การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003)กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1 นายชัปปุยส์ต้องการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายชนาธิปเพราะคิดว่าจะมีรถไฟฟ้าผ่านที่ดินแปลงนั้น ในอนาคต ปรากฏวันที่ไปจดทะเบียนโอนมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติอิรัก
นายชัปปุยส์ขอตัวกลับบ้านไปดูฟุตบอลนัดดังกล่าว และได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าพร้อมทั้ง บอกนายชนาธิปว่าจัดการกรอกข้อความได้เลยตามสะดวก นายชนาธิปจึงได้เขียนเนื้อความ ในสัญญาว่าตนขายที่ดินอีกแปลงหนึ่งให้แทน วันรุ่งขึ้นนายชัปปุยส์ทราบเนื้อความในสัญญา จึงกล่าวหานายชนาธิปว่าเป็นพวกหลอกลวงหลอกขายที่ดินให้แก่ตน ให้นักศึกษาให้คําแนะนําว่า ข้ออ้างของนายชัปปุยส์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบายพร้อมยกหลักกฎหมายประกอบ
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 156 “การแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
ความสําคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสําคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสําคัญผิดในตัวของบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสําคัญผิดในทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น”
มาตรา 158 “ความสําคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้”
วินิจฉัย
ตามมาตรา 156 ได้บัญญัติให้การแสดงเจตนาทํานิติกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความสําคัญผิดในสิ่ง ซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม ซึ่งได้แก่ ลักษณะของนิติกรรม ตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมนั้น การแสดงเจตนาหรือนิติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมตกเป็นโมฆะ แต่ถ้าความสําคัญผิดดังกล่าว ได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา ผู้นั้นจะถือเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (มาตรา 158)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายชัปปุยส์ได้แสดงเจตนาทําสัญญาซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจากนายชนาธิป โดยสําคัญผิดว่าเป็นที่ดินแปลงที่ตนคิดว่าจะมีรถไฟฟ้าผ่านนั้น ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรมอันถือว่าเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสําคัญแห่งนิติกรรม โดยหลักแล้วการแสดงเจตนาของนายชัปปุยส์ ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 156
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายชัปปุยส์ได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าและบอกให้ นายชนาธิปจัดการกรอกข้อความได้เลยตามสะดวก ทําให้นายชนาธิปได้เขียนเนื้อความในสัญญาว่าตนขายที่ดิน อีกแปลงหนึ่งให้แทนซึ่งมิใช่ที่ดินแปลงที่นายชัปปุยส์ต้องการซื้อนั้น การกระทําดังกล่าวของนายชัปปุยส์ถือได้ว่าเป็น ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของนายชัปปุยส์เอง ดังนั้น แม้นายชัปปุยส์จะได้แสดงเจตนาเพราะความสําคัญผิด ดังกล่าวข้างต้นก็ตาม นายชัปปุยส์ก็จะยกเอาความสําคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ตามมาตรา 158
สรุป ข้ออ้างของนายชัปปุยส์ฟังไม่ขึ้น ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 2 นักศึกษาจงเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรม กับผลของการ ให้สัตยาบันโมฆียะกรรม มีอยู่อย่างไร จงอธิบาย
ธงคําตอบ
ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้น มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
176 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ดังนี้คือ
“โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่า การนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ”
จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โมฆียะกรรมนั้นเมื่อมีการบอกล้างแล้ว จะมีผลดังนี้คือ
1 ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก คือ ให้ถือว่าเสียเปล่ามาตั้งแต่วันที่ทํานิติกรรมนั้น
2 ให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม เช่น หากมีการส่งมอบทรัพย์สินกันก็ต้องมีการส่งคืน เป็นต้น
3 ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ก็ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายแทน
4 ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้น ใต้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะนับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ
ตัวอย่าง เช่น อายุ 19 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งราคา 500,000 บาท จากขาวโดยมิได้รับความยินยอมจากแดงซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม สัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ ดังนี้ เมื่อแดงผู้แทนโดยชอบธรรมบอกล้างนิติกรรมซื้อขายรถยนต์ดังกล่าว นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆะมาตั้งแต่ เริ่มแรก ทั้งดําและขาวจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ ดําจะต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้ขาว และขาวก็ต้องส่งมอบ เงินค่าซื้อรถยนต์คืนให้ดํา ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้มีการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กันแทน เป็นต้น ส่วนผลของการให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรมนั้น มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 177 ดังนี้คือ
“ถ้าบุคคลผู้มีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตามมาตรา 175 ผู้หนึ่งผู้ใดได้ให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม ให้ถือว่าการนั้นเป็นอันสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก แต่ทั้งนี้ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก” จากหลักกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โมฆียะกรรมนั้นเมื่อมีการให้สัตยาบันแล้ว จะมีผลดังนี้
1 ให้ถือว่าทํานิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์มาตั้งแต่เริ่มแรก
2 คู่กรณีไม่จําต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม
3 ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของบุคคลภายนอก
ตัวอย่าง เช่น อายุ 19 ปี ซึ่งเป็นผู้เยาว์ ทําสัญญาซื้อขายรถยนต์คันหนึ่งราคา 500,000 บาท จากขาวโดยมิได้รับความยินยอมจากแดงซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม สัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆียะ และเมื่อแดงทราบ แดงไม่ได้บอกล้างแต่กลับให้สัตยาบันแก่นิติกรรมซื้อขายดังกล่าว ดังนี้ย่อมถือว่าสัญญาซื้อขาย
รถยนต์ระหว่างดําและขาวมีผลสมบูรณ์มาแต่เริ่มแรก ซึ่งต่อมาดําผู้เยาว์หรือแดงผู้แทนโดยชอบธรรมจะบอกล้าง นิติกรรมดังกล่าวนั้นอีกไม่ได้
ข้อ 3 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2546 นายกบได้ทําสัญญากู้เงินจากนายเขียดเป็นจํานวน 200,000 บาท มีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 24 กันยายน 2547 ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2547 นายกบได้นําเงิน มาชําระให้บางส่วนจํานวน 30,000 บาท หลังจากนั้นก็ไม่ได้นําเงินมาชําระให้อีกเลย จนกระทั่ง วันที่ 24 ธันวาคม 2547 นายเขียดได้เขียนจดหมายไปทวงถามเพื่อให้ชําระหนี้ที่ค้างอยู่จากนายกบ แต่นายกบก็ไม่นํามาชําระให้ วันที่ 25 กันยายน 2557 นายกบได้นําที่ดินมาจํานองเพื่อเป็นประกัน การกู้ยืมเงินดังกล่าว และได้นําเงินไปชําระให้นายเขียดอีกจํานวน 20,000 บาท แต่หลังจากนั้น นายกบก็ไม่นําเงินมาชําระให้อีกเลย ปรากฏว่ายังมีหนี้ค้างชําระอยู่อีกจํานวน 150,000 บาท ต่อมา นายเขียดจึงได้นําคดีมาฟ้องศาลในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 เพื่อให้นายกบชําระหนี้เงินกู้ที่เหลือ นายกบต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2557 แล้ว แต่นายเขียดอ้างว่าคดียังไม่ ขาดอายุความ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายกบฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/12 “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป….”
มาตรา 193/14 “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทําเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชําระหนี้ให้บางส่วน ชําระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทําการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่า ยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง”
มาตรา 193/28 “การชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้น ไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชําระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม
บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้”
มาตรา 193/30 “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้มีกําหนดสิบปี”
มาตรา 193/35 “ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้ รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกําหนด อายุความสองปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกบได้ทําสัญญากู้เงินจากนายเขียดเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท ในวันที่ 24 กันยายน 2546 โดยมีกําหนดชําระคืนภายในวันที่ 24 กันยายน 2547 นั้น การที่นายกบได้นําเงินมา ชําระให้นายเขียดบางส่วนจํานวน 30,000 บาท ในวันที่ 24 สิงหาคม 2547 ซึ่งเป็นการชําระหนี้ในขณะที่หนี้ยัง ไม่ถึงกําหนดชําระ ย่อมไม่ถือว่าเป็นเหตุทําให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) แต่อย่างใด เพราะอายุความในหนี้ตามสัญญากู้เงินรายนี้จะเริ่มนับก็ต่อเมื่อหนี้ถึงกําหนดแล้วลูกหนี้ไม่ชําระหนี้ คือจะเริ่มนับ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2547 เป็นต้นไป (ตามมาตรา 193/12) และหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินนั้น เมื่อไม่มีกฎหมาย กําหนดไว้โดยเฉพาะในเรื่องอายุความ จึงต้องนําอายุความทั่วไป คือ 10 ปี มาใช้บังคับ (ตามมาตรา 193/30) ดังนั้น หนี้รายนี้จึงครบกําหนดอายุความในวันที่ 24 กันยายน 2557 โดยมีหนี้ที่นายกบยังค้างชําระอยู่อีก 170,000 บาท
การที่นายกบได้นําที่ดินมาจํานองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินดังกล่าวและได้นําเงินไปชําระหนี้ให้แก่นายเขียดเป็นเงินจํานวน 20,000 บาท ในวันที่ 25 กันยายน 2557 ไม่ถือว่าเป็นกรณีที่นายกับลูกหนี้รับสภาพหนี้แก่นายเขียดเจ้าหนี้แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (1) นั้น ต้องเป็นการกระทําก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ ดังนั้น การกระทําของนายกบจึงเป็นการรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28 และเป็นการชําระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้ว
และเมื่อนายกบได้รับสภาพความรับผิดโดยการนําที่ดินมาจํานองเพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงิน ดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นการรับสภาพความรับผิดโดยสัญญาตามมาตรา 193/28 วรรคสอง และเมื่อการรับสภาพ ความรับผิดนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงใช้บังคับได้ โดยนายเขียดสามารถฟ้องให้นายกบชําระหนี้ได้ แต่จะต้อง ฟ้องภายในอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดนั้นตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/35 ซึ่งอายุความ 2 ปี จะครบกําหนดในวันที่ 25 กันยายน 2559 ดังนั้น เมื่อนายเขียดได้นําคดีมาฟ้องศาล ในวันที่ 25 สิงหาคม 2559 นายกบจะต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้วไม่ได้ ข้อต่อสู้ของนายกบที่ว่าคดีขาดอายุความ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2557 จึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น นายกบจะต้องรับผิดชอบในหนี้เงินกู้ที่ยังค้างชําระอยู่อีกเป็นจํานวน 150,000 บาท
สรุป ข้อต่อสู้ของนายกบฟังไม่ขึ้น
ข้อ 4 นายสมศักดิ์ทําสัญญาจะซื้อบ้านเลขที่ 12/34 จากนางสมศรีในราคา 1,000,000 บาท ในวันทําสัญญา นายสมศักดิ์ได้มอบสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท ให้นางสมศรียึดถือไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานและเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา ส่วนเงินจํานวน 1,000,000 บาท ตกลงจะชําระให้ในวันจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 27 ตุลาคม 2561 ที่จะถึงนี้ แต่เมื่อถึงกําหนดนัดจดทะเบียน นางสมศรี ไม่สามารถจดทะเบียนโอนบ้านเลขที่ 12/34 ให้นายสมศักดิ์ได้ เนื่องจากนางสมศรีได้จดทะเบียน โอนขายบ้านหลังเดียวกันนี้ให้นางสมหญิงไปก่อนหน้านี้ในราคา 1,700,000บาท
ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(1) นายสมศักดิ์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายกับนางสมศรีได้หรือไม่ และนายสมศักดิ์จําเป็นต้องบอกกล่าวนางสมศรีก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาหรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) สร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท เป็นมัดจําหรือไม่ และนายสมศักดิ์มีสิทธิเรียกคืนสร้อยคอ ทองคําที่นางสมศรีรับไว้ได้หรือไม่ เพียงใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 377 “เมื่อเข้าทําสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจํา ท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจํานั้น ย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทํากันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจํานี้ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย”
มาตรา 378 “มัดจํานั้น ถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ท่านให้เป็นไปดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ
(3) ให้ส่งคืน ถ้าฝ่ายที่รับมัดจําละเลยไม่ชําระหนี้ หรือการชําระหนี้ตกเป็นพ้นวิสัยเพราะ พฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งฝ่ายนี้ต้องรับผิดชอบ”
มาตรา 379 “ถ้าการชําระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอย่างใด อย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้ได้ไซร้ เจ้าหนี้จะเลิกสัญญานั้นเสียก็ได้”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว กรณีที่จะเป็นมัดจําตามมาตรา 377 นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ไว้ในวันทําสัญญา และมัดจํานั้นอาจเป็นเงินหรือสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าในตัวเองก็ได้ เมื่อสร้อยคอทองคําเป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีค่าในตัวเองจึงส่งมอบให้แก่กันเป็นมัดจําได้
กรณีตามอุทาหรณ์ นายสมศักดิ์ทําสัญญาจะซื้อบ้านเลขที่ 12/34 จากนางสมศรีในราคา 1,000,000 บาท และในวันทําสัญญา นายสมศักดิ์ได้มอบสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท ให้นางสมศรียึดถือไว้เพื่อ เป็นพยานหลักฐานและเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญานั้น ถือว่าสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท เป็นมัดจําตาม มาตรา 377 เมื่อถึงกําหนดนัดจดทะเบียน นางสมศรีไม่สามารถจดทะเบียนโอนบ้านเลขที่ 12/34 ให้นายสมศักดิ์ได้ เนื่องจากนางสมศรีได้จดทะเบียนโอนขายบ้านหลังดังกล่าวนี้ให้นางสมหญิงไปแล้วนั้น ถือว่านางสมศรีไม่สามารถ ปฏิบัติการชําระหนี้ คือโอนกรรมสิทธิ์บ้านหลังนั้นให้แก่นายสมศักดิ์ได้ การชําระหนี้ของนางสมศรีตามสัญญา จะซื้อขายจึงตกเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งนางสมศรีต้องรับผิดชอบ ดังนั้น นายสมศักดิ์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายกับนางสมศรีได้ทันทีโดยไม่จําต้องบอกกล่าวให้นางสมศรีไปทําการโอนกรรมสิทธิ์ให้ตนก่อนแต่อย่างใดตามมาตรา 389
ส่วนสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาท ซึ่งเป็นมัดจํานั้น เมื่อการชําระหนี้ของนางสมศรีตกเป็นพ้นวิสัย เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งนางสมศรีต้องรับผิดชอบ นางสมศรีจึงต้องส่งมอบสร้อยคอทองคําหนัก 5 บาทนั้น คืนให้แก่นายสมศักดิ์ตามมาตรา 378 (3)
สรุป
(1) นายสมศักดิ์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อขายบ้านกับนางสมศรีได้โดยไม่จําเป็นต้องบอกกล่าวนางสมศรีก่อนแต่อย่างใด
(2) สร้อยคอทองคําหนัก 5 บาทเป็นมัดจํา และนายสมศักดิ์มีสิทธิเรียกคืนจากนางสมศรีได้