การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2548

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

ข้อ  1  นางยุพาพาเด็กชายก้องบุตรชายอายุเพียง  3  ปี  ไปรักษาฟันกับหมอสมจิต  หมอตรวจแล้วเห็นว่าต้องอุดฟัน  แต่เด็กชายก้องร้องไห้และดิ้นไม่ยอมให้หมอสมจิตอุดฟัน  หมอสมจิตจึงบอกนางยุพาว่าจะต้องมัดตัวเด็กชายก้องให้นิ่งๆ  มิฉะนั้นจะไม่สามารถรักษาได้  นางยุพาเชื่อถือในหมอสมจิตรจึงยินยอมให้มัด  เด็กชายก้องซึ่งกลัวการอุดฟันมากพยายามดิ้นรนแต่ดิ้นไม่ได้เพราะถูกมัดติดเก้าอี้อยู่เพียงลำพังกับหมอ  ความกลัวสุดขีดประกอบกับอายุน้อยเพียง  3  ปี  ทำให้เด็กชายก้องถึงกับช็อกหมดสติหัวใจหยุดเต้นจนตัวเขียว  กว่าจะทำการช่วยเหลือพยาบาลหัวใจกลับมาเต้นได้ก็ปรากฏว่าสมองขาดออกซิเจนนานเกินไป  ทำให้สมองบกพร่อง  ร่างกายพิการเดินไม่ได้  ดังนี้  หมอสมจิตจะมีความผิดต่อร่างกายฐานใดหรือไม่

 ธงคำตอบ

มาตรา  300  ผู้ใดกระทำโดยประมาท  และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัสต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  300  ประกอบด้วย

1       กระทำด้วยประการใดๆ

2       การกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

3       โดยประมาท

การที่หมอสมจิตมัดเด็กชายก้องที่มีอายุเพียง  3  ปี  ไว้กับเก้าอี้  เพื่อจะได้อุดฟันโดยสะดวก  จนทำให้เด็กชายก้องช็อกหมดสติเป็นผลให้สมองบกพร่อง  ร่างกายพิการเดินไม่ได้  หมอสมจิตมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  เพราะเป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวัง  โดยวิสัยของผู้เป็นแพทย์  การที่มัดเด็กเล็กๆเพียงเพื่อสะดวกในการอุดฟันย่อมไม่ควร  อีกทั้งเมื่อเด็กชายก้องหมดสติร้องจนตัวเขียวแล้วค่อยส่งไปรักษาพยาบาลเป็นการขาดความระมัดระวัง  ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนี้จักต้องมีตามวิสัยแพทย์  แต่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ  เป็นผลให้เด็กชายก้องพิการอันเป็นอันตรายสาหัส  จึงต้องรับผิดตามมาตรา  300

สรุป  หมอสมจิตมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  300

 

ข้อ  2  นายอาทิตย์มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายคือ  นางจันทร์  และมีบุตรด้วยกัน  1  คน  นายอาทิตย์กับนางจันทร์มีปัญหาครอบครัวและทะเลาะมีปากเสียงกันเป็นประจำ  ในที่สุดบุคคลทั้งสองจึงตกลงแยกกันอยู่และจดทะเบียนหย่าเมื่อบุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว  หลังจากแยกกันอยู่ได้ประมาณ  5  ปี  นายอาทิตย์ก็ไปมีความรักและความสัมพันธ์กับ  น.ส.ดารา  อายุ  17  ปีเศษ  นายอาทิตย์ได้ชักชวนให้  น.ส.ดารา มาอยู่กินเป็นสามีภริยาที่บ้านโดยตั้งใจว่าเมื่อหย่าขาดจากนางจันทร์แล้วก็จะจดทะเบียนสมรสกับ  น.ส.ดารา  บุตรของนายอาทิตย์ไม่ชอบ น.ส.ดารา  และทะเลาะกลั่นแกล้งกันเป็นประจำ  หลังจากอยู่ได้เพียง  1  เดือน  น.ส.ดาราก็หนีกลับบ้าน  ต่อมาบิดาของ  น.ส.ดาราได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายอาทิตย์  ให้วินิจฉัยว่า  การกระทำของนายอาทิตย์จะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  319  วรรคแรก  ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี  แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล  เพื่อหากำไร  หรือเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานพรากผู้เยาว์โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย  ตามมาตรา  319  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       พรากผู้เยาว์อายุกว่า  15  ปี  แต่ยังไม่เกิน  18  ปี

2       ไปเสียจากบิดามารดา  ผู้ปกครอง  หรือผู้ดูแล

3       โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย

4       โดยเจตนา

5       เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร

นายอาทิตย์มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วคือ  นางจันทร์  แต่ได้ตกลงแยกกันอยู่และจะจดทะเบียนหย่ากันภายหลัง  ในระหว่างแยกกันอยู่นายอาทิตย์ได้มีความรักและความสัมพันธ์กับ  น.ส.ดารา  อายุ 17  ปีเศษ  และได้ชักชวนให้  น.ส.ดารามาอยู่กินเป็นสามีภริยาที่บ้าน  การที่นายอาทิตย์ชักชวน  น.ส.ดาราไปอยู่ด้วยกัน  และ  น.ส.ดาราก็เต็มใจไปอยู่ด้วย  แต่ก็ไม่มีทางเลยที่จะทำให้  น.ส.ดาราเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายได้  แสดงว่านายอาทิตย์มีเจตนาจะเลี้ยงดูผู้เยาว์เป็นภริยาไม่  ดังนั้นการกระทำของนายอาทิตย์จึงเป็นการพรากผู้เยาว์อายุต่ำกว่า  15  ปี  แต่ไม่เกิน  18  ปี  ไปเสียจากบิดามารดาฯ  เพื่อการอนาจาร  โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย  ตามมาตรา  319  วรรคแรก

สรุป  นายอาทิตย์มีความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา  319  วรรคแรก

 

ข้อ  3  นายชิตพกอาวุธปืนเพ่อจะชิงทรัพย์นายแก้วลูกมหาเศรษฐีที่มักพกเงินติดตัวไว้เป็นจำนวนมาก  พอตกเย็นนายชิตจึงแกล้งชวนนายแก้วไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะ  เมื่อเดินผ่านห้องน้ำสาธารณะนายชิตทำทีขอเข้าห้องน้ำ  โดยให้นายแก้วนั่งรออยู่  เมื่อเข้าไปในห้องน้ำนายชิตได้ใช้หมวกไหมพรมสวมศีรษะไว้เพื่อไม่ให้นายแก้วจำตนเองได้  ปรากฏว่าขณะนายชิตกำลังจะออกจากห้องน้ำ  นายชิตเห็นนายแก้วกำลังยืนคุยอยู่กับเจ้าหน้าที่สายตรวจอยู่  จึงไม่กล้าออกมาแต่แอบหลบหนีไปก่อน  ดังนี้  นายชิตกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

มาตรา  339  วรรคแรก  ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์  หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น  หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

นายชิตแกล้งหลอกนายแก้วลูกมหาเศรษฐีไปเพื่อชิงทรัพย์  จึงแกล้งชวนนายแก้วไปเดินที่สวนสาธารณะ  และทำทีขอเข้าห้องน้ำ  โดยให้นายแก้วนั่งรออยู่  เมื่อเข้าไปในห้องน้ำนายชิตได้ใช้หมวกไหมพรมสวมศีรษะไว้เพื่อไม่ให้นายแก้วจำหน้าตนเองได้  แต่ยังไม่ทันลงมือชิงทรัพย์  นายชิตเห็นนายแก้วกำลังยืนคุยอยู่กับเจ้าหน้าที่สายตรวจ  จึงได้หลบไป  ถือว่านายชิตยังมิได้ลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา  334  แต่อย่างใด  เพราะจะเป็นการลงมือกระทำความผิดได้  ต้องเป็นกรณีที่การกระทำนั้นได้ใกล้ชิดกับผลสำเร็จแล้ว  ดังนั้นเมื่อยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทำความผิด  การกระทำของนายชิตก็ไม่เป็นการพยายามลักทรัพย์ด้วยและเมื่อไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์  ก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339

สรุป  การกระทำของนายชิตไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์แต่อย่างใด

 

ข้อ  4  นายแมวนำธนบัตรจำนวน  200  บาท  ไปขอแลกธนบัตรย่อยกับนายไก่  ขณะนั้นลูกค้าของนายไก่กำลังแน่นร้าน  ทำให้นายไก่ส่งธนบัตรย่อยใบ  20  บาทบ้าง  50  บาทบ้าง  โดยติดธนบัตร  500  บาทปนมาด้วยโดยพลั้งเผลอ  นายแมวรับธนบัตรมานับและรู้ว่ามีธนบัตรใบ  500  เกินมา  แต่ด้วยความโลภจึงรีบนำเงินใส่กระเป๋ากางเกงแล้วรีบเดินออกจากร้านไป  พอพ้นช่วงตึกแถวร้านค้าไปได้สัก  20  เมตร  นายไก่มองไม่เห็นธนบัตรใบ  500  บาทของตนเอง  จึงวิ่งไปที่หน้าร้านและตะโกนเรียกนายแมวให้หยุด  แต่นายแมวไม่หยุด  ดังนี้  นายแมวกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบของผู้กระทำความผิด  เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด  หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้  ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

วินิจฉัย

นายแมวนำธนบัตรจำนวน  200  บาท  ไปขอแลกธนบัตรย่อยกับนายไก่  นายไก่ส่งธนบัตรใบละ  500  บาท  ติดมากับธนบัตรย่อยโดยพลั้งเผลอ  ธนบัตรใบ  500  บาทดังกล่าวได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของนายแมว  เพราะนายไก่ส่งมอบให้โดยสำคัญผิด  เมื่อนายแมวเห็นธนบัตรใบละ  500  บาทเกินมา  แล้วไม่คืนนายแมวยังได้นำเงินใส่กระเป๋ากางเกงแล้วรีบเดินออกจากร้านไป  ถือว่านายแมวเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนเองโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด  ตามมาตรา  352  วรรคสอง

สรุป  นายแมวมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคสอง

Advertisement