การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิด ฯลฯ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 แก้วเป็นเจ้าของสุนัขดุอยู่หนึ่งตัว วันเกิดเหตุสุนัขของแก้ววิ่งเข้าไปในบ้านของขวดเพื่อไปขโมยเนื้อย่างในครัวของขวด เมื่อขวดเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้ใช้ไม้ตีสุนัข ทําให้สุนัขได้รับบาดเจ็บ และสุนัขได้รับความเจ็บปวดจึงวิ่งเตลิดไปชนระฆังใหญ่ในวัดไทร ทําให้เกิดเสียงดังอย่างมาก และทําให้โอ่ง (อายุ 15 ปี) ที่ยืนเล่นอยู่ใกล้ระฆังมากถึงกับอาการหูอักเสบและกลายเป็นคนหูหนวกถาวร ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าใครจะเรียกให้ใครรับผิดได้บ้าง
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 433 วรรคหนึ่ง “ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์ ท่านว่าเจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยง รับรักษาไว้แทนเจ้าของจําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่ต้องเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่สัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์หรือ ตามพฤติการณ์อย่างอื่นหรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น”
มาตรา 450 วรรคสาม “ถ้าบุคคลทําบุบสลาย หรือทําลายทรัพย์สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อจะป้องกันสิทธิของตน หรือของบุคคลภายนอกจากภยันตรายอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์นั้นเองเป็นเหตุ บุคคลเช่นว่านี้ หาต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ หากว่าความเสียหายนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าภยันตรายนั้นเกิดขึ้น เพราะความผิดของบุคคลนั้นเองแล้ว ท่านว่าจําต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การที่สุนัขดุของแก้ววิ่งเข้าไปในบ้านของขวดเพื่อไปขโมยเนื้อย่างในครัวของขวดนั้น ถือเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์คือสุนัขของแก้ว ซึ่งตามกฎหมายแก้วผู้เป็นเจ้าของสัตว์จะต้องรับผิด ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ขวดตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง และตามข้อเท็จจริงแก้วก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสุนัขดุนั้นแต่อย่างใด ดังนั้น กรณีนี้ขวดจึงมีสิทธิเรียกให้แก้วรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดกับตนได้
ประเด็นที่ 2 การที่ขวดได้ใช้ไม้ตีสุนัขของแก้วทําให้สุนัขได้รับบาดเจ็บนั้น การกระทําของขวด ถือเป็นการกระทําโดยจงใจต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน จึงถือว่าขวดได้กระทําละเมิดต่อแก้วตามมาตรา 420 แต่อย่างไรก็ตาม ขวดก็สามารถอ้างเหตุนิรโทษกรรมตามมาตรา 450 วรรคสามได้
เนื่องจากเป็นการกระทําเพื่อป้องกันภัยอันมีมาโดยฉุกเฉินเพราะตัวทรัพย์คือสุนัขดุนั้นเองเป็นต้นเหตุให้ตนต้อง ป้องกัน และเมื่อความเสียหายอันเกิดแก่สุนัขนั้นไม่เกินสมควรแก่เหตุ ขวดจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่แก้ว ดังนั้น กรณีนี้แก้วจึงเรียกให้ขวดรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดกับตนไม่ได้
ประเด็นที่ 3 การที่สุนัขของแก้ววิ่งเตลิดไปชนระฆังใหญ่ในวัดไทร ทําให้เกิดเสียงดังมากและทําให้ โอ่งที่เล่นอยู่ใกล้ระฆังมากถึงกับอาการหูอักเสบและกลายเป็นคนหูหนวกถาวรนั้น ถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโอ่งนั้น เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ แก้วซึ่งเป็นเจ้าของสัตว์คือสุนัขจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่โอ่งตามมาตรา 433 วรรคหนึ่ง ดังนั้น กรณีนี้โอ่งจึงเรียกให้แก้วรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดกับตนได้
สรุป ขวดและโอ่งสามารถเรียกให้แก้วรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดกับตนได้ แต่แก้วจะเรียกให้ขวด รับผิดในเหตุละเมิดกับตนไม่ได้
ข้อ 2 จากข้อเท็จจริงตามข้อ 1 หากปรากฏว่า
(ก) โอ่งถูกพาส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลาสามวัน จากนั้นเกิดการติดเชื้อจากหูเข้าเส้นโลหิต และโอ่งทนบาดเจ็บไม่ไหวได้ถึงแก่ความตาย และถ้าหากว่าโอ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายของอ่าง เป็นบุตรบุญธรรมของไห และเป็นลูกจ้างของเหยือก ให้วินิจฉัยว่าอ่าง ไห และเหยือก จะมีสิทธิ เรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีที่โอ่งถึงแก่ความตายได้หรือไม่ อย่างไร
(ข) สุนัขของแก้วได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการ แก้วจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหาย ที่ไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้ตามมาตรา 416 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้หรือไม่เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยโซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 445 “ในกรณีทําให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทําให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทําการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย”
มาตรา 446 วรรคหนึ่ง “ในกรณีทําให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทําให้เขา เสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีก ก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือ ได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว”
วินิจฉัย
จากข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ข้อ
1 แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่โอ่งถูกพาส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นเกิดการติดเชื้อจากหูเข้าเส้นโลหิต และโอ่งทนบาดเจ็บไม่ไหวได้ถึงแก่ความตายนั้น สิทธิในการเรียกค่าสินไหมทดแทน (โดยผู้เสียหายทางอ้อม) จะมีขึ้น ตามมาตรา 443 ได้แก่ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ (มาตรา 443 วรรคหนึ่ง) ค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทํามาหาได้ก่อนตาย (มาตรา 443 วรรคสอง) และค่าขาดไร้อุปการะ (มาตรา 443 วรรคสาม) รวมทั้งมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน คือค่าขาดแรงงานในครัวเรือนและในอุตสาหกรรมตาม มาตรา 445 ด้วย
ส่วนอ่าง ไห และเหยือก จะมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวได้หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของอ่าง เมื่ออ่างเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของโอ่ง ดังนั้น อ่างจึงไม่มีสิทธิเรียกค่า สินไหมทดแทนใด ๆ ตามมาตรา 443 เพราะผู้มีสิทธิในการเรียกค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการ ปลงศพตามมาตรา 443 วรรคหนึ่ง ค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทํามาหาได้ก่อนตาย ตามมาตรา 443 วรรคสองนั้น จะต้องเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเท่านั้น เมื่ออ่างไม่ใช่บิดาโดยชอบ ด้วยกฎหมายของโอ่ง อ่างจึงไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ดังนั้น อ่างจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว
ส่วนการเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสามนั้น กฎหมายได้กําหนดไว้โดยเฉพาะว่า ผู้มีสิทธิในการเรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะจากผู้กระทําละเมิด จะต้องเป็นผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมายครอบครัวเท่านั้น ได้แก่สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย บิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมด้วย ดังนั้นเมื่ออ่างมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของโอ่ง อ่างจึงไม่มีสิทธิ เรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสาม และเมื่ออ่างมิใช่ผู้ใช้อํานาจปกครองบุตร (เนื่องจากอ่างมิใช่บิดา โดยชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งโอ่งอยู่ภายใต้อํานาจปกครองของให้ผู้รับบุตรบุญธรรม) อ่างจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานในครัวเรือนตามมาตรา 445
กรณีของไห เมื่อโอ่งเป็นบุตรบุญธรรมของไห โอ่งจึงอยู่ภายใต้อํานาจปกครองของไห และถือว่าไหเป็นผู้ใช้อํานาจปกครองบุตรบุญธรรม ซึ่งตามกฎหมายครอบครัว บุตรบุญธรรมมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูผู้รับบุตรบุญธรรม ดังนั้น ไหจึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคสาม และค่าขาดแรงงานในครัวเรือนตามมาตรา 445 ได้ แต่ไหไม่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการปลงศพ และค่ารักษาพยาบาลก่อนตายตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งและวรรคสอง เพราะไม่ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของโอ่ง
กรณีของเหยือก เมื่อเหยือกมิใช่บิดาหรือทายาทของโอ่ง เป็นเพียงนายจ้างของโอ่งเท่านั้น ดังนั้น เหยือกจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 และจะเรียกค่าขาดแรงงานในอุตสาหกรรม ตามมาตรา 445 ก็ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อโอ่งได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว สัญญาจ้างย่อมระงับสิ้นไป สิทธิของนายจ้างในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 445 จึงหมดไปด้วย
(ข) การที่สุนัขของแก้วได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการนั้น แก้วจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่ ไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้ตามมาตรา 446 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้ เพราะการเรียกค่าสินไหม ทดแทนตามมาตรานี้ ใช้เฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคนและทําให้คนได้รับความเสียหายแก่ร่างกายหรือ อนามัยหรือเสียเสรีภาพเท่านั้น ไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสัตว์
สรุป
(ก) ไหมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะตามมาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 445 เท่านั้น จะเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 วรรคหนึ่งและวรรคสองไม่ได้ส่วนอ่างและเหยือกไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนใด ๆ ได้เลย
(ข) แก้วจะเรียกค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่ไม่อาจตีราคาได้ตามมาตรา 446 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้
ข้อ 3 นายทะเลได้เข้าฟังการชุมนุมเลือกตั้งสมาชิกสหกรณ์ของตําบล นายทะเลพบว่านายหิน คู่อริ ของตนได้ลงเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานสหกรณ์ด้วย และพบว่าพรรคพวกของนายหินอีก 6 คน ก็ลงสมัครเลือกตั้งเช่นเดียวกัน นายทะเลไม่พอใจจึงตะโกนขึ้นมาท่ามกลางฝูงชนที่มาชุมนุมว่า “พวกมันมีเหี้ย 7 ตัว” เมื่อนายหินและพรรคสืบทราบว่านายทะเลเป็นคนตะโกน จึงดําเนินการ ฟ้องคดีต่อศาล ให้วินิจฉัยว่าการกระทําของนายทะเลมีความผิดหรือไม่ อย่างไร
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
มาตรา 423 “ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทํามาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่น ก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตน มิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้
ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทําให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทะเลได้เข้าฟังการชุมนุมเลือกตั้งสมาชิกสหกรณ์ของตําบล นายทะเล พบว่านายหิน คู่อริของตนได้ลงเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานสหกรณ์ด้วย และพบว่าพรรคพวกของนายหินอีก 6 คน ก็ลงสมัครเลือกตั้งเช่นเดียวกัน นายทะเลไม่พอใจจึงตะโกนขึ้นมาท่ามกลางฝูงชนที่มาชุมนุมว่า “พวกมันมีเหี้ย 7 ตัว” นั้น แม้คํากล่าวของนายทะเลดังกล่าวจะเป็นการกล่าวกระทบถึงนายหินและพรรคพวก แต่ก็มิใช่การนําความเท็จ หรือข้อความที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวนายหินและพรรคพวกมากล่าว หากแต่เป็นการด่าด้วยความรู้สึกเกลียดชังว่านายหินและพรรคพวกเป็นคนไม่ดี โดยเปรียบเทียบเหมือนสัตว์ซึ่งไม่ใช่เป็นการนําข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมากล่าว จึงไม่ถือว่านายทะเลได้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงอันเป็น ความผิดตามมาตรา 423 แต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ดี การพูดด้วยถ้อยคําดังกล่าวต่อประชาชนที่มาฟังการชุมนุมนั้น ประชาชนที่ฟัง ย่อมรู้สึกได้ว่านายหินและพรรคพวกเป็นคนไม่ดี ไม่เหมาะสมกับตําแหน่งประธานสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ อันเข้าลักษณะเป็นการกระทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดต่อกฎหมายตามมาตรา 420 ทําให้นายหินและพรรคพวก เสียชื่อเสียงอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง จึงถือได้ว่านายทะเลได้กระทําละเมิดต่อนายหินและพรรคพวก และจําต้อง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 891/2557)
สรุป
การกระทําของนายทะเลมีความผิดฐานละเมิดตามมาตรา 420 แต่ไม่มีความผิดตามมาตรา 423
ข้อ 4 นายเทืองและนางขวัญ เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยนายเทืองรับราชการอยู่ในหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่ง วันเกิดเหตุ นายเทืองขับรถยนต์เดินทางไปราชการที่จังหวัดนครสวรรค์
ปรากฏว่าด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายเท่งซึ่งขับรถบรรทุกชนท้ายรถยนต์ ของนายเทือง ทําให้นายเทืองได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน
ต่อมานายเทืองถึงแก่ความตาย ดังนี้ หากนายเทืองได้เบิกค่ารักษาพยาบาลของนายเทืองก่อนตายจากหน่วยงานที่นายเทืองทํางานอยู่เนื่องจากมีสวัสดิการที่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลในส่วนนี้ได้ จงวินิจฉัยว่า นางขวัญสามารถเรียกค่ารักษาพยาบาลก่อนตายในกรณีของนายเทืองจากนายเท่ง ได้อีกหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 “ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทําต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทําละเมิด จําต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 443 “ในกรณีทําให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ ค่าปลงศพ รวมทั้งค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ ทํามาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทําให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเท่งขับรถบรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงชนท้ายรถยนต์ของนายเทือง ทําให้นายเทืองได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน และ ต่อมานายเทืองถึงแก่ความตายนั้น ถือว่าความตายของนายเทืองเกิดจากการกระทําละเมิดของนายเท่งตาม มาตรา 420 เพราะเป็นการกระทําโดยประมาทเลินเล่อต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทําให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ดังนั้น นายเท่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 443 เช่น ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ เป็นต้น
และจากข้อเท็จจริงเมื่อปรากฏว่า นายเทืองมิได้ตายในทันที ดังนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่นายเท่งจะต้องใช้ให้แก่ทายาทของนายเทืองให้รวมถึงค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทํามาหาได้ เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วยตามมาตรา 443 วรรคสอง โดยไม่ต้องคํานึงว่าผู้ตายจะมีสิทธิเบิก ค่ารักษาพยาบาลจากหน่วยงานของตนได้หรือไม่ ดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่านายเทืองได้เบิกค่ารักษาพยาบาลของนายเทืองก่อนตายจากหน่วยงานที่นายเทืองทํางานอยู่เนื่องจากมีสวัสดิการที่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล ในส่วนนี้ได้ก็ตาม นางขวัญซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทของนายเทืองผู้ตายสามารถเรียก ค่ารักษาพยาบาลก่อนตายจากนายเท่งได้อีก เพราะถือว่าเป็นสิทธิตามที่กฎหมายได้กําหนดไว้
สรุป นางขวัญสามารถเรียกค่ารักษาพยาบาลก่อนตายในกรณีของนายเทืองจากนายเท่งได้