การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3103 (LAW3003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายสมบัติ อายุ 22 ปี รักใคร่ชอบพอกับนางสาวอุไร อายุ 16 ปี 10 เดือน จึงได้ทําสัญญาหมั้น โดยบิดามารดาของนางสาวอุไรให้ความยินยอม นายสมบัติได้ส่งมอบแหวนเพชร 1 วง และเงิน 200,000 บาท ให้แก่นางสาวอุไร และได้ส่งมอบเงิน 300,000 บาท ให้แก่บิดามารดาของนางสาวอุไร นายสมบัติได้ทําพิธีสมรสโดยทราบดีว่านางสาวอุไรยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ แต่บิดามารดา ของนางสาวอุไรให้ความยินยอม เมื่อได้อยู่กินกันมากว่า 5 เดือน นางสาวอุไรตั้งครรภ์ นายสมบัติ จึงขอให้นางสาวอุไรไปทําการจดทะเบียนสมรส แต่นางสาวอุไรไม่ยินยอมจดทะเบียนสมรสด้วย แต่ยินยอมอยู่กินกับนายสมบัติ นายสมบัติอ้างว่าได้ทําการหมั้นหมายแล้ว จัดพิธีสมรสแล้ว และบิดามารดาของนางสาวอุไรก็ได้ให้ความยินยอมแล้ว ถ้าไม่ทําการจดทะเบียนสมรสด้วยก็จะฟ้องเรียกของหมั้นและสินสอดคืนจากนางสาวอุไรและบิดามารดาของนางสาวอุไร เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1435 “การหมั้นจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว

การหมั้นที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติวรรคหนึ่งเป็นโมฆะ”

มาตรา 1436 “ผู้เยาว์จะทําการหมั้นได้ต้องได้รับความยินยอมของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) บิดาและมารดา ในกรณีที่มีทั้งบิดามารดา การหมั้นที่ผู้เยาว์ทําโดยปราศจากความยินยอมดังกล่าวเป็นโมฆียะ”

มาตรา 1437 วรรคหนึ่งและวรรคสาม “การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอน ทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น

สินสอดเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสําคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทําให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้”

มาตรา 1439 “เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิด ใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมบัติอายุ 22 ปี รักใคร่ชอบพอกับนางสาวอุไร อายุ 16 ปี 10 เดือน จึงได้ทําสัญญาหมั้นโดยบิดามารดาของนางสาวอุไรให้ความยินยอม และนายสมบัติได้ส่งมอบแหวนเพชร 1 วง และเงิน 200,000 บาท ให้แก่นางสาวอุไร และได้ส่งมอบเงิน 300,000 บาท ให้แก่บิดามารดาของนางสาวอุไรนั้น แม้ว่าการหมั้นดังกล่าวนางสาวอุไรซึ่งเป็นผู้เยาว์จะได้รับความยินยอมจากบิดามารดาตามมาตรา 1436 แล้วก็ตาม แต่เมื่อนางสาวอุไรมีอายุยังไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ จึงเป็นการหมั้นที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1435 ดังนั้น การหมั้นระหว่างนายสมบัติกับนางสาวอุไรจึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1435 วรรคสอง

เมื่อการหมั้นระหว่างนายสมบัติกับนางสาวอุไรตกเป็นโมฆะ ดังนั้นแหวนเพชรและเงิน 200,000 บาท ที่นายสมบัติให้แก่นางสาวอุไรจึงไม่ใช่ของหมั้นตามนัยของมาตรา 1437 วรรคแรก และเงิน 300,000 บาท ที่นายสมบัติให้แก่บิดามารดาของนางสาวอุไรก็ไม่ใช่สินสอดตามนัยของมาตรา 1437 วรรคสาม แม้ว่าบิดามารดาของนางสาวอุไรจะได้ยินยอมให้นายสมบัติจัดพิธีสมรสและอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวอุไรก็ตาม การที่นายสมบัติขอให้นางสาวอุไรไปทําการจดทะเบียนสมรส แต่นางสาวอุไรไม่ยินยอมจดทะเบียนสมรสด้วยนั้น ก็ไม่ถือว่านางสาวอุไรเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ถือว่ามีการหมั้น ระหว่างนายสมบัติและนางสาวอุไรตามนัยของมาตรา 1439 (เพราะการหมั้นเป็นโมฆะ) ดังนั้น นายสมบัติจะถือเอาเหตุที่นางสาวอุไรไม่ยินยอมจดทะเบียนสมรสเพื่อเรียกเอาของหมั้นคืนจากนางสาวอุไรตามมาตรา 1439 และเรียกเอาสินสอดคืนจากบิดามารดาของนางสาวอุไรตามมาตรา 1437 วรรคสามไม่ได้

สรุป นายสมบัติจะเรียกของหมั้นและสินสอดคืนจากนางสาวอุไรและบิดามารดาของนางสาวอุไรไม่ได้

 

ข้อ 2 นายสมคิดได้ทําการจดทะเบียนสมรสกับนางสาวสุขใจในวันที่ 1 เมษายน ต่อมานายสมคิด ทราบความจริงว่านางสาวสุขใจได้มีสามีมาก่อนและได้จดทะเบียนหย่ากันแล้วในวันที่ 1 มีนาคม นายสมคิดไม่พอใจที่นางสาวสุขใจหลอกลวงปกปิดความจริงจึงทําหนังสือหย่ากับนางสาวสุขใจ โดยลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและมีพยานสองคนลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อยในวันที่ 20 เมษายน หนึ่งเดือนต่อมาในวันที่ 20 พฤษภาคม นายสมคิดได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวพิทยา แต่มาทราบภายหลังว่านางอรสามารดาของนางสาวพิทยานั้นเป็นน้องสาวของนายพิจิตรบิดาของนายสมคิด จึงทําให้การสมรสระหว่างนายสมคิดกับนางสาวพิทยาเป็นโมฆะตามมาตรา 1450 เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1450 “ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วม บิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทําการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายโลหิตโดยไม่คํานึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”

มาตรา 1452 “ชายหรือหญิงจะทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ไม่ได้”

มาตรา 1453 “หญิงที่สามีตายหรือที่การสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะทําการสมรสใหม่ได้ ต่อเมื่อการสิ้นสุดแห่งการสมรสได้ผ่านพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามร้อยสิบวัน เว้นแต่…”

มาตรา 1495 “การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ”

มาตรา 1514 “การหย่านั้นจะทําได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคําพิพากษาของศาล

การหย่าโดยความยินยอมต้องทําเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน”

มาตรา 1515 “เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมคิดได้ทําการจดทะเบียนสมรสกับนางสาวสุขใจในวันที่ 1 เมษายน และต่อมาได้ทราบความจริงว่านางสาวสุขใจได้มีสามีมาก่อนและได้จดทะเบียนหย่ากันแล้วในวันที่ 1 มีนาคมนั้น การสมรสระหว่างนายสมคิดกับนางสาวสุขใจย่อมถือว่าเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1453 กล่าวคือ นางสาวสุขใจได้ทําการสมรสใหม่ภายใน 310 วันนับแต่การสมรสเดิมได้สิ้นสุดลง แต่อย่างไรก็ตาม การฝ่าฝืน เงื่อนไขแห่งการสมรสตามมาตรา 1453 นั้น ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการสมรสจะตกเป็นโมฆะหรือโมฆียะแต่ อย่างใด ดังนั้น การสมรสระหว่างนายสมคิดกับนางสาวสุขใจจึงยังมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

การที่นายสมคิดไม่พอใจนางสาวสุขใจที่หลอกลวงปกปิดความจริง จึงได้ทําหนังสือหย่ากับ นางสาวสุขใจโดยลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและมีพยานสองคนลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานเรียบร้อยในวันที่ 20 เมษายนนั้น แม้จะได้ทําถูกต้องตามมาตรา 1514 แล้วก็ตาม แต่เมื่อนายสมคิดและนางสาวสุขใจยังไม่ได้ จดทะเบียนการหย่าตามมาตรา 1515 ดังนั้น การหย่าระหว่างนายสมคิดกับนางสาวสุขใจจึงไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด จึงถือว่านายสมคิดและนางสาวสุขใจยังคงเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่เช่นเดิม

ส่วนการที่นายสมคิดได้จดทะเบียนสมรสกับนางสาวพิทยาในวันที่ 20 พฤษภาคม แต่มาทราบ ในภายหลังว่านางอรสามารดาของนางสาวพิทยาเป็นน้องสาวของนายพิจิตรบิดาของนายสมคิดนั้น ก็ไม่ถือว่า เป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 1450 อันจะทําให้การสมรสนั้นตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 แต่อย่างใด เพราะมิได้เป็นการสมรสระหว่างพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา แต่อย่างไรก็ตาม

การที่นายสมคิดได้ทําการสมรสกับนางสาวพิทยานั้น ถือว่านายสมคิดได้ทําการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่ (นางสาวสุขใจ) ดังนั้น การสมรสระหว่างนายสมคิดกับนางสาวพิทยาจึงเป็นการสมรสที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 1452 จึงตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495

สรุป การสมรสระหว่างนายสมคิดกับนางสาวพิทยามิได้ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1450 แต่ ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1452 ประกอบมาตรา 1495

 

ข้อ 3 นายสาครเป็นสามีภริยากับนางแตงไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2561 นายสาครได้แอบไปอยู่กินฉันสามี ภริยากับนางสาวพิสมัยจนมีบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อนางแตงไทยทราบก็ต้องการฟ้องหย่านายสาคร แต่บิดามารดาของนางแตงไทยได้ทําการไกล่เกลี่ยไม่ให้มีการฟ้องร้องกันโดยให้คํานึงถึงบุตรซึ่งนางแตงไทยก็ตกลงยินยอม โดยได้ทําการตกลงกันว่านายสาครห้ามเกี่ยวข้องกับนางสาวพิสมัย และหญิงอื่นอีก ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 นายสาครได้กลับไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนางแตงไทยอีก นางแตงไทยต้องการฟ้องหย่านายสาคร แต่นายสาครได้กล่าวอ้างว่านางแตงไทยได้ให้อภัยแล้วโดยบิดามารดาของนางแตงไทยได้เป็นผู้ทําการไกล่เกลี่ยซึ่งนางแตงไทยก็ตกลงยินยอม เช่นนี้ นางแตงไทยจะสามารถทําการฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1516 “เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้

(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วม ประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้”

มาตรา 1518 “สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทําการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทําของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสาครเป็นสามีภริยากับนางแตงไทย และต่อมาในปี พ.ศ. 2561 นายสาครได้แอบไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาวพิสมัยจนมีบุตรด้วยกัน 1 คนนั้น ถือได้ว่าเป็นเหตุฟ้องหย่า ตามมาตรา 1516 (1) แล้ว เพราะเป็นกรณีที่สามีอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยา แต่อย่างไรก็ดีเมื่อนางแตงไทย ทราบและต้องการฟ้องหย่านั้น บิดามารดาของนางแตงไทยได้ทําการไกล่เกลี่ยไม่ให้มีการฟ้องร้องกัน โดยให้ คํานึงถึงบุตรซึ่งนางแตงไทยก็ตกลงยินยอมนั้น กรณีเช่นนี้ ถือว่านางแตงไทยได้กระทําการอันแสดงให้เห็นว่า ได้ให้อภัยในการกระทําของนายสาครแล้ว ดังนั้น ย่อมมีผลทําให้สิทธิฟ้องหย่าของนางแตงไทยหมดไปตามมาตรา 1518

และต่อมาในปี พ.ศ. 2563 การที่นายสาครได้กลับไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนางแตงไทยอีก และ นางแตงไทยต้องการฟ้องหย่านายสาครนั้น นางแตงไทยไม่สามารถจะฟ้องหย่าและเรียกค่าทดแทนจากนายสาครได้ เนื่องจากสิทธิฟ้องหย่าด้วยเหตุดังกล่าวนั้นได้หมดไปแล้ว

สรุป นางแตงไทยจะทําการฟ้องหย่านายสาครและเรียกค่าทดแทนไม่ได้

 

ข้อ 4 นายเจริญกับนางแพรวาเป็นสามีภริยากัน ต่อมานายอนุชิตบิดานางแพรวาได้ยกที่ดิน 1 แปลงให้ นางแพรวาโดยทําถูกต้องตามกฎหมาย นางแพรวาได้ทําสัญญาให้นายศักดาเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ มีกําหนดเวลา 30 ปี โดยทําถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับค่าเช่าเป็นจํานวนเงิน 8 ล้านบาท ต่อมา นางแพรวาได้ทําสัญญาให้นายสมบูรณ์กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นจํานวนเงิน 4 ล้านบาท เมื่อนายเจริญ ทราบก็ไม่พอใจที่ไม่ทําการปรึกษาสามีก่อนและทําสัญญาไปโดยลําพัง จึงต้องการฟ้องเพิกถอนการให้เช่าที่ดินและการให้กู้ยืมเงิน

เช่นนี้ ท่านเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใด จงอธิบาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1471 “สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส”

มาตรา 1473 “สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ”

มาตรา 1474 “สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส”

มาตรา 1476 “สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้

(4) ให้กู้ยืมเงิน

มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง “การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอม จากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทํานิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรส อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทํานิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทําโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเจริญกับนางแพรวาเป็นสามีภริยากัน ต่อมานายอนุชิตบิดานางแพรวา ได้ยกที่ดิน 1 แปลงให้นางแพรวาโดยทําถูกต้องตามกฎหมายนั้น แม้ที่ดินดังกล่าวจะเป็นทรัพย์สินที่นางแพรวา ได้มาในระหว่างสมรส แต่เมื่อเป็นทรัพย์สินที่นางแพรวาได้มาโดยการให้โดยเสน่หา ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสินส่วนตัวของนางแพรวาตามมาตรา 1471 (3) ดังนั้น การที่นางแพรวาได้ทําสัญญาให้นายศักดาเช่าที่ดิน แปลงดังกล่าวนี้มีกําหนดเวลา 30 ปี โดยทําถูกต้องตามกฎหมายนั้น นางแพรวาสามารถทําสัญญาให้เช่าที่ดินได้ โดยลําพัง เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นสินส่วนตัว นางแพรวาจึงสามารถทําได้ตามมาตรา 1473 นายเจริญจะฟ้องเพิกถอนการให้เช่าที่ดินตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่งไม่ได้

ส่วนค่าเช่าที่ดินที่นางแพรวาได้รับเป็นจํานวนเงิน 8 ล้านบาทนั้น ถือเป็นดอกผลของสินส่วนตัว จึงถือว่าเป็นสินสมรสตามมาตรา 1474 (3) ดังนั้น การที่นางแพรวาได้นําเงินดังกล่าวเป็นจํานวน 4 ล้านบาท ให้นายสมบูรณ์กู้ยืมโดยลําพังนั้น นางแพรวาไม่สามารถจะทําได้ เนื่องจากการให้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นสินสมรสนั้น สามีและภริยาจะต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งก่อนตามมาตรา 1476 (4) ดังนั้น นายเจริญจึงสามารถฟ้องเพิกถอนการทําสัญญาให้นายสมบูรณ์กู้ยืมเงินได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง

สรุป นายเจริญจะฟ้องเพิกถอนการให้เช่าที่ดินไม่ได้ แต่สามารถฟ้องเพิกถอนการให้กู้ยืมเงินได้

Advertisement