การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2562

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW2102 (LAW2002) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหนี้

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 จันทร์ทําสัญญากู้เงินจากอังคารไปหนึ่งล้านบาท คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สัญญากําหนดให้จันทร์ชําระเงินคืนภายใน 1 ปี ปรากฏว่าภายหลังจากกู้ไปได้เพียง 2 เดือน จันทร์ได้นําเงินต้น พร้อมดอกเบี้ย 2 เดือน มาขอชําระหนี้คืนให้แก่อังคาร แต่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับเงินต้นคืน โดยอ้างว่ายังไม่ครบ 1 ปี อังคารต้องการดอกเบี้ยครบ 1 ปี ให้วินิจฉัยว่า อังคารตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 192 วรรคสอง “ถ้าเงื่อนเวลาเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายใด ฝ่ายนั้นจะสละประโยชน์นั้นเสียก็ได้

หากไม่กระทบกระเทือนถึงประโยชน์อันคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะพึงได้รับจากเงื่อนเวลานั้น”

มาตรา 207 “ถ้าลูกหนี้ขอปฏิบัติการชําระหนี้ และเจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้นั้นโดยปราศจากมูลเหตุ อันจะอ้างกฎหมายได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด”

มาตรา 208 วรรคหนึ่ง “การชําระหนี้จะให้สําเร็จเป็นผลอย่างใด ลูกหนี้จะต้องขอปฏิบัติการ ชําระหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นอย่างนั้นโดยตรง”

วินิจฉัย

ตามมาตรา 207 กรณีที่จะถือว่าเจ้าหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัดนั้น จะต้องประกอบด้วย หลักเกณฑ์ที่สําคัญ2 ประการ คือ

1 ลูกหนี้ได้ขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบแล้ว และ

2 เจ้าหนี้ไม่รับชําระหนี้โดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จันทร์ทําสัญญากู้เงินจากอังคารไปหนึ่งล้านบาท กําหนดชําระคืนภายใน 1 ปี โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และภายหลังจากกู้ไปได้เพียง 2 เดือน จันทร์ได้นําเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 2 เดือนมาขอชําระหนี้ให้แก่อังคาร แต่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับเงินต้นคืนโดยอ้างว่ายังไม่ครบ 1 ปี อังคารต้องการ ดอกเบี้ยครบ 1 ปีนั้น แม้การกระทําของจันทร์จะเป็นการขอปฏิบัติการชําระหนี้โดยชอบตามมาตรา 207 และ มาตรา 203 วรรคหนึ่งก็ตาม แต่การสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาของจันทร์โดยการขอชําระหนี้ก่อนครบกําหนด 1 ปี โดยการขอชําระดอกเบี้ยเพียง 2 เดือนนั้น ถือว่าเป็นการสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาที่กระทบกระเทือน ถึงประโยชน์ของอังคารเจ้าหนี้ที่จะพึงได้รับดอกเบี้ยจากเงื่อนเวลา 1 ปีนั้นตามมาตรา 192 วรรคสอง ดังนั้น การที่อังคารปฏิเสธไม่ยอมรับชําระหนี้ การปฏิเสธของอังคารจึงถือว่ามีมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ อังคารจึง ไม่ตกเป็นผู้ผิดนั้นตามมาตรา 207

สรุป อังคารไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด

ข้อ 2 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562 นางลําไยมารดาของเด็กหญิงสละได้ทําหนังสือสัญญาจะขายที่ดินของเด็กหญิงสละให้แก่นายปอง ตกลงจดทะเบียนโอนและชําระราคาที่ดินทั้งหมดในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ถ้านางลําไยจดทะเบียนโอนขายไม่ได้ยอมให้นายปองปรับ 100,000 บาท ขณะตกลงจะซื้อขายกันนายปองซึ่งมีอาชีพทนายความทราบดีว่าที่ดินเป็นของบุตรผู้เยาว์ของ นางลําไย การจดทะเบียนโอนขายที่ดินต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน นายปองและนางลําไย จึงตกลงกันด้วยวาจาว่า นางลําไยจะต้องไปยื่นคําร้องขออนุญาตขายที่ดินต่อศาล วันที่ 25 มกราคม 2562 นางลําไยยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นขออนุญาตขายที่ดินของเด็กหญิงสละให้นายปอง นางลําไย แถลงถึงเหตุผล ความจําเป็นและความเหมาะสมที่จะขายที่ดินแปลงนี้อย่างเต็มที่ แต่เมื่อศาลชั้นต้น ไต่สวนแล้วมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ขาย คดีถึงที่สุด นายปองจึงฟ้องนางลําไยต่อศาลชั้นต้นฐานผิดสัญญา จะซื้อขายเรียกเบี้ยปรับ 100,000 บาทตามสัญญา ให้วินิจฉัยว่า นางลําไยต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับ หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 219 วรรคหนึ่ง “ถ้าการชําระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งเกิดขึ้น ภายหลังที่ได้ก่อหนี้ และซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไซร้ ท่านว่าลูกหนี้เป็นอันหลุดพ้นจากการชําระหนี้นั้น”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางลําไยมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงสละได้ทําหนังสือสัญญา จะขายที่ดินมีโฉนดของเด็กหญิงสละให้แก่นายปองในวันที่ 11 มกราคม 2562 และได้กําหนดวันจดทะเบียนและ ชําระราคาที่ดินกันในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในขณะที่ตกลงซื้อขายที่ดินกัน นายปอง ซึ่งมีอาชีพทนายความทราบอยู่แล้วว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของเด็กหญิงสละบุตรผู้เยาว์ของนางลําไย ซึ่งตามกฎหมาย เกี่ยวกับผู้เยาว์จะต้องมีคําสั่งศาลอนุญาตให้ขายได้เสียก่อนจึงจะสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ นายปองได้ และเมื่อข้อเท็จจริงตามปัญหาก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่นางลําไยนําเข้าไต่สวนในคดีดังกล่าวนั้นว่า นางลําไยจงใจจะให้ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตเพื่อหลีกเลี่ยงการโอนขายที่ดินให้แก่นายปองแต่อย่างใด การที่ศาลมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ขายที่ดินของบุตรผู้เยาว์ จึงเป็นไปตามดุลพินิจของศาล ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่ทําให้การชําระหนี้ เป็นพ้นวิสัย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่ได้ก่อหนี้และเป็นพฤติการณ์ที่นางลําไยไม่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้น นางลําไย จึงหลุดพ้นจากการชําระหนี้ตามมาตรา 219 วรรคหนึ่ง และไม่ถือว่านางลําไยผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินต่อนายปอง ซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่นายปองแต่อย่างใด

สรุป นางลําไยไม่ได้ผิดสัญญา จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เบี้ยปรับให้แก่นายปอง

 

ข้อ 3 นายอารีย์หลงรักนางสาวแสนดี ในวันที่ 10 มกราคม 2558 นายอารีย์จึงได้ทําสัญญาให้นางสาวแสนดี กู้ยืมเงินไป 500,000 บาท โดยมิได้มีการกําหนดเวลาชําระหนี้ลงไว้ และได้ทําสัญญายกรถยนต์ ของตนให้นางสาวแสนดีโดยเสน่หาด้วย นอกจากรถยนต์คันดังกล่าวนายอารีย์มีทรัพย์สินอีกเพียง ชิ้นเดียวคือพระเครื่อง 1 องค์ ราคาประมาณ 500,000 บาท ต่อมานายอารีย์กิจการค้าขายขาดทุน จึงได้ไปทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 1,000,000 บาท จากนายรวยเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กําหนด ชําระคืนในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ก่อนหนี้เงินกู้ถึงกําหนดชําระ 1 เดือน นางสาวแสนดีได้แวะมาเยี่ยม นายอารีย์และได้เล่าถึงความทุกข์ยากของตนให้นายอารีย์ฟัง ด้วยความสงสารนายอารีย์จึงได้ทําหนังสือปลดหนี้เงินกู้จํานวน 500,000 บาทให้แก่นางสาวแสนดี โดยที่นางสาวแสนดีก็มิได้รู้ถึง ภาระหนี้สินของนายอารีย์ที่มีต่อนายรวยแต่อย่างใด เมื่อนายรวยทราบเรื่องจึงโกรธมากที่นายอารีย์ ยกทรัพย์สินให้นางสาวแสนดีจนเกือบหมดตัว

ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า นายรวยจะสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของ นายอารีย์ลูกหนี้ได้หรือไม่ เพียงใด จงอธิบายพร้อมยกหลักฐานประกอบ

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 237 วรรคหนึ่ง “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทํานิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้รู้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย แต่หากกรณีเป็นการทําให้โดยเสน่หา ท่านว่าเพียงแต่ลูกหนี้เป็นผู้รู้ฝ่ายเดียวเท่านั้นก็พอแล้วที่จะขอเพิกถอนได้”

วินิจฉัย

กรณีที่จะถือว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉล ซึ่งเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้

ตามมาตรา 237 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ กล่าวคือ เป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทําหลังจากที่ลูกหนี้ได้เป็นหนี้เจ้าหนี้แล้ว และเป็นนิติกรรมซึ่งเมื่อลูกหนี้ ได้ทําแล้วลูกหนี้จะไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชําระหนี้แก่เจ้าหนี้นั่นเอง

กรณีตามอุทาหรณ์ นายรวยจะสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของ นายอารีย์ลูกหนี้ได้หรือไม่ เพียงใด แยกพิจารณาได้ดังนี้

1 การที่นายอารีย์ได้ทําสัญญาให้นางสาวแสนดีกู้ยืมเงินไป 500,000 บาท ในวันที่ 10 มกราคม 2558 แล้วต่อมานายอารีย์ได้ไปทําสัญญากู้ยืมเงินจากนายรวยจํานวน 1,000,000 บาท กําหนดชําระคืนในวันที่ 30 ตุลาคม 2562 แต่ก่อนหนี้เงินกู้กับนายรวยจะถึงกําหนดชําระ 1 เดือน นายอารีย์ได้ทําหนังสือปลดหนี้เงินกู้ จํานวน 500,000 บาทให้แก่นางสาวแสนดีนั้น แม้นางสาวแสนดีจะมิได้รู้ถึงภาระหนี้สินของนายอารีย์ที่มีต่อ นายรวยแต่อย่างใดก็ตาม แต่การทํานิติกรรมปลดหนี้ของนายอารีย์ดังกล่าว ถือเป็นการทํานิติกรรมทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้คือนายรวยเสียเปรียบ เนื่องจากนายอารีย์มีทรัพย์สินอีกเพียงชิ้นเดียวคือพระเครื่อง 1 องค์ ราคาประมาณ 500,000 บาท อีกทั้งการปลดหนี้ดังกล่าวนั้นเป็นการแสดงเจตนาระงับสิทธิเรียกร้อง โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือโดยเสน่หา ดังนั้น เพียงนายอารีย์รู้ว่าทําให้นายรวยเจ้าหนี้เสียเปรียบเท่านี้ก็พอที่จะ ทําให้นายรวยเพิกถอนได้แล้วตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง

2 การที่นายอารีย์ได้ทําสัญญายกรถยนต์ของตนให้แก่นางสาวแสนดีโดยเสน่หาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2558 นั้น เป็นการกระทําลงก่อนที่นายอารีย์จะได้ก่อหนี้กับนายรวย จึงไม่ถือว่าเป็นการที่นายอารีย์ ได้กระทําลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามมาตรา 237 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถือว่าเป็นการฉ้อฉล ดังนั้น

นายรวยจะใช้มาตรการควบคุมกองทรัพย์สินของนายอารีย์โดยการเพิกถอนนิติกรรมให้ดังกล่าวไม่ได้

สรุป นายรวยสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายในการควบคุมกองทรัพย์สินของนายอารีย์ลูกหนี้ได้โดยการเพิกถอนนิติกรรมการปลดหนี้แก่นางสาวแสนดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

ข้อ 4 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 นายหินขับรถยนต์ที่ทําประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้พุ่งชนรถยนต์ของนายทะเลได้รับความเสียหาย ต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม 2561 นายทะเลยื่นฟ้องนายหินให้รับผิดในฐานะผู้ทําละเมิดและให้บริษัท เอสเอไอ ประกันภัย จํากัด ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ต่อมาบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ให้การต่อสู้ว่า แม้สัญญาประกันวินาศภัยมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อนายทะเลฟ้องนายหินเกิน 1 ปีนับแต่วันละเมิดและรู้ตัวผู้กระทําละเมิดฟ้องของนายทะเล ในส่วนของนายหินจึงขาดอายุความตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้การฟ้องในส่วนของ บริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมขาดอายุความด้วยเช่นกัน บริษัท เอสเอไอ ประกันภัย จํากัด จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ขอให้ศาลยกฟ้อง ดังนี้ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 295 “ข้อความจริงอื่นใด นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 292 ถึง 294 นั้น เมื่อเป็นเรื่อง ท้าวถึงตัวลูกหนี้ร่วมกันคนใดก็ย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น เว้นแต่จะปรากฏว่าขัดกับสภาพแห่งหนี้นั่นเอง

ความที่ว่ามานี้ เมื่อจะกล่าวโดยเฉพาะก็คือว่าให้ใช้แก่การให้คําบอกกล่าวการผิดนัด การที่หยิบยกอ้างความผิด การชําระหนี้อันเป็นพ้นวิสัยแก่ฝ่ายลูกหนี้ร่วมกันคนหนึ่ง กําหนดอายุความหรือการที่อายุความ สะดุดหยุดลง และการที่สิทธิเรียกร้องเกลื่อนกลืนกันไปกับหนี้สิน”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหินได้ขับรถยนต์ที่ทําประกันภัยค้ำจุนไว้กับบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ด้วยความประมาท เป็นเหตุให้พุ่งชนรถยนต์ของนายทะเลได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2560 และต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม 2561 นายทะเลได้ยื่นฟ้องนายหินให้รับผิดในฐานะผู้ทําละเมิดและให้บริษัท เอสเอไอ ประกันภัย จํากัด ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนนั้น เมื่อกรณีที่นายหินจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะผู้ทําละเมิดมีอายุความ 1 ปีนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหม ทดแทนตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตาม สัญญาประกันวินาศภัยมีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง จึงเห็นได้ว่า อายุความในส่วนของนายหิน และของบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด สามารถแยกออกจากกันได้

และเมื่อตามมาตรา 295 ได้บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ฉะนั้น การที่นายทะเลฟ้องร้องไห้นายหินรับผิดในฐานะผู้ทําละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปีนั้น ย่อมเป็นคุณเฉพาะ แต่นายหิน ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องให้บริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัยแต่อย่างใด และคดีนี้เมื่อความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 24 ตุลาคม 2560 และนายทะเลฟ้องบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2561 เป็นการฟ้องภายในเวลา 2 ปีนับแต่ วันวินาศภัย การฟ้องบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด จึงไม่ขาดอายุความ ซึ่งบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นายทะเล ดังนั้น ข้อต่อสู้ของบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ที่ว่าเมื่อฟ้องในส่วนของนายหินขาดอายุความย่อมส่งผลให้การฟ้องในส่วนของบริษัทฯ ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมขาดอายุความด้วยเช่นกัน บริษัทฯ จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นายทะเลนั้น จึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของบริษัท เอสเอไอประกันภัย จํากัด ฟังไม่ขึ้น

Advertisement