การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2563
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2112 (LAW2012) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัย
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายหงส์มีอาการปวดที่ท้องจึงไปพบแพทย์ แพทย์ตรวจแล้วพบว่านายหงส์เป็นมะเร็งลําไส้ระยะ เริ่มต้น นายหงส์จึงทําประกันชีวิตตนเองกับบริษัท ไทยรักประกันชีวิต จํากัด ด้วยเหตุมรณะ ระยะเวลา 10 ปี จํานวนเงินประกันห้าแสนบาท โดยไม่เปิดเผยให้บริษัทประกันชีวิตทราบว่า ตนเป็นโรคมะเร็ง นายหงส์กําหนดให้นางอ้อยภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์ และนายหงส์ได้มอบกรมธรรม์ให้นางอ้อยไว้และบอกให้นางอ้อยนํากรมธรรม์ไปรับเงินห้าแสนบาทจากบริษัทประกันชีวิต นายหงส์เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและแพทย์ทําการผ่าตัดนําส่วนของลําไส้ที่เป็นมะเร็งออกและลงความเห็นว่านายหงส์สามารถรักษาหายได้เพราะมะเร็งยังไม่ลุกลามไปมาก ผ่านไปเป็นเวลา 1 ปี นายหงส์และนางอ้อยหย่าขาดจากกัน นายหงส์จดทะเบียนสมรสใหม่กับนางบุปผา นายหงส์จึงแจ้งไปยังบริษัท ไทยรักประกันชีวิต จํากัด เพื่อเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ จากนางอ้อยเป็นนางบุปผา
หลังจากนั้นอีก 7 เดือน นายหงส์ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเสียชีวิต นางบุปผาจึงเรียกร้องเงินห้าแสนบาทจากบริษัทประกัน แต่นางอ้อยคัดค้านว่านายหงส์ส่งมอบ กรมธรรม์ให้ตนเองแล้วนางบุปผาไม่มีสิทธิ ส่วนบริษัท ไทยรักประกันชีวิต จํากัด ก็ปฏิเสธการจ่าย อ้างว่านายหงส์ไม่เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับการเป็นมะเร็งลําไส้กับบริษัทและใช้สิทธิบอกล้างสัญญา เพื่อให้สัญญาฯ เป็นโมฆะ แต่นางบุปผาและนางอ้อยอ้างว่านายหงส์ไม่ได้ตายเพราะโรคมะเร็ง จึงเรียกร้องให้บริษัทฯ จ่ายเงินเอาประกัน
ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า บริษัท ไทยรักประกันชีวิต จํากัด บอกล้างสัญญาได้หรือไม่ นางอ้อยหรือนางบุปผา จะมีสิทธิในเงินห้าแสนบาทหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 862 “ตามข้อความในลักษณะนี้
คําว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือ ใช้เงินจํานวนหนึ่งให้เงินใช้ให้
คําว่า “ผู้เอาประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
คําว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือรับจํานวน
อนึ่งผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”
มาตรา 863 “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรา 865 “ถ้าในเวลาทําสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคล อันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่ง
อาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีกหรือให้บอกปัดไม่ยอมทําสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้ว แถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกําหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้าง
ได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันทําสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”
มาตรา 891 วรรคหนึ่ง “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัย ย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่
ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจํานงจะถือเอา ประโยชน์แห่งสัญญานั้น”
มาตรา 892 “ในกรณีบอกล้างสัญญาตามความในมาตรา 865 ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอน กรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหงส์ได้ทําสัญญาประกันชีวิตตนเองกับบริษัท ไทยรักประกันชีวิต จํากัด ด้วยเหตุมรณะระยะเวลา 10 ปี จํานวนเงินเอาประกัน 5 แสนบาท โดยระบุให้นางอ้อยภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผู้รับประโยชน์นั้น ย่อมสามารถทําได้เพราะถือว่านายหงส์ผู้เอาประกันภัยมีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นตามมาตรา 863
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่จะมีการทําสัญญาประกันชีวิตนั้น นายหงส์ซึ่งมีอาการปวดที่ท้องได้ไปพบแพทย์ แพทย์ตรวจแล้วพบว่านายหงส์เป็นมะเร็งลําไส้ระยะเริ่มต้น นายหงส์จึงได้ทํา สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวโดยไม่เปิดเผยให้บริษัทประกันชีวิตทราบว่าตนเป็นโรคมะเร็ง ดังนี้ แม้ว่านายหงส์ได้
เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและแพทย์ได้ทําการผ่าตัดนําส่วนของลําไส้ที่เป็นมะเร็งออกและลงความเห็นว่านายหงส์สามารถรักษาหายได้เพราะมะเร็งยังไม่ลุกลามไปมาก และต่อมานายหงส์ได้ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนเสียชีวิตไม่ได้ตายเพราะโรคมะเร็งก็ตาม แต่การที่นายหงส์เป็นมะเร็งซึ่งเป็นโรคร้ายแรงแต่ไม่เปิดเผยข้อความจริงดังกล่าวให้บริษัทไทยรักประกันชีวิตจํากัดทราบ กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 865 วรรคหนึ่ง ที่ทําให้สัญญาประกัน ชีวิตดังกล่าวตกเป็นโมฆียะตั้งแต่เริ่มแรก บริษัทฯ จึงสามารถบอกล้างสัญญาเพื่อให้สัญญาประกันชีวิตนั้นตกเป็น โมฆะได้ และเมื่อบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาภายในระยะเวลาที่สามารถบอกล้างได้ตามมาตรา 865 วรรคสอง สัญญาประกันชีวิตดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ บริษัทฯ จึงไม่ต้องใช้เงินให้แก่ผู้รับประโยชน์
และแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า ในการทําสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว นายหงส์ได้ระบุให้นางอ้อย ภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์ตามมาตรา 862 และต่อมานายหงส์ได้โอนประโยชน์แห่งสัญญานั้น ให้แก่นางบุปผาโดยถูกต้องตามมาตรา 891 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่นางบุปผาก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงิน 5 แสนบาท ในฐานะผู้รับประโยชน์ เนื่องจากสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวได้ถูกบริษัทฯ บอกล้างให้ตกเป็นโมฆะแล้วนั่นเอง นางบุปผาจะมีสิทธิก็แต่เฉพาะค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ในฐานะทายาทตามมาตรา 892 เท่านั้น
สรุป
บริษัท ไทยรักประกันชีวิต จํากัด สามารถบอกล้างสัญญาประกันชีวิตดังกล่าวได้ และนางอ้อยหรือนางบุปผาจะไม่มีสิทธิในเงิน 5 แสนบาทนั้นแต่อย่างใด
ข้อ 2 นายหมึกเป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่ง ได้นํารถยนต์ไปทําสัญญาประกันวินาศภัยกับบริษัท รุ่งดี ประกันภัย จํากัด เป็นการประกันภัยประเภทที่ 1 คือ คุ้มครองความเสียหายที่เกิดกับตัวรถที่เอา ประกันทุกกรณี จํานวนเงินซึ่งเอาประกันหนึ่งล้านบาท มีกําหนดเวลา 1 ปี หลังจากทําสัญญาประกัน วินาศภัยได้ 5 เดือน ปรากฏว่านายหมึกได้ขับรถยนต์ด้วยความคึกคะนองและประมาทเลินเล่อ ขับรถไปชนเสาไฟฟ้า รถยนต์ได้รับความเสียหายเป็นเงินสองแสนบาท โดยเหตุความเสียหายนั้น เกิดขึ้นวันที่ 25 มกราคม 2561 นายหมึกจึงไปเรียกให้บริษัท รุ่งดีประกันภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหม ทดแทนแต่ถูกปฏิเสธโดยบริษัทฯ อ้างว่าไม่อยู่ในส่วนที่ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดในความเสียหาย ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 25 มกราคม 2563 นายหมึกจึงฟ้องให้บริษัท รุ่งดีประกันภัย จํากัด ใช้ค่าสินไหม ทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์คันดังกล่าว แต่บริษัท รุ่งดีประกันภัย จํากัด ต่อสู้ว่า การฟ้องของนายหมึกนั้นเลยกําหนดอายุความแล้ว แต่นายหมึกอ้างว่ายังไม่เลยกําหนดอายุความ ดังนี้ จงวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของบริษัท รุ่งดีประกันภัย จํากัด ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด อธิบาย โดยยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 879 วรรคหนึ่ง “ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในเมื่อความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุ ไว้ในสัญญานั้น ได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับ ประโยชน์”
มาตรา 882 วรรคหนึ่ง “ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกําหนด สองปีนับแต่วันวินาศภัย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหมึกเป็นเจ้าของรถยนต์ได้นํารถยนต์ไปทําสัญญาประกันวินาศภัย กับบริษัท รุ่งดีประกันภัย จํากัด เป็นการประกันภัยประเภทที่ 1 คือ คุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถที่ เอาประกันทุกกรณี จํานวนเงินซึ่งเอาประกัน 1 ล้านบาท มีกําหนดเวลา 1 ปี หลังจากทําสัญญาประกันวินาศภัย ได้ 5 เดือน นายหมึกได้ขับรถยนต์ด้วยความคึกคะนองและประมาทเลินเล่อขับรถไปชนเสาไฟฟ้า รถยนต์ได้รับ ความเสียหายเป็นเงิน 2 แสนบาทนั้น เมื่อความวินาศภัยดังกล่าวได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของ นายหมึกผู้เอาประกันเท่านั้น มิใช่เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงไม่ต้องด้วย บทบัญญัติมาตรา 879 วรรคหนึ่งที่จะทําให้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด บริษัทฯ จะปฏิเสธโดยอ้างว่าไม่อยู่ใน ส่วนที่ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวไม่ได้ บริษัทฯ จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายหมึก และเมื่อความวินาศภัยดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 25 มกราคม 2561 และนายหมึกได้ฟ้องให้บริษัทฯ ใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์คันดังกล่าวในวันที่ 25 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นการฟ้องคดี ในขณะที่ยังไม่เกินอายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง เพราะเป็นการฟ้องขณะ ครบกําหนดอายุความพอดี นายหมึกจึงสามารถฟ้องได้ ดังนั้น การที่บริษัทฯ ต่อสู้ว่าการฟ้องคดีของนายหมึกนั้น เลยอายุความแล้ว ข้อต่อสู้ของบริษัทฯ จึงฟังไม่ขึ้น
สรุป
ข้อต่อสู้ของบริษัท รุ่งดีประกันภัย จํากัดที่ว่าการฟ้องคดีของนายหมึกนั้นเลยอายุความแล้วฟังไม่ขึ้น
ข้อ 3 นายวอกทําสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้กับบริษัท นิยมประกันภัย จํากัด ในวันที่ 1 กันยายน 2563 กรมธรรม์คุ้มครองกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 200,000 บาท กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 200,000 บาท และทําสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลอีกฉบับไว้กับบริษัท ชํานาญประกันภัย จํากัด ในวันที่ 2 กันยายน 2563 กรมธรรม์คุ้มครองกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 100,000 บาท กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 100,000 บาท โดยทั้งสองกรมธรรม์มิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์เอาไว้ แต่นายวอกมีทายาทเพียงคนเดียวคือ นายสุด ปรากฏว่านายวอกประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย จากการขับรถโดยประมาทของนายต่อ บริษัท นิยมประกันภัย จํากัด ทําการจ่ายเงินตามสัญญาให้แก่ นายสุด 200,000 บาท แต่บริษัท ชํานาญประกันภัย จํากัด ปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาโดยอ้างว่า นายสุดได้รับเงินจากบริษัท นิยมประกันภัย จํากัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันลําดับแรกไปเต็มจํานวนแล้ว ส่วนนายต่อได้ปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่านายสุดได้ค่าเสียหายจากบริษัท นิยมประกันภัยจํากัด แล้ว ตนไม่จําต้องรับผิดต่อนายสุดอีก
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยตามกฎหมายประกันภัยว่า นายสุดทายาทเพียงคนเดียวของนายวอกจะสามารถ เรียกให้บริษัท ชํานาญประกันภัย จํากัด และนายต่อรับผิดต่อตนได้หรือไม่ อย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 889 “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จํานวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะ
ของบุคคลคนหนึ่ง”
มาตรา 896 “ถ้ามรณภัยเกิดขึ้นเพราะความผิดของบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยหาอาจจะ เรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ไม่ แต่สิทธิของฝ่ายทายาทแห่งผู้มรณะในอันจะได้ค่าสินไหม ทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นหาสูญสิ้นไปด้วยไม่ แม้ทั้งจํานวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตนั้นจะ
หวนกลับมาได้แก่ตนด้วย”
วินิจฉัย
สัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งมีเงื่อนไขการจ่ายเงินในกรณีบาดเจ็บรวมทั้งเสียชีวิตนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้เงินในกรณีที่ผู้เอาประกันอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ถือเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความมรณะ ของบุคคล เป็นการประกันชีวิตตามนัยของมาตรา 889 ดังนั้นการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลในส่วนที่มีการจ่ายเงิน จากกรณีผู้เอาประกันถึงแก่ความตายจากอุบัติเหตุที่นายวอกทําไว้กับบริษัท นิยมประกันภัย จํากัด และบริษัท ชํานาญประกันภัย จํากัด จึงเป็นสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา 889 ซึ่งผู้รับประโยชน์หรือทายาทของผู้เอาประกัน ชอบที่จะได้รับเงินเต็มจํานวนจากผู้รับประกันภัยทุกราย โดยจะไม่อยู่ในบังคับที่ต้องมีการจ่ายเงินตามลําดับ ผู้รับประกันก่อนหลังดังเช่นประกันวินาศภัยตามมาตรา 870
ตามอุทาหรณ์ การที่นายวอกทําสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลไว้กับบริษัท นิยมประกันภัย จํากัด ในวันที่ 1 กันยายน 2563 กรมธรรม์คุ้มครองกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 200,000 บาท กรณีเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุ 200,000 บาท และทําสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลอีกฉบับไว้กับบริษัท ชํานาญประกันภัย จํากัด ในวันที่ 2 กันยายน 2563 กรมธรรม์คุ้มครองกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 100,000 บาท กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 100,000 บาท โดยทั้งสองกรมธรรม์มิได้ระบุตัวผู้รับประโยชน์เอาไว้นั้น เมื่อนายวอกประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย
จากการขับรถโดยประมาทของนายต่อ นายสุดซึ่งเป็นทายาทเพียงคนเดียวของนายวอกจึงชอบที่จะได้รับเงินตามสัญญาประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลจากบริษัท นิยมประกันภัย จํากัด 200,000 บาท และจากบริษัท ชํานาญ ประกันภัย จํากัด 100,000 บาท การที่บริษัท ชํานาญประกันภัย จํากัด ปฏิเสธการจ่ายเงินตามสัญญาโดยอ้างว่า นายสุดได้รับเงินจากบริษัท นิยมประกันภัย จํากัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันลําดับแรกไปเต็มจํานวนแล้วนั้น ข้ออ้างของ บริษัท ชํานาญประกันภัย จํากัด จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายสุดสามารถเรียกให้บริษัท ชํานาญประกันภัย จํากัด รับผิดต่อตนอีก 100,000 บาทได้
และในกรณีที่ผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายเพราะความผิดของบุคคลภายนอก และผู้เอาประกันมิได้ระบุผู้รับประโยชน์เอาไว้ ทายาทของผู้เอาประกันชอบที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกนั้นได้ อีกทางหนึ่งนอกเหนือจากจํานวนเงินอันจะพึงใช้ตามสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา 896 ดังนั้นนายสุดจึงสามารถ เรียกให้นายต่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ นายต่อจะปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่านายสุดได้ค่าเสียหายจาก บริษัท นิยมประกันภัย จํากัดแล้ว ตนจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายสุดอีกหาได้ไม่
สรุป นายสุดทายาทเพียงคนเดียวของนายวอกสามารถเรียกให้บริษัท ชํานาญประกันภัย จํากัด
และนายต่อรับผิดต่อตนได้ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น