตจะฟ้องนายจอนนี่เพื่อเรียกเงินกู้ยืมจํานวน 5,000 บาทคืน นายจอนนี่ต้อง รับผิดตามหลักฐานการกู้ยืมเงินดังกล่าว
ข้อ 3 นายสงัดเข้าพักที่โรงแรมเย็นสงบเป็นเวลา 3 คืน โดยได้สิทธิพิเศษจากทางโรงแรมให้จ่ายค่าที่พัก คืนแรกคืนเดียวเท่านั้น ปรากฏว่าในคืนที่สองนายสงัดได้เข้าไปใช้บริการร้านนวดผ่อนคลายของโรงแรมและได้ทําการเก็บสร้อยคอทองคําราคา 50,000 บาท และแหวนเพชรราคา 80,000 บาท ไว้ในตู้ล็อคเกอร์ของร้านนวดดังกล่าว โดยบอกกล่าวแก่นายชื่นพนักงานของร้านนวดให้ช่วยดูแลให้ เป็นอย่างดีเพราะเป็นของราคาแพง ปรากฏว่ามีคนร้ายมาลักเอาสร้อยคอทองคําราคา 50,000 บาท และแหวนเพชรราคา 80,000 บาท ของนายสงัดไป เมื่อทราบถึงการสูญหายดังกล่าว นายสงัดจึง รีบแจ้งแก่ผู้จัดการของโรงแรมเย็นสงบในทันที แต่ทางโรงแรมเย็นสงบปฏิเสธความรับผิดต่อ นายสงัด โดยอ้างว่าอยู่ในช่วงที่นายสงัดเข้าพักฟรี จึงไม่อยู่ในระยะเวลาที่โรงแรมจะต้องรับผิด ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า โรงแรมเย็นสงบมีความรับผิดต่อนายสงัดหรือไม่ และหากจะต้องรับผิด จะต้องรับผิดเป็นจํานวนเท่าใด เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิด เพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามา”
มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้น ก็คงต้องรับผิด
ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง
แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่ง ทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทาง หรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดในความสูญหาย หรือบุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย หากทรัพย์สินนั้นได้สูญหายหรือบุบสลายภายในบริเวณโรงแรม และรวมถึงสถานที่ที่ทางโรงแรมได้ใช้เพื่อประโยชน์ของแขกอาศัยหรือ คนเดินทางด้วยตามมาตรา 674
และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้นเป็นของมีค่า เช่น เงินตรา ทองคํา แหวนเพชร หรือพระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียงห้าพันบาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไปฝากไว้แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสงัดเข้าพักที่โรงแรมเย็นสงบเป็นเวลา 3 คืน โดยได้สิทธิพิเศษจาก ทางโรงแรมให้จ่ายค่าที่พักแค่คืนแรกคืนเดียวเท่านั้น และในคืนที่สองนายสงัดได้เข้าไปใช้บริการร้านนวดผ่อนคลาย ของโรงแรม และได้ทําการเก็บสร้อยคอทองคําราคา 50,000 บาท และแหวนเพชรราคา 80,000 บาท ไว้ใน ตู้ล็อคเกอร์ของร้านนวดดังกล่าว เมื่อปรากฏว่ามีคนร้ายมาลักเอาสร้อยคอทองคําและแหวนเพชรของนายสงัดไปย่อมถือได้ว่าทรัพย์สินของนายสงัดคนเดินทางได้สูญหายไปในอาณาบริเวณของโรงแรม ดังนั้น ทางโรงแรมจึงต้องรับผิดต่อนายสงัดตามมาตรา 674 โดยไม่ต้องคํานึงว่าคนเดินทางได้สิทธิเข้าพักฟรีหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อทรัพย์สินของนายสงัดที่สูญหายไปนั้น คือ สร้อยคอทองคําและแหวนเพชร ซึ่งถือเป็นของมีค่า เมื่อนายสงัดมิได้มีการนําฝากและบอกราคาของนั้นอย่างชัดแจ้งแก่ทางโรงแรม นายสงัดเพียงแต่
บอกกล่าวแก่นายชื่นพนักงานของร้านนวดให้ช่วยดูแลให้เท่านั้น ดังนั้น ทางโรงแรมเย็นสงบจึงมีความรับผิดต่อ นายสงัดเป็นจํานวนเงิน 5,000 บาทเท่านั้น ตามมาตรา 675 วรรคสอง
สรุป โรงแรมเย็นสงบต้องรับผิดต่อนายสงัดคนเดินทาง แต่รับผิดเพียง 5,000 บาท