การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ1. นายชาติอายุ 40 ปี เป็นบุคคลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถแล้ว นายชาติซื้อแหวน 1 วงจากนายสันต์ในขณะที่นายชาติมีจิตปกติ โดยนายชาติไม่มีอาการวิกลจริตในขณะซื้อแต่อย่างใด และนายสันต์ผู้ขายไม่รู้ว่านายชาติเป็นคนไร้ความสามารถ ดังนี้ นิติกรรมการซื้อแหวนของนายชาติ มีผลทางกฎหมายอย่างไร จงอธิบาย
ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 29 บัญญัติว่า “การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้กระทำลงการนั้นเป็นโมฆียะ”

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นว่า คนไร้ความสามารถนั้น กฎหมายห้ามทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้ามีการฝ่าฝืนไปทำนิติกรรม ไม่ว่าจะทำนิติกรรมในขณะที่มีอาการจริตวิกลหรือไม่ คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะ ได้รู้หรือไม่ว่าผู้กระทำนิติกรรมเป็นคนไร้ความสามารถ หรือจะได้ทำนิติกรรมโดยผู้อนุบาลยินยอมหรือไม่ก็ตาม นิติกรรมนั้นก็จะตกเป็นโมฆียะทั้งสิ้น
ตามปัญหา การที่นายชาติซึ่งเป็นบุคคลวิกลจริตที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ได้ทำ สัญญาซื้อแหวน 1 วงจากนายสันต์นั้น แม้ว่าในขณะทำนิติกรรมซื้อชาย นายชาติจะมีจิตปกติคือไม่มีอาการวิกลจริต แต่อย่างใด และคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งคือนายสันต์ผู้ขายจะไม่รู้ว่านายชาติเป็นคนไร้ความสามารถก็ตามนิติกรรม การซื้อแหวนของนายชาติก็มีผลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 29
สรุป นิติกรรมการซื้อแหวนของนายชาติมีผลเป็นโมฆียะ

 

ข้อ 2. การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิด มีผลเป็นโมฆะหรือโมฆียะเสมอไปหรือไม่ อธิบาย

ธงคำตอบ

การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติหลักไว้ดังนี้คือ

1.      การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ ความสำคัญผิด ในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่ง เป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม และความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น (ป.พ.พ. มาตรา 156)

2.      การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน ซึ่งตามปกติถือว่า เป็นสาระสำคัญ เป็นโมฆียะ (ป.พ.พ. มาตรา 157)

3.      ความสำคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่อ อย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาเป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ (ป.พ.พ. มาตรา 158)

จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดจะมีผลเป็นโมฆะ หรือ โมฆียะไม่เสมอไป ทั้งนี้เพราะการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมซึ่งมีผลทำให้ การแสดงเจตนาเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 และการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคล หรือทรัพย์สิน ซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 นั้น มีข้อยกเว้นตาม บ.พ.พ. มาตรา 158 กล่าวคือ ถ้าการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดตามมาตรา 156 หรือ มาตรา 157 นั้นได้เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอา ความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ คือจะอ้างว่าตนได้แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดทำให้การแสดง เจตนานั้นมีผลเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นั่นเอง

 

ข้อ 3. นางนกทำสัญญาซื้อสวนองุ่นจากนายต่อในราคา 8 แสนบาท โดยตกลงกันว่าจะไปจดทะเบียนต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ในเดือนถัดไป พอถึงวันจดทะเบียนโอน นายต่อไม่โอนสวนองุ่นให้ ดังนี้ ถ้านางนก ต้องการฟ้องคดีต่อศาล ให้นายต่อโอนสวนองุ่นให้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

“สัญญาจะซื้อขาย” คือ สัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษที่คู่กรณี ยังมิได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ทำสัญญาซื้อขาย แต่มีข้อตกลงกันว่าจะมีการโอน กรรมสิทธ์ในทรัพย์สินให้แก่กันก็ต่อเมื่อไต้ไปกระทำตามแบบพิธีที่กฎหมายได้กำหนดไว้ในภายหน้า คือเมื่อได้ไป ทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วนั่นเอง

ตามปัญหา สัญญาซื้อขายสวนองุ่นระหว่างนางนกและนายต่อ เมื่อเป็นการซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์และคู่สัญญาได้มีการตกลงกันว่าจะไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในเดือนถัดไป สัญญาซื้อขาย สวนองุ่นดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะซื้อขาย (หรือสัญญาจะซื้อจะขาย) และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะกฎหมายมิได้กำหนดแบบในการทำสัญญาจะซื้อขายไว้แต่อย่างใด เพียงแต่จะกำหนดไว้ว่า ถ้าจะมีการฟ้องร้อง บังคับคดีกันจะต้องมีหลักฐานตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้ด้วย มิฉะนั้นจะฟ้องร้องบังคับคดีกันไม่ได้

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ได้กำหนดไว้ว่า “สัญญาจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์หรือ สังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ จะต้องมีหลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้คือ

1.      มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ

2.      มีการวางประจำหรือมัดจำไว้ หรือ

3.      มีการชำระหนี้บางส่วน”

และตามปัญหาเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สัญญาจะซื้อขายสวนองุ่นระหว่างนางนกและนายต่อนั้น ได้ทำสัญญากันเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อของทั้งสองฝ่าย จึงถือว่าสัญญาจะซื้อขายสวนองุ่นดังกล่าวมีหลักฐาน เป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ ดังนั้นเมื่อถึงวันจดทะเบียนโอน นายต่อไม่ยอมโอนสวนองุ่น ให้นางนก นางนกย่อมสามารถฟ้องให้นายต่อโอนสวนองุ่นให้แก่ตนได้

สรุป ถ้านางนกต้องการฟ้องคดีต่อศาลให้นายต่อโอนสวนองุ่นให้แก่ตน นางนกย่อมสามารถ ฟ้องร้องบังคับนายต่อได้

 

ข้อ 4. ตั๋วแลกเงินโอนให้กันได้โดยวิธีใดบ้าง จงอธิบายหลักกฎหมาย และยกตัวอย่างประกอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงินได้บัญญัติถึงวิธีโอนตั๋วแลกเงินไว้ดังนี้ คือ

1.      ตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อนั้นย่อมโอนให้กันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคแรก)

2.      ตั๋วแลกเงินสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้ด้วยการส่งมอบให้แก่กัน (มาตรา 918)

3.      การสลักหลังต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินและลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง โดยจะระบุชื่อของ ผู้รับสลักหลังด้วย หรือเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้สลักหลังไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินซึ่งเรียกว่า การสลักหลังลอย ก็ได้ (มาตรา 919)

จากหลักกฎหมายดังกล่าว การโอนตั๋วแลกเงินให้แก่กันนั้น จะต้องปฏิบัติตามวิธีการที่ กฎหมายได้กำหนดไว้ ดังนี้คือ

1.      ถ้าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) การโอนย่อมสามารถทำได้โดยการ สลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคแรก) หมายความว่าตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) นั้น ถ้าจะ มีการโอนต่อไปให้แก่บุคคลอื่น การโอนจะมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้โอนได้ทำการสลักหลังและ ส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่ผู้รับโอน (จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้)

“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนไว้ในตั๋วแลกเงิน (หรือใบประจำต่อ) โดยอาจจะเป็นการ “สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)” หรืออาจจะเป็นการ “สลักหลังลอย” ก็ได้

(1)    การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หมายถึง การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับ สลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ในตั๋วแลกเงินด้วย โดยอาจจะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วก็ได้

(2)    การสลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังที่ไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินเท่านั้น (มาตรา 919 วรรคสอง)

ตัวอย่าง หนึ่งได้ออกตั๋วแลกเงินสั่งให้สองจ่ายเงินให้แก่สาม โดยระบุชื่อสามเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ถ้าสามมีความประสงค์จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไปให้ ก. สามจะต้องลงลายมือชื่อของสามสลักหลังไว้ด้วย โดยสามอาจจะระบุชื่อ ก. ผู้รับสลักหลังลงไว้ในตั๋วด้วยซึ่งเรียกว่า การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หรือสามอาจจะลงแต่ลายมือชื่อของสามไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินนั้น โดยไม่ระบุชื่อ ก. ผู้รับสลักหลังไว้ในตั๋วซึ่งเรียกว่าเป็นการ สลักหลังลอยก็ได้

2.      ถ้าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ การโอนตั๋วชนิดนี้ย่อมสามารถทำได้โดยการ

ส่งมอบตั๋วแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมีการสลักหลังใด ๆ ทั้งสิ้น (มาตรา 918)

ตัวอย่าง หนึ่งออกตั๋วแลกเงินสั่งให้สองจ่ายเงินแก่ผู้ถือ และส่งมอบตั๋วนั้นให้แก่สาม ดังนี้ ถ้าสามมีความประสงค์จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ให้แก่ ก. สามสามารถโอนได้โดยการส่งมอบตั๋วให้แก่ ก. โดยที่สามไม่ต้องลงลายมือชื่อสลักหลังตั๋ว การโอนตั๋วดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์

Advertisement