การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางสาวแก้วเป็นบุคคลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว นางสาวแก้วให้แหวนของตน แก่นางสาวเต๋าซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของนางสาวแก้วโดยนางต่อมารดาของนางสาวแก้วที่ศาลได้ตั้ง ให้เป็นผู้อนุบาลนางสาวแก้วให้ความยินยอมในการให้แหวนนั้น ดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่า นิติกรรมการ ให้แหวนของนางสาวแก้วแก่นางสาวเต๋ามีผลทางกฎหมายอย่างไร
ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์

มาตรา 29 บัญญัติว่า “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ”

ตามหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่ากฎหมายได้บัญญัติห้ามมิให้คนไร้ความสามารถ กระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีการฝ่าฝืนไปกระทำนิติกรรมใด ๆ ขึ้น ไม่ว่าจะได้กระทำในขณะที่จิตปกติหรือไม่ หรือการทำนิติกรรมนั้นผู้อนุบาลจะได้ให้ความยินยอมหรือไม่ นิติกรรมก็จะตกเป็นโมฆียะ
วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวแก้วซึ่งเป็นคนวิกลจริตที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ แล้ว ได้ทำนิติกรรมโดยการให้แหวนของตนแก่นางสาวเต๋านั้น แม้ว่าการทำนิติกรรมการให้ดังกล่าว นางต่อซึ่งเป็น มารดาของนางสาวแก้วที่ศาลตั้งให้เป็นผู้อนุบาลนางสาวแก้วจะได้ให้ความยินยอมในการให้แหวนนั้นก็ตาม นิติกรรมการให้แหวนดังกล่าวก็มีผลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 29
สรุป นิติกรรมการให้แหวนของนางสาวแก้วแก่นางสาวเต๋ามีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 2. การแสดงเจตนาโดยความสำคัญผิดมีผลเป็นโมฆะหรือโมฆียะเสมอไป หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติหลักไว้ดังนี้คือ

1.         การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของ นิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิด ในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น (ป.พ.พ. มาตรา 156)

2.         การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน ซึ่งตามปกติถือว่า เป็นสาระสำคัญ เป็นโมฆียะ (ป.พ.พ. มาตรา 157)

3.         ความสำคัญผิด ตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 158)

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดจะมีผลเป็นโมฆะ หรือ โมฆียะไม่เสมอไป ทั้งนี้เพราะการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมซึ่งมีผลทำให้ การแสดงเจตนาเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 และการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล หรือทรัพย์สิน ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 นั้น มีข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 158 กล่าวคือ ถ้าการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 นั้น ได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้น มาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ คือจะอ้างว่าตนได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดทำให้การแสดงเจตนา นั้นมีผลเป็นโมฆะ หรือโมฆียะไม่ได้นั่นเอง

 

ข้อ 3. นายเมฆอาศัยอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ประสบภาวะน้ำท่วม นายเมฆจึงเข้าทำสัญญาซื้อเรือจากนายฟ้า 2 ลำ เป็นเงินจำนวน 5,000 บาท โดยมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือ แต่นายเมฆได้ชำระราคาค่าเรือ แก่นายฟ้าแล้ว พอถึงวันส่งมอบเรือ นายฟ้าผิดนัดไม่นำเรือมาส่งมอบ

ดังนี้ (1) สัญญาชื้อขายระหว่างนายเมฆและนายฟ้าเป็นสัญญาชื้อขายประเภทใด

(2) นายเมฆจะฟ้องนายฟ้าที่ผิดนัดไม่นำเรือมาส่งมอบได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

“สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด” (หรือสัญญาซื้อขายสำเร็จบริบูรณ์) หมายถึง สัญญาชื้อขายที่ คู่กรณีคือผู้ชื้อและผู้ขายได้ตกลงทำสัญญาชื้อขายกันเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยผู้ขายตกลงที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ชื้อ และผู้ชื้อได้ตกลงที่จะชำระราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขายแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงว่าในขณะที่ ตกลงทำสัญญาชื้อขายกันนั้น ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินหรือได้มีการชำระราคากันแล้วหรือไม่

“สัญญาจะซื้อขาย” คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่คู่กรณี ยังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาชื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการ โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อได้ไปกระทำตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในภายหน้า คือเมื่อได้ ไปทำสัญญาชื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

และตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสองและวรรคสามนั้น ได้บัญญัติหลักไว้ว่า “สัญญาชื้อขาย สังหาริมทรัพย์ที่มีราคาตั้งแต่สองหมื่นบาทขึ้นไปจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

1.         มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ

2.         มีการวางประจำหรือมัดจำไว้ หรือ

3.         มีการชำระหนี้บางส่วน”

กรณีตามอุทาหรณ์

(1) สัญญาชื้อขายระหว่างนายเมฆและนายฟ้านั้นเมื่อเป็นการทำสัญญาชื้อขายเรือซึ่งเป็นเพียง สังหาริมทรัพย์ธรรมดาไม่ใช่สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ สัญญาชื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และ สัญญาชื้อขายดังกล่าวแม้จะมิได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะสัญญาชื้อขายเสร็จเด็ดขาด สังหาริมทรัพย์นั้นกฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้แต่อย่างใด

(2) เมื่อนายฟ้าผิดนัดไม่นำเรือมาส่งมอบให้แก่นายเมฆ ดังนี้นายเมฆย่อมสามารถฟ้องนายฟ้าได้ เพราะการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีราคาไม่ถึง 20,000 บาทนั้น แม้จะ มิได้ทำหลักฐานกันไว้เป็นหนังสือ ก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

สรุป (1) สัญญาซื้อขายระหว่างนายเมฆและนายฟ้าเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด

(2) นายเมฆสามารถฟ้องนายฟ้าที่ผิดนัดไม่นำเรือมาส่งมอบได้

 

ข้อ 4. การเขียนตั๋วแลกเงินมีหลักกฎหมายอย่างไรบ้าง จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ

ธงคำตอบ

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 909 และมาตรา 910 ได้บัญญัติหลักในการ เขียนตั๋วแลกเงินไว้ดังนี้คือ

ในการเขียนตั๋วแลกเงิน ไม่ว่าจะเป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงินหรือตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือนั้น ตั๋วแลกเงินจะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้เขียนตั๋วแลกเงินจะต้องเขียนให้มีข้อความหรือรายการที่สำคัญ 5 ประการ ให้ครบถ้วนเสมอ ได้แก่ข้อความดังต่อไปนี้คือ

1.         คำบอกชื่อว่าเป็นตั๋วแลกเงิน

2.         คำสั่งอันปราศจากเงื่อนไขให้จ่ายเงินเป็นจำนวนที่แน่นอน

3.         ชื่อหรือยี่ห้อผู้จ่าย

4.         ชื่อหรือยี่ห้อผู้รับเงิน หรือคำจดแจ้งว่าให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ

5.         ลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย

ถ้าหากผู้เขียนตั๋วแลกเงินได้เขียนโดยมีข้อความที่สำคัญดังกล่าวอันใดอันหนึ่งขาดตกบกพร่องไป เอกสารนั้นย่อมไม่สมบูรณ์เป็นตั๋วแลกเงิน

ตัวอย่าง นายหนึ่งต้องการออกตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้แก่นายสาม 100,000 บาท นายหนึ่ง ก็จะต้องเขียนตั๋วแลกเงินให้มีข้อความที่สำคัญ 5 ประการดังกล่าวข้างต้น โดยนายหนึ่งอาจจะเขียนโดยระบุให้ นายสองจ่ายเงินให้แก่นายสาม (ซึ่งถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อ) หรือนายหนึ่งอาจจะเขียนโดยสั่งให้นายสอง ผู้จ่ายจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือตั๋วแลกเงินก็ได้ (ซึ่งถือว่าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดผู้ถือ)

Advertisement