การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3012 กฎหมายปกครอง
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายแดงยื่นคําขอตั้งสถานบริการ เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายมีคําสั่งอนุญาตให้นายแดงตั้งสถานบริการ โดยสําคัญผิดว่าที่ตั้งสถานบริการดังกล่าวอยู่ห่างไกลจากสถานศึกษา แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว 14199 ตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยซึ่งผิดกฎหมาย ขอให้ท่านวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่จะออกคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งสถานบริการโดยไม่ต้องแจ้งให้นายแดงได้มีโอกาสทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
มาตรา 5 “คําสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ
มาตรา 53 วรรคสอง “คําสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับ คําสั่งทางปกครอง อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วน โดยให้มีผลตั้งแต่ขณะที่เพิกถอนหรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กําหนดได้เฉพาะเมื่อมีกรณีดังต่อไปนี้
(5) อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชนอันจําเป็นต้องป้องกันหรือขจัดเหตุดังกล่าว”
มาตรา 30 “ในกรณีที่คําสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณี มีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนเป็นอย่างอื่น
ความในวรรคหนึ่งมิให้นํามาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่เจ้าหน้าที่จะเห็นสมควรปฏิบัติ
(1) เมื่อมีความจําเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ”
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 30 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะออกคําสั่งทางปกครองใด และคําสั่ง ทางปกครองนั้นอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณี เจ้าหน้าที่ผู้ออกคําสั่งทางปกครองนั้นจะต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และต้องให้คู่กรณีได้มีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน เว้นแต่ จะเข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 30 วรรคสอง และวรรคสาม
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายแดงยื่นคําขอตั้งสถานบริการ และเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายมีคําสั่งอนุญาต ให้นายแดงตั้งสถานบริการนั้น คําสั่งดังกล่าวถือเป็นคําสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์ แก่นายแดงผู้รับคําสั่งทางปกครองตามนัยของมาตรา 5 และมาตรา 53 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
และเมื่อต่อมาเจ้าหน้าที่ทราบว่าได้ออกคําสั่งให้นายแดงตั้งสถานบริการโดยสําคัญผิดว่าที่ตั้งสถานบริการดังกล่าวอยู่ห่างไกลจากสถานศึกษา แต่ตามข้อเท็จจริงแล้วตั้งอยู่ติดกับมหาวิทยาลัยซึ่งผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่จะออกคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งสถานบริการนั้น เมื่อคําสั่งถอนใบอนุญาตตั้งสถานบริการ ถือเป็นคําสั่งทางปกครอง เพราะเป็นการใช้อํานาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของ สิทธิหรือหน้าที่ของนายแดง โดยหลักแล้วเจ้าหน้าที่จะต้องให้นายแดงได้มีโอกาสทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และให้นายแดงมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 5
แต่อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าหน้าที่จะออกคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งสถานบริการของนายแดงดังกล่าวนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่มีความจําเป็นรีบด่วนที่จะต้องเพิกถอนคําสั่งนั้น เพราะหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชนอันจําเป็นต้องป้องกันหรือขจัดเหตุดังกล่าว กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นที่เจ้าหน้าที่สามารถออกคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งสถานบริการโดยไม่ต้องแจ้งให้นายแดงได้มีโอกาสทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ของตนได้ตาม พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 53 วรรคสอง (5) ประกอบมาตรา 30 วรรคสอง (1)
สรุป เจ้าหน้าที่จะออกคําสั่งเพิกถอนใบอนุญาตตั้งสถานบริการโดยไม่ต้องแจ้งให้นายแดงได้มีโอกาสทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนได้
ข้อ 2 นายเขียวเป็นข้าราชการพลเรือนถูกผู้บังคับบัญชามีคําสั่งย้ายไปปฏิบัติราชการในจังหวัดนราธิวาสนายเขียวเห็นว่าตนถูกกลั่นแกล้ง จึงมาปรึกษาท่านในฐานะเป็นนักกฎหมายที่มีความรู้ในเรื่องนี้เป็นอย่างดีว่าจะอุทธรณ์คําสั่งของผู้บังคับบัญชาดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร ขอให้ท่านตอบและอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
มาตรา 114 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตาม พ.ร.บ. นี้ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตาม มาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือ ถือว่าทราบคําสั่ง”
มาตรา 122 “ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ ต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ได้ ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตาม หลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดไว้ในหมวดนี้
มาตรา 123 วรรคหนึ่ง “การร้องทุกข์ที่เหตุเกิดจากผู้บังคับบัญชา ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชา ชั้นเหนือขึ้นไปตามลําดับ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเขียวซึ่งเป็นข้าราชการพลเรือนถูกผู้บังคับบัญชามีคําสั่งย้ายไปปฏิบัติ ราชการในจังหวัดนราธิวาสนั้น ถือว่าคําสั่งดังกล่าวของผู้บังคับบัญชาไม่ใช่คําสั่งลงโทษทางวินัย หรือเป็นคําสั่ง ให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) ตามพระราชบัญญัตินี้แต่อย่างใด ดังนั้นนายเขียว จะอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ (ตามมาตรา 114 วรรคหนึ่ง)
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนายเขียวมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา โดยเห็นว่าคําสั่งดังกล่าวนั้นเป็นการกลั่นแกล้งตน ดังนี้นายเขียวย่อมสามารถใช้สิทธิร้องทุกข์ได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายได้กําหนดไว้ (ตามมาตรา 122) และเมื่อเหตุของการที่นายเขียวจะร้องทุกข์นั้น เกิดจากผู้บังคับบัญชา ดังนั้นนายเขียวจึงต้องร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลําดับ (ตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง)
สรุป นายเขียวจะต้องไปร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลําดับจะอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวไม่ได้
ข้อ 3 นายขาวเป็นแพทย์โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งทําการผ่าตัดต้อกระจกให้คนไข้ แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อของนายขาวทําให้คนไข้ตาบอด ขอให้ท่านวินิจฉัยว่าคนไข้จะฟ้องโรงพยาบาลและนายขาว ให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายได้ที่ศาลใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)
“ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(3) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อํานาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คําสั่งทางปกครองหรือคําสั่งอื่น หรือ จากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร”
วินิจฉัย
ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) กรณีที่จะถือว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ การกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเรียกว่า “ละเมิดทางปกครอง” และจะเป็น คดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ดังนี้ คือ
1 เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ ของรัฐ และ
2 เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 กรณี ดังต่อไปนี้
คือ
(1) การใช้อํานาจตามกฎหมาย
(2) การออกกฎ คําสั่งทางปกครอง หรือคําสั่งอื่น
(3) การละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ
(4) การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวซึ่งเป็นแพทย์โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งทําการผ่าตัดต้อกระจกให้คนไข้ แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อของนายขาวทําให้คนไข้ตาบอดนั้น การกระทําของนายขาวไม่ถือว่าเป็น การละเมิดเนื่องจากการใช้อํานาจตามกฎหมายหรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนด และไม่ใช่เป็น การละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีอื่น ๆ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่เป็นการละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ทั่ว ๆ ไปของแพทย์ (นายขาว) ซึ่งไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณี จึงไม่ใช่เป็นการกระทําละเมิดทางปกครอง ข้อพิพาทดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอํานาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณา ดังนั้น หากคนไข้จะฟ้อง โรงพยาบาลและนายขาวให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในกรณีดังกล่าว จึงต้องฟ้องเป็นคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรม
สรุป คนไข้จะต้องฟ้องโรงพยาบาลและนายขาวให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อศาลยุติธรรม
ข้อ 4 เพื่อเตรียมการสําหรับการรับปริญญาของมหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์จึงได้ทําสัญญา กับนายเขียว เพื่อให้มาจัดสวนหย่อมหน้าคณะนิติศาสตร์เพื่อความสวยงาม ต่อมานายเขียวผิดสัญญาไม่ทําการจัดสวนหย่อมให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา คณะนิติศาสตร์จะฟ้องนายเขียวให้รับผิด ตามสัญญาได้ที่ศาลใด เพราะเหตุใด ขอให้อธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอํานาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคําสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้
(4) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง”
และตามมาตรา 3 ได้บัญญัติให้คํานิยามของ “สัญญาทางปกครอง” ไว้ว่า
“สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงาน ทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทําการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทําบริการ สาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่คณะนิติศาสตร์ซึ่งเป็นส่วนราชการของมหาวิทยาลัยได้ทําสัญญากับนายเขียวเพื่อให้มาจัดสวนหย่อมหน้าคณะนิติศาสตร์เพื่อความสวยงามนั้น แม้เป็นสัญญาที่ทําขึ้นระหว่าง หน่วยงานทางปกครองฝ่ายหนึ่งกับนายเขียวซึ่งเป็นเอกชนอีกฝ่ายหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อวัตถุประสงค์ของสัญญานั้น ไม่ใช่สัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาที่ให้จัดทําบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาทางปกครองตามนัยของ มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้นต่อมาเมื่อนายเขียว ผิดสัญญาไม่ทําการจัดสวนหย่อมให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา ข้อพิพาทเกี่ยวกับการผิดสัญญาดังกล่าว
จึงมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองจึงไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) คณะนิติศาสตร์จึงต้องฟ้องให้นายเขียวรับผิดตามสัญญาที่ศาลยุติธรรม จะนําคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองไม่ได้
สรุป คณะนิติศาสตร์จะฟ้องนายเขียวให้รับผิดตามสัญญาได้ที่ศาลยุติธรรม