การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3003 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 ในวันที่หมั้นหมายนั้นนายถวิลได้หมั้น น.ส.ชูศรีด้วยแหวนเพชรหนึ่งวงซึ่งเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวจึงขอให้ดูแลรักษาไว้อย่างระมัดระวัง และตกลงจะให้เงินอีก 2 แสนบาทเป็นของหมั้น หนึ่งเดือนต่อมา น.ส.ชูศรีมีความจำเป็นในเรื่องหนี้สินจึงขายแหวนเพชรเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ นายถวิลจึงไม่ให้เงินอีก 2 แสนบาทตามสัญญา และมีความไม่พอใจ น.ส.ชูศรีมากจึงไม่ยอมสมรสด้วย นายถวิลขอให้ น.ส.ชูศรีนำแหวนมาคืน ส่วน น.ส.ชูศรีฟ้องนายถวิลให้ส่งมอบเงิน 2 แสนบาท ตามสัญญาและฟ้องเรียกค่าทดแทนเนื่องจากการเตรียมการสมรสจำนวน 50,000 บาท เช่นนี้ ท่านเห็นว่านายถวิลและ น.ส.ชูศรีจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1437 วรรคแรกและวรรคสอง การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย
มาตรา 1440 ค่าทดแทนนั้นอาจเรียกได้ ดังต่อไปนี้
(2) ทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องจากในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
วินิจฉัย
การหมั้นจะทำได้โดยการส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินที่เป็นของหมั้นตามมาตรา 1437 วรรคแรก และตกเป็นสิทธิแก่หญิงตามมาตรา 1437 วรรคสอง เมื่อได้ความว่านายถวิลได้หมั้น น.ส.ชูศรีด้วยแหวนเพชรหนึ่งวงจึงถือว่าสัญญาหมั้นสมบูรณ์ แหวนหมั้นจึงตกเป็นสิทธิของ น.ส.ชูศรีที่จะจำหน่ายจ่ายโอนอย่างใดๆก็ได้ ดังนั้น น.ส.ชูศรีจึงมีสิทธิขายแหวนหมั้นได้
เมื่อนายถวิลไม่ยอมสมรสด้วยจึงถือว่าเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้นตามมาตรา 1439 น.ส.ชูศรีมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควรได้ตามมาตรา 1440(2)
ส่วนเงิน 2 แสนบาทนั้น นายถวิลยังไม่ได้ส่งมอบให้ จึงไม่ใช่ของหมั้นตามมาตรา 1437 วรรคแรก (ฎ.1852/2506) น.ส.ชูศรีจึงเรียกเงินนี้จากนายถวิลในฐานะของหมั้นไม่ได้
สรุป น.ส.ชูศรีมีสิทธิขายแหวนหมั้น และเรียกค่าทดแทนเนื่องจากการเตรียมการสมรส แต่ไม่มีสิทธิเรียกเงิน 2 แสนบาทจากนายถวิล
ข้อ 2 นายจุฑาจดทะเบียนสมรสกับนางสาวรัตนา และต่อมาสองเดือนนายจุฑาได้กู้เงินนายสมจินต์เป็นจำนวน 2 ล้านบาทเพื่อนำมาซื้ออาคารพาณิชย์ 1 คูหา นายจุฑาและนางรัตนาได้ทำมาหากินร่วมกันจนได้กำไร 3 แสนบาท ถ้านายสุชาติบิดาของนายจุฑาได้ทราบความจริงว่านางรัตนาเป็นน้องร่วมมารดาเดียวกันกับนายจุฑา นายสุชาติจะฟ้องเรื่องการสมรสระหว่างนายจุฑากับนางรัตนาได้หรือไม่ และหากนางรัตนาขอให้อาคารพาณิชย์และเงิน 3 แสนบาทเป็นของตน แต่นายจุฑาไม่ยินยอม เช่นนี้ ทรัพย์สินจะตกเป็นของใคร เพราะเหตุใด จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 1450 ชายหญิงซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาก็ดี เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดาก็ดี จะทำการสมรสกันไม่ได้ ความเป็นญาติดังกล่าวมานี้ให้ถือตามสายดลหิตโดยไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ
มาตรา 1496 วรรคสอง คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสอาจร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะได้
มาตรา 1498 การสมรสที่เป็นโมฆะ ไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา
ในกรณีที่การสมรสเป็นโมฆะ ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสรวมทั้งดอกผลคงเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนบรรดาทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง เว้นแต่ศาลจะเห็นสมควรสั่งเป็นประการอื่น เมื่อได้เคราะห์ถึงภาระในครอบครัว ภาระในการหาเลี้ยงชีพ และฐานะของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ตลอดจนพฤติการณ์อื่นทั้งปวงแล้ว
วินิจฉัย
เมื่อนายจุฑาและนางรัตนาเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน การสมรสของบุคคลทั้งสองจึงเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 1450 ผลคือ การสมรสเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 นายสุชาติบิดาของนายจุฑาสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ ตามมาตรา 1496 วรรคสอง
การสมรสที่เป็นโมฆะไม่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามมาตรา 1498 วรรคแรก ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดมีหรือได้มาไม่ว่าก่อนหรือหลังการสมรสยังคงเป็นของฝ่ายนั้นตามมาตรา 1498 วรรคสอง ดังนั้นอาคารพาณิชย์ 1 คูหาจึงเป็นของนายจุฑา
สำหรับกำไร 3 แสนบาทที่ทำมาหาได้ร่วมกันเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันตามมาตรา 1498 วรรคสอง ให้แบ่งคนละครึ่ง จึงให้แบ่งเป็นของนายจุฑา 1.5 แสนบาท และเป็นของนางรัตนา 1.5 แสนบาท
สรุป อาคารพาณิชย์เป็นของนายจุพา ส่วนกำไร 3 แสนบาทให้แบ่งนายจุฑาและนางรัตนาคนละครึ่ง
ข้อ 3 ก่อนจดทะเบียนสมรสนายไก่หมั้นนางไข่ด้วยที่ดิน 1 แปลง หลังจากจดทะเบียนสมรส นางไข่และนายไก่ไปกู้เงินนายดำมา 4 ล้านบาท เพื่อทำห้องชุดให้เช่าเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว และใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน หลังจากนั้นไม่นานบิดานายไก่ถึงแก่กรรม นายไก่ได้รับมรดกเป็นเงินสดมา 4 ล้านบาท นางไข่บอกให้นำไปชำระหนี้นายดำ นายไก่ก็ไม่ยอม นางไข่จึงมาปรึกษาท่านว่าถ้าหย่ากันทรัพย์สินหนี้สินที่มีแบ่งกันอย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 1471 สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรส โดยการรับมอบมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้น
มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
มาตรา 1490 หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้น ให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้
(1) หนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ
มาตรา 1533 เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน
มาตรา 1535 เมื่อการสมรสสิ้นสุดลง ให้แบ่งความรับผิดในหนี้ที่จะต้องรับผิดด้วยกันตามส่วนเท่ากัน
วินิจฉัย
ที่ดินเป็นของหมั้นจึงเป็นสินส่วนตัวของนางไข่ ตามมาตรา 1471(4) ส่วนห้องชุดนั้นสร้างด้วยเงินสินสมรสจึงเป็นสินสมรสและเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสต้องแบ่งคนละครึ่ง ตามมาตรา 1474(1) ประกอบมาตรา 1533 ส่วนเงิน 4 ล้านบาทซึ่งนายไก่ได้รับมรดกมานั้นเป็นสินส่วนตัวของนายไก่ตามมาตรา 1471(3)
สำหรับหนี้เงินกู้นายดำ 4 ล้านบาทนั้นเป็นหนี้ร่วมตามมาตรา 149(1) เพราะไปกู้ด้วยกันและเพื่อทำมาหาได้เลี้ยงครอบครัว และใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน จึงเป็นหนี้ร่วม นายไก่และนางไข่ต้องรับผิดชอบคนละครึ่ง ตามมาตรา 1535
สรุป ที่ดินเป็นสินส่วนตัวของนางไข่
เงิน 4 ล้านบาทที่ได้รับมรดกเป็นสินส่วนตัวนายไก่
อาคารชุดเป็นสินสมรสแบ่งกันคนละครึ่ง
หนี้เงินกู้เป็นหนี้ร่วมนายไก่และนางไข่ต้องรับผิดชอบกันคนละครึ่ง
ข้อ 4 นางแมวกับนายหนูอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาจนมีบุตร 1 คน ก่อนจดทะเบียนสมรสคือหนึ่ง หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้วก็มีบุตรด้วยกันอีก 1 คน คือสอง หลังจากนั้นไม่นานนายหนูป่วยตาย นางแมวจึงไปอยู่กินร่วมกันกับนายมดและมีบุตรด้วยกันคือสาม
1 หนึ่ง สอง สาม เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของใคร ตั้งแต่เมื่อใด
2 นางแมวฟ้องหย่านายหนู หรือนายหนูฟ้องหย่านางแมวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
มาตรา 1536 วรรคแรก เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี
มาตรา 1546 เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
วินิจฉัย
1 หนึ่ง สอง สาม เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนางแมวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก ตามหลักที่ว่า บุตรย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ
หนึ่งเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายหนูด้วย ทั้งนี้ตามมาตรา 1547 ที่ว่าเด็กเกิดจากบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาต่อเมื่อบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง โดยความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้นให้เริ่มนับแต่วันที่เด็กเกิด ตามมาตรา 1557
สองเป็นบุตรที่เกิดระหว่างสมรส จึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายหนูและนางแมวนับแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก ตามมาตรา 1536 วรรคแรก
สามนั้นแม้เป็นบุตรที่เกิดจากนางแมวและนายมด ในระหว่างที่นางแมวไปอยู่กินร่วมกันกับนายมดฉันสามีภริยา แต่เมื่อเกิดในระหว่างสมรสระหว่างนายหนูและนางแมว ก็ต้องถือว่าสามเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายหนู โดยผลของข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา 1536 วรรคแรก เพราะนางแมวคลอดในระหว่างเป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายหนู (ส่วนนายหนูจะต่อสู้ว่าไม่ใช่บุตรของตนตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา 1539 หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
2 การกระทำของนางแมวที่ไปอยู่กินร่วมกันกับนายมด ถือว่านางแมวมีชู้ นายหนูจึงสามารถฟ้องหย่านางแมวได้ ตามมาตรา 1516(1) ส่วนนางแมวไม่สามารถฟ้องหย่านายหนูได้ เพราะไม่มีเหตุใดที่จะทำให้นางแมวใช้สิทธิฟ้องหย่าได้เลย