การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3002 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วน

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายอาทิตย์และนายจันทร์ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันทำกิจการปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งบนถนนรามคำแหง  โดยทั้งสองคนเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการร่วมกัน  ต่อมานายอาทิตย์รับเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเครื่องยี่ห้อมีชื่อของต่างประเทศยี่ห้อหนึ่ง  และส่งขายตามปั๊มน้ำมันต่างๆ  ยกเว้นปั๊มน้ำมันที่ตนและนายจันทร์เข้าหุ้นกันอยู่  เพราะเกรงนายจันทร์รู้ว่าตนแอบมีรายได้ทางอื่นเพิ่ม  นายอาทิตย์เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเครื่องได้  8  เดือน  นายจันทร์รู้จึงฟ้องให้นายอาทิตย์ชดใช้เงินในจำนวนผลกำไรที่นายอาทิตย์ทำมาหาได้จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเครื่อง  ดังนี้  นายอาทิตย์ต้องชดใช้แก่ห้างหุ้นส่วนตามที่นายจันทร์ฟ้องหรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1038  ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น  โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ

ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรานี้ไซร้  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด  หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น  แต่ท่านห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันทำการฝ่าฝืน

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  1038  กฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียน  ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพดุจเดียวกัน  คือ  มีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่นๆ  ดังนั้นถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนได้ไปประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด  แต่กิจการที่ไปกระทำนั้นไม่มีสภาพเป้นอย่างเดียวกันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนที่ตนเป็นหุ้นส่วนอยู่เลย  ย่อมสามารถกระทำได้  ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา  1038  วรรคแรก  แต่อย่างใด

กรณีตามปัญหา  การที่นายอาทิตย์และนายจันทร์เข้าหุ้นส่วนกันเพื่อทำกิจการปั๊มน้ำมัน  เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียน  จึงถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน  การที่นายอาทิตย์ได้ไปประกอบกิจการอีกอย่างหนึ่ง  คือการรับเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเครื่องส่งขายตามปั๊มน้ำมันต่างๆนั้น  ไม่ถือว่าเป็นการประกอบกิจการที่มีสภาพเป้นอย่างเดียวกันกับกิจการของห้างหุ้นส่วน  ทั้งนี้เพราะนายอาทิตย์ประกอบกิจการโดยการเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเครื่องเท่านั้น  มิได้ให้บริการจำหน่ายน้ำมันเช่นเดียวกับกิจการของห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด  ดังนั้นการประกอบกิจการของนายอาทิตย์จึงไม่อยู่ในความหมายของการประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน  ตามมาตรา 1038  วรรคแรก  และเมื่อนายจันทร์ได้ฟ้องให้นายอาทิตย์รับผิดชดใช้เงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนตามจำนวนผลกำไรที่นายอาทิตย์ทำมาหาได้นั้น  นายอาทิตย์จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนตามที่นายจันทร์ฟ้อง

สรุป  นายอาทิตย์ไม่ต้องรับผิดชดใช้แก่ห้างหุ้นส่วนตามที่นายจันทร์ฟ้อง

 

ข้อ  2  ห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนผล  มีวัตถุประสงค์รับเหมาก่อสร้างทั่วราชอาณาจักร  มีนายพูนผลเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  มีนางเดือนเพ็ญเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  เมื่อห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนจัดตั้งแล้วห้างฯได้กู้ยืมเงินจำนวนห้าแสนบาทจากนายมั่งมี  โดยนางเดือนเพ็ญเป็นผู้เขียนสัญญากู้และลงนามในสัญญาในฐานะเป็นผู้เขียนสัญญาและพยาน  ส่วนนายพูนผล ลงนามในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการ  เป็นผู้กู้ในนามของห้างฯ  ต่อมาเมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ  นายมั่งมีจึงฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนผล  นายพูนผลและนางเดือนเพ็ญ  ในฐานะเป็นผู้เขียนสัญญาและพยานโดยถือว่าเป็นการสอดเข้าจัดกิจการของห้างฯ  ต้องร่วมรับผิดด้วย  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยความรับผิดของนางเดือนเพ็ญ

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1088  วรรคแรก  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

มาตรา  1095  วรรคแรก  ตราบใดห้างหุ้นส่วนจำกัดยังมิได้เลิกกัน  ตราบนั้นเจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องร้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  1088  วรรคแรก  กฎหมายได้บัญญัติไว้ว่า  ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด  ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นก็จะต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

การกระทำที่จะถือว่าเป็นการสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้น  จะต้องเป็นการกระทำถึงขนาดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานในอำนาจหน้าที่ของห้างหุ้นส่วนผู้จัดการ  หรือของผู้จัดการ  และต้องเป็นการกระทำที่เป็นการติดต่อกับบุคคลภายนอก  จนทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจผิดคิดว่ามีอำนาจจัดการ

กรณีตามปัญหา  การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพูนผลได้กู้ยืมเงินจากนายมั่งมี  โดยมีนายพูนผลลงนามในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้กู้ในนามของห้างฯ    ส่วนนางเดือนเพ็ญซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเป็นเพียงผู้เขียนสัญญากู้  และลงนามในสัญญาในฐานะเป็นผู้เขียนสัญญาและพยานเท่านั้น  ดังนั้นการกระทำของนางเดือนเพ็ญจึงไม่ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปจัดการงานของห้างฯ  ตามมาตรา  1088  วรรคแรก  นายมั่งมีจึงไม่มีสิทธิฟ้องนางเดือนเพ็ญในขณะที่ห้างฯยังไม่เลิกกันตามมาตรา  1095  วรรคแรก  เพราะนางเดือนเพ็ญเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด  ถ้าจะฟ้องนางเดือนเพ็ญ  ก็จะต้องฟ้องเมื่อห้างฯเลิกกันแล้วเท่านั้น

สรุป  นายมั่งมีจะฟ้องให้นางเดือนเพ็ญรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวในขณะที่ห้างฯยังไม่เลิกกันไม่ได้  เพราะการกระทำของนางเดือนเพ็ญไม่ถือว่าเป็นการสอดเข้าไปจัดการงานของห้างฯ

 

ข้อ  3  บริษัทนพเก้า  จำกัด  มีวัตถุประสงค์ซื้อขายและประกอบการเกี่ยวกับเครื่องประดับ  มีนางสาวหยกเป็นกรรมการผู้จัดการ  ต่อมาบริษัทประสบภาวะขาดทุนติดต่อกันถึงห้าปี นางสาวหยกเห็นว่าคงประกอบกิจการต่อไปไม่ไหวจึงเรียกผู้ถือหุ้นทั้งหลายมาประชุมเพื่อขอมติในเรื่องการเลิกบริษัท  เมื่อถึงวันประชุมมีผู้ถือหุ้นมาประชุมรวมกัน  5  คน  รวมหุ้นได้ครบองค์ประชุมแล้ว  ที่ประชุมได้ทำการประชุมมีผู้ลงมติโดยวิธีชูมือเห็นด้วยกับการเลิกบริษัท  3  คน  อีก  2  คนไม่เห็นด้วย  ดังนี้  นางสาวหยกจะนำมติของที่ประชุมไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัทได้หรือไม่  จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา  1194  การใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำโดยมติพิเศษ  ที่ประชุมใหญ่ต้องลงมติในเรื่องนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมาก  ไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

มาตรา  1236(4)  อันบริษัทจำกัดย่อมเลิกกันด้วยเหตุดังจะกล่าวต่อไปนี้  คือ

 (4) เมื่อมีมติพิเศษให้เลิก

วินิจฉัย

กรณีตามปัญหา  การที่นางสาวหยกซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนพเก้า  จำกัด  มีความประสงค์จะเลิกบริษัท  และได้เรียกผู้ถือหุ้นทั้งหลายมาประชุมเพื่อขอมติพิเศษในเรื่องการเลิกบริษัท  ย่อมสามารถทำได้ตามมาตรา  1236
(4)  แต่อย่างไรก็ดี  การลงมติพิเศษเพื่อให้เลิกบริษัทนั้นจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา  1194  กล่าวคือ  จะต้องได้รับมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงสามในสี่ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงคะแนน

แต่จากข้อเท็จจริงตามปัญหา  ปรากฏว่า  ในวันประชุมมีผู้ถือหุ้นมาประชุม  5  คน  และในการลงมติโดยวิธีชูมือ  มีผู้ถือหุ้นที่เห็นด้วยกับการเลิกบริษัท  3  คน  อีก  2  คน  ไม่เห็นด้วย  จึงถือว่าคะแนนเสียงที่ลงมติให้เลิกบริษัทนั้นไม่ถึงสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมด  ดังนั้นมติของที่ประชุมดังกล่าวจึงไม่ใช่มติพิเศษตามมาตรา  1194  นางสาวหยกจะนำมติของที่ประชุมไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัทไม่ได้

สรุป  นางสาวหยก  จะนำมติดังกล่าวไปดำเนินการจดทะเบียนเลิกบริษัทไม่ได้

Advertisement