การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3001 กฎหมายอาญา 3 

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  4  ข้อ

 ข้อ  1  หนึ่งมีเรื่องโกรธเคืองไม่พอใจแดง  หนึ่งชวนสองให้ไปดักทำร้ายแดง  โดยตกลงกันว่า  เอาแค่สั่งสอนให้พอเจ็บเท่านั้น  เมื่อแดงเดินผ่านมาถึงจุดที่ทั้งสองดักรออยู่  หนึ่งตรงเข้าไปชกปากแดง  1  ที  ปากแตก  สองมองเห็นท่อนไม้ที่พื้นจึงหยิบท่อนไม้นั้นฟาดแดงถูกที่ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนจนตาของแดงบอด  ดังนี้  ให้วินิจฉัยว่า  หนึ่งจะมีความผิดต่อร่างกายผู้อื่นฐานใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  83  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป  ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ  ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  295  ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย  หรือจิตใจของผู้นั้น  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ต้องระวางโทษ

มาตรา  297  ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส  ต้องระวางโทษ

อันตรายสาหัสนั้น  คือ

(1)    ตาบอด  หูหนวก  ลิ้นขาด  หรือเสียฆานประสาทวินิจฉัย

ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297  เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  ต้องรับโทษหนักขึ้น  เพราะผลที่เกิดจากการกระทำ  ดังนั้น  ในเบื้องต้นจึงต้องพิจารณาก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามมาตรา  295  หรือไม่

องค์ประกอบความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  ประกอบด้วย

1       ทำร้าย

2       ผู้อื่น

3       จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น

4       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  การที่หนึ่งและสองมีเจตนาทำร้ายร่างกายแดง  โดยหนึ่งชกปากแดง  1  ที  และสองหยิบท่อนไม้ฟาดแดงถูกที่ศีรษะได้รับความกระทบกระเทือนจนตาบอด  การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย  ตามมาตรา  295  แล้ว  เมื่อผลที่เกิดจากการกระทำผิดดังกล่าวทำให้แดงตาบอด  จึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297(1)

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า  หนึ่งและสองมีเจตนาร่วมกันที่จะทำร้ายร่างกายแดง  แม้สองแต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้ใช้ไม้ฟืนฟาดศีรษะแดง  และหนึ่งไม่มีเจตนาให้แดงผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส  หรือมิได้เป็นผู้ลงมือกระทำให้เกิดผลนั้นขึ้น  คงมีเจตนาร่วมทำร้ายร่างกายแดงเท่านั้น  หนึ่งตัวการร่วมก็ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของสองด้วย  ถือได้ว่า  หนึ่งเป็นตัวการร่วมกันทำร้ายแดงจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297(1)  ประกอบมาตรา  83  แล้ว  (ฎ. 313/2529 (ประชุมใหญ่))

สรุป  หนึ่งต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส  ตามมาตรา  297

 

ข้อ  2  นายดำกู้ยืมเงินจากนางส้มโดยจำนำสร้อยคอทองคำไว้เป็นประกัน  นายดำยังไม่มีเงินชำระหนี้  แต่อยากจะได้สร้อยคืนจึงไปขอยืมสร้อยที่จำนำไว้โดยอ้างว่าจะนำไปให้เพื่อนดูเป็นตัวอย่าง  แต่นางส้มไม่ยอม  นายดำจึงใช้อาวุธมีดปลายแหลมซึ่งพกติดตัวมาทำการขู่เข็ญเอาสร้อยจากนางส้ม  ขณะนั้นสามีของนางส้มมาเห็นเหตุการณ์จึงโทรศัพท์แจ้งตำรวจมาจับกุมตัวนายดำไปดำเนินคดี  โดยนางส้มยังไม่ได้มอบสร้อยให้นายดำแต่อย่างใด

ดังนี้  อยากทราบว่าการกระทำของนายดำจะเป็นความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพฐานใดหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  80  ผู้ใดลงมือกระทำความผิดแต่กระทำไปไม่ตลอด  หรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด

ผู้ใดพยายามกระทำความผิด  ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา  309  วรรคแรก  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ  ตามมาตรา  309  ประกอบด้วย

1       ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด  ไม่กระทำการใด  หรือจำยอมต่อสิ่งใด

2       โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพ  หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง  หรือของผู้อื่น  หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย

3       จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น  ไม่กระทำการนั้น  หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น

4       โดยเจตนา

กรณีตามอุทาหรณ์  นายดำจำนำสร้อยคอทองคำไว้กับนางส้ม  ไม่มีเงินชำระหนี้แต่อยากได้คืน  จึงไปขอยืมสร้อยที่จำนำโดยอ้างว่าจะนำไปให้เพื่อนดูเป็นตัวอย่าง  แต่นางส้มไม่ยอม  นายดำจึงใช้อาวุธมีดขู่เข็ญให้นางส้มคืนสร้อยให้  การกระทำของนายดำเช่นนี้ถือเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต  ร่างกาย  เสรีภาพตามมาตรา  309  วรรคแรก  แต่เมื่อนางส้มยังไม่ได้คืนสร้อยให้ตามที่ถูกข่มขืนใจ  จึงเป็นกรณีที่นายดำได้ลงมือกระทำไปตลอดแล้ว  แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล  อันเป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  ตามมาตรา  309  วรรคแรกประกอบมาตรา  80

สรุป  นายดำมีความผิดฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดๆ  ตามมาตรา  309  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  80

 

ข้อ  3  วันเกิดเหตุจำเลยเห็นนาย  ก  เดินผ่านมา  จำเลยใช้มือลูบคลำตามเสื้อและกางเกงของนาย  ก  จากนั้น  จำเลยพูดขอแว่นตาที่นาย  ก  สวมอยู่  นาย  ก  ไม่ยอมให้  จำเลยแย่งแว่นตาไปจากนาย  ก  นาย  ก  แย่งคืนมาได้  จำเลยแย่งไปได้อีก  แล้วพูดว่า  “ถ้าเอ็งมีอาวุธกูแทงเสียแล้ว”  หลังจากพูดเสร็จ  จำเลยเอามือล้วงใต้เสื้อตรงขอบกางเกงหน้าท้อง

ดังนี้  จำเลยมีความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  336  ผู้ใดลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ต้องระวางโทษ

มาตรา  339  ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อ

(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์  หรือการพาทรัพย์นั้นไป

(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น

(3) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้

(4) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น  หรือ

(5) ให้พ้นจากการจับกุม

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์  ต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์  การจะพิจารณาว่าเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่  การกระทำนั้นนอกจากจะเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์แล้ว  ประการสำคัญคือ  การลักทรัพย์นั้นต้องได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา  1(6)  หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายด้วย  มิฉะนั้นย่อมไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339

การที่จำเลยพูดขอแว่นตาที่นาย  ก  สวมอยู่  นาย  ก  ไม่ยอมให้  จำเลยแย่งแว่นตาไปจากนาย  ก  นาย  ก  แย่งคืนมาได้  จำเลยแย่งไปได้อีก  ถือว่าเป็นการเอาไปจากการครอบครองซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น  โดยทำให้ทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปจากที่เดิมในลักษณะที่จะพาเอาได้ในลักษณะเป็นการตัดสิทธิของเจ้าทรัพย์อย่างถาวร  โดยมีเจตนาทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยมิชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานลักทรัพย์  ตามมาตรา  334  แต่การที่จำเลยพูดกับนาย  ก  ว่า  “ถ้าเอ็งมีอาวุธกูแทงเสียแล้ว”  หลังจากพูดเสร็จ  จำเลยเอามือล้วงใต้เสื้อตรงขอบกางเกงหน้าท้อง  พฤติการณ์เช่นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย  ทั้งคำกล่าวนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์  ตามมาตรา  339 

อย่างไรก็ตาม  การกระทำของจำเลยที่ไปแย่งแว่นตาไปจากนาย  ก  และมีการแย่งกันไปมาจนทรัพย์ไปอยู่กับจำเลยนั้น  เป็นการลักทรัพย์โดยการเอาทรัพย์ไปโดยการหยิบหรือกระชากเอา  หรือแย่งเอาในลักษณะที่รวดเร็วอันถือว่าเป็นการฉกฉวย  ซึ่งได้กระทำซึ่งหน้านาย  ก  เจ้าของทรัพย์  การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามมาตรา  336  (ฎ. 1088/2520)

สรุป  จำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์  ตามมาตรา  336

 

ข้อ  4  นายหนึ่งกับนายสองเป็นเจ้าของปั๊มน้ำมัน  ปรากฏว่าปั๊มน้ำมันของนายหนึ่งขายดี  นายหนึ่งจึงไปขอยืมน้ำมันดีเซลจากนายสอง จำนวน  5,000  ลิตร  คิดเป็นเงิน  35,000  บาท  เพื่อนำไปขายที่ปั๊มน้ำมันของนายหนึ่ง  โดยสัญญาว่าจะนำมาคืนให้ภายในเวลาที่กำหนด  ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดนายหนึ่งไม่ยอมคืน  ดังนี้  นายหนึ่งมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา  352  วรรคแรก  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น  หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอกต้องระวางโทษ…

วินิจฉัย

องค์ประกอบความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  ประกอบด้วย

1       ครอบครอง

2       ทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย

3       เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

4       โดยเจตนา

5       โดยทุจริต

กรณีตามอุทาหรณ์  ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า  การกระทำของนายหนึ่งมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์หรือไม่  เห็นว่า  ความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  เป็นความผิดที่ประทุษร้ายต่อกรรมสิทธิ์  หรือกล่าวได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองกรรมสิทธิ์ของบุคคลมิให้ถูกผู้ครอบครองทรัพย์นั้นเบียดบังไป  จึงต้องพิจารณาว่า  ทรัพย์ที่ถูกเบียดบังไม่ว่าด้วยวิธีการนำไปใช้สอย  หรือจำหน่ายจ่ายโอนนั้นเป็นของจำเลยหรือไม่  กล่าวคือ  ทรัพย์สินที่เป็นของผู้อื่นมาก่อน  หากผู้นั้นได้มอบหมายการครอบครองและโอนกรรมสิทธิ์ให้อีกบุคคลหนึ่ง  ผู้นั้นย่อมเป็นเจ้าของทรัพย์  จึงไม่อาจมีความผิดฐานยักยอกได้  การโอนกรรมสิทธิ์อาจอาศัยนิติกรรมสัญญา  เช่น  สัญญาซื้อขายแลกเปลี่ยนให้  ยืมใช้สิ้นเปลือง  ฝากเงิน  เป็นต้น

การที่นายหนึ่งยืมน้ำมันดีเซลจากนายสอง  เพื่อนำไปขายที่ปั๊มของตนเอง  แล้วไม่ยอมคืนนั้น  เห็นว่า  การยืมน้ำมันเป็นการยืมใช้สิ้นเปลือง  ซึ่งเป็นสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปให้แก่ผู้ยืม  ผู้ยืมจึงเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นโดยผลของสัญญายืมและบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา  650  ย่อมนำทรัพย์นั้นไปใช้สอยได้ด้วยอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์  ตามมาตรา 1336  น้ำมันจึงไม่เป็นทรัพย์ของนายสองหรือที่นายสองเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย  เมื่อน้ำมันไม่ใช่ทรัพย์ของผู้อื่น  การกระทำของนายหนึ่งจึงไม่เป็นผิดฐานยักยอก  เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิด  ตามมาตรา  352  วรรคแรก  การที่นายหนึ่งไม่ส่งทรัพย์ที่ยืมคืน  แม้จะไม่ได้นำไปใช้หรือใช้แล้วแต่ยังเหลืออยู่  หรือใช้หมดไปแต่ไม่หาทรัพย์ที่เป็นประเภท  ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันมาคืน  ย่อมเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง  และเมื่อนายสองไปทวงถามทรัพย์คืนจากนายหนึ่ง  แม้นายหนึ่งจะอ้างเหตุในการไม่คืนด้วยเหตุใดก็ตาม  ก็หาทำให้กลายเป็นผิดฐานยักยอกไปได้  (ฎ. 1250/2530)

สรุป  นายหนึ่งไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์  ตามมาตรา  352  วรรคแรก

Advertisement