การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คำแนะนำ      ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายชัชอายุ 30 ปี มีอาการป่วยทางจิต โดยแพทย์ได้วินิจฉัยว่านายชัชเป็นคนวิกลจริต วันหนึ่ง นายชัชได้ให้แหวนเพชรของตนแก1นายพันธ์เพื่อนสนิท โดยในขณะที่นายชัชให้แหวนเพชร นายชัชมีจิตปกติ ไม่มีอาการวิกลจริต แต่นายพันธ์ทราบว่านายชัชเป็นคนวิกลจริต ต่อมานายซัชทะเลาะกับนายพันธ์อย่างรุนแรง นายชัชจึงต้องการเอาแหวนเพชรคืน ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายชัช สามารถบอกล้างนิติกรรมการให้แหวนเพชรแก่นายพันธ์ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 ได้บัญญัติหลักเกี่ยวกับการทำนิติกรรมของคนวิกลจริตไว้ว่า “คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อนิติกรรมนั้นได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และคู่กรณีอีกฝายหนึ่งได้รู้ อยู่แล้วว่าผู้กระทำเป็นคนวิกลจริต”
จากหลักกฎหมายดังกล่าว คนวิกลจริตที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ทำนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมนั้นจะมีผลสมบูรณ์ เว้นแต่จะเป็นโมฆียะก็ต่อเมื่อ

1.         นิติกรรมนั้นได้กระทำในขณะที่บุคคลนั้นจริตวิกลอยู่ และ

2.         คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้กระทำนิติกรรมนั้นเป็นคนวิกลจริต
ตามปัญหา การที่นายชัชซึ่งเป็นคนวิกลจริตแต่ศาลยังมิได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ทำ นิติกรรมโดยการให้แหวนเพชรของตนแก่นายพันธ์เพื่อนสนิท เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่นายชัชให้แหวน เพชรแก่นายพันธ์นั้น นายชัชมีจิตปกติไม่มีอาการวิกลจริตแต่อย่างใด ดังนั้นแม้นายพันธ์จะได้ทราบอยู่แล้วว่า นายชัชเป็นคนวิกลจริต ก็ไม่ทำให้นิติกรรมการให้แหวนเพชรดังกล่าวตกเป็นโมฆียะแต่อย่างใด กล่าวคือนิติกรรม การให้แหวนเพชรนั้นมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้นนายชัชจะบอกล้างนิติกรรมนั้นเพี่อเอาแหวนเพชรคืนไม่ได้

สรุป นายชัชไม่สามารถบอกล้างนิติกรรมการให้แหวนเพชรแก่นายพันธ์ได้ เพราะนิติกรรม ดังกล่าวมีผลสมบูรณ์ ไม่ตกเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 2. นิติกรรมอำพรางมีลักษณะและผลตามกฎหมายอย่างไร อธิบาย และยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 บัญญัติว่า

“การแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นโมฆะ…

ถ้าการแสดงเจตนาลวงตามวรรคหนึ่ง ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น ให้นำบทบัญญัติของ กฎหมายอันเกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางมาใช้บังคับ”

ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติเรื่องนิติกรรมอำพราง ซึ่งในเรื่อง “นิติกรรมอำพราง” นั้น เป็นเรื่องที่ในระหว่างคู่กรณีได้มีการ ทำนิติกรรมขึ้นมา 2 ลักษณะ ได้แก่ นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวงอันหนึ่ง กับนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้อีกอันหนึ่ง

1.         นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง (นิติกรรมที่เปิดเผย) หมายถึง นิติกรรมที่คู่กรณี ได้ทำขึ้นมาโดยไม่มีเจตนาให้มีผลใช้บังคับกัน แต่ได้ทำขึ้นมาเพื่อลวงให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าคู่กรณีได้ตกลงทำนิติกรรม ลักษณะนี้กัน และเพื่อเป็นการอำพรางหรือปกปิดนิติกรรมที่แท้จริงนั่นเอง

2.         นิติกรรมที่ลูกอ่าพราง หมายถึง นิติกรรมที่แท้จริงของคู่กรณีที่ได้ทำขึ้นมา และต้องการ ให้มีผลใช้บังคับกันได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ได้ปกปิดอำพรางไว้ไม่เปิดเผยให้บุคคลอื่นรู้

ตามกฎหมายได้บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ มาใช้บังคับ หมายความว่า ให้คู่กรณีบังคับกันด้วยนิติกรรมที่ลูกอ่าพรางนั่นเอง ส่วนนิติกรรมที่เกิดจากการ แสดงเจตนาลวงจะมีผลเป็นโมฆะ

ตัวอย่าง ปู่ได้ยกรถยนต์คันหนึ่งให้แก่หลานที่ชื่อ ก. โดยเสน่หา แต่เกรงว่าหลานคนอื่นรู้ จะหาว่าปู่ลำเอียง จึงได้ทำสัญญาซื้อขายกับ ก. ไว้เพื่อลวงหลานคนอื่น ดังนี้นิติกรรมที่จะมีผลใช้บังคับกันระหว่าง ปู่กับหลานที่ชื่อ ก. คือนิติกรรมให้ ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ส่วนนิติกรรมซื้อขายตกเป็นโมฆะเพราะเป็น นิติกรรมที่เกิดจากการแสดงเจตนาลวง

 

ข้อ 3. นางสาวกระต่ายต้องการซื้อมะพร้าวจากนางสาวเหมียว จำนวน 150 ลูก ราคา 750 บาท โดย ตกลงกันด้วยวาจามิได้มีการทำสัญญากันแต่อย่างใด ต่อมานางสาวเหมียวได้นำมะพร้าวไปส่งให้ นางสาวกระต่าย 50 ลูก และไม่ยอมนำมะพร้าวที่เหลือมาส่งมอบอีก ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า สัญญาซื้อขายระหว่างนางสาวกระต่ายและนางสาวเหมียวเป็นสัญญาซื้อขายประเภทใด และนางสาวกระต่ายจะฟ้องให้นางสาวเหมียวส่งมอบมะพร้าวส่วนที่เหลือได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

“สัญญาชื้อขายเสร็จเด็ดขาด” (หรือสัญญาชื้อขายสำเร็จบริบูรณ์) หมายถึง สัญญาซื้อขายที่คู่กรณีคือผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงทำสัญญาชื้อขายกันเสร็จสินเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายตกลงโอนกรรมสิทธิ์ใน ทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ซื้อ แสะผู้ซื้อก็ได้ตกลงที่จะชำระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย โดยไม่ต้องคำนึงว่าในขณะที่ ได้ตกลงทำสัญญาซื้อกันนั้น ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือมีการชำระราคากันแล้วหรือไม่

“สัญญาจะซื้อจะขาย” คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่คู่กรณี ยังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาชื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการ โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทำตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในภายหน้า คือเมื่อ ได้ไปทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

ตามปัญหา สัญญาซื้อขายระหว่างนางสาวกระต่ายและนางสาวเหมียวเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เพราะทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันคือมะพร้าวนั้นเป็นเพียงสังหาริมทรัพย์ธรรมดาไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ ชนิดพิเศษจึงไม่อาจที่จะทำเป็นสัญญาจะซื้อขายกันได้ และสัญญาซื้อขายดังกล่าวแม้จะตกลงกันด้วยวาจาก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดสังหาริมทรัพย์นั้นกฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้แต่ อย่างใด

และตามกฎหมายมีหลักว่า “สัญญาชื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่สองหมื่นบาทขึ้นไป จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

1.         มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ

2.         มีการวางประจำหรือมัดจำไว้ หรือ

3.         มีการชำระหนี้บางส่วน” (ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม)

เมื่อตามปัญหาสัญญาซื้อขายมะพร้าวระหว่างนางสาวกระต่ายและนางสาวเหมียวเป็นสัญญา ซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาเพียง 750 บาท ซึ่งไม่ถึง 20,000 บาท ดังนั้นตามกฎหมายเมื่อนางสาวเหมียว ไม่ปฏิบัติตามสัญญาคือไม่ยอมนำมะพร้าวที่เหลือมาส่งมอบ นางสาวกระต่ายย่อมสามารถฟ้องให้นางสาวเหมียว ส่งมอบมะพร้าวส่วนที่เหลือให้แก่ตนได้ โดยไม่ต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ แม้ว่าข้อเท็จจริงตามปัญหา จะมีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีกันคือได้มีการนำมะพร้าวไปส่งให้นางสาวกระต่ายแล้ว 50 ลูก ซึ่งถือว่าเป็นการชำระหนี้บางส่วนก็ตาม

สรุป สัญญาซื้อขายระหว่างนางสาวกระต่ายและนางสาวเหมียว เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และนางสาวกระต่ายสามารถฟ้องให้นางสาวเหมียวส่งมอบมะพร้าวส่วนที่เหลือให้แก่ตนได้

 

ข้อ.4. แดงได้รับโอนตั๋วแลกเงินจากเหลืองเป็นค่าซื้อขายข้าวสาร แดงต้องการโอนตั๋วฯ นี้ให้เขียว แดงจะโอนตั๋วฯ ได้โดยวิธีใดบ้าง จงอธิบายหลักกฎหมาย

ธงคำตอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงินได้บัญญัติถึงวิธีโอนตั๋วแลกเงินไว้ด้งนี้ คือ

1.         ตั๋วแลกเงินสั่งจ่ายระบุชื่อนั้นย่อมโอนให้กันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคแรก)

2.         ตั๋วแลกเงินสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้ด้วยการส่งมอบให้แก่กัน (มาตรา 918)

3.         การสลักหลังต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินและลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง โดยจะระบุชื่อของ ผู้รับสลักหลังด้วย หรือเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้สลักหลังไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงิน ซึ่งเรียกว่า การสลักหลังลอยก็ได้ (มาตรา 919)

4.         ในกรณีที่มีการสลักหลังลอย ผู้ทรงที่ได้รับตั๋วเงินจากการสลักหลังลอยสามารถที่จะโอน ตั๋วเงินนั้นต่อไปโดยการสลักหลังและส่งมอบ หรืออาจจะโอนตั๋วเงินนั้นโดยการส่งมอบ แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องสลักหลังก็ได้ (มาตรา 920 วรรคสอง)

ตามปัญหา การที่แดงได้รับโอนตั๋วแลกเงินมาจากเหลืองและต้องการโอนตั๋วแลกเงินนี้ให้แก่ เขียวนั้น ตามกฎหมายแดงสามารถโอนตั๋วแลกเงินได้โดยวิธีการดังนี้คือ

กรณีที่ 1 ถ้าตั๋วแลกเงินที่แดงได้รับมาเป็นตั๋วแลกเงินชนิดให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ แดงสามารถ ที่จะโอนตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่เขียว โดยการส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่เขียวเพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องสลักหลัง ใด ๆ ทั้งสิ้น (มาตรา 918)

กรณีที่ 2 ถ้าตัวแลกเงินที่แดงได้รับมาเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ การที่แดงจะโอน ตั๋วฯ ชนิดนี้ให้แก่เขียวนั้น แดงจะต้องโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบตั๋วเงินนั้นให้แก่เขียว ซึ่งการสลักหลังนั้น แดงอาจจะทำการสลักหลังโดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้ คือ

(1)       สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) คือการที่แดงเขียนข้อความว่า “จ่ายเขียว” หรือข้อความอื่น ที่มีความหมายเดียวกัน เช่น สลักหลังให้เขียว เป็นต้น และลงลายมือชื่อของแดงผู้สลักหลังโดยอาจจะทำที่ด้านหน้า หรือด้านหลังตั๋วแลกเงินนั้นก็ได้

(2)       สลักหลังลอย คือการที่แดงลงแต่ลายมือชื่อของแดงไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินนั้น โดยไม่มีการระบุชื่อของเขียวผู้รับสลักหลัง (มาตรา 917 วรรคแรก และมาตรา 919)

แต่ถ้าตั๋วแลกเงินที่แดงได้รับมานั้น มีการสลักหลังลอยให้แก่แดง ดังนี้ถ้าแดงจะโอนตั๋วเงินนั้น ให้แก่เขียวต่อไป แดงอาจจะโอนโดยการสลักหลังและส่งมอบตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น หรืออาจจะโอนโดยการ ส่งมอบตั๋วเงินนั้นให้แก่เขียวโดยไม่ต้องสลักหลังก็ได้ (มาตรา 920 วรรคสอง)

Advertisement