การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2554
ข้อสอบกระบวนวิชา law 2015 กฎหมายธุรกิจ 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. จงอธิบายนิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมมาโดยละเอียด
ธงคำตอบ
นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่ นิติกรรม ดังต่อไปนี้ คือ
1. นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝายเดียว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 22 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้น จากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง”
นิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียวนั้น แยกออกเป็น 2 กรณี คือ
1) นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่เสียสิทธิ หรือรับเอาหน้าที่อย่างใด ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น การที่ผู้เยาว์ตกลงรับเอาทรัพย์สินที่บุคคลอื่นยกให้โดยเสน่หา โดยไม่มี เงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันใด ๆ เป็นต้น
2) นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง ซึ่งเป็นการหลุดพ้นจาก หน้าที่โดยไม่มีเงื่อนไข หรือภาระติดพันใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น ผู้เยาว์ได้ทำนิติกรรมรับการปลดหนี้จากเจ้าหนี้ ทำให้ ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ เป็นต้น
2. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 23 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เยาว์ อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว”
คำว่า “นิติกรรมซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว” ที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพังตนเอง นั้น หมายถึงนิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำด้วยตนเอง จะให้บุคคลอื่นทำแทนไม่ได้นั่นเอง เช่น การจดทะเบียนรับรองบุตร เพื่อให้เด็กเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ หรือการทำพินัยกรรมในขณะที่ผู้เยาว์มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ เป็นต้น
3. นิติกรรมที่เป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 24 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตาม สมควร”
ซึ่งนิติกรรมที่ได้รับการยกเว้นว่าผู้เยาว์สามารถกระทำได้โดยลำพัง โดยไม่ต้องได้รับ ความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมตามมาตรา 24 นี้ จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ประการ คือ
1) ต้องเป็นนิติกรรมที่จำเป็นในการดำรงชีพจริง ๆ อันขาดเสียไม่ได้ และ
2) ต้องเป็นนิติกรรมที่สมแก่ฐานานุรูป และฐานะการเงินของผู้เยาว์ด้วย
ข้อ 2. นายแดงไปขอกู้ยืมเงินจำนวน 1 ล้านบาทจากนายขาวแต่นายขาวไม่ไห้ จงไปปรึกษากับนายดำ นายดำได้ไปที่บ้านนายขาวแล้วพูดจาข่มขู่ว่าจะทำร้ายภริยาและลูกของนายขาว ถ้านายขาวไม่ให้เงินนายแดงยืม ด้วยความกลัวนายขาวจึงยอมให้นายแดงกู้ยืมเงินไปตามจำนวมดังกล่าว โดยที่นายแดง มิได้รู้หรือควรได้รู้ว่านายขาวถูกนายดำข่มขู่
ดังนี้ ถามว่า สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายขาวและนายแดงมีผลอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 164 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และ ร้ายแรงถึงขนาดที่จะจูงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มีการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น
และมาตรา 166 ได้บัญญัติว่า
“การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะ แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่”
วินิจฉัย
ตามปัญหา การที่นายขาวได้แสดงเจตนายอมให้นายแดงกู้ยืมเงินไปเป็นจำนวน 1 ล้านบาทนั้น เนื่องจากถูกนายดำพูดจาข่มขู่ว่าจะทำร้ายภริยาและลูกของนายขาว ถ้านายขาวไม่ให้เงินนายแดงยืม การแสลงเจตนา ของนายขาวจึงเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ ดังนั้นสัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายขาวและนายแดงจึงมีผลเป็น โมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 164
และแม้ว่าการที่นายขาวได้แสดงเจตนายอมให้นายแดงกู้ยืมเงินไปเพราะถูกนายดำบุคคลภายนอก ข่มขู่นั้น นายแดงมิได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่านายขาวถูกนายดำข่มขู่ก็ตาม สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวก็ตกเป็นโมฆียะ เพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 166 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ย่อมทำให้นิติกรรม (สัญญา กู้ยืมเงินดังกล่าว) ตกเป็นโมฆียะ แม้ว่าการข่มขู่นั้นจะเกิดขึ้นโดยบุคคลภายนอกก็ตาม
สรุป สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายขาวและนายแดงมีผลเป็นโมฆียะ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3. ความชำรุดบกพร่องคืออะไร เมื่อเกิดความชำรุดบกพร่องต่อทรัพย์สินที่ซื้อขาย ผู้ขายต้องรับผิด หรือไม่ และมีกรณีใดบ้างที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิด
ธงคำตอบ
“ความชำรุดบกพร่อง” คือการที่ทรัพย์สินที่ได้ตกลงซื้อขายกันนั้น ได้เกิดความเสื่อมเสีย หรือ ความบกพร่องหรือความชำรุดขึ้นกับเนื้อหาของตัวทรัพย์สินนั้นโดยตรง หรือเกี่ยวกับคุณภาพของทรัพย์สินนั้น
และตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่ทรัพย์สินที่ขายนั้นเกิดความ ชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้ทรัพย์สินนั้นเสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ หรือประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา ผู้ขายจะต้องรับผิดไม่ว่าผู้ขายจะได้รู้หรือไม่รู้ถึง ความชำรุดบกพร่องนั้น
แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายได้บัญญัติหลักเกณฑ์เป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพื่อ ความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินที่ซื้อขายกันนั้น ถ้าเข้ากรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ
1. ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วในเวลาซื้อขายว่าทรัพย์สินนั้นมีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้น หรือ ควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้อย่างวิญญูชน
2. ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นได้เห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ แต่ผู้ซื้อได้รับเอาทรัพย์สิน นั้นไว้โดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด
3. ถ้าทรัพย์สินนั้นผู้ซื้อได้ซื้อมาจากการขายทอดตลาด
4. ถ้าคู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขายว่า ผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุด- บกพร่องนั้น แต่ข้อตกลงนี้จะไม่คุ้มครองผู้ขาย ถ้าผู้ขายได้ปกปิดความจริงถึงการชำรุดบกพร่องอันผู้ขายได้รู้อยู่แล้ว หรือถ้าการชำรุดบกพร่องนั้นได้เกิดจากการกระทำของผู้ขายเอง
5. ถ้าการชำรุดบกพร่องนั้นได้เกิดขึ้น “ภายหลัง” จากที่ได้มีการส่งมอบทรัพย์สินแล้ว
ข้อ 4. แดงได้รับโอนตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงินจากเหลืองด้วยการสลักหลังตัว ระบุชื่อแดงเป็นผู้รับโอน แดงต้องการโอนตั๋วนี้ให้เขียว บังเอิญปากกาของแดงหมึกหมด แดงจึงส่งมอบตั๋วฯ นี้ให้เขียว เขียวได้รับตั๋วฯ มาแล้ว เขียวจะบังคับให้แดง เหลืองรับผิดตามตั๋วฯ นี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน ได้บัญญัติหลักไว้ว่า
1. ผู้ทรง หมายถึง บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครอง โดยฐานะเป็นผู้รับเงิน หรือเป็น ผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน (มาตรา 904)
2. ตั๋วแลกเงินสั่งจ่ายระบุชื่อนั้นย่อมโอนให้กันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ (มาตรา
917 วรรคแรก)
3. การสลักหลังต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินและลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง โดยจะระบุชื่อของ ผู้รับสลักหลังด้วย หรือเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้สลักหลังไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินซึ่งเรียกว่า การสลักหลังลอย ก็ได้ (มาตรา 919)
4. ในกรณีที่มีการสลักหลังลอย ผู้ทรงที่ได้รับตั๋วเงินจากการสลักหลังลอยสามารถที่จะโอนตั๋วเงินนั้นต่อไปโดยการสลักหลังและส่งมอบ หรืออาจจะโอนตั๋วเงินนั้นโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องสลักหลังก็ได้ (มาตรา 920 วรรคสอง)
วินิจฉัย
ตามปัญหา เมื่อตั๋วแลกเงินที่แดงได้รับโอนมานั้นเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ และการที่ แดงได้รับโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้มา ก็เป็นการได้รับโอนตั๋วนี้มาจากการสลักหลัง และได้ระบุชื่อแดงเป็นผู้รับโอน ซึ่งถือว่าเป็นการสลักหลังระบุชื่อมิใช่การสลักหลังลอยแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อแดงต้องการโอนตัวนี้ให้เขียวต่อไป การโอนจะถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อแดงได้สลักหลังตั๋วนี้ให้แก่เขียว โดยอาจจะสลักหลังระบุชื่อ หรือ สลักหลังลอยก็ได้
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า แดงได้โอนตั๋วนี้ให้แก่เขียวโดยการส่งมอบตั๋วนี้ให้แก่เขียวโดย ไม่ได้สลักหลังแต่อย่างใด จึงถือว่าการโอนตั๋วของแดงดังกล่าวได้ทำไปโดยไม่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการโอนตั๋วแลกเงิน ดังนั้นแม้ว่าเขียวจะเป็นผู้ที่มีตั๋วเงินฉบับนี้อยู่ในความครอบครอง แต่เมื่อเขียวไม่ได้อยู่ในฐานะของผู้รับสลักหลัง คือไม่ได้ตั๋วมาจากการสลักหลังของแดง เขียวจึงไมใช่ผู้ทรงหรือเจ้าหนี้ตามตั๋วฉบับนี้ ดังนั้นเขียวจึงจะบังคับให้แดง และเหลืองรับผิดตามตั๋วแลกเงินฉบับนี้ไม่ได้เลย
สรุป เขียวไม่ใช่ผู้ทรงเพราะได้รับโอนตั๋วมาโดยไม่ถูกต้อง ดังนั้นเขียวจะบังคับให้แดงและ เหลืองรับผิดตามตั๋วแลกเงินนี้ไม่ได้เลย