การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายหนึ่งทําสัญญาว่าจ้างนายสองให้ไปทําร้ายร่างกายนายสามซึ่งเป็นคู่อริโดยตกลงค่าจ้างที่ 10,000 บาท นายสองเกรงว่านายหนึ่งจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ตนตามสัญญาจึงได้ตกลงกับนายหนึ่ง ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 10,000 บาทขึ้นอีกฉบับ เพื่อแสดงให้คนทั่วไปทราบว่าสัญญาที่ นายหนึ่งและนายสองทําขึ้นเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ครั้นปรากฏภายหลังจากที่นายสองไปทําร้ายร่างกายนายสามแล้ว นายหนึ่งกลับปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้แก่นายสองแต่อย่างใด ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายสองสามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือ เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 155 “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทําขึ้นเพื่ออําพรางนิติกรรมอื่น ให้นําบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอําพรางมาใช้บังคับ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งทําสัญญาว่าจ้างนายสองให้ไปทําร้ายร่างกายนายสามซึ่งเป็น คู่อริโดยตกลงค่าจ้างที่ 10,000 บาท และนายสองเกรงว่านายหนึ่งจะไม่จ่ายค่าจ้างให้ตนตามสัญญาจึงได้ตกลง กับนายหนึ่งให้ทําสัญญากู้ยืมเงินจํานวน 10,000 บาทขึ้นอีกฉบับหนึ่งเพื่อแสดงให้คนทั่วไปทราบว่าสัญญาที่ นายหนึ่งและนายสองทําขึ้นเป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือว่าเป็นกรณีของการทํานิติกรรมอําพรางตาม มาตรา 155 วรรคสอง กล่าวคือ ระหว่างนายหนึ่งและนายสองนั้น ได้มีการทํานิติกรรมกัน 2 ฉบับ คือ สัญญาจ้าง และสัญญากู้ยืมเงิน

สัญญากู้ยืมเงินที่นายหนึ่งและนายสองได้ทําขึ้นนั้น เป็นนิติกรรมที่คู่กรณีไม่ได้ต้องการให้มีผลผูกพันกันตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นนิติกรรมที่ทําขึ้นเพื่อต้องการปิดบังหรืออําพรางนิติกรรม อีกอันหนึ่ง คือสัญญาว่าจ้างให้ทําร้ายร่างกายนายสาม ดังนั้น นิติกรรมในรูปสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการ แสดงเจตนาลวงโดยการสมรู้ร่วมคิดกันในระหว่างคู่กรณี และมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องนํา นิติกรรมที่ถูกอําพรางคือสัญญาว่าจ้างให้ทําร้ายร่างกายมาใช้บังคับระหว่างคู่กรณีตามมาตรา 155 วรรคสอง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนิติกรรมที่ถูกอําพรางคือสัญญาว่าจ้างให้ทําร้ายร่างกายนายสามนั้น ถือว่าเป็น นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ดังนั้น แม้จะปรากฏว่า นายสองได้ไปทําร้ายร่างกายนายสามแล้ว แต่นายหนึ่งกลับปฏิเสธไม่จ่ายเงินให้แก่นายสองตามสัญญา นายสอง ก็ไม่สามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญาใด ๆ ได้เลย

สรุป นายสองไม่สามารถฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้ได้

 

ข้อ 2 นิติกรรมที่เป็นโมฆะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ แต่ถูกบอกล้างในภายหลังหรือไม่

ธงคําตอบ

จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 172 วรรคสอง “ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นําบทบัญญัติว่าด้วย ลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ”

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน”

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว นิติกรรมที่เป็นโมฆะจะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ แต่ถูกบอกล้างในภายหลัง ดังนี้ คือ

นิติกรรมที่เป็นโมฆะ เป็นนิติกรรมที่เสียเปล่า ไม่มีผลในกฎหมายที่จะเป็นนิติกรรมผูกนิติสัมพันธ์ ระหว่างบุคคลแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่ทําให้บุคคลใดหรือสิ่งใดเปลี่ยนแปลงฐานะไป คู่กรณียังคงอยู่ในฐานะเดิมเสมือนว่ามิได้เข้าทํานิติกรรมแต่ประการใดเลย

และในกรณีที่ต้องมีการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะ คู่กรณีฝ่ายที่ได้โอนกรรมสิทธิ์

ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เขาไปนั้น ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ตามหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้

ตัวอย่าง ก. และ ข. ได้ตกลงซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่งในราคา 100,000 บาท โดยทั้งสองได้ทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ก. และ ข. ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้กระทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ ดังนี้ ก. จะบังคับให้ ข. ส่งมอบที่ดินหรือ โอนที่ดินให้แก่ ก. ไม่ได้ และ ข. ก็จะบังคับให้ ก. ชําระราคาค่าซื้อขายที่ดินให้แก่ ข. ไม่ได้เช่นกัน

ในกรณีที่ ก. ได้ชําระราคาค่าที่ดินให้แก่ ข. แล้ว ดังนี้ ก. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ ข. คืนเงินให้แก่ตนได้ หรือถ้า ข. ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ ก. แล้ว ข. ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินคืนจาก ก. ได้ โดยอาศัยหลักกฎหมาย ว่าด้วยลาภมิควรได้ตามมาตรา 406

ส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เป็นนิติกรรมที่มีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อาจถูกบอกล้าง ให้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายหรือเสียเปล่าได้

นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น เมื่อมีการบอกล้างแล้วกฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และ ให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ถ้ามีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันก็ต้องมีการคืนทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าเป็นการพ้นวิสัยไม่อาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ เช่น ทรัพย์สินที่จะต้องส่งคืนนั้นสูญหายหรือบุบสลายไป ฝ่ายที่ต้องส่งคืนนั้น ก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีฝ่ายที่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์สินนั้น

ตัวอย่าง ก. ทํากลฉ้อฉลเอาแหวนทองเหลืองมาหลอกขายให้ ข. โดยหลอกลวงว่าเป็นแหวนทองคํา เมื่อ ข. รู้ความจริงจึงบอกล้างนิติกรรมซื้อขายที่เป็นโมฆียะ ดังนี้ ก. ก็ต้องใช้เงินราคาแหวนที่รับไปคืนให้ ข. และ ข. ก็ต้องคืนแหวนทองเหลืองให้ ก. หรือถ้าคืนไม่ได้ เช่น เป็นเพราะแหวนทองเหลืองนั้นสูญหายไปแล้ว ดังนี้ ข. ก็ต้องชดใช้ราคาแหวนทองเหลืองนั้นให้แก่ ก. ตามราคาของแหวนทองเหลือง

 

ข้อ 3 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2550 นางสมศรีได้ทําสัญญากู้เงินจากนางสมใจจํานวน 2 ล้านบาท มีกําหนด ชําระคืนภายในวันที่ 10 มกราคม 2551 เมื่อหนี้ถึงกําหนด นางสมศรีไม่นําเงินมาชําระ นางสมใจ ได้ติดตามทวงถามด้วยวาจาตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม 2560 (ซึ่งเหลือเวลาอีก 1 เดือน จะครบกําหนดอายุความ 10 ปี) นางสมใจได้ส่งจดหมายทวงหนี้ไปถึงนางสมศรีให้นําเงินมาชําระภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2560 มิฉะนั้นจะดําเนินคดีทางศาลต่อไป จดหมายไปถึงบ้านนางสมศรี ในวันที่ 13 ธันวาคม 2560) แต่นางสมศรีไม่อยู่บ้าน นายขาวพี่ชายของนางสมศรีเป็นคนรับจดหมาย จึงได้เปิดออกอ่าน เมื่อทราบข้อความแล้วเกรงน้องสาวจะถูกดําเนินคดีทางศาล ในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 จึงได้ทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ต่อนางสมใจมีใจความว่า “ข้าพเจ้านายขาวยอมรับว่า นางสมศรีน้องสาวเป็นหนี้นางสมใจจริง และยินยอมที่จะชําระหนี้แทนนางสมศรีน้องสาวทั้งหมด ซึ่งจะนําเงินไปชําระให้ที่บ้านของนางสมใจในวันที่ 2 มกราคม 2561” ครั้นถึงกําหนดนายขาว หาเงินจํานวนดังกล่าวไม่ได้ จึงไม่ได้นําเงินไปชําระ นางสมใจจึงนําคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่ 28 มีนาคม 2562 นางสมศรีต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว นางสมใจอ้างว่าคดียังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2560 อยากทราบว่า ข้ออ้างของนางสมใจ ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

หมายเหตุ มาตรา 193/30 บัญญัติว่า “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกําหนดสิบปี”

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…”

มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชําระหนี้ ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”

มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกําหนดสิบปี”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสมศรีได้ทําสัญญากู้เงินจากนางสมใจจํานวน 2 ล้านบาท มีกําหนด ชําระคืนภายในวันที่ 10 มกราคม 2551 นั้น เมื่อหนี้ถึงกําหนดนางสมศรีไม่นําเงินมาชําระอายุความจึงเริ่มต้น นับตั้งแต่วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 11 มกราคม 2551 (ตามมาตรา 193/12) และเนื่องจากการกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมาย กําหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนําอายุความทั่วไปตามมาตรา 193/30 คืออายุความ 10 ปี มาใช้บังคับ ดังนั้น กรณีนี้อายุความ 10 ปี จะครบกําหนดในวันที่ 10 มกราคม 2561

การที่นายขาวซึ่งเป็นพี่ชายของนางสมศรีได้ไปทําหนังสือรับสภาพหนี้ให้นางสมใจในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 และตกลงว่าจะนําเงินไปชําระให้นางสมใจในวันที่ 2 มกราคม 2561 นั้น แม้จะเป็นการทําหนังสือ รับสภาพหนี้ก่อนที่จะครบกําหนดอายุความก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14

เนื่องจากนายขาวมิใช่ลูกหนี้ จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 193/14 ดังนั้น เมื่อถึงกําหนดวันที่ 2 มกราคม 2561 นายขาวไม่ได้นําเงินไปชําระให้นางสมใจ ถ้านางสมใจจะนําคดีนี้มาฟ้องร้องต่อศาลจะต้องฟ้องภายในวันที่ 10 มกราคม 2561 เมื่อนางสมใจนําคดีมาฟ้องร้องต่อศาลในวันที่ 28 มีนาคม 2562 คดีนี้จึงขาดอายุความแล้ว ข้ออ้างของนางสมใจที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2560 นั้นจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้ออ้างของนางสมใจที่ว่าคดียังไม่ขาดอายุความ เพราะอายุความสะดุดหยุดลงนั้นฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4 นายผักขมตกลงซื้อข้าวสารจากโรงสีของนางผักชี 200 กระสอบ ๆ ละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 2 แสนบาท ซึ่งนางผักชีเจ้าของโรงสียังไม่ได้ตวงข้าวสารใส่กระสอบ ต่อมาเกิดฟ้าผ่าไฟไหม้โกดัง เก็บข้าวสารของนางผักชีได้รับความเสียหายทั้งหมด ต่อมานางผักชีได้มาทวงเงินค่าข้าวสาร2 แสนบาทจากนายผักขม ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายผักขมจะต้องชําระเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่ นางผักชีหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 370 “ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้ ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้

ถ้าไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง ท่านให้ใช้บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้บังคับแต่เวลาที่ทรัพย์นั้น กลายเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 195 วรรค 2 นั้นไป

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายผักขมตกลงซื้อข้าวสารจากโรงสีของนางผักชี 200 กระสอบ ๆ ละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 2 แสนบาท ซึ่งนางผักชียังไม่ได้ตวงข้าวสารใส่กระสอบนั้น ย่อมถือว่าข้าวสารที่นายผักขม ซื้อนั้นยังมิใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง กรรมสิทธิ์ ในข้าวสารจึงยังไม่โอนมาเป็นของนายผักขมเจ้าหนี้ แต่ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของนางผักชีซึ่งเป็นลูกหนี้ ดังนั้น เมื่อต่อมาได้เกิดฟ้าผ่าไฟไหม้โกดังเก็บข้าวสารของนางผักชีได้รับความเสียหายทั้งหมด ความเสียหายจึงตกเป็นพับแก่นางผักชีลูกหนี้ ทั้งนี้เพราะเมื่อข้าวสารยังไม่ใช่ทรัพย์เฉพาะสิ่ง จึงไม่อาจ นําบทบัญญัติของมาตรา 370 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่กรณีนี้ (มาตรา 370 วรรคสอง)

และเมื่อไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่นายผักขมเจ้าหนี้จะต้องรับผิดตามมาตรา 370 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อนางผักชีมาทวงเงินค่าข้าวสารจํานวน 2 แสนบาทจากนายผักขม นายผักขมจึงไม่ต้องชําระเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่นางผักชี

สรุป นายผักขมไม่ต้องชําระเงินจํานวนดังกล่าวให้แก่นางผักชี

Advertisement