การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2009 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายพิซซ่าและนายผักสลัดเป็นเพื่อนบ้านกัน ในเดือนเมษายน 2563 นายพิซซ่าต้องออกจากงาน เพราะบริษัทที่ตนทํางานอยู่ปิดกิจการลง นายพิซซ่าจึงมาขอยืมรถจักรยานยนต์ของนายผักสลัด เพื่อเอาไปขับรับจ้างส่งอาหาร นายผักสลัดเห็นว่านายพิซซ่าเป็นเพื่อนบ้านที่ดีจึงให้ยืม โดยกําหนด ระยะเวลายืม 3 เดือน วันหนึ่งนายสเต็กเพื่อนเก่าของนายพิซซ่าผ่านมาและพูดจาหว่านล้อมต่าง ๆ นานา เพื่อขอยืมรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวทดลองที่ 1 วัน นายพิซซ่าจึงใจอ่อนให้ยืม อย่างไรก็ตาม นายสเต็กขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวนี้ไปและไม่กลับมาอีกเลย
ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายพิซซ่ามีความรับผิดหรือไม่ และหากนายพิซซ่าอ้างว่าไม่ใช่ความผิดของตน แต่เป็นเหตุสุดวิสัยได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 640 “อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว”
มาตรา 641 “การให้ยืมใช้คงรูปนั้น ท่านว่าย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้ยืม”
มาตรา 643 “ทรัพย์สินซึ่งยืมนั้น ถ้าผู้ยืมเอาไปใช้การอย่างอื่นนอกจากการอันเป็นปกติแก่ ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญาก็ดี เอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอยก็ดี เอาไปไว้นานกว่าที่ควร จะเอาไว้ก็ดี ท่านว่าผู้ยืมจะต้องรับผิดในเหตุทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพิซซ่ายืมรถจักรยานยนต์ของนายผักสลัดเพื่อเอาไปขับรับจ้าง ส่งอาหารนั้น ถือเป็นสัญญายืมใช้คงรูปตามมาตรา 640 และเมื่อนายผักสลัดได้ส่งมอบรถจักรยานยนต์ให้แก่ นายพิซซ่าแล้ว สัญญายืมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 641 และผู้ยืมย่อมมีสิทธิครอบครองและใช้สอย รถจักรยานยนต์ได้ตามสิทธิของผู้ยืมตามกฎหมาย แต่จะต้องสงวนรักษาทรัพย์สินที่ยืม รวมทั้งไม่ประพฤติผิดหน้าที่ ของผู้ยืมด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายพิซซ่าได้เอารถจักรยานยนต์ที่ยืมนั้นให้นายสเต็กยืมไปใช้ต่อ ถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ยืมเอาทรัพย์สินที่ยืมไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย จึงเป็นการประพฤติผิดหน้าที่ของผู้ยืมตาม มาตรา 643 ซึ่งจะต้องรับผิดในเหตุที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายหรือบุบสลายไปอย่างหนึ่งอย่างใดถึงแม้ว่าจะเป็น เพราะเหตุสุดวิสัยก็ตาม ดังนั้น การที่นายสเต็กได้ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปและไม่กลับมาอีกเลย นายพิซซ่า จึงต้องรับผิดต่อนายผักสลัดผู้ให้ยืมในเหตุที่ทรัพย์สินนั้นสูญหาย และกรณีดังกล่าวนายพิชซ่าจะอ้างว่าไม่ใช่ความผิดของตนแต่เป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้ เพราะไม่ใช่เหตุสุดวิสัยแต่อย่างใด
สรุป นายพิชซ่าจะต้องรับผิดต่อนายผักสลัดผู้ให้ยืมในเหตุที่ทรัพย์สินที่ยืมนั้นสูญหาย และจะ อ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัยไม่ได้
ข้อ 2 นายโทตกลงด้วยวาจาให้นายเอกกู้ยืมเงินจํานวน 50,000 บาท และคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี โดยส่งมอบเงินให้นายเอกเรียบร้อย ต่อมาหากนายเอกผิดนัดชําระหนี้ นายโทสามารถ ฟ้องให้นายเอกชําระหนี้ได้หรือไม่ และข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยมีผลเป็นเช่นไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 650 “อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไป สิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น
สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม”
มาตรา 653 วรรคหนึ่ง “การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืม เป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”
มาตรา 654 “ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากําหนดดอกเบี้ย เกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี”
วินิจฉัย
การกู้ยืมเงินเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง และจะมีผลสมบูรณ์เมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบเงิน ที่ยืมให้แก่ผู้ยืมตามมาตรา 650 เพียงแต่ตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาทขึ้นไป จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้จะต้องมีหลักฐานประกอบการฟ้องร้องบังคับคดี คือ
1 มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง และ
2 ลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโทตกลงให้นายเอกกู้ยืมเงินด้วยวาจาจํานวน 50,000 บาทนั้น เมื่อ นายโทได้ส่งมอบเงินให้นายเอกเรียบร้อยแล้ว การกู้ยืมเงินดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามมาตรา 650 แต่อย่างไร ก็ตาม เมื่อการกู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นการกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใด อย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ ดังนั้น เมื่อต่อมานายเอกผิดนัดชําระหนี้ นายโทจึงไม่สามารถฟ้องให้นายเอก ชําระหนี้เงินกู้ดังกล่าวได้ เพราะขาดหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีตามมาตรา 653 วรรคหนึ่ง
สําหรับข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยซึ่งมีการตกลงคิดดอกเบี้ยกันในอัตราร้อยละ 20 ต่อปีนั้น ถือว่า เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นการขัดต่อมาตรา 654 ซึ่งได้กําหนดว่าห้ามมิให้คิดดอกเบี้ย เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้น ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ย เกินอัตรา พ.ศ. 2560 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150
สรุป นายโทไม่สามารถฟ้องให้นายเอกชําระหนี้เงินกู้ดังกล่าวได้ ส่วนข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 20 ต่อปีนั้นตกเป็นโมฆะ
ข้อ 3 นายหนึ่งเข้าพัก ณ โรงแรมทะเลสีคราม ในจังหวัดตราด โดยนํารถยนต์จอดไว้ที่บริเวณลานจอดรถ ของโรงแรม ในตอนดึกระหว่างที่นายหนึ่งนอนหลับอยู่ในห้องพัก ปรากฏว่ามีคนมาทุบรถยนต์ นายหนึ่งแล้วขโมยกระเป๋าทํางาน ซึ่งภายในมีคอมพิวเตอร์ราคา 100,000 บาท โทรศัพท์มือถือ ราคา 20,000 บาท และเงินสด 8,000 บาท เมื่อนายหนึ่งตื่นมาพบจึงรีบแจ้งให้ทางโรงแรมทราบ ทางโรงแรมอ้างว่าเป็นความประมาทของนายหนึ่งเองที่นําของมีค่าทิ้งไว้ในรถ จึงปฏิเสธความรับผิด ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้ออ้างของทางโรงแรมฟังขึ้นหรือไม่ และทางโรงแรมจะต้องรับผิดแก่นายหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 674 “เจ้าสํานักโรงแรมหรือโฮเต็ล หรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น จะต้องรับผิดเพื่อ ความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัย หากได้พามา”
มาตรา 675 “เจ้าสํานักต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือ บุบสลายไปอย่างใด ๆ แม้ถึงว่าความสูญหายหรือบุบสลายนั้นจะเกิดขึ้นเพราะผู้คนไปมาเข้าออก ณ โรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นก็คงต้องรับผิด
ความรับผิดนี้ ถ้าเกี่ยวด้วยเงินทองตรา ธนบัตร ตั๋วเงิน พันธบัตร ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ประทวนสินค้า อัญมณี หรือของมีค่าอื่น ๆ ให้จํากัดไว้เพียงห้าพันบาท เว้นแต่จะได้ฝากของมีค่าเช่นนี้ไว้แก่เจ้าสํานักและได้บอก ราคาแห่งของนั้นชัดแจ้ง
แต่เจ้าสํานักไม่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือแต่สภาพแห่งทรัพย์สินนั้น หรือแต่ความผิดของคนเดินทางหรือแขกอาศัยผู้นั้นเอง หรือบริวารของเขา หรือบุคคลซึ่งเขาได้ต้อนรับ”
มาตรา 676 “ทรัพย์สินซึ่งมิได้นําฝากบอกราคาชัดแจ้งนั้น เมื่อพบเห็นว่าสูญหายหรือบุบสลายขึ้น คนเดินทางหรือแขกอาศัยต้องแจ้งความนั้นต่อเจ้าสํานักโรงแรม โฮเต็ล หรือสถานที่เช่นนั้นทันที มิฉะนั้นท่านว่า เจ้าสํานักย่อมพ้นจากความรับผิดดังบัญญัติไว้ในมาตรา 674 และ 675
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย เจ้าสํานักโรงแรมหรือสถานที่อื่นทํานองเช่นว่านั้น ต้องรับผิดในความสูญหายหรือ บุบสลายที่เกิดแก่ทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยซึ่งได้นํามาด้วย แม้ความสูญหายหรือบุบสลายนั้น จะเกิดขึ้นเพราะคนที่ไปมาเข้าออก ณ โรงแรมหรือสถานที่เช่นนั้นตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675
และในกรณีที่ทรัพย์สินที่สูญหายหรือบุบสลายนั้น เป็นของมีค่า เช่น เงินตรา แหวนเพชร หรือ
พระเครื่อง ฯลฯ กฎหมายกําหนดให้เจ้าสํานักรับผิดเพียงห้าพันบาท เว้นแต่คนเดินทางหรือแขกอาศัยจะนําไปฝากไว้แก่เจ้าสํานักและบอกราคาแห่งของนั้นโดยชัดแจ้ง (มาตรา 675 วรรคสอง)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งเข้าพัก ณ โรงแรมทะเลสีครามในจังหวัดตราด โดยนํารถยนต์ จอดไว้ที่บริเวณลานจอดรถของโรงแรมนั้น ทางโรงแรมย่อมต้องมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัย
เมื่อทรัพย์สินของคนเดินทางหรือแขกอาศัยสูญหายหรือบุบสลายทางโรงแรมจะต้องรับผิดชอบ ดังนั้น การที่ทรัพย์สินของนายหนึ่งซึ่งอยู่ในรถที่จอดไว้ที่บริเวณลานจอดรถของโรงแรมสูญหาย ทางโรงแรมจึงต้องรับผิดชอบ ตามมาตรา 674 ประกอบมาตรา 675 จะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าเป็นความประมาทของนายหนึ่งเองที่นํา ของมีค่าทิ้งไว้ในรถไม่ได้
และตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อนายหนึ่งตื่นมาและพบความสูญหายจึงได้แจ้งแก่ทางโรงแรมทันที
ตามมาตรา 676 ดังนั้น ทางโรงแรมจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิด โดยจะต้องรับผิดต่อนายหนึ่งดังนี้ คือ
1 กรณีเครื่องคอมพิวเตอร์ราคา 100,000 บาท และโทรศัพท์มือถือราคา 20,000 บาทนั้น เป็นทรัพย์สินทั่วไป ทางโรงแรมจึงต้องรับผิดเต็มจํานวนรวม 120,000 บาท ตามมาตรา 675 วรรคหนึ่ง
2 กรณีเงินสดจํานวน 8,000 บาทนั้น ถือเป็นของมีค่า เมื่อนายหนึ่งไม่ได้ฝากไว้แก่ทางโรงแรม ดังนั้นทางโรงแรมจึงรับผิดเพียง 5,000 บาท ตามมาตรา 675 วรรคสอง
สรุป ข้ออ้างของทางโรงแรมฟังไม่ขึ้น และทางโรงแรมจะต้องรับผิดต่อนายหนึ่งในความสูญหาย ของเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นเงิน 100,000 บาท โทรศัพท์มือถือเป็นเงิน 20,000 บาท และกรณีเงินสดจํานวน 5,000 บาท