การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายบุญมา  นายบุญมี  นายบุญมาก  ได้ตกลงตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  มีวัตถุประสงค์ค้าขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง  และตกลงให้นายบุญมากเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  นายบุญมากได้ไปกู้เงินจากนายเอกมาสองแสนบาทเพื่อจ่ายค่าปูนซีเมนต์ที่ซื้อมาขายในร้าน ต่อมานายบุญมาได้ไปชวนนายบุญเกิดเข้ามาเป็นหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งโดยนายบุญมีและนายบุญมากเห็นชอบด้วย  พอสิ้นปีห้างหุ้นส่วนค้างชำระหนี้นายเอกอยู่อีกหนึ่งแสนบาท  ดังนี้  นายเอกฟ้องให้ผู้ใดชำระเงินกู้ต่อตนได้บ้าง  อธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา  1052  บุคคลผู้ข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ  ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย

วินิจฉัย

หนี้เงินกู้สองแสนบาทที่กู้จากนายเอกเพื่อจ่ายค่าปูนซีเมนต์เป็นหนี้ในทางธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนตามมาตรา  1050  จึงผูกพันหุ้นส่วนทุกคนได้ร่วมกันรับผิด

ส่วนนายบุญเกิดแม้เพิ่งเข้ามาเป็นหุ้นส่วนที่หลังการกู้เงิน  แต่มาตรา  1052  ให้หุ้นส่วนที่เข้ามาทีหลังต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ทั้งหลายที่มีอยู่ในห้างหุ้นส่วนด้วย  ดังนั้นนายเอกจึงฟ้องนายบุญเกิดได้

สรุป  นายเอกมีสิทธิฟ้องทั้งนายบุญมา  นายบุญมี  นายบุญมาก  และนายบุญเกิด  ให้ร่วมกันรับผิดในหนี้เงินกู้

 

ข้อ  2  นายหนึ่ง  นายสอง  และนายสาม  เข้าหุ้นกันตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขายบะหมี่สำเร็จรูป  และจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนใน  พ.ศ. 2546 นายหนึ่งและนายสองเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  ส่วนนายสามเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ต่อมานายสามได้จ่ายเช็ค  1  ฉบับ  โดยลงลายมือชื่อตนเองและประทับตราห้าง  ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของห้าง  จำนวน  30,000  บาท  โดยนายหนึ่งและนายสองมอบหมายให้นายสามลงชื่อในเช็คแทนตนได้  ดังนี้  หากหนี้ถึงกำหนดชำระปรากฏว่าเช็คของห้างใบที่นายสามลงชื่อเป็นเช็คเด้ง  เจ้าหนี้จะฟ้องให้ใครรับผิดในหนี้ดังกล่าวได้บ้าง  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

มาตรา  1050  การใดๆอันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น  ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้นๆด้วย  และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้  อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น

มาตรา  1087  อันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น  ท่านว่าต้องให้แต่เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการ

มาตรา  1088  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

มาตรา  1095  วรรคแรก  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

วินิจฉัย

เจ้าหนี้ฟ้องนายหนึ่งและนายสองได้เพราะนายหนึ่งและนายสองเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด  ต้องร่วมกันรับผิดตามมาตรา  1050 ในหนี้ที่เป็นในทางธรรมดาการค้าขายของห้าง

เจ้าหนี้ฟ้องนายสามได้  แม้จะเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ซึ่งตามหลักกฎหมายแล้วเจ้าหนี้ของห้างไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้จนกว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดเลิกกัน  ตามมาตรา  1095  วรรคแรก  แต่นายสามไม่มีอำนาจจัดการงานของห้างหุ้นส่วนตามมาตรา  1087  ดังนั้นการเซ็นเช็คและประทับตราห้างเพื่อชำระหนี้ของห้างเป็นการสอดเข้าไปจัดการของห้างฯ  จึงต้องร่วมรับผิดกับหุ้นส่วนอื่นๆ  โดยไม่จำกัดจำนวนตามมาตรา  1088  วรรคแรก  และแม้ห้างยังไม่เลิกก็ฟ้องได้ทันที

เจ้าหนี้ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดให้รับผิดได้  เพราะห้างมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล  จึงถูกฟ้องได้แยกต่างหากจากหุ้นส่วน  และเมื่อผู้จัดการเป็นผู้มอบหมายให้นายสามเซ็นเช็คแทนตน  เช็คใบนี้จึงผูกพันห้าง  ห้างปฏิเสธไม่ชำระหนี้ตามเช็คนี้ไม่ได้

 

ข้อ  3  สมจิตเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัททอผ้าแห่งหนึ่ง  และต่อมาได้รับเลือกให้เป็นกรรมการในบริษัทดังกล่าว  โดยผู้ถือหุ้นทั้งหลายไม่ทราบว่าสมใจภรรยาของสมจิตมีกิจการทอผ้าตั้งอยู่ในท้องที่เดียวกับที่บริษัทตั้งอยู่  และเปิดกิจการมาหลายปีแล้ว  สมจิตได้ทำหน้าที่กรรมการบริษัทด้วยความระมัดระวังเช่นบุคคลค้าขายทั้งหลายพึงกระทำโดยไม่มีความบกพร่อง  แต่บริษัทก็ยังขาดทุนเป็นเงิน  50,000  บาท  ในตอนสิ้นปี  ต่อมาผู้ถือหุ้นทั้งหลายทราบว่าภรรยาของสมจิตมีกิจการประเภทเดียวกับบริษัท  จึงต้องการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสมจิต  ดังนี้  สมจิตจะต้องรับผิดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  1168  วรรคแรก  ในอันที่จะประกอบกิจการของบริษัทนั้น  กรรมการต้องใช้ความเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวัง

วรรคสาม  อนึ่งท่านห้ามมิให้ผู้เป็นกรรมการประกอบการค้าขายใดๆ  อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน  และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัทนั้น  ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น  หรือเข้าไปเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างค้าขายอื่นซึ่งประกอบกิจการมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน  และแข่งขันกับกิจการของบริษัท  โดยมิได้รับความยินยอมของที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น

วรรคท้าย  บทบัญญัติที่กล่าวมาข้างบนนี้ให้ใช้บังคับตลอดถึงบุคคลซึ่งเป็นผู้แทนของกรรมการด้วย

วินิจฉัย

สมจิตแม้ว่าจะเป็นกรรมการบริษัท  แต่ก็มิได้ประกอบการค้าขายใดๆ  อันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน  และเป็นการแข่งขันกับการค้าขายของบริษัท  ตามมาตรา  1168  วรรคสาม  และแม้สมใจจะเป็นภรรยาของสมจิตแต่ก็ไม่ถือว่าสมใจเป็นผู้แทนของสมจิตแต่อย่างใด  ตามมาตรา 1168  วรรคท้าย  สมจิตจึงไม่ต้องรับผิด  และแม้ว่าบริษัทขาดทุนเป็นเงิน  50,000  บาท  สมจิตก็ไม่ต้องรับผิด  เพราะสมจิตได้ทำหน้าที่กรรมการบริษัทด้วยความระมัดระวังเช่นบุคคลค้าขายทั้งหลายพึงกระทำโดยไม่มีความบกพร่องแล้ว  ตามมาตรา  1168  วรรคแรกซึ่งตามธรรมดาของการค้าขายนั้นก็ต้องมีขาดทุนบ้าง  ดังนั้น  สมจิตจึงไม่ต้องรับผิดใดๆ

สรุป  สมจิตไม่ต้องรับผิดใดๆ  บริษัทจึงฟ้องให้สมจิตรับผิดไม่ได้

Advertisement