การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2107 (LAW 2007) กฎหมายอาญา 2

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายสุดหล่อลอบเสพยาบ้าในเวลากลางคืน มีไฟฟ้าให้แสงสว่าง ตํารวจสายตรวจไปพบเข้าจึงล้อมจับ นายสุดหล่อได้สับคัทเอ้าท์ลงทําให้ไฟฟ้าทั้งหลังดับ แล้วจึงอาศัยความมืดหลบหนีไป ดังนี้ นายสุดหล่อมีความผิดต่อเจ้าพนักงานประการใดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 138 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตาม กฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานตามมาตรา 138 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิด ดังนี้ คือ

1 ต่อสู้หรือขัดขวาง

2 เจ้าพนักงาน หรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่

3 โดยเจตนา

“ต่อสู้” หมายถึง การใช้กําลังขัดขืน เพื่อไม่ให้การกระทําของเจ้าพนักงานสําเร็จผล เช่น สะบัดมือ ให้พ้นจากการจับกุม หรือดิ้นจนหลุด

“ขัดขวาง” หมายถึง การกระทําด้วยประการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าพนักงานหรือทําให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความยากลําบาก เพื่อไม่ให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นประสบความสําเร็จ เช่น ตํารวจจะวิ่งเข้าไปจับนาย ก. นาย ก. จึงเอาท่อนไม้ไปขวางไว้ เป็นต้น

โดยการกระทําที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ อาจจะเป็นการต่อสู้อย่างเดียว หรือขัดขวางอย่างเดียวหรืออาจเป็นทั้งการต่อสู้และขัดขวางก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ตํารวจสายตรวจไปพบนายสุดหล่อกําลังลอบเสพยาบ้าในเวลากลางคืน จึงล้อมจับ และนายสุดหล่อได้ดับไฟแล้วหนีไปนั้น การกระทําดังกล่าวของนายสุดหล่อมิได้เป็นการต่อสู้หรือ ขัดขวางตํารวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 138 แต่ประการใด เพราะนายสุดหล่อเพียงแต่ดับไฟเพื่อหนีตํารวจไปเท่านั้น ดังนั้น นายสุดหล่อจึงไม่มีความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

สรุป นายสุดหล่อไม่มีความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

 

ข้อ 2 อย่างไรเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยสุจริต จงอธิบายหลัก กฎหมายอย่างละเอียด และยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ….”

อธิบาย

มาตรานี้ กฎหมายบัญญัติการกระทําอันเป็นความผิดอยู่ 2 ความผิดด้วยกัน กล่าวคือ ความผิดแรก เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ส่วนความผิดที่สองเป็นเรื่องเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

(ก) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

1 เป็นเจ้าพนักงาน

2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

3 เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

4 โดยเจตนา

“เป็นเจ้าพนักงาน” หมายถึง เป็นข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย โดยได้รับเงินเดือน จากงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินเดือน หรือบุคคลที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน

“ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การกระทําอย่างใดอย่างหนึ่งตามหน้าที่ แต่เป็นการอันมิชอบ เช่น เจ้าพนักงานตํารวจทําการสอบสวนผู้ต้องหา ผู้ต้องหาไม่ยอมรับสารภาพ ตํารวจจึงใช้กําลังชกต่อยให้รับสารภาพ เป็นต้น

“ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หมายถึง การงดเว้นกระทําการตามหน้าที่ อันเป็นการมิชอบ

เช่น เจ้าพนักงานตํารวจละเว้นไม่จับคนร้ายที่ลักทรัพย์ผู้เสียหายไป เป็นต้น

ดังนั้นถ้าการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัตินั้น ไม่อยู่ในหน้าที่หรือเป็นการนอกหน้าที่ หรือเป็นการชอบ ด้วยหน้าที่ ก็ไม่ผิดตามมาตรา 157 นี้

ความผิดตามมาตรานี้จะต้องประกอบด้วยเจตนาพิเศษ คือ ต้องเป็นการกระทํา “เพื่อให้เกิด ความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” ซึ่งไม่จํากัดเฉพาะความเสียหายในทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมถึงความเสียหาย ในทางอื่นด้วย เช่น ต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เป็นต้น และอาจเป็นความเสียหายต่อบุคคลใดก็ได้ ทั้งนี้ไม่จําเป็นว่า ต้องเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจริง ๆ จึงจะเป็นความผิด เพียงแต่การกระทํานั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายก็เพียงพอ ที่จะถือเป็นความผิดแล้ว

“โดยเจตนา” หมายความว่า ผู้กระทําต้องรู้ถึงหน้าที่ของตนที่ชอบ และผู้กระทําต้องปฏิบัติหรือ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่นั้นโดยมิชอบ

(ข) องค์ประกอบความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

1 เป็นเจ้าพนักงาน

2 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

3 โดยทุจริต

4 โดยเจตนา

“โดยทุจริต” หมายถึง เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย สําหรับตนเอง หรือผู้อื่น ทั้งนี้ไม่ว่าประโยชน์นั้นจะเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้นถ้าผู้กระทําขาดเจตนาทุจริตแล้วย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้

ความผิดที่สองนี้เพียงการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตก็เป็นความผิดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกระทําโดยชอบหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม ต่างกับความผิดแรกที่ต้องกระทําโดยมิชอบและโดยไม่ต้องคํานึงถึงว่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดจึงจะเป็นความผิด “ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” เช่น เจ้าพนักงานพูดจูงใจให้ผู้เสียภาษีมอบเงินค่าภาษีให้เกินจํานวนที่ต้องเสีย แล้วเอาเงินส่วนที่เกินไว้เสียเอง เป็นต้น

“ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” เช่น พนักงานที่ดินรับเงินค่าธรรมเนียมและค่าพาหนะ ในการรังวัดแล้ว มิได้นําเงินลงบัญชี ทั้งมิได้ดําเนินการให้ ดังนี้เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

 

ข้อ 3 ชาย 11 คน ชุมนุมกันที่หน้าโรงงานแป้งมัน กล่าวโจมตีและด่าทอเจ้าของโรงงานที่ปล่อยน้ำเน่าลงคลอง จากนั้นได้เผาโรงงาน และขู่ว่าถ้าเจ้าของโรงงานไม่ยอมย้ายโรงงานไปจะฆ่าให้ตาย ต่อมาความทราบถึงตํารวจ ตํารวจได้ไปยังสถานที่เกิดเหตุและสั่งให้สลายตัว ปรากฏว่าชาย 11 คน ไม่ยอมสลายตัว ดังนี้ ชาย 11 คน มีความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชนประการใดบ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 215 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้ กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 216 “เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

ความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ

1 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป

2 ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

3 โดยเจตนา

ส่วนความผิดตามมาตรา 216 มีองค์ประกอบความผิดดังนี้ คือ

1 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทําความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป

2 ผู้ใดไม่เลิก

3 โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ชาย 11 คน ได้ชุมนุมกันที่หน้าโรงงานแป้งมันและได้เผาโรงงาน อีกทั้ง ได้ขู่ว่าถ้าเจ้าของโรงงานไม่ยอมย้ายโรงงานไปจะฆ่าให้ตายนั้น การกระทําของชายทั้ง 11 คน ดังกล่าว ถือว่าเป็น การมั่วสุมกันของคนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายหรือกระทําการอย่างหนึ่ง อย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และได้กระทําไปโดยเจตนา ดังนั้น การกระทําของชายทั้ง 11 คนนั้น จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งทุกประการ ชายทั้ง 11 คน จึงมีความผิดฐานมั่วสุมกัน ทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215

การกระทําของชายทั้ง 11 คน ไม่มีความผิดตามมาตรา 216 เพราะกรณีที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา 216 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานได้มีคําสั่งก่อนที่ผู้มั่วสุมจะได้ลงมือใช้กําลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่า จะใช้กําลังประทุษร้าย หรือก่อนที่ผู้มั่วสุมจะกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตาม มาตรา 215 แต่ผู้มั่วสุมไม่ยอมเลิก

สรุป ชาย 11 คนนั้น มีความผิดฐานมั่วสุมกันทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองตามมาตรา 215 แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 216

 

ข้อ 4 นายแดงกู้เงินจากนาย ก. จํานวน 100,000 บาท นายแดงทําสัญญากู้ส่งมอบให้นาย ก. เก็บรักษาไว้ วันเกิดเหตุ นาย ก. นําสัญญากู้ขึ้นมาอ่าน พบว่าสัญญากู้ไม่ได้มีพยานลงนามในสัญญา นาย ก. จึงขอให้นายขาวช่วยลงนามเป็นพยานในสัญญากู้ นายขาวจึงเซ็นชื่อลงไปในสัญญากู้และเขียน ข้อความต่อท้ายว่า “พยานผู้ให้การรับรอง” ข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่นายขาวเซ็นชื่อในฐานะ พยานนั้น นายแดงผู้กู้ไม่ได้ยินยอมด้วยแต่ประการใด ดังนี้ นายขาวมีความผิดเกี่ยวกับเอกสาร หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 264 วรรคหนึ่ง “ผู้ใดทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอน ข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสาร ที่แท้จริง ผู้นั้นกระทําความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษ…”

มาตรา 265 “ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษ…”

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย

1 กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) ทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

(ข) เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือ

(ค) ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

2 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน

3 ได้กระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

4 โดยเจตนา

ในเรื่องการปลอมเอกสาร ที่เป็นการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ใน เอกสารที่แท้จริง หมายความว่า มีเอกสารที่แท้จริงอยู่แล้ว ต่อมามีการเติม ตัดทอน หรือแก้ไขข้อความ เพื่อให้ เข้าใจว่ามีการกระทํานั้น ๆ มาก่อนแล้ว ดังนั้นการเติม ตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ จะเป็นความผิดฐาน ปลอมเอกสารก็ต่อเมื่อกระทําต่อเอกสารที่แท้จริง ถ้ากระทําต่อเอกสารปลอม ย่อมไม่ผิดฐานปลอมเอกสาร “เติม” หมายถึง การเพิ่มข้อความในเอกสารที่แท้จริง

“ตัดทอน” หมายถึง ตัดข้อความบางตอนออกจากเอกสารที่แท้จริง

“แก้ไข” หมายถึง การกระทําทุกอย่างอันเป็นการแก้ไขข้อความให้ผิดไปจากข้อความเดิม นอกจากนี้การเติม ตัดทอน หรือแก้ไข ข้อความในเอกสารที่แท้จริงจะเป็นความผิดก็ต่อเมื่อผู้กระทํา ไม่มีอํานาจที่จะกระทําได้ ถ้าหากว่าผู้กระทํามีอํานาจที่จะกระทําได้แล้ว ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรานี้

อย่างไรก็ตามจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ผู้กระทําต้องกระทําโดยเจตนา และการกระทํานั้นน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนด้วย แม้ความเสียหายจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม ทั้งนี้จะต้องมีเจตนา พิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายขาวได้เซ็นชื่อลงไปในสัญญากู้และเขียนข้อความต่อท้ายว่า “พยานผู้ให้การรับรอง” ถือได้ว่าเป็นการเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง และนายขาวได้กระทําไปโดยไม่มีอํานาจ เพราะนายแดงผู้กู้ไม่ได้ยินยอมด้วยแต่ประการใด อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง เรื่องหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้น กฎหมายก็มิได้บังคับว่าต้องมีลายมือชื่อ ผู้ให้กู้ยืมหรือพยานด้วยแต่อย่างใด เมื่อมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมในหลักฐานนั้น แม้ไม่มีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมหรือพยาน ก็สามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

ดังนั้น การที่นายขาวเซ็นชื่อและเขียนข้อความเพิ่มเติมในภายหลัง การกระทําดังกล่าวจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่นายแดงผู้กู้ยืมเงินได้ นายขาวจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง (คําพิพากษาฎีกาที่ 1126/2505)

เมื่อการกระทําดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามมาตรา 264 วรรคหนึ่ง จึงไม่จําต้องพิจารณาบทบัญญัติ มาตรา 265 แต่อย่างใด แม้สัญญากู้ยืมจะเป็นเอกสารสิทธิตามมาตรา 265 ก็ตาม

สรุป นายขาวไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264, 265

Advertisement