การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

Advertisement

ข้อ  1  เอกต้องการฆ่าโทได้เอาระเบิดเวลาผูกติดใต้ท้องรถยนต์ของโท  แต่ระเบิดทำงานก่อนเวลาที่โทจะเข้าไปขับรถ  โทปลอดภัย  แต่แรงระเบิดทำให้สดศรีซึ่งบังเอิญเดินผ่านมาได้รับอันตรายสาหัส  ดังนี้  เอกจะต้องรับผิดทางอาญาต่อสดศรีอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  60  ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง  แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป  ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา  ตามมาตรา  288  ประกอบด้วย

1       ฆ่า

2       ผู้อื่น

3       โดยเจตนา

ฆ่า  หมายความว่า  การกระทำอันเป็นเหตุให้คนตาย  ซึ่งการฆ่าเป็นการกระทำและไม่จำกัดวิธีของการกระทำ  เช่น  กดน้ำให้สำลักน้ำตาย  ใช้ยาพิษ  หรือใช้อาวุธต่างๆ  เช่น  ปืน  มีด  ขวาน  ระเบิด  ฯลฯ  จะเป็นการกระทำโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้  แต่ความผิดตามมาตรา  288  จะต้องมีผลของการกระทำ  คือ  ความตายเกิดขึ้นจึงจะเป็นความผิดสำเร็จ

การที่เอกเอาระเบิดเวลาผูกติดใต้ท้องรถยนต์ของโทนั้น  ถือได้ว่าเอกมีเจตนาฆ่าโดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล  เพราะระเบิด  เป็นอาวุธที่มีอานุภาพความรุนแรงมากกว่าอาวุธอื่นใดซึ่งถือเป็นวัตถุอันตรายร้ายแรง  การใช้อาวุธชนิดนี้ในการกระทำความผิด  ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้กระทำความผิดเจตนาโดยประสงค์หรือย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า  ผู้ถูกกระทำต้องได้รับอันตรายถึงชีวิต  เมื่อเอกได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว  แต่ระเบิดทำงานก่อนเวลา  โทปลอดภัย  แต่แรงระเบิดทำให้สดศรีได้รับอันตรายสาหัส  ดังนั้นเอกจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าสดศรีเป็นเจตนาโดยพลาด  ตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  80  และมาตรา  60  เนื่องจากเอกมีเจตนาฆ่าโทแต่ผลไปเกิดกับสดศรี  จึงถือว่าเอกมีเจตนาฆ่าสดศรีด้วย  เมื่อสดศรีไม่ตายเพียงได้รับอันตรายสาหัส  จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า

สรุป  เอกมีความผิดฐานพยายามฆ่าสดศรี  ตามมาตรา  288  ประกอบมาตรา  80  และมาตรา  60

 

ข้อ  2  นายเอกจับตัวนายโทไปเพื่อเรียกค่าไถ่  นายเอกได้คุมขังนายโทไว้ที่ห้องพักแห่งหนึ่ง  ส่วนตัวนายเอกก็เข้าไปในตลาดเพื่อหาซื้ออาหารและโทรศัพท์ติดต่อญาติของนายโท  นายเอกถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวโดยที่ยังไม่ได้เรียกค่าไถ่  หลังจากนั้นนายเอกได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปปล่อยตัวนายโท  โดยนายโทไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว  ถ้าต่อมานายเอกถูกฟ้องว่ากระทำความผิดฐานเอาตัวคนไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ให้วินิจฉัยว่านายเอกจะมีความผิดตามที่ถูกฟ้องหรือไม่  และต้องรับโทษอย่างไร  หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  313  วรรคแรก  ผู้ใดเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

(3) หน่วงเหนี่ยวกักขังบุคคลใด

ต้องระวางโทษ…

มาตรา  316  ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา  313  มาตรา  314  หรือมาตรา  315  จัดให้ผู้ถูกเอาตัวไป  ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขังได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา  โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต  ให้ลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดไว้  แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานเอาตัวบุคคลไปหน่วงเหนี่ยวกักขังเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่  ตามมาตรา  313  วรรคแรก (3)  ประกอบด้วย

1       หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้ใด

2       โดยเจตนา

3       เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่

นายเอกจับตัวนายโทไปโดยมีเจตนาเพื่อเรียกค่าไถ่  ถึงแม้จะยังไม่ได้เรียกค่าไถ่เนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวได้ก่อน  ก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา  313  วรรคแรก  (3)  เพราะการกระทำครบองค์ประกอบความผิดดังกล่าวข้างต้นแล้ว

ส่วนการที่นายเอกพาเจ้าพนักงานตำรวจไปปล่อยตัวนายโท  และนายโทก็ไม่ได้อันตรายแต่อย่างใดเห็นได้ว่าเป็นการจัดให้ผู้ถูกเอาตัวไปได้รับเสรีภาพก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา  โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต  จึงเป็นเหตุลดโทษให้แต่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งตามมาตรา  316

สรุป  นายเอกจึงมีความผิดตามที่ถูกฟ้องตามมาตรา  313  แต่ลดโทษให้ตามมาตรา  316

 

ข้อ  3  นายแดงไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง  ปรากฏว่าคนแน่นมาก  นายแดงจึงส่งเงิน  300  บาทให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยช่วยซื้อตั๋ว  จำเลยรับมอบเงินจากนายแดงแล้วพาวิ่งหนีไปต่อหน้านายแดง  ดังนี้จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  334  ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น  หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์  ต้องระวางโทษ

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  ประกอบด้วย

1       เอาไป

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       โดยเจตนา

4       โดยทุจริต

เอาไป  หมายความว่า  เอาไปจากการครอบครองของผู้อื่นจะด้วยวิธีการใดก็ได้  แต่ต้องเป็นการทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากเดิมในลักษณะที่จะพาเอาไปได้  ทั้งนี้เพื่อแย่งการครอบครองหรือตัดสิทธิของเจ้าของทรัพย์  มิใช่เป็นการเอาไปชั่วคราว

การกระทำของจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์  เพราะการที่นายแดงส่งเงิน  300  บาท  ให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยช่วยซื้อตั๋ว  ถือได้ว่าเงินนั้นยังอยู่ในความครอบครองของนายแดงอยู่  นายแดงมิได้เจตนาสละการครอบครอง  เมื่อจำเลยรับมอบเงินจากนายแดงแล้ววิ่งหนีไปต่อหน้านายแดง  จึงเป็นการแย่งการครอบครองโดยพาเอาทรัพย์เคลื่อนที่ไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์  โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย  ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว  แต่อย่างไรก็ตามการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  เพราะไม่ได้ฉกฉวยเอาซึ่งหน้า

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์

 

ข้อ  4  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่ไปที่บ้านของนาย  ก  เมื่อไปถึงนายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่  ใช้เท้าเตะไปที่รั้วบ้านของนาย  ก  ซึ่งรั้วบ้านของนาย  ก  เป็นรั้วสังกะสี  นาย  ก  ได้ยินเสียง  จึงออกมาดู  นายหนึ่งพูดกับนาย  ก  ขอเงิน  1,000  บาท  นาย  ก  ตอบว่าไม่มี  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่ช่วยกันเตะรั้วจนสังกะสีหลุดออก  3  แผ่น  นาย  ก  กลัวรั้วจะพังและกลัวจะถูกทำร้ายจึงยอมให้เงินนายหนึ่งไป  500  บาท  นายหนึ่งรับเงินมาแล้วจึงพูดกับนาย  ก  ว่า  ทีหลังถ้ากูมาอยากได้อะไรให้ตามใจกูนะ  ดังนี้  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่  มีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  340  ผู้ใดชิงทรัพย์  โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์  ตามมาตรา  339  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ชิงทรัพย์

2       โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป

3       โดยเจตนา

การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์  ซึ่งเป็นการชิงทรัพย์อันจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้นอาจขู่ตรงๆก็ได้  หรือใช้ถ้อยคำทำกิริยาหรือทำประการใดอันเป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจได้ว่าจะได้รับภัยจากการกระทำของผู้ถูกขู่เข็ญก็ได้

วันเกิดเหตุนายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่ไม่มีอาวุธติดตัว  ได้เตะรั้วสังกะสีบ้านของนาย  ก  นาย  ก  ออกมาดู  นายหนึ่งพูดขอเงิน  1,000  บาท  นาย  ก  ตอบว่าไม่มี  นายหนึ่งกับพวกชวนกันเตะรั้วสังกะสีรั้วหลุดออก  3  แผ่น  นาย  ก  กลัวรั้วจะพังและกลัวนายหนึ่งกับพวกจะทำร้ายจึงให้เงินนายหนึ่งไป  500  บาท  นายหนึ่งรับเงินแล้วพูดว่า  ทีหลังถ้ากูมา  อยากได้อะไร  ให้ตามใจกูนะ”  แล้วนายหนึ่งกับพวกก็พากันไป  เห็นว่า  องค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์  นอกจากลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว   ถ้ามีการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ก็เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้  การขู่เข็ญอาจขู่ตรงๆ  หรือใช้ถ้อยคำทำกิริยา  หรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น  เป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจได้ว่าได้รับภัยจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญ

การใช้กำลังทำร้ายต่อทรัพย์สินไม่ใช่ใช้กำลังประทุษร้ายก็จริง  แต่การกระทำเช่นนั้นอาจเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ได้  และการที่นายหนึ่งพูดขอเงินนาย  ก  นาย  ก  ไม่ให้  นายหนึ่งกับพวกกลับแสดงอาการขู่เข็ญหนักขึ้นโดยการเตะรั้วสักกะสีรั้วพัง  เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  ทำให้นาย  ก  มีความกลัวว่านายหนึ่งกับพวกจะใช้กำลังประทุษร้าย  จึงต้องจำยอมให้เงินแก่นายหนึ่ง  นายหนึ่งได้รับเงินแล้วยังพูดขู่เข็ญอีกว่า  ทีหลังถ้ากูมา  อยากได้อะไรให้ตามใจกูนะ  คำพูดขู่เข็ญของนายหนึ่งดังกล่าว  แม้ไม่ใช่ถ้อยคำขู่เข็ญตรงๆ  ก็เข้าใจได้ว่าต่อไปถ้านายหนึ่งอยากได้อะไรแล้วนาย  ก  ต้องให้  ถ้าไม่ให้จะต้องถูกนายหนึ่งทำร้าย  เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า  นาย  ก  กับพวกของนายหนึ่งคุ้นเคยรักชอบกันอย่างไรที่จะขอเงินกันได้โดยสุจริต การกระทำของจำเลยดังกล่าวครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว

สรุป  นายหนึ่ง  นายสอง  นายสาม  และนายสี่  มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ 

Advertisement