การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 ในวันที่ 1 มิถุนายน 2564 นายกิตติทําสัญญาจ้างนายธรรม ซึ่งมีอาชีพทนายความ เพื่อฟ้อง นายพฤกษ์ให้ชําระหนี้จํานวน 500,000 บาท แก่นายกิตติ โดยตกลงว่าจะชําระค่าจ้างทั้งหมด จํานวน 50,000 บาท ในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคําพิพากษา ต่อมานายธรรมก็ดําเนินการฟ้องคดีและสืบพยานจนคดีเสร็จการพิจารณาและศาลชั้นต้นนัดฟังคําพิพากษาในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เมื่อถึงวันนัดฟังคําพิพากษา นายธรรมไปฟังคําพิพากษา ส่วนนายกิตติไม่ไป ปรากฏว่าศาลชั้นต้น มีคําพิพากษาให้นายกิตติชนะคดี หลังจากนั้นในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายธรรมได้แจ้งผลคดีให้ นายกิตติทราบและขอให้ชําระค่าจ้าง แต่นายกิตติก็ไม่ยอมชําระเงิน ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายกิตติ ต้องรับผิดชําระค่าจ้างและต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดแก่นายธรรมหรือไม่ นับตั้งแต่เมื่อใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 203 “ถ้าเวลาอันจะพึงชําระหนี้นั้นมิได้กําหนดลงไว้หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวง ก็ไม่ได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชําระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชําระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน ถ้าได้กําหนดเวลาไว้ แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชําระหนี้ ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่ แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชําระหนี้ก่อนกําหนดนั้นก็ได้”

มาตรา 204 “ถ้าหนี้ถึงกําหนดชําระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชําระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว

ถ้าได้กําหนดเวลาชําระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และลูกหนี้มิได้ชําระหนี้ตามกําหนดไซร้ ท่านว่า ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนเลย วิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ก่อนการชําระหนี้ ซึ่งได้กําหนดเวลาลงไว้อาจคํานวณนับได้โดยปฏิทินนับแต่วันที่ได้บอกกล่าว”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกิตติทําสัญญาจ้างนายธรรม ซึ่งมีอาชีพทนายความ เพื่อฟ้องนายพฤกษ์ ให้ชําระหนี้จํานวน 500,000 บาท แก่นายกิตติ โดยตกลงว่าจะชําระค่าจ้างทั้งหมดจํานวน 50,000 บาท ในวันที่ ศาลชั้นต้นอ่านคําพิพากษานั้น ข้อตกลงที่กําหนดว่าจะชําระค่าจ้างในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคําพิพากษานั้น ถือเป็น หนี้ที่มีกําหนดเวลาชําระแต่มิใช่กําหนดเวลาชําระตามวันแห่งปฏิทินที่คู่สัญญาจะรู้ได้เลยในขณะตกลงกันว่าหมายถึงวันใดตามวันแห่งปฏิทิน ดังนั้น นายกิตติจะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ และนายธรรม เจ้าหนี้ได้ให้คําเตือนแล้ว

ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นได้อ่านคําพิพากษาให้นายกิตติชนะคดีในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 และนายธรรม ได้แจ้งผลคดีให้นายกิตติทราบ และขอให้ชําระค่าจ้างในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 แต่นายกิตติไม่ยอมชําระเงิน กรณีนี้ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวได้ถึงกําหนดชําระแล้ว และเจ้าหนี้ได้เตือนให้ลูกหนี้ชําระหนี้แล้ว ดังนั้น เมื่อ นายกิตติลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ จึงถือว่านายกิตติตกเป็นผู้ผิดนัด เพราะเข้าเตือนแล้ว ตามมาตรา 203 วรรคสอง ประกอบมาตรา 204 วรรคหนึ่ง นายกิตติจึงต้องรับผิดชําระค่าจ้าง และต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดแก่นายธรรม ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

สรุป นายกิตติต้องรับผิดชําระค่าจ้าง และต้องเสียดอกเบี้ยผิดนัดแก่นายธรรมตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

 

ข้อ 2 นายทะเลได้ยืมรถยนต์ของนายรวยเพื่อขับไปทํางานเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน หลังจากยืมได้เพียง หนึ่งสัปดาห์ นายมึนได้ขับรถยนต์ด้วยความประมาทพุ่งเข้าชนรถยนต์คันที่นายทะเลยืมมา เป็นเหตุให้กระโปรงท้ายและไฟท้ายของรถยนต์เสียหาย นายทะเลรีบนํารถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมให้เรียบร้อยก่อนจะส่งคืนให้แก่นายรวยตามสัญญา เสียค่าซ่อมไปจํานวน 30,000 บาท ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายทะเลจะสามารถเรียกเงินค่าซ่อมคืนจากนายมึนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 226 วรรคหนึ่ง “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้ มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง”

มาตรา 227 “เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคาทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ อันเกี่ยวกับทรัพย์หรือสิทธินั้น ๆ ด้วยอํานาจกฎหมาย”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติความหมายของการรับช่วงสิทธิไว้ แต่เมื่อพิจารณาจาก บทบัญญัติมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 227 แล้ว อาจให้ความหมายของการรับช่วงสิทธิได้ว่า หมายถึง การที่บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่เจ้าหนี้เดิมในมูลหนี้และมีส่วนได้เสียอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าชําระหนี้ให้แก่ เจ้าหนี้ มีผลทําให้บุคคลภายนอกดังกล่าวได้รับสิทธิหรือเข้าสวมสิทธิของเจ้าหนี้เดิมที่มีอยู่ด้วยอํานาจแห่งกฎหมาย และเมื่อเข้ารับช่วงสิทธิแล้วก็ชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง

ดังนั้น การรับช่วงสิทธิจึงมีได้ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิมีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ (ฎีกาที่ 2766/2551)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายทะเลได้ยืมรถยนต์ของนายรวยเพื่อขับไปทํางานเป็นระยะเวลา หนึ่งเดือนนั้น การยืมรถยนต์ดังกล่าวเป็นการยืมใช้คงรูป ซึ่งผู้ยืมจะต้องรับผิดต่อผู้ให้ยืมก็ต่อเมื่อผู้ยืมได้เอาทรัพย์ ที่ยืมไปใช้ในการอย่างอื่นนอกจากการเป็นปกติแก่ทรัพย์สินนั้น หรือนอกจากการอันปรากฏในสัญญา หรือเอาไป ให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือเอาไว้นานกว่าที่ควรจะเอาไว้ (ป.พ.พ. มาตรา 643) แต่ตามข้อเท็จจริง นายทะเล ซึ่งเป็นเพียงผู้ยืมรถคันที่ถูกชน ไม่ได้เป็นเจ้าของรถและไม่ปรากฏเหตุใด ๆ ที่นายทะเลผู้ยืมจะต้องรับผิด นายทะเล ในฐานะผู้ยืมจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายรวย ดังนั้น แม้ว่านายทะเลจะได้นํารถยนต์คันดังกล่าวไปซ่อมและเสียค่าซ่อม ไปจํานวน 30,000 บาท นายทะเลก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับช่วงสิทธิของเจ้าของรถที่จะไปเรียกร้องให้นายมึน รับผิดได้ เพราะการรับช่วงสิทธิตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 227 นั้น จะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้รับช่วงสิทธิ มีหนี้อันจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ ซึ่งในกรณีนี้คือ นายรวยเจ้าของรถ

สรุป นายทะเลไม่อยู่ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิ จึงไม่สามารถเรียกเงินค่าซ่อมคืนจากนายมึนได้

 

ข้อ 3 นายมั่งมีให้นายหินและนายปูนกู้ยืมเงินไปจํานวน 200,000 บาท เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายหินได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวให้แก่นายซ่าในราคา 500,000 บาท ซึ่งนายซ่ารู้อยู่แล้วว่านายหินเป็นหนี้นายมั่งมี ต่อมานายมั่งมีทราบเรื่องจึงต้องการ ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว แต่นายหินต่อสู้ว่านายปูนซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมอีก คนหนึ่งมีทรัพย์สินเพียงพอชําระหนี้ให้แก่นายมั่งมี เนื่องจากนายปูนมีเงินสดจํานวน 300,000 บาท และมีบ้านพร้อมที่ดินรวมมูลค่ากว่า 1,000,000 บาท นายมั่งมีจึงไม่ได้เสียเปรียบแต่อย่างใด ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายมั่งมีจะสามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทําลง ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้

บทบัญญัติดังกล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ท่านมิให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมใดอันมิได้มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน”

มาตรา 291 “ถ้าบุคคลหลายคนจะต้องทําการชําระหนี้โดยทํานองซึ่งแต่ละคนจําต้องชําระหนี้สิ้นเชิงไซร้ แม้ถึงว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชําระหนี้สิ้นเชิงได้แต่เพียงครั้งเดียว (กล่าวคือลูกหนี้ร่วมกัน) ก็ดี เจ้าหนี้ จะเรียกชําระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชําระเสร็จสิ้นเชิง”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายมั่งมีให้นายหินและนายปูนกู้ยืมเงินไปจํานวน 200,000 บาทนั้น ย่อมถือว่านายหินและนายปูนตกอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมของนายมั่งมี และนายมั่งมีเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิบังคับชําระ หนี้เอาจากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งโดยสิ้นเชิงได้ ตามมาตรา 291

การที่นายหินลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวให้แก่นายซ่าในราคา 500,000 บาท ซึ่งนายซ่ารู้อยู่แล้วว่านายหินเป็นหนี้นายมั่งมี การกระทําของนายหินจึงถือ เป็นการทํานิติกรรมที่นายหินลูกหนี้ได้กระทําลงทั้งที่รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นนิติกรรมอันเป็น การฉ้อฉลเจ้าหนี้ตามมาตรา 237 ดังนั้น นายมั่งมีเจ้าหนี้จึงสามารถฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างนายหิน กับนายซ่าได้ นายหินจะต่อสู้ว่านายปูนลูกหนี้ร่วมอีกคนมีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชําระหนี้ให้แก่นายมั่งมีหาได้ไม่

สรุป นายมั่งมีสามารถฟ้องเพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวได้ ตามมาตรา 237 ประกอบมาตรา 291

 

ข้อ 4 ในวันที่ 1 มกราคม 2564 นายโชคซึ่งเป็นเจ้าของสวนสัตว์ ได้ตกลงซื้อขายช้างที่เป็นกรรมสิทธิ์ ร่วมกันของนายเมฆและนายหมอก ซึ่งทั้งสองฝ่ายทําถูกต้องตามแบบของกฎหมายทุกประการ โดยมิได้กําหนดเวลาส่งมอบกันไว้ ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2564 นายโชคได้ทําการทวงถามให้นายเมฆส่งมอบช้างตัวดังกล่าวให้แก่ตน แต่นายเมฆเพิกเฉย ไม่ยอมส่งมอบช้างให้แก่นายโชค โดยนายหมอกไม่ทราบเรื่องการทวงถามดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่านายเมฆและนายหมอกตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 295 “ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่อง ท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั่นเอง

ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คําบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชําระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กําหนดอายุความหรือการที่อายุความ สะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน”

มาตรา 301 “ถ้าบุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชําระมิได้ ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดเช่นอย่างลูกหนี้ร่วมกัน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายโชคซึ่งเป็นเจ้าของสวนสัตว์ได้ตกลงซื้อขายช้างที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ของนายเมฆและนายหมอกนั้น ถือเป็นกรณีที่บุคคลหลายคนเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชําระมิได้ เนื่องจากช้างดังกล่าว เป็นทรัพย์เฉพาะสิ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ ซึ่งตามมาตรา 301 ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น นายเมฆและนายหมอกจึงต้องร่วมกันรับผิดในการส่งมอบช้างให้แก่นายโชค และเมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มิได้มีกําหนดเวลาส่งมอบกันไว้ การที่นายโชคได้ทวงถามให้นายเมฆส่งมอบช้างตัวดังกล่าวให้แก่ตน แต่นายเมฆเพิกเฉยไม่ยอมส่งมอบช้างให้แก่นายโชค ย่อมถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้ทําการเตือนให้นายเมฆลูกหนี้ร่วมคนหนึ่ง ชําระหนี้ เมื่อนายเมฆไม่ชําระหนี้ จึงถือว่านายเมฆลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด (ตามมาตรา 203 วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง)

และโดยหลักแล้ว การที่ลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่งตกเป็นผู้ผิดนัดย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปเพื่อคุณและโทษ แต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่สามารถจะแบ่งกันชําระได้ จึงเป็นการขัดกับสภาพแห่งหนี้นั้นเอง ดังนั้น การที่นายเมฆลูกหนี้ร่วมคนหนึ่งตกเป็นผู้ผิดนัด จึงส่งผลถึง ลูกหนี้ร่วมคนอื่นคือนายหมอกด้วย กล่าวคือ ให้ถือว่านายหมอกตกเป็นผู้ผิดนัดด้วยตามมาตรา 295

สรุป นายเมฆและนายหมอกตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด

Advertisement