การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2563

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 1101 (LAW 1001) หลักกฎหมายมหาชน

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1 จงอธิบายความแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายมหาชนกับหลักกฎหมายเอกชนในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ มาให้เข้าใจอย่างชัดเจน

ความแตกต่างด้านทฤษฎี

ความแตกต่างด้านตัวการในการสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์

ความแตกต่างด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย

ความแตกต่างด้านรูปแบบนิติสัมพันธ์

ความแตกต่างด้านนิติวิธี

ความแตกต่างด้านนิติปรัชญา

ความแตกต่างด้านเขตอํานาจศาล

ธงคําตอบ

ความแตกต่างระหว่างหลักกฎหมายมหาชนกับหลักกฎหมายเอกชนในประเด็นต่าง ๆ มีดังนี้

1 ความแตกต่างด้านทฤษฎีการแบ่งแยกกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชน

(1) ทฤษฎีผลประโยชน์ เป็นทฤษฎีที่เห็นว่าการแบ่งแยกกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชนนั้น สามารถจําแนกได้จากจุดมุ่งหมายในการสร้างผลประโยชน์มาใช้ในการแบ่งแยก โดยกฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของมหาชน ส่วนกฎหมายเอกชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของเอกชนหรือปัจเจกบุคคล

(2) ทฤษฎีตัวการ เป็นทฤษฎีที่เห็นว่าการแบ่งแยกกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชนนั้น สามารถจําแนกได้จากตัวการที่ก่อหรือทําให้เกิดนิติสัมพันธ์มาใช้ในการแบ่งแยก โดยหากตัวการที่ก่อหรือทําให้เกิด นิติสัมพันธ์ทางกฎหมายได้แก่รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือปัจเจกบุคคลแล้ว นิติสัมพันธ์ทางกฎหมายที่เกิดขึ้นย่อมเป็นนิติสัมพันธ์ทางกฎหมายมหาชน แต่ถ้าหากตัวการที่ก่อหรือทําให้เกิดนิติสัมพันธ์ทางกฎหมายได้แก่ เอกชนหรือปัจเจกบุคคลด้วยกันเอง นิติสัมพันธ์ทางกฎหมายที่เกิดขึ้นย่อมเป็นนิติสัมพันธ์ทางกฎหมายเอกชน

(3) ทฤษฎีความไม่เท่าเทียมกัน เป็นทฤษฎีที่เห็นว่าการแบ่งแยกกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชนนั้น สามารถจําแนกได้จากความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีที่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ทางกฎหมาย หาก ความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีไม่เท่าเทียมกัน นิติสัมพันธ์ทางกฎหมายที่เกิดขึ้นย่อมเป็นนิติสัมพันธ์ทางกฎหมาย มหาชน แต่ถ้าหากความสัมพันธ์ระหว่างคู่กรณีเท่าเทียมกัน นิติสัมพันธ์ทางกฎหมายที่เกิดขึ้นย่อมเป็นนิติสัมพันธ์ทางกฎหมายเอกชน

2 ความแตกต่างด้านองค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีตัวการกฎหมายมหาชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ ได้แก่ รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

กฎหมายเอกชน คู่กรณี คือ องค์กรหรือบุคคลที่เข้าไปสร้างหรือทํานิติสัมพันธ์ ได้แก่ เอกชน ที่เป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่งกับเอกชนที่เป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง

3 ความแตกต่างด้านเนื้อหาและความมุ่งหมาย (ทฤษฎีผลประโยชน์)

กฎหมายมหาชน มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะและการให้บริการ สาธารณะ โดยมิได้มีความมุ่งหมายถึงผลกําไรเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน แต่มุ่งหวังถึงความพึงพอใจและการตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนรวมเป็นสําคัญ

กฎหมายเอกชน มีวัตถุประสงค์ในการดําเนินงานเพื่อประโยชน์ของเอกชนแต่ละบุคคล โดยมีความมุ่งหมายถึงผลกําไรเป็นตัวเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ในลักษณะอื่นใดเพื่อประโยชน์ของปัจเจกบุคคล เป็นสําคัญ ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นกรณีที่เป็นเอกชนบางประเภทที่อาจดําเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังเช่น มูลนิธิ หรือสมาคมการกุศล เป็นต้น

4 ความแตกต่างด้านรูปแบบของนิติสัมพันธ์ (ทฤษฎีความไม่เท่าเทียมกัน)

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการใช้บังคับอํานาจที่มีอยู่เหนือนิติสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือกับปัจเจกบุคคล โดยวิธีการที่เป็น “การกระทําฝ่ายเดียว” และปรากฏออกมาในรูปแบบ “คําสั่ง” กล่าวคือ เป็นการกระทําที่ฝ่ายหนึ่ง (รัฐและผู้ปกครอง) สามารถกําหนดหน้าที่ทางกฎหมายให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง (รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือปัจเจกบุคคล) กระทําตาม โดยฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องกระทําตามอาจไม่ได้ตกลงยินยอมด้วยก็ตาม กฎหมายเอกชน มีลักษณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักความเป็นอิสระในการแสดงเจตนา หลักความเสมอภาค และหลักเสรีภาพในการทําสัญญา โดยคู่กรณีต้องมีความสมัครใจ (เจตนาเสนอสนองตรงกัน สัญญาจึงจะเกิด) และคู่กรณีฝ่ายหนึ่งไม่มีอํานาจเหนือคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง โดยจะทําการบังคับอีกฝ่ายหนึ่งโดยปราศจากความยินยอมมิได้

5 ความแตกต่างด้านนิติวิธี

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการนํานิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนําแนวความคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายมหาชน โดยการสร้างหลักกฎหมายมหาชนขึ้นมาใช้บังคับ (โดยปฏิเสธการนําแนวความคิด วิเคราะห์ตามหลักกฎหมายเอกชนมาใช้บังคับโดยตรง)

กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการนํานิติวิธีทางกฎหมาย โดยการนําความคิดวิเคราะห์ การแก้ไขปัญหาทางกฎหมายเอกชนที่มุ่งเน้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลด้วยกันเอง และมุ่งเน้นถึงการรักษาผลประโยชน์ของเอกชนด้วยกัน

6 ความแตกต่างด้านนิติปรัชญา

กฎหมายมหาชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงการประสานและสร้างความสมดุลระหว่างผลประโยชน์สาธารณะหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมกับผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลหรือเอกชน ที่มุ่งถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามที่กฎหมายให้อํานาจหรือกําหนดไว้

กฎหมายเอกชน มีลักษณะเป็นการมุ่งเน้นถึงความยุติธรรมที่เท่าเทียมกัน และตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความสมัครใจของคู่กรณี

7 ความแตกต่างด้านเขตอํานาจศาล

กฎหมายมหาชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ หรือข้อพิพาทระหว่างรัฐกับปัจเจกบุคคล หรือเอกชนในทางกฎหมายมหาชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเฉพาะหรือศาลพิเศษในทาง มหาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เป็นต้น

กฎหมายเอกชน หากเป็นข้อพิพาทระหว่างปัจเจกบุคคล หรือเอกชนต่อปัจเจกบุคคลหรือ เอกชนในทางกฎหมายเอกชนแล้ว คดีข้อพิพาทจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรม ดังเช่น ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลภาษี เป็นต้น

 

ข้อ 2 จงอธิบายความเกี่ยวข้องกันของการควบคุมการใช้อํานาจรัฐกับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินมาโดยละเอียด พร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ธงคําตอบ

การควบคุมการใช้อํานาจรัฐ หมายถึง การควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กร ของรัฐ และหน่วยงานของรัฐนั่นเอง และเหตุที่ต้องมีการควบคุมการใช้อํานาจรัฐดังกล่าวก็เพราะกฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาครัฐ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอํานาจเหนือประชาชน หากไม่มีการควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ซึ่งการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ กระทําการหรืองดเว้นกระทําการใช้อํานาจที่มีอยู่ ตามกฎหมาย หรือใช้อํานาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน

สําหรับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น มีหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539, พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นต้น

การควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่

1 การควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบป้องกัน หมายความว่า ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือ ฝ่ายปกครองจะได้วินิจฉัยสั่งการ หรือมีการกระทําในทางปกครองที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมาย ของบุคคลใด ควรมีระบบป้องกันหรือควบคุมการวินิจฉัยสั่งการหรือการกระทํานั้นเสียก่อน กล่าวคือมีกฎหมาย กําหนดกระบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนที่จะมีคําสั่งนั้นออกไป ซึ่งการควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบป้องกันดังกล่าวนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติ ราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 นั่นเอง เช่น

(1) เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งคัดค้าน คือ การให้โอกาสผู้ที่อาจได้รับความเสียหายจากการกระทําของฝ่ายปกครอง สามารถแสดงข้อโต้แย้งของตนได้ในเรื่องที่จะสั่งการนั้น

(2) มีการปรึกษาหารือ คือการให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

(3) หลักการไม่มีส่วนได้เสีย กล่าวคือ ผู้มีอํานาจสั่งการทางปกครองจะต้องไม่มีส่วนได้เสีย

(4) มีการไต่สวนทั่วไป ซึ่งเป็นวิธีการที่กําหนดให้ฝ่ายปกครองต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริง โดยทําการรวบรวมความคิดเห็นของบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย แล้วทําเป็นรายงานก่อนที่ฝ่ายปกครองจะได้ตัดสินใจ กระทําการที่จะมีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย

(5) เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจะต้องแจ้งสิทธิและหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาทางปกครองให้คู่กรณีทราบตามความจําเป็นแก่กรณี

(6) ถ้าเป็นคําสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ จะต้องระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคําอุทธรณ์หรือคําโต้แย้งและระยะเวลาสําหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย

2 การควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบแก้ไข หมายความว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สั่งการใดหรือ วินิจฉัยเรื่องใดไปแล้ว หากกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดในทางที่มิชอบด้วยกฎหมายจึงกําหนด ให้มีระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐแบบแก้ไขโดยองค์กรที่เกี่ยวข้อง คือ ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ และระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหารโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหาร

(1) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายในของฝ่ายบริหาร เป็นระบบ การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยขึ้นอยู่กับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ โดยอาจกระทําได้โดย การบังคับบัญชา และการกํากับดูแล ได้แก่

ก) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ด้วยการควบคุมบังคับบัญชาและการกํากับดูแล การควบคุมบังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชาทําการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความเหมาะสมในการกระทําของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยอาจตรวจสอบเองหรือมีบุคคลมาร้องเรียน

การกํากับดูแล โดยหน่วยงานของรัฐจะดําเนินการตรวจสอบความชอบ ด้วยกฎหมายของการกระทําของหน่วยงานตามสายการบังคับบัญชา

ข) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ด้วยการร้องทุกข์และการอุทธรณ์ภายใน หน่วยงาน โดยสามารถร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คําสั่งไปยังผู้ออกคําสั่งนั้น

(2) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรภายนอกของฝ่ายบริหาร ได้แก่ ก) การควบคุมโดยองค์กรทางการเมือง เช่น รัฐสภา เป็นต้น

ข) การควบคุมโดยองค์กรพิเศษ คือ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯ เช่น คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

(3) ระบบการควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรศาล ได้แก่

ก) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลยุติธรรม

ข) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลปกครอง ค) การควบคุมการใช้อํานาจรัฐโดยศาลรัฐธรรมนูญการควบคุมการใช้อํานาจรัฐมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการบริหารราชการแผ่นดินของไทย ดังนี้คือ

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหาร ส่วนท้องถิ่น ราชการบริหารส่วนกลาง ประกอบด้วย กระทรวง ทบวง กรม เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการ ในรูปแบบการรวมอํานาจ โดยการปกครองแบบนี้อํานาจในการตัดสินใจทั้งหลายจะอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น มีการ รวมกําลังในการบังคับต่าง ๆ ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง และมีลําดับขั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน

ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัด อําเภอ กิ่งอําเภอ ตําบล หมู่บ้าน เป็นการจัด ระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการแบ่งอํานาจ ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่ส่วนกลางมอบอํานาจตัดสินใจ บางประการให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนภูมิภาค โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในบังคับบัญชาของส่วนกลางตลอดเวลา

ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตําบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการกระจายอํานาจ โดยรัฐ จะมอบอํานาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค เพื่อจัดทําบริการสาธารณะ บางอย่าง โดยจะมีอิสระตามสมควร ไม่ต้องขึ้นอยู่ในการบังคับบัญชาของส่วนกลาง เพียงแต่ขึ้นอยู่ในการกํากับดูแล เท่านั้น

ในการบริหารราชการแผ่นดินของไทยทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นราชการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม และการ ใช้อํานาจทางปกครองในการออกกฎ ออกคําสั่ง หรือการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การทําสัญญา ทางปกครอง เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่าง ๆ จะดําเนินการต่าง ๆ ดังกล่าวได้ ก็จะต้องมีกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายปกครองได้บัญญัติให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย เช่น พระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น

และนอกจากนี้ ในการใช้อํานาจรัฐเพื่อการดําเนินการต่าง ๆ นั้น ยังมีกฎหมายที่ได้บัญญัติเกี่ยวกับ การควบคุมการใช้อํานาจรัฐอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐฯ เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมการใช้อํานาจรัฐ โดยควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทําการใด ๆ ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลภายนอกหรือต่อหน่วยงานของรัฐ และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ เป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมการใช้อํานาจทางปกครอง ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะการใช้อํานาจทางปกครองในการออกคําสั่งทางปกครองว่าจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกําหนดไว้เท่านั้น

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทําการใด ๆ เนื่องจากการใช้อํานาจรัฐและก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น แก่บุคคลภายนอก หรือเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้อํานาจทางปกครองออกกฎหรือคําสั่ง และเป็นกฎหรือคําสั่งที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย ดังนี้บุคคลที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับความเดือดร้อนจากการใช้อํานาจหรือจากการกระทําของ เจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ย่อมสามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครองเพื่อเรียกค่าเสียหายหรือให้ศาลปกครองสั่งให้เพิกถอน กฎหรือคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นได้ โดยอาศัยสิทธิตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครองฯ นั่นเอง

 

ข้อ 3 จงอธิบายเกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย ประกอบกับการควบคุม การใช้อํานาจรัฐ ว่ามีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร มาโดยละเอียด

ธงคําตอบ

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นั้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหาร ส่วนท้องถิ่น

1 ราชการบริหารส่วนกลาง หมายความถึง ราชการที่ฝ่ายปกครองจัดทําเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ของประชาชนทั่วทั้งอาณาเขตของประเทศ เช่น การรักษาความสงบภายใน การป้องกันประเทศ การคมนาคม การคลัง เป็นต้น

องค์การที่จัดทําราชการบริหารส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนกลาง และมีอํานาจหน้าที่จัดทําราชการในอํานาจหน้าที่ของคนตลอดทั้งประเทศ

2 ราชการบริหารส่วนภูมิภาค หมายความถึง ราชการของกระทรวง ทบวง กรม อันเป็น องค์กรของราชการบริหารส่วนกลางที่ได้แบ่งแยกออกไปจัดทําตามเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อตอบ สนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนในเขตการปกครองนั้น ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง ซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ ออกไปประจําตามเขตการปกครองนั้น ๆ เพื่อบริหารราชการภายใต้การ บังคับบัญชาของราชการบริหารส่วนกลาง ซึ่งราชการบริหารส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัด อําเภอ รวมตลอดถึงตําบลและหมู่บ้าน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าในส่วนภูมิภาค

3 ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หมายความถึง ราชการบางอย่างที่รัฐมอบหมายให้องค์การ บริหารส่วนท้องถิ่นจัดทําเอง เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนเฉพาะในเขตท้องถิ่นนั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ ขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นนั้นเอง ซึ่งตามหลักไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของราชการบริหารส่วนกลาง องค์การบริหาร ส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร

ในการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยทุกระดับนั้น ไม่ว่าจะเป็นราชการบริหารส่วนกลางส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้อํานาจรัฐโดยองค์กรของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐใน การจัดทําบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม รวมทั้งการใช้อํานาจปกครองในการออกกฎหรือ คําสั่งต่าง ๆ หรือการกระทําทางปกครองในรูปแบบอื่น เช่น การทําสัญญาทางปกครอง เป็นต้น ซึ่งองค์กรของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะมีอํานาจดําเนินการต่าง ๆ ได้ก็จะต้องมีกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายปกครองได้บัญญัติ ให้อํานาจและหน้าที่ไว้ด้วย เช่น พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เป็นต้น

และการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทยดังกล่าว จะมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการควบคุมการใช้อํานาจรัฐ ดังนี้คือ

การควบคุมการใช้อํานาจรัฐ หมายถึง การควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กร ของรัฐและหน่วยงานของรัฐนั่นเอง และเหตุที่ต้องมีการควบคุมการใช้อํานาจรัฐดังกล่าวก็เพราะกฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค รัฐ หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอํานาจเหนือประชาชน หากไม่มีการ ควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ ซึ่งการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย คือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ กระทําการหรืองดเว้นกระทําการ ใช้อํานาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย หรือใช้อํานาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน

สําหรับพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น มีหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. ความรับผิดชอบทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539, พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นต้น

1 พระราชบัญญัติความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ. 2539

พระราชบัญญัติฉบับนี้จะใช้บังคับแก่การกระทําละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐต่อบุคคลภายนอกหรือต่อหน่วยงานของรัฐ โดยจะกําหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทําละเมิดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ว่าการกระทําละเมิดนั้นจะเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทําโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม

แต่อย่างไรก็ตาม การที่เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องรับผิดในทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เฉพาะเมื่อเป็นการจงใจกระทําเพื่อการเฉพาะตัว หรือจงใจให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น

2 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เป็นพระราชบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์ในการวางมาตรฐานการปฏิบัติงานราชการแผ่นดินของหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหรือคําสั่งทางปกครอง ให้มีหลักเกณฑ์ และขั้นตอนที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมแก่ประชาชน เช่น การวางกรอบวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ของรัฐในการออกกฎหรือคําสั่งทางปกครอง รูปแบบและผลของคําสั่ง การอุทธรณ์คําสั่ง การเพิกถอนคําสั่ง วิธีการแจ้งคําสั่ง ระยะเวลาและอายุความ เป็นต้น

3 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นพระราชบัญญัติที่ใช้ควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐใช้อํานาจทางปกครองหรือใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการ ออกกฎ หรือคําสั่ง หรือการกระทําใด ๆ เอกชนผู้ได้รับความเสียหายก็สามารถฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลปกครองได้ โดยอาศัยกลไกของกฎหมายฉบับนี้และที่ถือว่าพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้อํานาจรัฐนั้น เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงการควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ และหน่วยงานของรัฐ ในการดําเนินการต่าง ๆ เพื่อจัดทําบริการสาธารณะ รวมทั้งการใช้อํานาจทางปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ หรือคําสั่ง หรือการกระทําใด ๆ จะต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายได้บัญญัติไว้เท่านั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กร ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบหรือใช้อํานาจทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือก่อให้เกิด ความเสียหายแก่ประชาชนหรือแก่รัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐก็จะต้องรับผิดชอบ ในความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการกระทําดังกล่าวสามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองมีคําสั่งยกเลิกเพิกถอนการกระทําดังกล่าวนั้นได้ ทั้งนี้ก็โดยอาศัยกลไกของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวนั่นเอง

Advertisement