การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2010 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยค้ำประกัน จํานอง จํานํา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นางสาวกุหลาบกู้เงินนางสาวบุหงา 500,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง นางสาวบุหงาเห็นว่า เศรษฐกิจในปัจจุบันไม่ค่อยดีจึงเกรงว่าเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระนางสาวกุหลาบจะไม่มีเงินชําระหนี้จึงขอให้นางสาวกุหลาบหาหลักประกันให้ นางสาวกุหลาบจึงได้นําแหวนเพชรราคา 300,000 บาท มาจํานําไว้กับนางสาวบุหงา และยังให้บริษัท เสื้อสวย จํากัด โดยนางสาวราตรีผู้แทนนิติบุคคล เข้าเป็นผู้ค้ําประกันเพราะตนได้นําเงินกู้บางส่วนมาใช้ลงทุนในบริษัทฯ มีการทําหลักฐานเป็นหนังสือ ตกลงให้บริษัทฯ เข้าเป็นผู้ค้ําประกันและยอมรับผิดในหนี้ทั้งหมดร่วมกับนางสาวกุหลาบ ต่อมา เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นางสาวกุหลาบไม่ชําระหนี้ นางสาวบุหงาจะเรียกให้บริษัท เสื้อสวย จํากัด ชําระหนี้เต็มจํานวน 500,000 บาทได้หรือไม่ จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 680 “อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ําประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชําระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชําระหนี้นั้น

อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน
เป็นสําคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่”

มาตรา 681/1 “ข้อตกลงใดที่กําหนดให้ผู้ค้ําประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือ ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ําประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตน เพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีเช่นนั้นผู้ค้ําประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690”

มาตรา 690 “ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ําประกันร้องขอ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชําระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวกุหลาบกู้เงินนางสาวบุหงา 500,000 บาท มีหลักฐานการกู้ถูกต้อง โดยนางสาวกุหลาบได้นําแหวนเพชรราคา 300,000 บาท มาจํานําไว้กับนางสาวบุหงา และยังให้บริษัท เสื้อสวย จํากัด โดยนางสาวราตรีผู้แทนนิติบุคคลเข้ามาเป็นผู้ค้ําประกัน มีการทําหลักฐานเป็นหนังสือถูกต้องตามมาตรา 680 นั้น เมื่อสัญญาค้ําประกันดังกล่าวได้มีข้อตกลงว่าให้บริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลเข้าเป็นผู้ค้ําประกันและยอมรับผิดในหนี้ ทั้งหมดร่วมกับนางสาวกุหลาบ ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับกันได้ไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 681/1 ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดและนางสาวกุหลาบไม่ชําระหนี้ นางสาวบุหงาจึงสามารถเรียกให้บริษัท เสื้อสวย จํากัด ชําระหนี้ เต็มจํานวน 500,000 บาทได้ และบริษัท เสื้อสวย จํากัด จะใช้สิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้ไปบังคับเอากับทรัพย์สินของ ลูกหนี้คือแหวนเพชรราคา 300,000 บาทที่เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันตามมาตรา 690 ก่อนไม่ได้ (มาตรา 681/1 วรรคสอง)

สรุป นางสาวบุหงาสามารถเรียกให้บริษัท เสื้อสวย จํากัด ชําระหนี้เต็มจํานวน 500,000 บาทได้

ข้อ 2 นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินนายจัตวา 5 ล้านบาท โดยนายเอกได้นําที่ดินมาจดทะเบียนจํานอง ประกันหนี้กู้ยืมเงินของตน และมีนายโทนําบ้านพร้อมที่ดินมาจดทะเบียนจํานองประกันหนี้กู้ยืมเงิน ดังกล่าว ข้อตกลงในสัญญาจํานองมีดังนี้

(1) หากบังคับชําระหนี้เอากับทรัพย์สินที่จํานองเงินยังขาดอยู่เท่าใด นายเอกต้องรับผิดในส่วนที่ขาด

(2) หากบังคับชําระหนี้เอากับทรัพย์สินที่จํานองเงินยังขาดอยู่เท่าใด นายโทต้องรับผิดในส่วนที่ขาด เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระหนี้ นายเอกผิดนัดชําระหนี้ นายจัตวาฟ้องศาลขอให้มีคําพิพากษา ยึดทรัพย์จํานองขายทอดตลาดเพื่อชําระหนี้ ปรากฏว่า ที่ดินของนายเอกขายทอดตลาดได้ ราคา 2 ล้านบาท บ้านพร้อมที่ดินของนายโทขายทอดตลาดได้ราคา 2.5 ล้านบาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายจัตวาจะเรียกให้นายเอกและนายโทชําระหนี้ในส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาท ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 702 “อันว่าจํานองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จํานอง เอาทรัพย์สินตราไว้ แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจํานอง เป็นประกันการชําระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานองชอบที่จะได้รับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่

มาตรา 709 “บุคคลคนหนึ่งจะจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระก็ให้ทําได้”

มาตรา 727/1 “ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้ อันบุคคลอื่นจะต้องชําระ ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานองในเวลาที่บังคับจํานองหรือเอาทรัพย์ จํานองหลุด

ข้อตกลงใดอันมีผลให้ผู้จํานองรับผิดเกินที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือให้ผู้จํานองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 733 “ถ้าเอาทรัพย์จํานองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ํากว่าจํานวนเงินที่ ค้างชําระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจํานองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจํานวนสุทธิน้อยกว่าจํานวนเงิน ที่ค้างชําระกันอยู่นั้นก็ดี เงินยังขาดจํานวนอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินนายจัตวา 5 ล้านบาท โดยนายเอกได้นําที่ดิน มาจดทะเบียนจํานองประกันหนี้กู้ยืมเงินของตน และมีนายโทนําบ้านพร้อมที่ดินมาจดทะเบียนจํานองประกันหนี้ กู้ยืมเงินดังกล่าวนั้น ย่อมสามารถที่จะกระทําได้ตามมาตรา 702 และมาตรา 709 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหนี้ ถึงกําหนดชําระ นายเอกผิดนัดชําระหนี้ นายจัตวาฟ้องศาลขอให้ศาลมีคําพิพากษายึดทรัพย์จํานองขายทอดตลาด เพื่อชําระหนี้ ปรากฏว่า ที่ดินของนายเอกขายทอดตลาดได้ราคา 2 ล้านบาท ส่วนบ้านพร้อมที่ดินของนายโท ขายทอดตลาดได้ราคา 2.5 ล้านบาท ดังนี้ จัตวาจะเรียกให้นายเอกและนายโทชําระหนี้ในส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาท ได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

(1) ตามมาตรา 733 นั้น ได้วางหลักไว้ว่า ถ้ามีการเอาทรัพย์สินซึ่งจํานองออกขายทอดตลาด ใช้หนี้ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจํานวนที่ค้างชําระกันอยู่ เงินยังขาดอยู่เท่าใด ลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น ดังนั้น กรณีนี้ โดยหลักแล้วนายเอกลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาท

แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติมาตรา 733 ดังกล่าว มิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ลูกหนี้อาจตกลงกับเจ้าหนี้เป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือ จากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ก็ย่อมทําได้ ดังนั้น เมื่อในสัญญาจํานองมีข้อตกลงกันเป็นพิเศษว่า หากบังคับชําระหนี้ เอากับทรัพย์สินที่จํานองเงินยังขาดอยู่เท่าใด นายเอกต้องรับผิดในส่วนที่ขาด ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลใช้บังคับ กันได้ระหว่างนายเอกลูกหนี้กับนายจัตวาเจ้าหนี้ผู้รับจํานอง นายจัตวาจึงสามารถเรียกให้นายเอกรับผิดชอบ ชําระหนี้ส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาทได้

(2) กรณีที่ในสัญญาจํานองมีข้อตกลงกันว่า หากบังคับชําระหนี้เอากับทรัพย์สินที่จํานองเงิน ยังขาดอยู่เท่าใด นายโทต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น เมื่อนายโทมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่นายโทเป็นเพียงบุคคลซึ่งนํา ทรัพย์สินมาจํานองประกันในหนี้ของบุคคลอื่น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 733 แต่จะอยู่ในบังคับของมาตรา 727/1 กล่าวคือ นายโทไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานอง และในกรณีที่มีข้อตกลงอันมีผลให้ นายโทต้องรับผิดเกินทรัพย์สินที่จํานองข้อตกลงดังกล่าวนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น นายจัตวาจะเรียกให้นายโทชําระหนี้ ในส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาทไม่ได้

สรุป นายจัตวาจะเรียกให้นายเอกชําระหนี้ในส่วนที่ขาดอีก 5 แสนบาทได้ แต่จะเรียกเอาจากนายโทไม่ได้

ข้อ 3 แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท แดงได้ส่งมอบแหวนของตนหนึ่งวงไว้กับดําเพื่อเป็นประกันหนี้รายนี้ ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความ และแดงได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ปฏิเสธไม่ชําระหนี้แก่ค่า ค่าต้องการ บังคับชําระหนี้จากแหวนของแดงที่ตนครอบครองไว้เฉพาะตน จึงมาปรึกษาท่านว่า จะทําได้หรือไม่

จงให้คําปรึกษาแก่คําต่อคําถามต่อไปนี้
(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากแหวนของแดงได้หรือไม่ โดยวิธีใด
(ข) หากแหวนวงนี้มีราคา 800,000 บาท ในขณะนั้น ดําจะได้รับชําระหนี้เต็มจํานวนหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/9 “สิทธิเรียกร้องใด ๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกําหนด สิทธิ เรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ

มาตรา 193/10 “สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้”

มาตรา 193/27 “ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานํา ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานอง จํานํา หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิ เรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชําระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลัง
เกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้”

มาตรา 747 “อันว่าจํานํานั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จํานํา ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจํานํา เพื่อเป็นประกันการชําระหนี้”

มาตรา 764 “เมื่อจะบังคับจํานํา ผู้รับจํานําต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ ชําระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกําหนดให้ในคําบอกกล่าวนั้น

ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานําชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจํานําออกขายได้
แต่ต้องขายทอดตลาด

อนึ่งผู้รับจํานําต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังผู้จํานําบอกเวลาและสถานที่ซึ่งจะขายทอดตลาดด้วย”

มาตรา 767 “เมื่อบังคับจํานําได้เงินจํานวนสุทธิเท่าใด ท่านว่าผู้รับจํานําต้องจัดสรรชําระหนี้และ อุปกรณ์เพื่อให้เสร็จสิ้นไป และถ้ายังมีเงินเหลือก็ต้องส่งคืนให้แก่ผู้จํานํา หรือแก่บุคคลผู้ควรจะได้เงินนั้น ถ้าได้เงินน้อยกว่าจํานวนค้างชําระ ท่านว่าลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับใช้ในส่วนที่ขาดอยู่นั้น”

มาตรา 769 “อันจํานําย่อมระงับสิ้นไป

(1) เมื่อหนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นระงับสิ้นไปเพราะเหตุประการอื่นมิใช่เพราะอายุความ…”

วินิจฉัย

(ก) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่แดงเป็นหนี้ดํา 100,000 บาท และแดงได้ส่งมอบแหวนของตนหนึ่งวง ให้ดําเพื่อเป็นประกันชําระหนี้นั้น ถือเป็นสัญญาจํานําตามมาตรา 747 ต่อมาหนี้รายนี้ขาดอายุความแดงย่อม มีสิทธิยกอายุความขึ้นปฏิเสธการชําระหนี้ได้ตามมาตรา 193/9 ประกอบมาตรา 193/10

แต่อย่างไรก็ตาม แม้หนี้ซึ่งจํานําเป็นประกันอยู่นั้นจะขาดอายุความแล้วก็ตาม ก็ไม่ทําให้การจํานํานั้น ระงับสิ้นไปตามมาตรา 769 (1) ดังนั้น ดําผู้รับจํานําจึงยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานําคือแหวน ที่แดงได้จํานําไว้ได้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตามตามมาตรา 193/27
และเมื่อจะบังคับจํานํา ดําจะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังแดงลูกหนี้ว่าให้ชําระหนี้และดอกเบี้ย ภายในเวลาอันควรซึ่งดําได้กําหนดไว้ในคําบอกกล่าว ซึ่งถ้าหากแดงละเลยไม่ปฏิบัติตามคําบอกกล่าว ผู้รับจํานํา มีสิทธินําแหวนของแดงออกขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 764

(ข) หากแหวนวงนั้นของแดงมีราคา 80,000 บาท ในขณะนั้น ดําย่อมมีสิทธิได้รับชําระหนี้เพียง 80,000 บาท ส่วนที่ขาดอีก 20,000 บาทนั้น เมื่อแดงลูกหนี้ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้ว แดงจึงไม่ต้องรับผิด ในส่วนที่ขาดนั้นตามมาตรา 767 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/9 และ 193/10

สรุป
(ก) ดําสามารถบังคับชําระหนี้จากแหวนของแดงได้ โดยต้องปฏิบัติตามมาตรา 764
(ข) หากแหวนวงนั้นมีราคา 80,000 บาท จะได้รับชําระหนี้เพียง 80,000 บาท ส่วนที่ขาดอีก 20,000 บาท แดงไม่ต้องรับผิด

Advertisement