การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายโชค นายทวี และนายทรัพย์ ได้เข้าหุ้นกันตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ชื่อห้างหุ้นส่วนโชคทวีทรัพย์ วัตถุประสงค์ของห้างคือ ขายรถจักรยานยนต์ โดยตกลงกันให้นายโชคเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กิจการดำเนินมาได้ประมาณ 2 ปี นายทรัพย์ก็ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 นายโชคและนายทวีก็ยังคงดำเนินกิจการค้าต่อไปโดยใช้ชื่อเดิม ต่อมานายโชคได้สั่งซื้อรถจักรยานยนต์จากบริษัท สยามยานยนต์ จำกัด มาจำหน่ายเป็นหนี้ค่ารถจักรยานยนต์ จำนวนเงิน 500,000 บาท เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายโชคและนายทวีไม่มีเงินชำระหนี้ ดังนี้ หากบริษัท สยามยานยนต์เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนฯ ยังใช้ชื่อนายทรัพย์เป็นชื่อห้างอยู่จึงฟ้องกองมรดกของนายทรัพย์ให้รับผิดชอบ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่ากองมรดกของนายทรัพย์ต้องรับผิดชอบในหนี้ดังกล่าวหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 1054 วรรคสอง ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว และห้างหุ้นส่วนนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิมของห้าง ท่านว่าเหตุเพียงที่คงใช้ชื่อเดิมนั้นก็ดี หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดีหาทำให้ความรับผิดมีแก่กองทรัพย์มรดกของผู้ตายเพื่อหนี้ใดๆ อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้นไม่
วินิจฉัย
กองมรดกของนายทรัพย์ไม่ต้องรับผิดชอบ แม้ว่าห้างหุ้นส่วนฯ ยังใช้ชื่อนายทรัพย์เป็นชื่อห้างอยู่ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นหลังจากที่นายทรัพย์ได้ถึงแก่กรรมแล้ว ตามมาตรา 1054 วรรคสอง
ข้อ 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชิดชัยบริการ มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับขนส่งและคนโดยสาร มีนายเชิดเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายชัยเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ห้างหุ้นส่วนจำกัดนี้ได้จดทะเบียนถูกต้องเรียบร้อยแล้วระหว่างดำเนินกิจการ นายเชิดได้สั่งซื้อรถยนต์บรรทุกมาใช้ในกิจการงานของห้างฯ จากบริษัท ตรีทอง จำกัด และยังมิได้ชำระราคา ต่อมาห้างหุ้นส่วนจำกัดผิดนัดชำระหนี้ ส่วนนายชัยต้องการประกอบกิจการขนส่งสินค้าและคนโดยสารเช่นเดียวกับกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่นายเชิดไม่ยอมให้ทำ เพราะเห็นว่าเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนฯ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า
1 นายชัยจะประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้หรือไม่
2 เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างฯ จะฟ้องนายชัยให้รับผิดในหนี้สินของห้างฯ ได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 1082 ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนใดยินยอมโดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างไซร้ ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนดังว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดฉะนั้น
แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกันเองนั้น ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนเช่นนั้น ท่านให้คงบังคับตามสัญญาหุ้นส่วน
มาตรา 1090 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดจะประกอบการค้าขายอย่างใดๆ เพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก็ได้ แม้ว่าการงานเช่นนั้นจะมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันกับการค้าขายของห้างหุ้นส่วนก็ไม่ห้าม
วินิจฉัย
1 นายชัยเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด จึงประกอบกิจการแข่งขันกับกิจการของห้างฯได้ตามมาตรา 1090
2 นายชัยต้องรับผิดเนื่องจากได้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างฯ ตามมาตรา 1082 เจ้าหนี้ฟ้องนายชัยได้โดยไม่ต้องรอให้ห้างฯเลิก
ข้อ 3 นายเอกได้ทำหนังสือโอนหุ้นชนิดระบุชื่อของตนให้นายโทโดยมิได้แถลงหมายเลขหุ้น และไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรอง แต่นายโทก็ได้นำหนังสือโอนหุ้นไปที่บริษัทให้กรรมการแก้ไขชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเป็นชื่อนายโทเรียบร้อยแล้ว ดังนี้ หากพบว่า นายเอกยังค้างชำระเงินค่าหุ้นอยู่อีก 5 แสนบาท บริษัทจำกัดจึงเรียกให้นายเอกรับผิด แต่นายเอกได้ต่อสู้ว่าได้มีการจดแจ้งการโอนโดยใส่ชื่อผู้รับโอนในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว นายเอกจึงไม่ต้องรับผิดในเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายเอกรับฟังได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 1129 อันว่าหุ้นนั้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่เมื่อเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้นๆด้วยแล้ว ท่านว่าเป็นโมฆะ อนึ่งตราสารอันนั้นต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย
การโอนเช่นนี้จะนำมาใช้แก่บริษัท หรือบุคคลภายนอกไม่ได้ จนกว่าจะได้จดแจ้งการโอนทั้งชื่อและสำนักของผู้รับโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้น
วินิจฉัย
การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อโดยไม่ได้แถลงหมายเลขหุ้น และไม่มีพยานรับรองลายมือชื่อการโอนจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 1129 วรรคสอง หุ้นจึงยังเป็นของผู้โอนอยู่ จึงถือว่านายเอกยังเป็นเจ้าของหุ้นนั้น แม้จะแก้ไขชื่อเป็นชื่อของนายโทแล้ว นายโทก็ยังมิใช่เจ้าของหุ้น บริษัทจึงเรียกเก็บเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระจากนายเอกได้