การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายแสงกับนางโสมเป็นพี่น้องกัน ได้ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน มีวัตถุประสงค์เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมู โดยลงหุ้นกันคนละ 3 หมื่นบาท และใช้ชื่อร้านว่า “ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นหมูเต็กกอ นครปฐม”
โดยเปิดขายที่ถนนรามคำแหง ซอย 49/1 เหตุที่ใช้ชื่อนี้ก็เพราะว่า ได้ตกลงกับนายเต็กกอ แซ่ตั้ง ซึ่งเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวหมูที่จังหวัดนครปฐมมาก่อน จนมีลูกค้ามากมาย มีชื่อเสียงโงดังคนรู้จักกันไปทั่ว โดยนายเต็กกอ แซ่ตั้ง ได้เรียกเก็บเงินเป็นค่าตอบแทนจำนวน 15,000 บาท และยอมให้นายแสงและนางโสม ใช้ชื่อนี้เป็นชื่อร้านก๋วยเตี๋ยว และนายเต็กกอจะเป็นผู้นำลูกชิ้นหมูที่ตนผลิตได้มาส่งขายให้นายแสงและนางโสม เพื่อนำมาทำเป็นก๋วยเตี๋ยวหมูขายต่อไป
ต่อมานายแสงได้กู้ยืมเงินนางแมวจำนวน 100,000 บาท เพื่อนำมาขยายกิจการร้านขายก๋วยเตี๋ยว โดยนางแมวเห็นว่าร้านขายก๋วยเตี๋ยวหมูเต็กกอ นครปฐม ที่นายแสงและนางโสมทำอยู่นี้รสอร่อยเป็นที่ถูกปากของลูกค้า และเข้าใจว่านายเต็กกอ แซ่ตั้ง เป็นหุ้นส่วนด้วย
จึงยอมให้กู้เงินไป แต่เมื่อหนี้เงินกู้ถึงกำหนดชำระ นางแมวก็ทวงถามจากนายแสงและนางโสม แต่ทั้งสองคนไม่มีเงินชำระหนี้ นางแมวจึงได้ทวงถามจากนายเต็กกอ แซ่ตั้ง แต่นายเต็กกอไม่ยอมชำระหนี้ โดยอ้างว่าตนมิใช่หุ้นส่วนกับนายแสง นางโสม และตนไม่ใช่เจ้าของร้านแห่งนี้ แต่การที่ตนยอมให้นายแสงกับนางโสมใช้ชื่อตนเป็นชื่อร้านก็เพราะเป็นเรื่องของการทำธุรกิจการค้าสมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่นิยมกันมากใครๆก็เข้าใจดี นางแมวจึงมาปรึกษาท่านว่าในกรณีดังกล่าวข้างต้น
ข้ออ้างของนายเต็กกอจะรับฟังได้หรือไม่ ให้ท่านแนะนำนางแมวด้วย
มาตรา 1054 วรรคแรก บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนก็ดี ท่านว่าบุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน
วินิจฉัย
ข้ออ้างของนายเต็กกอ รับฟังไม่ได้ เนื่องจากนายเต็กกอซึ่งไม่ได้เป็นหุ้นส่วนร่วมกับนายแสงและนางโสม แต่ได้ยอมให้นายแสงและนางโสมนำชื่อตนไปใช้เป็นชื่อห้างหุ้นส่วน และนางแมวก็เข้าใจโดยสุจริตว่า นายเต็กกอเป็นหุ้นส่วนร่วมกับนายแสงและนางโสม นายเต็กกอจึงต้องรับผิดต่อนางแมวในหนี้เงินกู้ดังกล่าวเสมือนเป็นหุ้นส่วน ตามมาตรา 1054 วรรคแรก
สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนำนางแมวว่า ข้ออ้างของนายเต็กกอรับฟังไม่ได้ นายเต็กกอจึงต้องรับผิดต่อนางแมว
ข้อ 2 นายเอกและนายโท ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันเพื่อจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยนายเอกเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ส่วนนายโทเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างนี้ได้จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ดำเนินกิจการมาได้ 8 ปี ขาดเงินสดหมุนเวียน นายเอกจึงได้ไปกู้ยืมเงินจากนายจัตวา จำนวน 500,000 บาท เพื่อนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนของห้างฯ แต่นายจัตวาได้ให้นายเอกนำอาคารที่ทำการของห้างฯ มาจำนองเป็นการประกันหนี้เงินกู้รายนี้ด้วย นายโททราบเรื่องดังกล่าวก็เกรงว่าห้างฯ จะถูกยึดบังคับขายทอดตลาด หากไม่มีเงินมาชำระหนี้แก่นายจัตวา นายโทจึงฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการจำนอง แต่นายจัตวาต่อสู้ว่านายโทมิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ศาลยกฟ้อง ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายจัตวารับฟังได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 1087 อันว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น ท่านว่าต้องให้เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ
วินิจฉัย
ข้อต่อสู้ของนายจัตวารับฟังไม่ได้ เนื่องจากนายโทเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จึงมีอำนาจจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรักษาผลประโยชน์ของห้าง การดำเนินในทางการค้าขายตามวัตถุประสงค์หรือในทางธรรมดาการค้าขายของห้าง รวมทั้งการฟ้องร้องต่อสู้คดีแทนห้างด้วย เมื่อนายเอกได้สอดเข้าจัดการงานของห้างโดยกู้ยืมเงินนายจัตวา พร้อมทั้งนำอาคารที่ทำการของห้างฯ มาจำนองประกันหนี้เงินกู้รายดังกล่าว นายโทซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเกรงว่าห้างฯ จะเสียหาย นายโทก็มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการจำนองได้ เพราะการฟ้องคดีก็ถือว่าเป็นการจัดการงานของห้างด้วยอย่างหนึ่ง นายโทจึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 1087
สรุป ข้อต่อสู้ของนายจัตวารับฟังไม่ได้
ข้อ 3 ประธานกรรมการบริษัทฯ ได้บอกกล่าวนัดประชุมใหญ่ โดยมอบหมายให้เลขานุการของตนโทรศัพท์แจ้งไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ผู้ถือหุ้นทุกคนได้รับทราบเรื่องนัดประชุมแล้ว แต่บางคนก็มิได้มาประชุม เพราะเห็นว่าเป็นการบอกกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ หากได้มีการประชุมกันและลงมติไปแล้ว ผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้มาประชุม จะฟ้องขอให้เพิกถอนมติในที่ประชุมใหญ่ในครั้งนั้นได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 1175 คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราวนั้นให้ลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่ง ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวันหรือส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคน บรรดามีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
ในคำบอกกล่าวนั้น ให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมปรึกษากันนั้นด้วย
มาตรา 1195 การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น
มาตรา 1244 อันหนังสือบอกกล่าวซึ่งบริษัทจะพึงส่งถึงผู้ถือหุ้นนั้น ถ้าว่าได้ส่งมอบให้แล้วถึงตัวก็ดี หรือส่งไปโดยทางไปรษณีย์สลักหลังถึงสำนักอาศัยของผู้ถือหุ้นดังที่ปรากฏในทะเบียนของบริษัทแล้วก็ดี ท่านให้ถือว่าเป็นอันได้ส่งชอบแล้ว
วินิจฉัย
การบอกกล่าวเรียกประชุมทางโทรศัพท์ เป็นการบอกกล่าวเรียกประชุมที่มิได้ทำตามมาตรา 1175 หรือมาตรา 1244 จึงเป็นการบอกกล่าวที่มิชอบด้วยกฎหมาย จึงถือว่าเป็นการนัดประชุมที่ไม่ถูกต้อง มติในที่ประชุมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้เข้าประชุมจึงร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมที่ผิดระเบียบนี้ได้ ตามมาตรา 1195
หมายเหตุ อนึ่งในข้อ 3 นี้ หากนักศึกษาได้วินิจฉัยว่า การบอกกล่าวการประชุม เมื่อบอกไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนโดยทางโทรศัพท์ล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันนัดประชุม เมื่อผู้ถือหุ้นทุกคนทราบกำหนดนัดประชุมแล้ว ก็ถือว่าการนัดประชุมครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถือหุ้นที่มิได้เข้าประชุม จะเพิกถอนมติที่ประชุมได้เพราะเป็นการใช้สิทธิที่ไม่สุจริต กล่าวคือ เมื่อผู้ถือหุ้นทุกคนทราบแล้ว ก็ควรมาประชุมจะอ้างว่าการบอกกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายจึงไม่ยอมมาร่วมประชุม และขอเพิกถอนมติ หากมติดังกล่าวตนไม่พอใจการกระทำอย่างนี้จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจรติตามมาตรา 5 หากนักศึกษาวินิจฉัยในทำนองอย่างนี้ก็ให้ได้คะแนนเช่นเดียวกัน