การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 3 ข้อ

ข้อ 1 ให้นักศึกษาอธิบายความแตกต่างเรื่องแนวคิดในการปกครองของรัฐศาสนากับรัฐโลกาวิสัย มาให้เข้าใจ

แนวคําตอบ

ความแตกต่างเรื่องแนวคิดในการปกครองของรัฐศาสนากับรัฐโลกาวิสัย

รัฐศาสนากับรัฐโลกาวิสัยมีความแตกต่างกันในเรื่องของความหมาย และหลักการหรือ ลักษณะในการปกครอง ดังนี้

ความหมายของรัฐศาสนา รัฐศาสนา (Religious State) มีความหมาย 2 ระดับ คือ

1 รัฐหรือประเทศที่ระบุชัดในรัฐธรรมนูญและการปฏิบัติว่ามีการยกย่องให้ศาสนาใด ศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจําชาติและให้ศาสนานั้นมีอิทธิพลต่อรัฐ

2 ประเทศที่เคร่งในศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างเต็มที่ จนเอาหลักคําสอนมาปกครองประเทศ ความหมายของรัฐโลกาวิสัย รัฐโลกาวิสัยหรือรัฐโลกวิสัย (Secular State) สามารถอธิบายความหมายได้ 2 แนวทาง คือ

1 รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือ การปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐโลกาวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมายทางสัญลักษณ์และ ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชนในรัฐที่นับถือศาสนาอื่น

2 รัฐสมัยใหม่ที่ยึดถือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ โดยหัวใจสําคัญของรัฐ โลกาวิสัย คือ การปกครองแบบทางโลกหรือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ (เช่น การปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยและสังคมนิยม) และต้องเป็นกลางทางศาสนา

หลักการของรัฐศาสนา หลักการหรือลักษณะทั่วไปของรัฐศาสนา มีดังนี้

1 ระบุในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่ามีศาสนาหรือกระทั่งนิกายใดเป็นศาสนาประจําชาติ ซึ่งแม้จะบอกว่าให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ศาสนาอื่น แต่ก็ต้องเป็นรอง และห้ามขัดแย้งกับศาสนาหลัก

2 รัฐศาสนาโดยส่วนใหญ่ก็ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอื่น แต่มักหมายถึงให้เป็น ศาสนาของชนกลุ่มน้อยเท่านั้นและกีดกันไม่ให้คนในศาสนาหลักเปลี่ยนศาสนา

3 รัฐอุดหนุนบํารุงศาสนาหลักอย่างเต็มที่ มีการให้ศาสนาหลักเป็นศาสนาเดียวหรือ ศาสนาหลักในรัฐพิธี และมีการใช้วันสําคัญทางศาสนาหลักมาเป็นวันหยุดราชการและวันสําคัญของชาติ

4 มีโทษสําหรับการกระทําที่หมิ่นศาสนาหรือปั่นทอนศาสนาหลัก และมีการใช้หลัก คําสอนของศาสนาหลักมากําหนดเป็นกฎหมายและประเพณีของรัฐอย่างมาก

5 ผู้นําประเทศจะต้องนับถือศาสนาหลักหรืออาจต้องเป็นผู้นําศาสนาหลักด้วย นอกจากนี้ตราสัญลักษณ์ของชาติ ธงชาติ และของหน่วยงานราชการจะมีมาจากเนื้อหาของศาสนาหลักปนอยู่ รวมทั้งมีการกําหนดให้นักเรียนต้องเรียนศาสนาหลักในโรงเรียนและมีพิธีกรรมของศาสนาหลักในโรงเรียน

หลักการของรัฐโลกาวิสัย หลักการหรือลักษณะสําคัญของรัฐโลกาวิสัย มีดังนี้

1 การไม่บัญญัติศาสนาใดเป็นศาสนาประจําชาติในกฎหมาย คือ การไม่ได้ระบุถึงศาสนา ประจําชาติ ไม่มีการยกศาสนาใดให้มีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่นและไม่มีการปกป้องศาสนาใดเป็นพิเศษ หมายความว่า รัฐไม่ควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่อการจํากัดเสรีภาพของประชาชนในการเลือกนับถือศาสนา และในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงศาสนาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

2 กฎหมายต้องให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน คือ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในทางการศาสนาควรได้รับอย่างเต็มที่อากรัฐและกฎหมายของรัฐอีกด้วย หมายความว่า ประชาชนสามารถใช้ สิทธิของตนเองแสดงออกและเสนอทางความคิดเห็นเรื่องศาสนาได้โดยไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนาเข้ามาควบคุม และสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางศาสนาควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐอีกด้วย เพราะว่าศาสนาเป็น สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลหรือเป็นเรื่องส่วนตัว

3 รัฐไม่มีการสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ คือ รัฐไม่มีการใช้งบประมาณ จากเงินภาษีของประชาชนในรัฐไปสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น พิธีการทางศาสนา เชิงสัญลักษณ์ ประจําศาสนา กําหนดวันหยุดทางศาสนาในปฏิทินของประเทศ เป็นต้น

4 รัฐต้องไม่ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยเหตุผลทางศาสนา คือ การปฏิบัติของรัฐต่อประชาชน ควรใช้หลักการของเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเหตุผลทางศาสนา ยิ่งกว่านั้นไม่ควรนําเอาศาสนาใด ศาสนาหนึ่งมาเป็นหลักแล้วนําเอาความคิดนั้นไปจัดการคนต่างศาสนา หมายความว่า การกระทําความผิดของ ประชาชนใช้หลักกฎหมายในการตัดสินการกระทํานั้นไม่ใช้หลักการทางศาสนาเป็นการกําหนดโทษ

 

ข้อ 2 พุทธศาสนาได้อธิบายการเกิดสังคมมนุษย์ไว้อย่างไร โปรดอธิบาย

แนวคําตอบ

การกําเนิดสังคมมนุษย์ในทางพุทธศาสนาตามอัคคัญญสูตร

อัคคัญญสูตร เป็นคําสอนของพระพุทธเจ้าทิตรัสถึงมนุษย์ สังคม และสถาบันทางการเมือง โดยแสดงถึงวิวัฒนาการเป็นลําดับชั้นตั้งแต่โลกพินาศจนถึงการเกิดขึ้นของมนุษย์ โดยการเกิดขึ้นของมนุษย์ที่มี ตัณหาก่อให้เกิดการสะสมทรัพย์ การสร้างครอบครัว การเลือกหัวหน้า และการลงโทษผู้กระทําความผิด

พุทธศาสนาเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมความดีบนสภาวะธรรมชาติดั้งเดิมที่อุดมสมบูรณ์ สุขสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสะดวกสบายในการดํารงชีพ ไม่มีความอยากอาหารเพราะได้สําเร็จทางใจแล้ว

ซึ่งทําให้มนุษย์ไม่ต้องลงแรงอะไรเลย มนุษย์ไม่มีความแตกต่างกัน ไม่มีการแบ่งแยกชาติวงศ์หรือพรรคพวก มีแต่ความดี ประกอบกุศลกรรม ทําให้มีชีวิตมั่นคง ปลอดภัยแต่ตัณหาทําให้มนุษย์ตกต่ำลง และเกิดความยึดมั่นถือมั่นหรืออุปาทานขึ้น พอบริโภควนดิน ก็ทําให้เกิดรูปร่างและผิวพรรณที่แตกต่างกันขึ้น เกิดการยึดมั่นว่าผิวพรรณตนดี ผิวพรรณคนอื่นต่ำทรามกว่า เกิดยึดเอาผิวพรรณเป็นเครื่องกําหนดความสูงต่ำ ต่อมาร่างกายเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นหญิงเป็นชายขึ้น เกิดการเสพเมถุนขึ้น ทําให้ถูกสัตว์โลกอื่น ๆ ขว้างปา จนต้องสร้างบ้านเรือนกําบัง เกิดการสร้างครอบครัวขึ้น

ส่วนด้านอาหารก็เริ่มมีผู้เกียจคร้านสะสมอาหารไว้เกินกว่าความจําเป็น คนอื่นก็สะสมบ้าง จนเกิดการแข่งขันกันสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดความโลภขึ้นมา เมื่อมีคนโลภกันมาก ทําให้ความขาดแคลน เกิดขึ้นแก่ส่วนรวม ดังนั้นจึงแก้ปัญหาโดยการปักปันเขตแดนกันขึ้น ก็เกิดทรัพย์สินส่วนตัวขึ้น แต่ความโลภก็ทํา ให้คนลักทรัพย์ของคนอื่นจึงถูกด่าว่าทุบตี

การลงโทษจึงเกิดขึ้นมาจากการมีทรัพย์สินส่วนตัว แต่การลงโทษก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์และ ไม่ชอบธรรมพอ จึงเกิดความต้องการที่จะให้มีระเบียบการปกครองขึ้น จึงได้ตกลงกันเลือกตั้งคนผู้หนึ่งขึ้นมา ทําหน้าที่ว่ากล่าวติเตียนลงโทษผู้กระทําความผิด โดยได้รับส่วนแบ่งผลผลิตจากคนในปกครองของตน จึงเกิด คําเรียกผู้ปกครองว่า “มหาชนสมมุติ” คือ เป็นผู้ที่คนทั่วไปสมมุติขึ้นเป็นหัวหน้า เรียกว่า “กษัตริย์” เพราะเป็นหัวหน้าดูแลเขตแดนหรือที่ทํากินซึ่งเป็นนา เรียกว่า “ราชา” เพราะทําให้เกิดความสุขใจโดยให้ความเป็นธรรม จนถือเป็นบรรทัดฐานสําหรับปฏิบัติต่อ ๆ กันมา ก็กลายเป็นกฎหมายที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม

ดังนั้นในทางพุทธศาสนาสังคมมนุษย์เกิดขึ้นจากที่มนุษย์มีตัณหา เกิดการยึดเอาผิวพรรณเป็น เครื่องกําหนดความสูงต่ำ เกิดการเสพเมถุนจนทําให้เกิดสถาบันครอบครัวขึ้นมา การมีสถาบันครอบครัวทําให้ เกิดความอยากสะสมต่อทรัพย์สินต่าง ๆ ทําให้เกิดการแก่งแย่งกันขัดแย้งกันขึ้น จึงจําเป็นต้องมีผู้ปกครองทําหน้าที่ ปกป้องคุ้มครองความเป็นอยู่การดํารงชีวิตของคนในสังคมโดยผู้ปกครองได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่

 

ข้อ 3 โปรดอธิบายความหมาย หรือลักษณะของคําศัพท์ต่อไปนี้โดยละเอียด (เลือกทําเพียง 1 ข้อ)

(1) อลัชชี, เดียรถีย์

(2) สาธารณรัฐ, ประชาธิปไตยทางตรง

(3) บัวสี่เหล่า, อกุศลมูล

แนวคําตอบ

(1) อลัชชี เป็นคําศัพท์ที่ใช้เรียกนักบวชในศาสนาผู้ไม่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมคําสอนของพระศาสดา เป็นผู้นอกรีตที่ทําให้ศาสนาเสื่อมเสียและไม่มีความละอายต่อสิ่งที่กระทํานั้น เช่น อลัชชีในพระพุทธศาสนา คือ พระสงฆ์ที่ไม่ประพฤติตามพระธรรมวินัยและทําให้พระธรรมวินัยขาด เช่น พระสงฆ์ที่เสพเมถุน ดื่มสุราเมรัย เป็นต้น

เดียรถีย์ หมายถึง นักบวชนอกศาสนาในอินเดียสมัยพุทธกาล อีกความหมายหนึ่ง เดียรถีย์ หมายถึง พวกที่มีลัทธิความเชื่อถืออย่างอื่นนอกจากพระพุทธศาสนา

ในพระวินัยปิฎกมีว่า ถ้าเดียรถีย์คนใดต้องการจะบวชในพระพุทธศาสนา ต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อทดสอบดูว่าผู้นั้นมีความเลื่อมใสจริงเสียก่อนจึงอนุญาตให้บวชได้

(2) สาธารณรัฐ (Republic) เป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในสมัยสาธารณรัฐโรมัน ซึ่งคําว่า “Republic มาจากภาษาละติน 2 คํา คือ res + publica ซึ่งหมายความว่า ประชาชน ดังนั้นการปกครองสาธารณรัฐก็คือ การเอาคนส่วนมากเป็นที่พึ่ง หรือเอาประชาชนเป็นที่ตั้งประชาธิปไตยทางตรง เกิดขึ้นในนครรัฐเอเธนส์ของกรีกโบราณเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว เป็นการปกครองที่พลเมือง (Citizen) ชายทุกคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นผู้ใช้อํานาจในการปกครองโดยตรงด้วย การประชุมร่วมกัน ทั้งนี้เมื่อพลเมืองชายชาวเอเธนส์อายุ 18 ปีขึ้นไป จะได้เป็นสมาชิกของสภาประชาชนโดย อัตโนมัติ สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่งจากการที่พลเมืองชายอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถเข้าไปโหวต ไปอภิปรายได้ด้วยตนเองนั้น ทําให้เรียกการปกครองลักษณะแบบนี้ว่า “ประชาธิปไตยทางตรง” (Direct Democracy) นั้นเอง

(3) ดอกบัวสี่เหล่า เป็นการแยกบุคคลของพระพุทธเจ้าในการเข้าถึงหลักธรรมของพระองค์ ออกเป็น 4 พวก ผ่านการเปรียบเทียบกับดอกบัว 4 เหล่า ดังนี้

1) บัวใต้โคลน คือ พวกที่ไร้สติปัญญา แม้ฟังธรรมก็ไม่อาจเข้าใจความหมายหรือรู้ตามได้ ไม่มีความเพียร เปรียบเสมือนดอกบัวที่จมอยู่โคลนตม และอาจจะตกเป็นอาหารของเต่า ปลา อีกด้วย ไม่มีโอกาส โผล่ขึ้นพ้นน้ําเพื่อเบ่งบาน

2) บัวใต้น้ำ คือ พวกที่มีสติปัญญาน้อย เมื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับการอบรม ฝึกฝนเพิ่มอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อ มีสติมั่น ในที่สุดก็สามารถรู้และเข้าใจได้ในวันหนึ่งข้างหน้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ํา ซึ่งจะค่อย ๆ โผล่ขึ้นเบ่งบานได้ในวันหนึ่ง

3) บัวเสมอน้ำ คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เพื่อได้ฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและได้รับ การอบรมฝึกฝนเพิ่มเติม ก็จะสามารถรู้และเข้าใจได้ในเวลาไม่ช้า เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่ปริ่มน้ำ ซึ่งจะบานในวัน ถัดไป

4) บัวเหนือน้ำ คือ พวกที่มีสติปัญญาฉลาดเฉลียว เมื่อได้ฟังธรรมก็สามารถรู้และเข้าใจ ในเวลาอันรวดเร็ว เปรียบเสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ํา เมื่อต้องแสงพระอาทิตย์ก็จะเบ่งบานทันที

อกุศลมูล มี 3 ประการ ดังนี้

1) โลภะ (ความโลภ) คือ ความอยากได้สิ่งที่เป็นของคนอื่นโดยมิชอบ ถ้าเราอยากได้ รถยนต์แล้วไปซื้อเอาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าอยากได้รถยนต์แล้วไปขโมยของคนอื่นก็ถือว่าเป็นการทําชั่ว เพราะมีความ โลภเป็นมูลเหตุ

2) โทสะ (ความโกรธ) คือ ความไม่พอใจอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในใจ แล้วเกิดการปองร้าย หรือผูกพยาบาท ทําให้ผู้อื่นเสียหายโดยไม่ถูกต้อง ถ้าเกิดความโกรธขึ้นในใจแล้วไม่ปองร้ายใครก็ไม่เป็นไร

3) โมหะ (ความหลง) คือ ความมัวเมาขาดสติ ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะกระทํา ความหลงเกิดได้ในหลายสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยึดถือเอามาเป็นของตน เช่น ความหลงในกิเลสกาม ความหลงใน อํานาจ ยศถาบรรดาศักดิ์ เงินทองต่าง ๆ ความหลงเหล่านี้ถ้าอยู่ในขอบเขตก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหลงมาก ๆ แล้ว กระทําหรือก่อกรรมให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นแล้วก็ถือเป็นกรรมชั่ว

 

ข้อ 4 พระเจ้าอโศกมหาราชในขวงแรกของการขึ้นครองราชย์ทรงปกครองโดยหลักอรรถศาสตร์ จงอธิบายแนวทางและวิธีการปกครองตามหลักดังกล่าว แนวคําตอบ

แนวทางการปกครองตามหลักอรรถศาสตร์

แนวทางการปกครองตามหลักอรรถศาสตร์ของพระเจ้าอโศกมหาราช คือ หลักสงครามวิชัย ซึ่งเป็นการเอาชนะด้วยสงคราม โดยในการขยายอาณาจักรของพระองค์ทรงใช้แสนยานุภาพปราบปรามข้าศึก อย่างโหดเหี้ยม กองทัพของพระองค์ได้ชัยชนะแบบที่เรียกว่า เลือดท่วมท้องช้าง โดยเฉพาะสงครามครั้งสุดท้าย ที่ทรงเข้ายึดแคว้นกาลิงคะทางตอนใต้ของชมพูทวีปก็มีคนตายเป็นจํานวนมากมาย

วิธีการปกครองตามหลักอรรถศาสตร์

วิธีการปกครองตามหลักอรรถศาสตร์ของพระเจ้าอโศกมหาราชจะเน้นหนักไปในทิศทาง การสร้างอํานาจ การรักษาอํานาจ การจัดแบ่งการปกครอง การเก็บภาษี การใช้เล่ห์กสเพทุบายทางการเมือง ต่าง ๆ เพื่อเอาชนะศัตรู การใช้ระบบสายลับที่สลับซับซ้อน และการรวมอํานาจไว้ที่องค์พระมหากษัตริย์ ดังนี้

1 การสร้างอํานาจ คือ การมุ่งสร้างอํานาจ การสะสมอาวุธ เพื่อที่จะทําสงคราม

2 การรักษาอํานาจ คือ การที่จะปกครองราษฎรหรือหัวเมืองต่าง ๆ เชื่อฟังพระองค์

3 การจัดแบ่งการปกครอง คือ การจัดรูปแบบการปกครองให้รวมศูนย์

4 วิธีการจัดเก็บภาษี คือ เพื่อที่จะสนับสนุนการปกครองของพระองค์เองและก็ของราชวงศ์เพื่อที่จะให้มีความมั่งคั่ง เพื่อที่จะใช้รักษาอํานาจ และเพื่อที่จะขยายอาณาจักรของพระองค์

5 การใช้เล่ห์กลเพทุบายทางการเมือง

6 การใช้สายลับ คือ เพื่อการรู้ข้อมูลข่าวสารของคนที่จะมาบั่นทอนอํานาจของพระองค์เป็นการรักษาไว้ซึ่งอํานาจของพระองค์

7 การรวมศูนย์อํานาจ คือ การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

ข้อ 5 รัฐสักกะ มีความสําคัญอย่างไร และมีแนวทางการปกครองแบบใด และการปกครองรูปแบบดังกล่าวมีลักษณะเป็นอย่างไร

แนวคําตอบ

ความสําคัญของรัฐสักกะ

รัฐสักกะ คือ รัฐของฝ่ายศากยะวงศ์อันเป็นต้นวงศ์ของพระพุทธเจ้า กล่าวคือ พระพุทธเจ้า มีภูมิหลังเป็นชาวสักกะ เกิดในศากยะวงศ์ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ของรัฐโกศลคือ พระเจ้าโอกกากะ ตระกูลศากยะ

แนวทางการปกครองของแคว้นสักกะ

รัฐสักกะมีแนวทางการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) หรือสามัคคีธรรม ก็คือ ผู้ปกครองคือราชาซึ่งได้รับเลือกตั้งจากศากยะวงศ์ด้วยกัน การบริหารหรือการปกครองรัฐทําโดยการประชุมใน ศากยะสังฆะ หรือสภามนตรีที่อาคารรัฐสภาที่ชื่อว่าสันถาคาร

ลักษณะของการปกครองของศากยะสังฆะ

กฎหมายกําหนดให้ขายชาวศากยะที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ทุกคน ต้องเป็นสมาชิกของสภามนตรี ที่เรียกว่า “ศากยะสังฆะ” ซึ่งจะประชุมกันเป็นประจําเพื่อพิจารณาหาทางส่งเสริมรักษาผลประโยชน์ของ ชาวศากยะ ดังนั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงบรรลุนิติภาวะจึงทรงสมัครเป็นสมาชิกใหม่ของศากยะสังฆะ และได้ กล่าวปฏิญาณต่อศากยะสังฆะว่า

1 ข้าพเจ้าจะอุทิศทั้งกาย ใจ และทรัพย์สินของข้าพเจ้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาวศากยะ

2 ข้าพเจ้าจะไม่ขาดประชุม

3 ข้าพเจ้าจะแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เมื่อพบว่าศากยะคนใดทําผิดหน้าที่ทําลายผลประโยชน์ของชาวศากยะ ข้าพเจ้าจะแจ้งให้ศากยะสังฆะทราบโดยไม่ปิดบัง

4 ข้าพเจ้าจะไม่โกรธเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดใด ๆ และจะยอมรับผิด ถ้ากระทําผิดต่อข้อบัญญัติของศากยะสังฆะจริง

เมื่อปฏิญาณตนแล้ว ปุโรหิตผู้เป็นประธานก็จะประกาศเหตุที่สมาชิกภาพของศากยะสังฆะ จะสิ้นสุดลงดังนี้

1 ถ้ากระทําผิดอาญาด้วยการข่มขืนกระทําชําเรา

2 ถ้ากระทําผิดอาญาด้วยการฆาตกรรม

3 ถ้ากระทําผิดอาญาด้วยการลักขโมย

4 ถ้ากระทําผิดอาญาด้วยการให้การเท็จ

 

Advertisement