การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2564

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1102 (LAW1002) หลักกฎหมายเอกชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4 วรรคแรก แบ่งการตีความกฎหมายออกเป็น 2 ประการ มีอะไรบ้าง จงอธิบาย

ธงคําตอบ

“การตีความกฎหมาย” คือ การค้นหาความหมายของกฎหมายที่มีถ้อยคําไม่ชัดเจนหรือกํากวมหรือมีความหมายได้หลายอย่าง เพื่อจะได้ทราบว่าถ้อยคําของกฎหมายนั้นมีความหมายว่าอย่างไร เมื่อตีความกฎหมายได้แล้วก็จะได้นําเอากฎหมายนั้นไปปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ต้องการวินิจฉัยได้ต่อไป

“หลักในการตีความกฎหมายแพ่ง” มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายแพ่ง ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ที่ได้บัญญัติว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ” กล่าวคือ จะต้องค้นหาความหมายของบทบัญญัติของกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายไปพร้อม ๆ กัน จึงจะได้ความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของกฎหมายนั้น

จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการตีความกฎหมายแพ่ง จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

1 การตีความตามตัวอักษร เป็นการตีความเพื่อหยั่งทราบความหมายของกฎหมายจากตัวอักษรที่บัญญัติไว้

(1) กรณีกฎหมายบัญญัติไว้ด้วยภาษาธรรมดา ก็ต้องเข้าใจว่ามีความหมายตามธรรมดาของถ้อยคํานั้น ๆ ตามที่บุคคลทั่วไปเข้าใจ (ค้นหาจากพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน)

(2) กรณีกฎหมายบัญญัติไว้ด้วยภาษาเทคนิคหรือวิชาการ ก็ต้องเข้าใจตามความหมายเทคนิคหรือวิชาการนั้นๆ

(3) ผู้บัญญัติกฎหมายมีความประสงค์ที่จะให้ถ้อยคําบางคํามีความหมายพิเศษไปกว่าที่เข้าใจกันในภาษาธรรมดา หรือภาษาเทคนิคหรือวิชาการ จึงมีการกําหนดคําวิเคราะห์ศัพท์หรือบทนิยามไว้

2 การตีความตามเจตนารมณ์ เป็นการตีความเพื่อหยั่งทราบความหมายของถ้อยคําในบทบัญญัติ ของกฎหมายจากความมุ่งหมายของบทบัญญัติกฎหมายนั้น

เหตุที่ต้องตีความตามความมุ่งหมายของกฎหมาย เนื่องจากการตีความตามตัวอักษรแล้วผลของการตีความอาจยังไม่มีความชัดเจนพอ หรืออาจเข้าใจได้หลายนัย ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น สามารถดูได้จาก

(1) คําปรารภ (ของกฎหมายหรือร่างพระราชบัญญัติ)

(2) บันทึกหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ หรือบันทึกของรัฐสภา โดยเฉพาะวาระการพิจารณาเรียงตามมาตรา (วาระ 2 วาระ 3)

(3) หมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ ปกติการตีความกฎหมายจะพิจารณา (1) (2) ประกอบกัน เพื่อหยั่งทราบความมุ่งหมายอันแท้จริง หากมีความขัดแย้งกันให้ยึดเอาการตีความตามเจตนารมณ์เป็นใหญ่

 

ข้อ 2 นายฟ้าใสเป็นพนักงานขับรถไฟบรรทุกตู้สินค้า วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 นายสายรุ้งพี่ชายและ นายสายฟ้าน้องชายได้เดินทางด้วยรสบัสเพื่อไปทําบุญทอดกฐินที่วัดแจ่มใส ระหว่างทางก่อนถึงวัด เป็นทางผ่านสะพานข้ามแม่น้ำ มีสัญญาณเตือนแต่ไม่มีเครื่องกั้น จุดเกิดเหตุมีรถบัสกําลังขวางทางรถไฟ จนเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนรถบัส ผู้โดยสารบางรายกระเด็นตกลงไปในแม่น้ำ ในเหตุการณ์นี้ มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และผู้บาดเจ็บประมาณ 25 ราย สูญหาย 5 ราย นายสายรุ้งได้หายไปไม่มีใคร พบศพ ส่วนนายสายฟ้าได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัวที่ต่างจังหวัด ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2562 นายสายฟ้าได้ส่งอีเมลมาหานางพระจันทร์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายว่าตอนนี้รักษาตัวจนหายดีแล้วจะเดินทางกลับมาหานางพระจันทร์ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบข่าวหรือพบเจอนายสายฟ้าอีกเลย ให้วินิจฉัยว่า

(1) มารดาของนายสายรุ้งจะไปร้องขอให้นายสายรุ้งเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ และหากได้จะไปใช้สิทธิทางศาลได้เมื่อใด เพราะเหตุใด

(2) นางพระจันทร์จะไปร้องขอให้นายสายฟ้าเป็นคนสาบสูญได้หรือไม่ และหากได้จะไปใช้สิทธิ ทางศาลได้เมื่อใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 61 “ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลําเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิต อยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลาห้าปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้

ระยะเวลาตามวรรคหนึ่งให้ลดเหลือสองปี

(1) นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงคราม และหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว

(2) นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทําลาย หรือสูญหายไป

(3) นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) หรือ (2) ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้น ตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 61 กรณีที่บุคคลจะไปใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นคนสาบสูญนั้น ต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นได้หายไปโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และได้หายไปจนครบกําหนด 5 ปี หรือ 2 ปี แล้วแต่กรณี และผู้ที่มีสิทธิไปร้องขอต่อศาลได้นั้นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

(1) การที่รถไฟชนรสบัสตรงทางผ่านสะพานข้ามแม่น้ำ ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ทําให้ ผู้โดยสารบางรายกระเด็นตกลงไปในแม่น้ำ และเหตุการณ์ดังกล่าวทําให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บประมาณ 25 ราย และสูญหาย 5 รายนั้น เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวทําให้นายสายรุ้งซึ่งเป็นผู้โดยสารมากับรสบัสได้หายไป ไม่มีใครพบศพ ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นายสายรุ้งได้หายไปในกรณีพิเศษตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ตามมาตรา 61 วรรคสอง (2) ซึ่งเป็นกรณีที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางถูกทําลายไป ดังนั้น ระยะเวลาที่ผู้มีส่วนได้เสีย จะร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายสายรุ้งเป็นคนสาบสูญจึงต้องนับระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ซึ่งจะครบกําหนด 2 ปี ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ดังนั้น ถ้าผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาล สั่งให้นายสายรุ้งเป็นคนสาบสูญนั้น จึงสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นไป

สําหรับผู้มีส่วนได้เสียนั้น มารดาของนายสายรุ้งถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามนัยของมาตรา 61

ดังนั้น มารดาของนายสายรุ้งสามารถที่จะไปร้องขอให้นายสายรุ้งเป็นคนสาบสูญได้ โดยสามารถที่จะไปใช้สิทธิ ทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป

(2) การที่นายสายฟ้าได้รับบาดเจ็บต้องรักษาตัวที่ต่างจังหวัด และต่อมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2562 นายสายฟ้าได้ส่งอีเมลมาหานางพระจันทร์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายว่าตอนนี้รักษาตัวจนหายดีแล้ว และจะเดินทางกลับมาหานางพระจันทร์ แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครทราบข่าวหรือพบเจอนายสายฟ้าอีกเลยนั้น ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่นายสายฟ้าได้หายไปในกรณีธรรมดาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่นางพระจันทร์ ได้รับการติดต่อจากนายสายฟ้าเป็นครั้งสุดท้ายทางอีเมล ดังนั้น ถ้านางพระจันทร์ซึ่งเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ของนายสายฟ้าและถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามนัยของมาตรา 61 จะไปร้องขอให้ศาลสั่งให้นายสายฟ้าเป็นคนสาบสูญ ย่อมสามารถทําได้ แต่จะต้องรอให้นายสายฟ้าหายไปจนครบ 5 ปีก่อนตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะครบกําหนด 5 ปี ในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 โดยนางพระจันทร์จะสามารถไปใช้สิทธิทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

สรุป

(1) มารดาของนายสายรุ้งสามารถไปร้องขอให้นายสายรุ้งเป็นคนสาบสูญได้ โดยเริ่มไปใช้ สิทธิทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เป็นต้น

(2) นางพระจันทร์สามารถไปร้องขอให้นายสายฟ้าเป็นคนสาบสูญได้ โดยเริ่มไปใช้สิทธิ ทางศาลได้ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป

 

ข้อ 3 บุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้ทํานิติกรรมจะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร

(1) นายหยกอายุย่างเข้า 20 ปี ไปเยี่ยมคุณยาย คุณยายเอ็นดูยกเงินให้ 500,000 บาท โดยบิดา มารดาไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใด

(2) นายเพชรคนเสมือนไร้ความสามารถ ยืมเงินจากนายพลอยพนักงานขับรถของบิดา จํานวน 200 บาท โดยนายนิลผู้พิทักษ์ไม่ได้รู้เห็นด้วยแต่อย่างใด

(3) นายแก้วเป็นคนวิกลจริตไปซื้อไข่ไก่ 1 โหล จากร้านเจ๊แดง เป็นเงิน 190 บาท ในขณะกําลัง วิกลจริต แต่เจ๊แดงไม่รู้ว่านายแก้วเป็นคนวิกลจริต

(4) นายน้ำใสคนไร้ความสามารถได้รับอนุญาตจากผู้อนุบาลให้ไปซื้อตั๋วรถไฟ มูลค่า 300 บาท เพื่อเดินทางไปเยี่ยมญาติ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทําลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆยะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”

มาตรา 22 “ผู้เยาว์อาจทําการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง”

มาตรา 29 “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

มาตรา 30 “การใด ๆ อันบุคคลวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทําลง การนั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อได้กระทําในขณะที่บุคคลนั้นจริต กลอยู่ และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้แล้วด้วยว่าผู้กระทําเป็นคนวิกลจริต”

มาตรา 34 “คนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อน แล้วจึงจะทําการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้

(3) กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า การใดกระทําลงโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรานี้ การนั้นเป็นโมฆียะ”

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา วินิจฉัยได้ดังนี้คือ

(1) โดยหลัก ผู้เยาว์จะทํานิติกรรมใด ๆ จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นนิติกรรมที่ผู้เยาว์ทําขึ้นจะตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่กฎหมายกําหนดให้ ผู้เยาว์สามารถทําเองได้โดยลําพังตนเองและมีผลสมบูรณ์ เช่น นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทําเองเฉพาะตัว นิติกรรม ที่จําเป็นในการดํารงชีพของผู้เยาว์ หรือนิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งหรือหลุดพ้นจากหน้าที่ อันใดอันหนึ่ง เป็นต้น

กรณีตามปัญหา การที่นายหยกอายุย่างเข้า 20 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ไปเยี่ยมคุณยาย คุณยาย เอ็นดูยกเงินให้ 500,000 บาท โดยบิดามารดาไม่ได้รู้เห็นแต่อย่างใดนั้น ถือเป็นนิติกรรมการให้โดยไม่มีเงื่อนไข หรือค่าภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น การที่นายหยกได้รับเงินนั้นไว้เป็นกรณีที่นายหยกผู้เยาว์ได้ทํานิติกรรม ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ทําให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งตามมาตรา 22 จึงเข้าข้อยกเว้นที่ผู้เยาว์สามารถทําได้ ด้วยตนเอง และมีผลสมบูรณ์โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม

(2) โดยทั่วไป คนเสมือนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆ ได้โดยลําพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมที่สําคัญบางอย่างที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 เช่น การกู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน คนเสมือนไร้ความสามารถ จะทําต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

กรณีตามปัญหา การที่นายเพชรคนเสมือนไร้ความสามารถได้ยืมเงินจากนายพลอย จํานวน 200 บาท โดยนายนิลผู้พิทักษ์ไม่ได้รู้เห็นด้วยแต่อย่างใดนั้น ถือเป็นกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถกู้ยืมเงิน โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ ดังนั้น นิติกรรมการกู้ยืมเงินดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 34 (3) ประกอบวรรคท้าย

(3) โดยหลักของมาตรา 30 คนวิกลจริตซึ่งศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทํานิติกรรม ใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะตกเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อได้ทํานิติกรรมนั้นในขณะจริตวิกล และคู่กรณี อีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้ทํานิติกรรมเป็นคนวิกลจริต

กรณีตามปัญหา การที่นายแก้วคนวิกลจริตได้ไปซื้อไข่ไก่ 1 โหล จากร้านเจ๊แดง ในขณะที่ กําลังวิกลจริตนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ๊แดงไม่ทราบว่านายแก้วเป็นคนวิกลจริต ดังนั้น นิติกรรมการซื้อขายไข่ไก่ระหว่างนายแก้วกับเจ๊แดงดังกล่าว จึงมีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด

(4) โดยหลักของมาตรา 29 กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถทํานิติกรรมใด ๆทั้งสิ้น (ต้องให้ผู้อนุบาลทําแทน) ถ้าคนไร้ความสามารถฝ่าฝืนไปทํานิติกรรม ไม่ว่าจะได้รับความยินยอมจาก ผู้อนุบาลหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นจะตกเป็นโมฆียะ

กรณีตามปัญหา การที่นายน้ำใสคนไร้ความสามารถได้ทํานิติกรรมโดยการไปซื้อตั๋วรถไฟมูลค่า 300 บาท ถึงแม้การทํานิติกรรมดังกล่าวของนายน้ำใสจะได้รับอนุญาต คือได้รับความยินยอมจากผู้อนุบาล ก็ตาม นิติกรรมดังกล่าวก็ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 29

สรุป

(1) การที่นายหยกผู้เยาว์รับเงินจากการให้ของคุณยาย 500,000 บาท มีผลสมบูรณ์

(2) การยืมเงินของนายเพชรคนเสมือนไร้ความสามารถเป็นโมฆียะ

(3) การซื้อไข่ไก่ของนายแก้วคนวิกลจริตมีผลสมบูรณ์

(4) การซื้อตั๋วรถไฟของนายน้ำใสคนไร้ความสามารถเป็นโมฆียะ

Advertisement