ข้อสอบกระชวนวิชา LAW 1001 หลักกฎหมายมหาชน
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อข้อ 1 จงอธิบายความสัมพันธ์ของการควบคุมบังคับบัญชากับการกำกับดูแลว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรต่อการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย
ธงคำตอบ
ความสัมพันธ์ของการควบคุมบังคับบัญชา กับการกำกับดูแลมีความเกี่ยวข้องต่อการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย ดังนี้คือ
การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทย ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น
ราชการส่วนกลาง ประกอบด้วย กระทรวง ทบวง กรม เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการรวมอำนาจ โดยการปกครองแบบนี้อำนาจในการตัดสินใจทั้งหลายจะอยู่ที่ส่วนกลางทั้งสิ้น มีการรวมกำลังในการบังคับต่างๆ ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง และมีลำดับขั้นการบังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อย่างชัดเจน
ราชการส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการแบ่งอำนาจ ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่ส่วนกลางมอบอำนาจตัดสินใจบางประการให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนภูมิภาค โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวก็ยังคงอยู่ในบังคับบัญชาของส่วนกลางตลอดเวลา
ราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย อบจ. อบต. เทศบาล พัทยา และกรุงเทพมหานคร เป็นการจัดระเบียบบริหารราชการในรูปแบบการกระจายอำนาจ โดยรัฐจะมอบอำนาจปกครองบางส่วนให้แก่องค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรส่วนกลาง หรือส่วนภูมิภาค เพื่อจัดทำบริการสาธารณะบางอย่าง โดยจะมีอิสระตามสมควรไม่ต้องขึ้นอยู่ในการบังคับบัญชาของส่วนกลาง เพียงแต่ขึ้นอยู่ในการกำกับดูแลเท่านั้น
การควบคุมบังคับบัญชา คือ อำนาจที่หัวหน้าหน่วยงานใช้ปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เช่น การที่รัฐมนตีใช้อำนาจบังคับบัญชาเหนือเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในกระทรวง อำนาจบังคับบัญชาเป็นอำนาจที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งการใดๆก็ได้ตามที่ตนเห็นว่าเหมาะสม สามารถกลับ แก้ ยกเลิก เพิกถอนคำสั่ง หรือ การกระทำของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้เสมอ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจบังคับบัญชานี้ก็ต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ว่าจะใช้ไปในทางที่เหมาะสมแต่ขัดต่อกฎหมายได้ ซึ่งการควบคุมบังคับบัญชานี้ เป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคของคนไทยนั่นเอง
การควบคุมกำกับดูแล คือ การควบคุมที่ไม่ใช่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรควบคุมกำกับ จึงเป็นอำนาจที่มีเงื่อนไข คือ จะใช้ได้ต่อเมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้และต้องเป็นไปตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด ในการควบคุมกำกับนั้น องค์กรควบคุมกำกับไม่มีอำนาจสั่งการให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติตามที่ตนเห็นสมควร องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้นองค์กรควบคุมจึงเป็นแต่ควบคุมกำกับให้องค์กรภายใต้การควบคุมกำกับปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งการควบคุมกำหับดูแลนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับส่วนท้องถิ่นของไทยนั่นเอง
ข้อ 2 การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ คือ การควบคุมสิ่งใด และที่ว่าดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หมายถึงอะไร จงอธิบายพร้อมยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ หมายถึง การควบคุมการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรของรัฐ หน่วยงานของรัฐนั่นเอง ซึ่งการใช้อำนาจของเจ้า
หน้าที่ของรัฐ มีได้ 2 รูปแบบ คือ
1. อำนาจผูกพัน คือ อำนาจหน้าที่ที่องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐต้องปฏิบัติเมื่อมีข้อเท็จ จริงอย่างใด ๆ เกิดขึ้นตามที่กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ได้บัญญัติกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนี้ องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐจะต้องออกคำสั่ง และคำสั่งนั้นต้องมีเนื้อความเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น เรื่องการร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อชายและหญิงผู้ร้องขอมีคุณสมบัติครบถ้วน และปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการสมรสที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์แล้ว นายทะเบียนครอบครัวจะต้องทำการจดทะเบียนสมรสให้แก่ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนสมรส เสมอ เป็นต้น
2. อำนาจดุลพินิจ อำนาจดุลพินิจแตกต่างกับอำนาจผูกพันข้างต้น กล่าวคือ อำนาจดุลพินิจเป็นอำนาจที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติ หรือองค์กรฝ่ายปกครองของรัฐสามารถเลือกตัดสินใจออกคำสั่งหรือสั่งการใดๆ ได้ตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพื่อให้บรรลุผลตามความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย กล่าวอีกอย่างหนึ่ง อำนาจดุลพินิจ ก็คือ อำนาจที่กฎหมายเปิดช่องให้องค์กรฝ่ายปกครองของรัฐมีอิสระในการตัดสินใจเมื่อมีเหตุการณ์หรีอมีข้อเท็จจริงใด ๆ กำหนดไว้เกิดขึ้น
เหตุที่ต้องมีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐดังกล่าวก็เพราะกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่ไม่เสมอภาค รัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจเหนือประชาชนหากไม่มีการควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐอาจใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้
การใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐ องค์กรของรัฐ หน่วยงานของรัฐ กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใช้อำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย หรือใช้อำนาจนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย อันก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน ตัวอย่างเช่น
(1) กระทำการข้ามขั้นตอน เช่น ในกรณีกฎหมายบัญญัติให้ก่อนที่รัฐบาลจะดำเนินการเรื่องสำคัญๆ จะต้องถามความเห็นประชาชนก่อน แต่รัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ดำเนินการต่างๆโดยไม่ถามความเห็นของประชาชนก่อน ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้โต้แย้ง ถือว่าเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะการนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
(2) กระทำการโดยปราศจากอำนาจ เช่น กฎหมายไม่ได้กำหนดหรือมอบอำนาจและหน้าที่ในการอนุมัติ อนุญาตให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐในตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ แต่เจ้าพนักงานธุรการผู้นั้นไปดำเนินการอนุมัติ หรืออนุญาตแทนปลัดอำเภอโดยไม่มีอำนาจ
(3) กระทำการผิดแบบ เช่น การออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางกรณีกฎหมายบัญญัติให้ออกเป็นหนังสือ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับไปออกคำสั่งด้วยวาจา ย่อมเป็นการทำผิดแบบที่กฎหมายกำหนด (4) กระทำการนอกวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เช่น การที่ผู้บังคับบัญชานำเรื่องการย้ายการโอนมาเป็นการลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เพราะเรื่องการย้ายการโอนข้าราชการสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ต่อตัวข้าราชการเอง มิใช่สร้างขึ้นมาเพื่อลงโทษแก่ตัวราชการผู้นั้น
(5) กระทำการโดยการสร้างภาระให้ประชาชน เช่น เจ้าหน้าที่ของรัฐไปสร้างภาระด้านค่าใช้จ่ายหรือไปกำหนดให้ประชาชนกระทำการใดๆ เพื่อเติมโดยไม่มีความจำเป็น
(6) กระทำการโดยมีอคติหรือไม่สุจริต เช่น กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการสั่งปิดโรงงานที่ปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลองได้เพียง 1 เดือน แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐกลับสั่งปิดโรงงานดังกล่าวถึง 2 เดือน เพราะเคยมีปัญหาส่วนตัวกันมาก่อน ย่อมเป็นการใช้อำนาจโดยมีอคติ
และการควบคุมการใช้อำนาจรัฐนั้น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
1 การควบคุมแบบป้องกัน หมายถึง ก่อนที่ฝ่ายบริหารจะได้วินิจฉัยสั่งการหรือก่อนจะมีการกระทำในทางปกครอง ที่จะไปกระทบต่อสถานภาพทางกฎหมายของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะมีระบบป้องกันเสียก่อน กล่าวคือ มีกฎหมายกำหนดกระบวนการ หรือขั้นตอนต่างๆก่อนที่จะมีคำสั่งออกไป
การควบคุมแบบป้องกัน จึงเป็นวิธีการที่ช่วยเสริมการควบคุมโดยทางศาล เพราะฝ่ายปกครองจะต้องระมัดระวังในขั้นตอนการพิจารณาออกคำสั่ง ทำให้การกระทำของฝ่ายปกครองมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดคดีที่จะมีไปสู่ศาลอีกทางหนึ่งด้วย
2 การควบคุมแบบแก้ไข หรือการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจทางปกครอง หลังการใช้อำนาจทางปกครองไปแล้ว และเกิดปัญหาจากการใช้อำนาจทางการปกครองนั้นขึ้น จึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้
วิธีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐที่ดีที่สุด คือ การควบคุมแบบแก้ไข (ภายหลัง) ที่เรียกว่าใช้ระบบตุลาการ (ศาลคู่) นั่นคือ ศาลปกครอง เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีระบบการพิจารณาที่ใช้ศาล และมีกฎหมายรองรับทำให้การพิจารณาพิพากษาเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างยิ่ง อาทิเช่น กฎหมายจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กฎหมายว่าด้วยความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ พ.ศ.2539
ข้อ 3 กฎหมายมหาชนคืออะไร มีความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่น เช่น รัฐศาสตร์อย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ
ความหมายของกฎหมายมหาชนนั้น มีผู้ให้คำนิยามไว้หลากหลาย ทั้งนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ รวมทั้งนักกฎหมายของไทย แต่โดยนัยแห่งความหมายแล้วมีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า
กฎหมายมหาชน คือ กฎหมายที่กล่าวกำหนดถึงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั้งหลายเกี่ยวข้องกับ สถานะและอำนาจ ของรัฐและ ผู้ปกครอง รวมทั้งเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและ ผู้ปกครองกับพลเมือง ผู้อยู่ใต้ปกครองในฐานะที่รัฐและผู้ปกครองมีเอกสิทธิ์ทางปกครองเหนือพลเมืองซึ่งอยู่ในฐานะเป็นเอกชน
จากความหมายของกฎหมายมหาชนที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า กฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะว่าในเรื่องของการปฏิรูปการเมืองการปกครอง การปฏิรูปทุกๆด้านในประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ใช้อำนาจของรัฐเข้าไปจัดการแก้ไข ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเรื่องต่างๆเหล่านี้ให้ดีขึ้น ประชาชนในฐานะที่เป็นพลเมืองของรัฐ จะต้องอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของรัฐ ซึ่งรัฐที่ปกครองด้วยระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยนั้น จะต้องมีหลักการปกครองที่ยึดหลักการปกครองโดยกฎหมายหรือว่าหลักนิติรัฐ ดังนั้น กฎหมายมหาชนจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประชาชน เพราะว่าเรื่องของกฎหมายมหาชนเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐ ซึ่งเป็นไปในลักษณะที่รัฐมีอำนาจเหนือราษฎร เพราะฉะนั้นประชาชนจึงเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนด้วย เพราะประชาชนจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐนั่นเอง
กล่าวโดยสรุป
- กฎหมายมหาชนนั้น จะต้องเป็นกฎหมายที่กำหนดถึงสถานะและอำนาจของรัฐ
- กฎหมายมหาชนนั้น จะต้องเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมือง
- ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและผู้ปกครองกับพลเมืองนั้น จะมีลักษณะที่รัฐมีเอกสิทธิ์ทางปกครองเหนือพลเมือง ซึ่งเป็นเอกชนและอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐ
ส่วนรัฐศาสตร์นั้น คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของรัฐ อำนาจ และการปกครอง รัฐศาสตร์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับรัฐ กำเนิด และวิวัฒนาการของรัฐ รัฐในสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และยังศึกษาถึงองค์การทางการเมือง สถาบันทางการปกครอง ตลอดจนอำนาจในการปกครองรัฐ วิธีการดำเนินการต่างๆของรัฐ รวมทั้งแนวความคิดทางการปกครองและทางการเมืองในรัฐด้วย
จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า รัฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวกับรัฐโดยทั่วไป แต่โดยที่รัฐบัญญัติกฎหมาย และกฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐที่จะนำไปใช้รักษาความสงบเรียบร้อยภายในรัฐ ทำนุบำรุงให้ราษฎรมีความสุข ดังนั้น
กฎหมายมหาชนและรัฐศาสตร์จึงเป็นศาสตร์สองศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะกฎหมายมหาชนจะศึกษาเรื่องรัฐ อำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญ และศึกษาสถาบันการเมืองของรัฐ มีเนื้อหาเน้นการศึกษาทางทฤษฎี แนวความคิดในเรื่องรัฐอยู่มาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของกฎหมายกับรัฐศาสตร์เป็นอย่างดี เห็นได้จากการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญ และการศึกษาเกี่ยวกับสถาบันการเมืองของรัฐก็ต้องเกี่ยวข้องกับรัฐศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายมหาชนยังต้องศึกษาในด้านนิติศาสตร์อยู่อีกมาก ศึกษาบทบัญญัติของกฎหมายมิใช่เป็นการศึกษาทางรัฐศาสตร์ล้วนๆ