การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW1103 (LAW1003) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยนิติกรรมและสัญญา

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1 นายเอกทําพินัยกรรมยกที่ดินที่มีข้อกําหนดห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดินให้แก่นายโท โดยไม่ได้ตั้งใจยกให้อย่างพินัยกรรมซึ่งจะเป็นมรดกตกทอดแก่นายโทต่อเมื่อนายเอกได้เสียชีวิตลง แต่กลับทําพินัยกรรมไปเพื่อปกปิดสัญญาซื้อขายที่ดินที่ทําขึ้นระหว่างนายเอกและนายโท

ให้ท่านวินิจฉัยว่า พินัยกรรมและสัญญาซื้อขายที่ดินมีผลทางกฎหมายเป็นเช่นไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 “การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ”

มาตรา 155 “การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ แต่จะยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทําการโดยสุจริต และต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงนั้นมิได้

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่งทําขึ้นเพื่ออําพรางนิติกรรมอื่น ให้นําบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอําพรางมาใช้บังคับ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกทําพินัยกรรมยกที่ดินที่มีข้อกําหนดห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดินให้แก่นายโทโดยไม่ได้ตั้งใจยกให้อย่างพินัยกรรมซึ่งจะเป็นมรดกตกทอดแก่นายโทต่อเมื่อนายเอก ได้เสียชีวิตลง แต่กลับทําพินัยกรรมไปเพื่อปกปิดสัญญาซื้อขายที่ดินที่ทําขึ้นระหว่างนายเอกและนายโทนั้น จะเห็นได้ว่าในระหว่างนายเอกและนายโทนั้น ได้มีการทํานิติกรรมกัน 2 ฉบับ คือพินัยกรรม และสัญญาซื้อขายที่ดิน

พินัยกรรมซึ่งนายเอกได้ทําขึ้นนั้น เป็นนิติกรรมซึ่งคู่กรณีมิได้ต้องการให้มีผลผูกพันกันตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นนิติกรรมที่ทําขึ้นเพื่อต้องการปกปิดหรืออําพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งคือสัญญาซื้อขายที่ดิน ดังนั้น จึงถือว่าพินัยกรรมเป็นนิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงโดยการสมรู้ร่วมคิดกันในระหว่างคู่กรณีและมีผลเป็นโมฆะตามมาตรา 155 วรรคหนึ่ง

ส่วนสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างนายเอกและนายโทนั้น แม้จะเป็นนิติกรรมที่คู่กรณีได้ทําขึ้นมา และต้องการให้มีผลผูกพันกันตามกฎหมาย และเป็นนิติกรรมที่ถูกอําพรางซึ่งตามมาตรา 155 วรรคสอง ได้กําหนด ให้มีผลใช้บังคับกันก็ตาม แต่เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดย กฎหมาย ดังนั้น สัญญาซื้อขายที่ดินจึงมีผลเป็นโมฆะเช่นเดียวกันตามมาตรา 150

สรุป พินัยกรรมและสัญญาซื้อขายที่ดินมีผลเป็นโมฆะ

 

ข้อ 2 นิติกรรมที่เป็นโมฆะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆยะ แต่ถูกบอกล้างในภายหลังหรือไม่

ธงคําตอบ

จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 172 วรรคสอง “ถ้าจะต้องคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรม ให้นําบทบัญญัติว่า ด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ”

มาตรา 176 วรรคหนึ่ง “โมมียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน”

อธิบาย

จากหลักกฎหมายดังกล่าว นิติกรรมที่เป็นโมฆะจะมีความแตกต่างกับนิติกรรมที่เป็นโมฆียะแต่ถูกบอกล้างในภายหลัง ดังนี้ คือ

นิติกรรมที่เป็นโมฆะ เป็นนิติกรรมที่เสียเปล่า ไม่มีผลในกฎหมายที่จะเป็นนิติกรรมผูกนิติ สัมพันธ์ระหว่างบุคคลแต่อย่างใด กล่าวคือ ไม่ทําให้บุคคลใดหรือสิ่งใดเปลี่ยนแปลงฐานะไป คู่กรณียังคงอยู่ในฐานะเดิมเสมือนว่ามิได้เข้าทํานิติกรรมแต่ประการใดเลย

และในกรณีที่ต้องมีการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากนิติกรรมที่เป็นโมฆะ คู่กรณีฝ่ายที่ได้โอนรรมสิทธิ์ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เขาไปนั้น ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาคืนได้ตามหลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้

ตัวอย่าง ก. และ ข. ได้ตกลงซื้อขายที่ดินกันแปลงหนึ่งในราคา 100,000 บาท โดยทั้งสอง ได้ทําสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือแต่ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่าง ก. และ ข. ย่อมตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ได้กระทําตามแบบที่กฎหมายได้กําหนดไว้ ดังนี้ ก. จะบังคับให้ ข. ส่งมอบที่ดินหรือโอน ที่ดินให้แก่ ก. ไม่ได้ และ ข. ก็จะบังคับให้ ก. ชําระราคาค่าซื้อขายที่ดินให้แก่ ข. ไม่ได้เช่นกัน

ในกรณีที่ ก. ได้ชําระราคาค่าที่ดินให้แก่ ข. แล้ว ดังนี้ ก. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้ ข. คืนเงิน ให้แก่ตนได้ หรือถ้า ข. ได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ ก. แล้ว ข. ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาที่ดินคืนจาก ก. ได้ โดยอาศัย หลักกฎหมายว่าด้วยลาภมิควรได้ตามมาตรา 406

ส่วนนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ เป็นนิติกรรมที่มีผลใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่อาจถูกบอก ล้างให้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายหรือเสียเปล่าได้

นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น เมื่อมีการบอกล้างแล้วกฎหมายให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้น ถ้ามีการส่งมอบทรัพย์สินให้แก่กันก็ต้องมีการคืนทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าเป็น การพ้นวิสัยไม่อาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ เช่น ทรัพย์สินที่จะต้องส่งคืนนั้นสูญหายหรือบุบสลายไป ฝ่ายที่ต้องส่งคืน นั้นก็ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คู่กรณีฝ่ายที่มีสิทธิจะได้รับคืนทรัพย์สินนั้น

ตัวอย่าง ก. ทํากลฉ้อฉลเอาแหวนทองเหลืองมาหลอกขายให้ ข. โดยหลอกลวงว่าเป็นแหวนทองคํา เมื่อ ข. รู้ความจริงจึงบอกล้างนิติกรรมซื้อขายที่เป็นโมฆียะ ดังนี้ ก. ก็ต้องใช้เงินราคาแหวนที่รับไปคืน ให้ ข. และ ข. ก็ต้องคืนแหวนทองเหลืองให้ ก. หรือถ้าคืนไม่ได้ เช่น เป็นเพราะแหวนทองเหลืองนั้นสูญหายไป แล้ว ดังนี้ ข. ก็ต้องชดใช้ราคาแหวนทองเหลืองนั้นให้แก่ ก. ตามราคาของแหวนทองเหลือง

 

ข้อ 3 นายกลมได้ทําสัญญากู้เงินจากนายแบนจํานวนหนึ่งแสนบาท เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2550 มีกําหนด ชําระคืนภายในวันที่ 20 มกราคม 2551 โดยนายกลมได้นําที่ดินหนึ่งแปลงราคา 1 ล้านบาท ไปจดทะเบียนจํานองที่สํานักงานที่ดิน เมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายกลมไม่นําเงินไปชําระ นายแบน ได้ทวงถามตลอดมา จนกระทั่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งคดีขาดอายุความไปแล้ว นายแบน ได้นําคดีไปฟ้องศาลบังคับจํานองโดยให้นําที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายทอดตลาด แล้วนําเงินมา ชําระหนี้ให้แก่ตน นายกลมต่อสู้ว่าหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้ว นายแบนจะนําคดีมาฟ้องศาล บังคับจํานองไม่ได้ ดังนี้ อยากทราบว่าข้อต่อสู้ของนายกลมฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/27 “ผู้รับจํานอง ผู้รับจํานํา ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชําระหนี้จากทรัพย์สินที่จํานอง จํานํา หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิ เรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชําระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกลมได้ทําสัญญากู้เงินจากนายแบนจํานวน 100,000 บาท โดยนายกลมได้นําที่ดินหนึ่งแปลงราคา 1 ล้านบาทไปจดทะเบียนจํานองไว้ และเมื่อหนี้ถึงกําหนดชําระ นายกลม ไม่นําเงินไปชําระ จนกระทั่งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งคดีขาดอายุความไปแล้ว นายแบนได้นําคดีไปฟ้องศาล บังคับจํานองโดยให้นําที่ดินแปลงดังกล่าวไปขายทอดตลาดนั้น กรณีดังกล่าวนี้ แม้ว่าสิทธิในการเรียกร้องเงินกู้ ที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่นายแบนเจ้าหนี้ผู้รับจํานองก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบังคับชําระหนี้ เอาจากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จํานองได้ตามมาตรา 193/27 เพราะนายแบนไม่ได้ฟ้องให้นายเอกชําระหนี้เงินกู้ แต่อย่างใด ดังนั้น การที่นายกลมต่อสู้ว่าหนี้เงินกู้ขาดอายุความแล้ว นายแบนจะนําคดีมาฟ้องศาลบังคับจํานอง ไม่ได้นั้น ข้อต่อสู้ของนายกลมจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป ข้อต่อสู้ของนายกลมฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 4 นายหมูแดงได้ตกลงซื้อน้ำตาลทรายจากนายหมูกรอบจํานวน 100 กระสอบ ในราคากระสอบละ 700 บาท เป็นเงินจํานวน 70,000 บาท นายหมูกรอบได้คัดเลือกน้ำตาลทรายแยกออกมาเรียบร้อยแล้วและได้ฝากน้ำตาลทรายจํานวนดังกล่าวไว้กับนายหมูกรอบก่อนและจะมารับเอาน้ำตาลทรายไป ในวันที่ 25 ตุลาคม 2560 พร้อมทั้งชําระเงินค่าน้ำตาลทราย ปรากฏว่าวันที่ 23 ตุลาคม 2560 ได้เกิดฟ้าผ่าไฟไหม้โกดังเก็บน้ำตาลทรายของนายหมูกรอบเสียหายทั้งหมด รวมทั้งน้ำตาลทรายของนายหมูแดงที่ฝากไว้ด้วย นายหมูกรอบจึงไม่สามารถส่งมอบน้ำตาลทรายให้แก่นายหมูแดงได้ ตามสัญญา เช่นนี้ นายหมูแดงต้องชําระเงินค่าน้ำตาลทรายให้แก่นายหมูกรอบหรือไม่ เพียงใด เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 370 วรรคหนึ่ง “ถ้าสัญญาต่างตอบแทนมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการก่อให้เกิดหรือโอนทรัพยสิทธิในทรัพย์เฉพาะสิ่งและทรัพย์นั้นสูญหรือเสียหายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันจะโทษลูกหนี้มิได้ไซร้

ท่านว่าการสูญหรือเสียหายนั้นตกเป็นพับแก่เจ้าหนี้”

วินิจฉัย

ตามอุทาหรณ์ การที่นายหมูแดงได้ตกลงซื้อน้ำตาลทรายจากนายหมูกรอบจํานวน 100 กระสอบ ในราคากระสอบละ 700 บาท เป็นเงินจํานวน 70,000 บาท โดยนายหมูกรอบได้คัดเลือกน้ำตาลทรายแยกออกมาเรียบร้อยแล้ว และได้ฝากน้ำตาลทรายจํานวนดังกล่าวไว้กับนายหมูกรอบก่อนและจะมารับเอาน้ำตาลทรายไป ในวันที่ 25 ตุลาคม 2560 พร้อมทั้งชําระเงินค่าน้ำตาลทรายนั้น สัญญาซื้อขายระหว่างนายหมูแดงและนายหมูกรอบ ถือว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการโอนทรัพย์สินในทรัพย์เฉพาะสิ่ง ดังนั้นเมื่อปรากฏว่า หลังจากที่ได้ทําสัญญากันเรียบร้อยแล้วได้เกิดฟ้าผ่าไฟไหม้โกดังเก็บน้ำตาลทรายเสียหายไปทั้งหมด ย่อมถือว่า เป็นกรณีที่ทรัพย์เฉพาะสิ่งอันเป็นวัตถุแห่งสัญญาสูญหายหรือเสียหายไปด้วยเหตุอันจะโทษนายหมูกรอบลูกหนี้(ในอันที่จะต้องส่งมอบน้ำตาลทราย) มิได้ การสูญหรือเสียหายนั้นย่อมตกเป็นพับแก่นายหมูแดงเจ้าหนี้ (ในอันที่จะ ได้รับมอบน้ำตาลทราย) ตามมาตรา 370 วรรคหนึ่ง

ดังนั้น ถึงแม้ว่านายหมูกรอบจะไม่สามารถส่งมอบน้ำตาลทรายให้แก่นายหมูแดงได้ นายหมูแดง ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องชําระเงินค่าน้ำตาลทรายจํานวน 70,000 บาทให้แก่นายหมูกรอบตามสัญญา

สรุป นายหมูแดงต้องชําระเงินค่าน้ำตาลทรายจํานวน 70,000 บาทให้แก่นายหมูกรอบ

Advertisement