การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2111 (LAW 2011) ป.พ.พ.ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 นางสาวแสงดาวทําหลักฐานเป็นหนังสือมอบหมายให้นายแสงตะวัน อายุ 15 ปี ไปลงลายมือชื่อ ในสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้าแทนตน นายแสงตะวันไปทําสัญญาตามคําสั่งและ รับรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้ามาหนึ่งคัน เมื่อนางสายหยุดมารดาของนายแสงตะวันทราบ จึงบอกล้างนิติกรรมการเป็นตัวแทน ดังนี้ นางสาวแสงดาวต้องชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ ให้นายสายฟ้าหรือไม่ จงอธิบาย พร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 798 “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทําเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อ กิจการอันนั้นก็ต้องทําเป็นหนังสือด้วย

กิจการอันใดท่านบังคับไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้อง
มีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย”

มาตรา 799 “ตัวการคนใดใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทน ท่านว่าตัวการคนนั้นย่อมต้อง ผูกพันในกิจการที่ตัวแทนกระทํา”

มาตรา 820 “ตัวการย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันตัวแทนหรือ ตัวแทนช่วงได้ทําไปภายในขอบอํานาจแห่งฐานตัวแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวแสงดาวทําหลักฐานเป็นหนังสือมอบหมายให้นายแสงตะวัน อายุ 15 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์และเป็นบุคคลไร้ความสามารถเป็นตัวแทนไปลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ จากนายสายฟ้าแทนตนนั้น เป็นการมอบอํานาจที่ถูกต้องตามมาตรา 798 วรรคสอง และมาตรา 799 ดังนั้น นายแสงตะวันจึงมีอํานาจทําสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้าแทนนางสาวแสงดาวได้

เมื่อนายแสงตะวันได้ทําสัญญาซื้อรถจักรยานยนต์ตามคําสั่งและรับรถจักรยานยนต์จากนายสายฟ้ามาหนึ่งคัน จึงถือเป็นกิจการที่นายแสงตะวันตัวแทนได้ทําไปภายในขอบอํานาจของการเป็นตัวแทนย่อมมีผลทําให้ นางสาวแสงดาวต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกคือต้องชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ให้แก่นายสายฟ้าตามมาตรา 820 แม้ว่านางสายหยุดมารดาของนายแสงตะวันทราบและได้บอกล้างนิติกรรมการเป็นตัวแทนของนายแสงตะวันแล้ว ก็ตาม นางสาวแสงดาวก็ยังคงต้องรับผิดชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ให้แก่นายสายฟ้าเนื่องจากการที่ตนได้ใช้บุคคลผู้ไร้ความสามารถเป็นตัวแทนตามมาตรา 799

สรุป นางสาวแสงดาวต้องชําระราคาค่ารถจักรยานยนต์ให้นายสายฟ้า

ข้อ 2 นาย B ประกอบอาชีพซื้อขายรถยนต์มือสอง ซึ่งนาย A ตกลงให้นาย B เป็นตัวแทนค้าต่างในการขายรถยนต์ Mercedes Benz รุ่น E200 Coupe ปี 2012 ของตน โดยบอกให้ขายในราคา 1,200,000 บาท ต่อมานาย C ได้ติดต่อนาย B ขอซื้อรถยนต์คันดังกล่าวในราคา 1,180,000 บาท ซึ่งนาย B ได้ตกลงขายให้ตามราคาที่นาย C ขอซื้อ แต่นาย C ตกลงจะจ่ายค่ารถยนต์ให้ภายหลัง รับมอบรถยนต์ดังกล่าว 1 อาทิตย์ โดยเงินจํานวนที่เหลือ 20,000 บาทนั้น นาย B จะจ่ายให้นาย A จนครบตามราคาที่นาย A กําหนด แต่เมื่อครบกําหนดจ่ายค่ารถยนต์ นาย C ไม่มีเงินจ่าย นาย A จึงเรียกให้นาย B จ่ายค่ารถยนต์แทนเป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท นาย B ปฏิเสธโดย อ้างว่านาย A ต้องเรียกให้นาย C จ่ายค่ารถยนต์ 1,180,000 บาทเอง พร้อมกันนั้นนาย B ได้เรียก ค่าบําเหน็จจากนาย A ด้วย นาย A จึงอ้างว่านาย B ขายรถยนต์ไปในราคาต่ำกว่าที่ตนกําหนด การขายรถยนต์คันดังกล่าวจึงไม่ผูกพันตนประเด็นหนึ่ง จึงปฏิเสธที่จะจ่ายค่าบําเหน็จ โดยอ้างว่า ไม่ได้ตกลงเรื่องบําเหน็จไว้ก่อนอีกประเด็นหนึ่ง

ให้นักศึกษาวินิจฉัย ข้อเรียกร้องและข้ออ้างของนาย A ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 833 “อันว่าตัวแทนค้าต่าง คือบุคคลซึ่งในทางค้าขายของเขาย่อมทําการซื้อหรือขาย ทรัพย์สิน หรือรับจัดทํากิจการค้าขายอย่างอื่นในนามของตนเองต่างตัวการ”

มาตรา 834 “ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านว่าตัวแทนค้าต่างชอบที่จะได้รับบําเหน็จ โดยอัตราตามธรรมเนียมเพื่อกิจการค้าขายอันตนได้จัดการให้ตกลงไปนั้นทุกรายไป”

มาตรา 838 “ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ไซร้ ท่านว่าตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการ เพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ เว้นแต่จะได้มีข้อกําหนดในสัญญา หรือมีปริยายแต่ทางการที่ตัวการกับตัวแทนประพฤติต่อกัน
หรือมีธรรมเนียมในท้องถิ่นว่าจะต้องรับผิดถึงเพียงนั้น”

มาตรา 839 “ถ้าตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายเป็นราคาต่ําไปกว่าที่ตัวการกําหนด หรือทําการซื้อ เป็นราคาสูงไปกว่าที่ตัวการกําหนดไซร้ หากว่าตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดเกินนั้นแล้ว ท่านว่าการขายหรือการซื้ออันนั้น ตัวการก็ต้องรับขายรับซื้อ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นาย A ตกลงให้นาย B เป็นตัวแทนค้าต่างในการขายรถยนต์ Mercedes Benz รุ่น E200 Coupe ปี 2012 ของตน โดยบอกให้ขายในราคา 1,200,000 บาท ต่อมานาย C ได้ติดต่อนาย B ขอซื้อรถยนต์คันดังกล่าวในราคา 1,180,000 บาท ซึ่งนาย B ได้ตกลงขายในราคาที่นาย C ขอซื้อ แต่นาย C ตกลง จะจ่ายค่ารถยนต์ให้ภายหลังรับมอบรถยนต์ 1 อาทิตย์ โดยเงินที่เหลือ 20,000 บาทนั้น นาย B จะจ่ายให้นาย A จนครบตามราคาที่นาย A กําหนดนั้น เป็นกรณีที่นาย 8 ตัวแทนค้าต่างได้ทําการขายเป็นราคาต่ํากว่าที่นาย A ตัวการกําหนด แต่เมื่อนาย B ตัวแทนรับใช้เศษที่ขาดไป 20,000 บาทแล้ว ย่อมถือว่าการขายรถยนต์นั้น นาย A ตัวการต้องผูกพันรับขาย ตามมาตรา 839

เมื่อครบกําหนดจ่ายค่ารถยนต์ นาย C ไม่มีเงินจ่าย นาย A จึงเรียกให้นาย B จ่ายค่ารถยนต์แทน เป็นจํานวนเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท แต่นาย B ปฏิเสธโดยอ้างว่านาย A ต้องเรียกให้นาย C จ่ายค่ารถยนต์ 1,180,000 บาทเองนั้น นาย B สามารถอ้างได้ตามมาตรา 838 ซึ่งวางหลักไว้ว่า ถ้าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชําระหนี้ ตัวแทนค้าต่างหาต้องรับผิดต่อตัวการเพื่อชําระหนี้นั้นเองไม่ ดังนั้น นาย B จึงไม่ต้องรับผิดต่อนาย A ในการชําระหนี้แทนนาย C

การที่นาย B เรียกค่าบําเหน็จจากนาย A แต่นาย A ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าบําเหน็จโดยอ้างว่าไม่ได้ตกลง เรื่องบําเหน็จไว้ก่อนนั้น นาย A ย่อมไม่อาจอ้างได้ เพราะแม้จะมิได้ตกลงกันไว้ว่ามีบําเหน็จ ตัวแทนค้าต่างก็ชอบที่จะ ได้รับบําเหน็จ โดยอัตราตามธรรมเนียมเพื่อกิจการค้าขายอันตนได้จัดการให้ตกลงไปนั้นทุกรายไปตามมาตรา 834

สรุป นาย B ตัวแทนค้าต่างไม่ต้องรับผิดต่อนาย A ในการชําระหนี้แทนนาย C และนาย B ชอบที่จะได้รับบําเหน็จตอบแทน ส่วนข้อเรียกร้องและข้ออ้างของนาย A ฟังไม่ขึ้น

ข้อ 3 นายเอกต้องการขายอาคารพาณิชย์ 4 ชั้นของตนซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในราคา 10 ล้านบาท จึงได้ติดป้ายประกาศขายไว้ทั่วเมืองหาดใหญ่ นายโทเห็นป้ายประกาศขาย อาคารพาณิชย์ดังกล่าว เห็นว่ามีราคาไม่แพงเพราะอยู่ในตัวเมือง ในวันเดียวกันนายโทจึงไปพา นายตรีซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจผู้จัดจําหน่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ไปหานายเอก และช่วยในการประสานงานเป็นอย่างดี จนกระทั้งนายตรีทําสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพาณิชย์ดังกล่าวกับนายเอก โดยนายตรีวางเงินมัดจําไว้ 1 ล้านบาท และส่วนที่เหลือจะชําระในวันโอนกรรมสิทธิ์ วันต่อมา นายโทจึงไปเรียกบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก

ให้นักศึกษาวินิจฉัยว่า นายโทมีสิทธิได้รับบําเหน็จ 3% จากนายเอกหรือไม่ เพราเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 845 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบําเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทํา สัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทําสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบําเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทํากัน สําเร็จ เนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทํากันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับ ก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบําเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่ จนกว่าเงื่อนไขนั้นสําเร็จแล้ว”

มาตรา 846 วรรคหนึ่ง “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมาย ได้ว่าย่อมทําให้แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบําเหน็จนายหน้า”

วินิจฉัย

ในเรื่องสัญญานายหน้านั้น บุคคลจะต้องรับผิดให้ค่าบําเหน็จนายหน้าแก่ผู้ใดก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้ กับผู้นั้นโดยชัดแจ้งประการหนึ่ง หรือถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้โดยชัดแจ้งก็จะต้องรับผิดต่อเมื่อกิจการอันได้มอบหมาย แก่ผู้นั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่า ผู้นั้นย่อมทําให้ก็แต่เพื่อจะเอาค่าบําเหน็จเท่านั้น ถ้าไม่มีการตกลงกันหรือไม่มีการ มอบหมายกิจการแก่กัน ก็ไม่จําต้องให้ค่าบําเหน็จนายหน้า กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายหน้าที่จะได้รับบําเหน็จ หรือค่านายหน้านั้นในเบื้องต้นจะต้องมีสัญญานายหน้าต่อกันโดยชัดแจ้งตามมาตรา 845 หรือมีสัญญาต่อกัน โดยปริยายตามมาตรา 846 ผู้ใดจะอ้างตนเป็นนายหน้าฝ่ายเดียว เรียกร้องเอาค่าบําเหน็จโดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้มี สัญญาด้วยแต่อย่างหนึ่งอย่างใดเลยนั้น หามีกฎหมายสนับสนุนให้เรียกร้องได้ไม่

กรณีตามอุทาหรณ์ แม้ว่าสัญญาซื้อขายอาคารพาณิชย์ระหว่างนายเอกกับนายตรีจะได้เกิดขึ้นจาก การชี้ช่องและจัดการของนายโทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายเอกไม่เคยตกลงให้นายโทเป็นนายหน้า ขายอาคารพาณิชย์ของตนตามมาตรา 845 วรรคหนึ่ง อีกทั้งจะถือว่าเป็นการตกลงกันโดยปริยายตามมาตรา 846 วรรคหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะการตกลงตามมาตรานี้ หมายถึง กรณีที่มีการมอบหมายให้เป็นนายหน้ากันแล้ว แต่ไม่ได้ตกลงค่าบําเหน็จนายหน้าไว้ แต่กรณีนี้นายเอกยังไม่ได้มอบหมายให้นายโทเป็นนายหน้าแต่อย่างใด
ดังนั้น นายโทจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก

สรุป นายโทไม่มีสิทธิได้รับบําเหน็จนายหน้า 3% จากนายเอก

Advertisement