การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2556
ข้อสอบกระบวนวิขา LAW 2015 กฎหมายธุรกิจ 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน
ข้อ 1. นายกิจ อายุ 18 ปี นายกิจได้รับเงินจำนวน 20,000 บาท จากนายทองซึ่งเป็นคุณอาของนายกิจ โดยที่ นายทองได้บอกแก่นายกิจว่าไม่ต้องบอกนางพรที่เป็นมารดาของนายกิจทราบ หลังจากนั้นนายกิจ ได้นำเงินไปซื้อรถจักรยานยนต์ตามลำพังโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางพร ต่อมานางพรทราบ เหตุการณ์ดังกล่าวทั้งหมด นางพรไม่พอใจมาก เพราะนางพรมีเรื่องทะเลาะกับนายทองตั้งแต่บิดาของ นายกิจตาย บางพรจึงไม่ต้องการให้นายกิจรับทรัพย์สินใด ๆ จากนายทอง อีกทั้งนางพรไม่ต้องการ ให้นายกิจขี่รถจักรยานยนต์ ดังนี้ นางพรจะบอกล้างนิติกรรมการรับเงิน และซื้อรถจักรยานยนต์ ของนายกิจได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 21 “ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
มาตรา 22 ”‘ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น หากเป็นเพียงเพื่อจะไดไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือเป็นการเพื่อให้หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายจะต้องได้รับความยินยอม จากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆียะ เว้นแต่นิติกรรมบางประเภทที่ผู้เยาว์สามารถทำได้โดยลำพัง ตนเองโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อนก็มีผลสมบูรณ์ เช่น นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่ง สิทธิอันใดอันหนึ่ง ซึ่งเป็นนิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว เป็นต้น
ตามปัญหา การที่นายกิจผู้เยาว์ได้รับเงิน 20,000 บาท จากนายทองซึ่งเป็นคุณอาของนายกิจนั้น แม้การที่นายกิจผู้เยาว์จะได้รับเงินจากนายทองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากนางพรซึ่งเป็นมารดาก็ตาม นิติกรรม การรับเงินของนายกิจผู้เยาว์ก็มีผลสมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆียะ เพราะเป็นนิติกรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เยาว์ฝ่ายเดียว กล่าวคือ เป็นนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง ซึ่งเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 22 ดังนั้น นางพร จะบอกล้างนิติกรรมการรับเงินดังกล่าวไม่ได้
ส่วนกรณีที่นายกิจได้นำเงินไปซื้อรถจักรยานยนต์ตามลำพังโดยไม่’ได้รับความยินยอมจาก นางพรนั้น ย่อมตกเป็นโมฆียะตามมาตรา 21 เพราะมิใช่นิติกรรมที่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมายที่ผู้เยาว์สามารถทำได้เองโดยลำพัง ดังนั้น นางพรจึงสามารถบอกล้างนิติกรรมการซื้อรถจักรยานยนต์ของนายกิจได้
สรุป นางพรจะบอกล้างนิติกรรมการรับเงินของนายกิจไม่ได้ แต่สามารถบอกล้างนิติกรรม การซื้อรถจักรยานยนต์ของนายกิจได้
ข้อ 2. นายดำถูกนายขาวขู่ว่าจะทำร้ายร่างกายถ้าไม่ให้นายแดงกู้ยืมเงิน ด้วยความกลัวนายดำจึงให้นายแดง กู้ยืมเงินไป 1 ล้านบาท ข้อเท็จจริงนายแดงมิได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่านายดำถูกนายขาวข่มขู่ ดังนี้สัญญา กู้ยืมเงินระหว่างนายดำและนายแดงมีผลดามกฎหมายอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 164 บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่เป็นโมฆียะ
การข่มขู่ที่จะทำให้การใดตกเป็นโมฆียะนั้น จะต้องเป็นการข่มขู่ที่จะให้เกิดภัยอันใกล้จะถึง และร้ายแรงถึงขนาดที่จะจงใจให้ผู้ถูกข่มขู่มีมูลต้องกลัว ซึ่งถ้ามิได้มิการข่มขู่เช่นนั้น การนั้นก็คงจะมิได้กระทำขึ้น”
และมาตรา 166ได้บัญญัติว่า
“การข่มขู่ย่อมทำให้การแสดงเจตนาเป็นโมฆียะ แม้บุคคลภายนอกจะเป็นผู้ข่มขู่”
วินิจฉัย
ตามปัญหา การที่นายดำได้แสดงเจตนายอมให้นายแดงกู้ยืมเงินไปเป็นจำนวน 1 ล้านบาทนั้น เนื่องจากถูกนายขาวพูดจาข่มขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย ถ้านายดำไม่ให้นายแดงกู้ยืมเงิน การแสดงเจตนาของนายดำ จึงเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ ดังนั้นสัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายดำและนายแดงจึงมีผลเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 164
และแม้ว่าการที่นายดำได้แสดงเจตนายอมให้นายแดงกู้ยืมเงินไปเพราะถูกนายขาวบุคคลภายนอก ข่มขู่นั้น นายแดงมิได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่านายดำถูกนายขาวข่มขู่ก็ตาม สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวก็ตกเป็นโมฆียะ เพราะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 166 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า การแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่ย่อมทำให้นิติกรรม (สัญญากู้ยืมเงิน ดังกล่าว) ตกเป็นโมฆียะ แม้ว่าการข่มขู่นั้นจะเกิดขึ้นโดยบุคคลภายนอกก็ตาม
สรุป สัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายดำและนายแดงมีผลเป็นโมฆียะ ตามเหตุผลและหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3. นายมะนาวตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินของนายมะม่วงจำนวน 100 ตารางวา ราคาตารางวาละ 35,000 บาท โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมานายมะม่วงส่งมอบที่ดิน ให้นายมะนาวจำนวน 98 ตารางวา นายมะนาวจึงปฏิเสธที่จะไม่รับมอบที่ดินจากนายมะม่วง ดังนี้ นายมะนาวจะปฏิเสธไม่รับมอบที่ดินจากนายมะม่วงได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 466 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า
“ในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์นั้น ถ้าได้มีการระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ และผู้ขายได้ส่งมอบ ทรัพย์สินให้แก่ผู้ซื้อน้อยกว่าหรือมากไปกว่าที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้ ผู้ซื้อยอมมีสิทธิที่จะบอกปัดเสียหรือจะรับเอาไว้ และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ ตามแต่จะเลือก
แต่ถ้าจำนวนส่วนที่ขาดตกบกพร่องหรือส่วนที่เกินนั้นมีจำนวนไม่มากกว่าร้อยละ 5 ของเนื้อที ทั้งหมดที่ได้ระบุไว้ ผู้ซื้อจะต้องรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนจะบอกปัดไม่รับไม่ได้”
วินิจฉัย
ตามปัญหา การที่นายมะนาวได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายที่ดินของนายมะม่วงจำนวน 100 ตารางวานั้น ถือว่าเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มีการระบุจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดไว้ ดังนั้นโดยหลักแล้วเมื่อนายมะม่วง ได้ส่งมอบที่ดินให้นายมะนาวมีจำนวนเนื้อที่น้อยกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ นายมะนาวผู้ซื้อย่อมมีสิทธิปฏิเสธไม่รับมอบ ที่ดินจากนายมะม่วงได้ หรือนายมะนาวจะรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายมะม่วงได้ส่งมอบที่ดินให้แก่นายมะนาวมีจำนวน เนื้อที่ 98 ตารางวา ซึ่งน้อยกว่าที่ตกลงกันแต่จำนวนส่วนที่ขาดไปนั้นมีจำนวนเพียง 2 ตารางวา ซึ่งเป็นจำนวนที่ ไม่มากกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนเนื้อที่ทั้งหมดที่ตกลงกัน ดังนั้นกรณีนี้นายมะนาวจึงต้องรับเอาไว้และใช้ราคา ตามส่วน จะบอกปัดไม่รับไม่ได้
สรุป นายมะนาวจะปฏิเสธไม่รับมอบที่ดินจากนายมะม่วงไม่ได้
ข้อ 4. ตั๋วแลกเงินมีวิธีโอนตั๋วให้แก่กันได้กี่วิธี จงอธิบายหลักกฎหมายและยกตัวอย่างประกอบ
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงินได้บัญญัติถึงวิธีโอนตั๋วแลกเงินไว้ดังนี้ คือ
1. ตั๋วแลกเงินชนิดลังจ่ายระบุชื่อนั้นย่อมโอนให้กันได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคแรก)
2. ตั๋วแลกเงินสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้น ย่อมโอนกันได้ด้วยการส่งมอบให้แก่กัน (มาตรา 918)
3. การสลักหลังต้องเขียนลงในตั๋วแลกเงินและลงลายมือชื่อผู้สลักหลัง โดยจะระบุชื่อของ ผู้รับสลักหลังด้วย หรือเพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้สลักหลังไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงิน ซึ่งเรียกว่า การสลักหลังลอยก็ได้ (มาตรา 919)
จากหลักกฎหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่าตั๋วแลกเงินมิวิธีโอนตั๋วให้แก่กันได้ 2 วิธี
1. ถ้าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) การโอนย่อมสามารถทำได้โดยการ สลักหลังและส่งมอบ (มาตรา 917 วรรคแรก) หมายความว่าตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายระบุชื่อ (ผู้รับเงิน) นั้น ถ้าจะ มีการโอนต่อไปให้แก่บุคคลอื่น การโอนจะมีผลสมบูรณ์ถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อผู้โอนได้ทำการสลักหลังและ ส่งมอบตั๋วแลกเงินนั้นให้แก่ผู้รับโอน (จะโอนโดยการส่งมอบแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้)
“การสลักหลัง” คือ การที่ผู้สลักหลัง (ผู้โอน) ได้เขียนข้อความและลงลายมือชื่อของตนไว้ ในตั๋วแลกเงิน (หรือใบประจำต่อ)โดยอาจจะเป็นการ “สลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ)’’ หรืออาจจะเป็นการ “สลักหลังลอย”ก็ได้
(1) การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หมายถึง การสลักหลังที่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับ สลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ใบตั๋วแลกเงินด้วย โดยอาจจะทำที่ด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วก็ได้
(2) การสลักหลังลอย หมายถึง การสลักหลังที่ไม่ได้มีการระบุชื่อของผู้รับสลักหลัง (ผู้รับประโยชน์หรือผู้รับโอน) ไว้ เพียงแต่ผู้สลักหลังได้ลงแต่ลายมือชื่อของตนไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินเท่านั้น (มาตรา 919 วรรคสอง)
ตัวอย่าง หนึ่งได้ออกตั๋วแลกเงินลังให้สองจ่ายเงินให้แก่สามโดยระบุชื่อสามเป็นผู้รับเงิน ดังนี้ถ้าสามมีความประสงค์จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อไปให้ ก. สามจะต้องลงลายมือชื่อของสามสลักหลังไว้ด้วย โดยสามอาจจะระบุชื่อ ก. ผู้รับสลักหลังลงไว้ในตั๋วด้วยซึ่งเรียกว่า การสลักหลังเฉพาะ (ระบุชื่อ) หรือสามอาจจะ ลงแต่ลายมือชื่อของสามไว้ที่ด้านหลังของตั๋วแลกเงินนั้น โดยไม่ระบุชื่อ ก. ผู้รับสลักหลังไว้ในตั๋วซึ่งเรียกว่าเป็น การสลักหลังลอยก็ได้
2. ถ้าเป็นตั๋วแลกเงินชนิดสั่งจ่ายแก่ผู้ถือ การโอนตั๋วชนิดนี้ย่อมสามารถทำได้โดยการ
ส่งมอบตั๋วแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมีการสลักหลังใด ๆ ทั้งสิ้น (มาตรา 918)
ตัวอย่าง หนึ่งออกตั๋วแลกเงินสั่งให้สองจ่ายเงินแก่ผู้ถือ และส่งมอบตั๋วนั้นให้แก่สาม ดังนี้ ถ้าสามมีความประสงค์จะโอนตั๋วแลกเงินฉบับนี้ให้แก่ ก. สามสามารถโอนได้โดยการส่งมอบตั๋วให้แก่ ก. โดยที่สาม ไม่ต้องลงลายมือชื่อสลักหลังตั๋ว การโอนตั๋วดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์