การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3112 ความคิดทางการเมืองในพุทธศาสนา
คําสั่ง ข้อสอบเป็นแบบอัตนัยมี 5 ข้อ ให้นักศึกษาเลือกทําเพียง 3 ข้อ (ข้อละ 33 คะแนน)
ข้อ 1 จงอธิบายความหมายของคําต่อไปนี้ให้เข้าใจ (ทําทุกข้อ)
(1) กษัตริย์
(2) ราชา
(3) จักรพรรดิ
แนวคําตอบ
(1) กษัตริย์ หมายถึง ผู้ทําหน้าที่ปกครอง ในความหมายเดิมจะหมายถึงบุคคลที่มีหน้าที่รบ ป้องกันภัย แก้ไขข้อขัดแย้งให้กับคนอื่น เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจากสังคมให้ทําหน้าที่เฉพาะเรื่อง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงไม่มีเวลาไปประกอบอาชีพ ทําให้ประชาชนทั้งหลายพากันบริจาคที่ดินให้ จึงเป็นผู้มีที่ดินมากขึ้น ตามลําดับ คนทั้งหลายจึงเรียกว่า เขตตะ (ผู้มีที่ดินมาก) หรือเขียนในรูปภาษาสันสกฤตว่า เกษตตะ หรือ เกษตร และในที่สุดก็เขียนมาเป็นคําว่า “กษัตริย์” ส่วนอีกความหมายก็คือ ชื่อวรรณะหนึ่งของสังคมฮินดู เรียกว่า วรรณะกษัตริย์ ซึ่งหมายถึง บุคคลที่เกิดในตระกูลนักรบ ได้แก่ เจ้านาย และขุนนาง
(2) ราชา หมายถึง ผู้ปกครองที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ทําให้คนในสังคม พอใจและยินดี ประชาชนทั้งหลายจึงเปล่งคําว่า “ระชะ” หรือ “รัชชะ” หรือ “ราชา” ซึ่งแปลว่า ผู้เป็นที่พอใจ ประชาชนยินดี ต่อมาจึงเรียกกันว่า พระราชา หรือบางครั้งอาจจะหมายถึงกษัตริย์ที่ประชาชนพอใจนั่นเอง
(3) จักรพรรดิ หมายถึง ผู้ปกครองที่ประชาชนพอใจและเป็นผู้ที่มีคุณธรรมสูงเกินกว่า กษัตริย์และราชาทั้งปวง หรืออาจหมายถึงประมุขของจักรวรรดิ หรือผู้ปกครองที่สามารถแผ่อาณาจักรได้อย่าง กว้างขวาง มีคุณธรรมสูงส่ง เป็นที่เคารพและพึงพอใจของประชาชน หรืออาจหมายถึง ผู้ปกครองที่มีภารกิจช่วยคน ในโลกให้พ้นจากวัฏสงสาร พ้นจากความขัดแย้งทั้งปวง
ข้อ 2 จงอธิบายหลักการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช มาพอสังเขป
แนวคําตอบ
หลักการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงนําหลักธรรมมาใช้เป็นหลักในการปกครอง ดังนี้
1 ให้รักประชาชนผู้อยู่ใต้ปกครองอย่างเสมอหน้ากัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
2 ให้ผู้ปกครองทั้งหลายยึดมั่นในธรรม มีหิริโอตัปปะ และดําเนินการปกครองตัดสินข้อพิพาทของประชาชนอย่างเที่ยงธรรม
3 เรียกเก็บผลผลิตจากการเก็บเกี่ยวได้ 1 ใน 10 และถ้าการเก็บเกี่ยวไม่ได้ผลก็ไม่ควรเรียกเก็บ
4 เรียกเกณฑ์แรงงานแต่พอควร อย่าให้เกินกําลัง ยกเว้นการเกณฑ์แรงงานแก่คนชราและต้องแบ่งปันข้าวปลาอาหารแก่ไพร่พลที่เกณฑ์มาให้พอกินพอใช้
5 ไม่ควรเก็บภาษีสินส่วนจากราษฎรเพิ่มขึ้น เพราะจะเป็นตัวอย่างเป็นธรรมเนียมที่ผู้ปกครองคนต่อ ๆ ไปถือเอาเป็นแบบอย่าง
6 ผู้ปกครองควรสนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลพ่อค้าประชาชน โดยไม่คิดผลประโยชน์ตอบแทนมากไปกว่าที่ได้ช่วยเหลือไป
7 ผู้ปกครองควรชุบเลี้ยงข้าราชสํานักให้สุขสบายโดยไม่เสียดาย
8 ผู้ปกครองควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ลืมตน ให้คํานึงถึงความชอบธรรม บังคับคดีด้วยความยุติธรรม
9 ผู้ปกครองควรเลี้ยงดูรักษาสมณพราหมณ์ นักปราชญ์ราชบัณฑิตผู้รู้ธรรมและปรึกษาผู้รู้อยู่เสมอ
10 ผู้ปกครองควรให้สิ่งตอบแทนบําเหน็จรางวัล แก่ผู้ทําความดีมากน้อยตามประโยชน์ที่เขานํามาให้
ข้อ 3 จงบอกปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่ขยายของการนับถือพุทธศาสนาในชมพูทวีป (ช่วงการเผยแพร่พุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าหลังการตรัสรู้) ในการด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ มาด้านละ 3 ปัจจัย พร้อมอธิบายความสําคัญของแต่ละปัจจัยมาพอสังเขป
แนวคําตอบ
ปัจจัยที่มีผลต่อการแพร่ขยายของการนับถือพุทธศาสนาในชมพูทวีป – ปัจจัยทางด้านสังคม ได้แก่
1 คน ภายหลังที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบธรรมที่เรียกว่า “มัชเฌนธรรม” หรือหลักธรรม สายกลาง และทรงเรียกข้อปฏิบัติอันเป็นระบบที่ทรงบัญญัติขึ้นว่า มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง จึงได้เสด็จ สั่งสอนพุทธธรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมชาวโลกอย่างจริงจัง โดยทรงชักจูงคนชั้นสูงจํานวนมากให้ละความมั่งมี สุขสบาย ออกบวชศึกษาธรรมของพระองค์ ร่วมทํางานอย่างเสียสละ อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทรงจาริกไปในแว่นแคว้นต่าง ๆ และเข้าถึงชนทุกวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นวรรณะกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และ ผู้ไม่มีวรรณะ ซึ่งทําให้บําเพ็ญประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง อีกทั้งคณะสงฆ์ก็เป็นแหล่งแก้ปัญหาสังคมได้อย่าง มาก ทุกคนไม่ว่าวรรณะใดสามารถเข้าบวชแล้วก็มีสิทธิเสมอกัน ส่วนผู้ที่ไม่พร้อมที่จะบวชก็ยังคงครองเรือนอยู่ เป็นอุบาสก อุบาสิกา คอยช่วยงานพระพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ และนําทรัพย์สินของตนออกไปทานสงเคราะห์ ให้กับผู้ยากไร้ได้
2 การศึกษา พระพุทธเจ้าทรงพยายามสั่งสอนและล้มล้างความเชื่อถืองมงายในเรื่อง พิธีกรรมอันเหลวไหลโดยเฉพาะการบูชายัญ ด้วยการสอนให้เห็นถึงความเสียหายและการไร้ผลของพิธีกรรมนั้น ๆ ซึ่งได้สร้างความทุกข์ร้อน และความตายให้แก่มนุษย์และสัตว์เป็นจํานวนมาก ทรงสอนให้เลิกเชื่อถือยึดมั่นใน ระบบการแบ่งวรรณะที่เอาชาติกําเนิดมาขีดขั้นจํากัดสิทธิและโอกาสทั้งทางสังคมและจิตใจของมนุษย์ ทรงตั้ง คณะสงฆ์ที่เปิดรับคนจากทุกวรรณะให้เข้ามาสู่ความเสมอภาค ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ วัฒนธรรมและการศึกษาที่สําคัญ นอกจากนี้ยังทรงสั่งสอนพุทธธรรมด้วยภาษาสามัญที่ประชาชนใช้ เพื่อให้ทุกคน ทุกชั้น ทุกระดับการศึกษาได้รับประโยชน์จากธรรมนี้ทั่วถึงกัน
3 สภาพแวดล้อม พระพุทธเจ้าทรงเป็นที่เลื่อมใสเคารพบูชาของกษัตริย์และพราหมณ์ เป็นจํานวนมาก ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นเจ้าที่ดินเหมือนกับระบบศักดินาในยุโรปโบราณ กษัตริย์และพราหมณ์ยัง เป็นผู้ปกครอง และเป็นผู้บริหารเขตแดนแว่นแคว้นต่าง ๆ ซึ่งทําให้พระพุทธเจ้าได้ทราบถึงปัญหา และสภาพที่ เป็นจริงทางการเมืองการปกครองของแต่ละแว่นแคว้นและพื้นที่ต่าง ๆ อย่างถ่องแท้ พระองค์ได้ทรงให้คําแนะนํา สั่งสอนทั้งในทางโลก และทางธรรมแก่กษัตริย์และพราหมณ์ชั้นสูง จนสามารถแก้ปัญหาได้เป็นที่ยอมรับและพึงพอใจ ของชนชั้นสูงเป็นจํานวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมของยุคสมัยพุทธกาลนั้นได้เป็นอย่างดี เป็นต้น
– ปัจจัยทางด้านการเมือง ได้แก่
1 ความขัดแย้งที่เกี่ยวกับพระญาติ เช่น กรณีพระญาติ 2 นคร ยกทัพจะเข้าต่อสู้ทํา สงครามกันเพื่อแย่งกันครอบครองแม่น้ําสายหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ทรงเข้าห้ามปราม ไกล่เกลี่ยจนเลิกทะเลาะต่อสู้กัน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้มีการสร้างพระพุทธรูปปางห้ามญาติขึ้นมาปางหนึ่ง
2 ความขัดแย้งระหว่างตระกูลศากยะกับกษัตริย์แคว้นโกศล ซึ่งมีสาเหตุมาจากกษัตริย์ แคว้นโกศลที่มีพระราชอํานาจมากมีพระประสงค์ที่จะเกี่ยวดองกับราชตระกูลศากยะ เนื่องจากเลื่อมใสใน พระพุทธเจ้าอย่างยิ่ง จึงทรงทูลขอให้ทางศากยะส่งพระราชธิดามาอภิเษกเป็นพระมเหสี แต่ทางราชตระกูล ศากยะเกิดความหลงในพระชาติและชื่อเสียงว่าเป็นสกุลของพระพุทธเจ้าจึงจัดส่งนางทาส (ทาสี) ไปอภิเษกแทน นางทาสผู้นี้ต่อมามีพระราชบุตรได้เป็นกษัตริย์แคว้นโกศล คิดว่าเป็นบุตรหลานของพวกศากยะจึงเสด็จมาเยี่ยม ญาติที่กรุงกบิลพัสดุ พอเสด็จกลับออกจากปราสาทของศากยะ พวกศากยะก็เอาน้ำล้างบันไดขับไล่เสนียดจัญไร ภายหลังกษัตริย์แคว้นโกศลทราบเรื่องก็ทรงพระพิโรธ ยกกองทัพมาฆ่าฟันพวกศากยะ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จ ห้ามทัพโกศลไว้ถึง 3 ครั้ง แต่พอครั้งที่ 4 ทรงปลงว่าเป็นเวรกรรมของคู่กรณีจึงทรงวางเฉยไม่เสด็จมาห้าม ทั้งนี้ เพราะพระองค์ทรงเน้นความสําคัญของตัวบุคคล ไม่เน้นความสําคัญของระบบ เพราะถ้าคนดีเป็นอารยชนแล้ว ระบบก็ดีเอง บ้านเมืองแว่นแคว้นต่าง ๆ ก็จะสงบสุขเจริญรุ่งเรืองไปด้วย
3 การแบ่งการปกครองเป็นแคว้นต่าง ๆ แต่ก็นับถือศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) ทําให้มีการ แบ่งแยกชนชั้นวรรณะออกเป็น 4 วรรณะเหมือนกันหมด ซึ่งพวกพราหมณ์พยายามที่จะอ้างพระพรหมว่าเป็น ผู้สร้างโลก พราหมณ์เป็นปากของพระพรหมที่จะมาสั่งสอนโลก จึงพยายามกําหนดพิธีกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาให้กษัตริย์ ผู้มีอํานาจยอมรับ ทําให้วรรณะพราหมณ์มีอํานาจมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็กดขี่วรรณะแพศย์และศูทรให้ตกต่ำลง ยิ่งผู้ที่ไม่มีวรรณะ เช่น จัณฑาล ก็ยิ่งถูกกดขี่จนเดือดร้อนทุกข์ยากมาก ซึ่งทําให้การเผยแพร่พระพุทธศาสนาใน ชุมพูทวีปจึงเป็นการต่อสู้ทางการเมืองและชนชั้นเป็นสําคัญ เสมือนการปลดแอกให้แก่ชนชั้นต่ำที่ลําบากยากจน ได้ทางหนึ่ง แม้ว่าจะล้มล้างการแบ่งชั้นวรรณะไม่ได้ก็ตาม เป็นต้น
– ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่
1 เกิดการพัฒนาความเป็นเมืองมากขึ้น ความเป็นเมืองดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากการ พัฒนาทางการค้าและเกษตรที่ก้าวหน้า ส่งผลให้ประชาชนแต่ละคน (ปัจเจกชน) มีความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ ๆ ประสบความสําเร็จมั่งคั่ง และเป็นเจ้าของกิจการมากมาย และด้วยความก้าวหน้าและมั่งคั่ง ทําให้บุคคลเหล่านี้ยึดติดกับระบบวรรณะน้อยลง จึงส่งผลให้วรรณะอื่น ๆ ที่มีความร่ํารวยน้อยกว่า ต้องหันมาพึ่งพิง วรรณะแพศย์มากขึ้น
2 เกิดการพัฒนาทางวัตถุมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มั่นทอนสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และ ส่งผลกระทบในด้านการเมืองที่สําคัญ คือ วรรณะกษัตริย์กับวรรณะพราหมณ์เริ่มมีความโน้มเอียงที่จะต่อต้าน วรรณะแพศย์กับศูทร แม้แต่วรรณะแพศย์กับศูทรที่อยู่ในเมืองก็เริ่มรู้สึกห่างเหินกับวรรณะเดียวกันที่อยู่ในชนบทมากขึ้นเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้โครงสร้างทางสังคมและความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างวรรณะเริ่มไม่เป็นเอกภาพ อัตลักษณ์เดิมที่มีมาแต่โบราณเริ่มสูญหายก่อให้เกิดความอ้างว้างปราศจากสิ่งยึดเหนี่ยว ประเพณีเดิมแทบล่มสลายไป หมด ส่งผลต่อชีวิตคนในเมือง ทําให้รู้สึกเป็นทุกข์ ชีวิตในชมพูทวีปในช่วงนั้นจึงดําเนินไปแบบอยู่ไปวัน ๆ
3 การปฏิเสธศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทั้งนี้เพราะระบบวรรณะมีผลต่อการประกอบอาชีพ หรือหน้าที่การงานที่ทํา เช่น กษัตริย์มีหน้าที่ปกครองและทําสงคราม พราหมณ์มีหน้าที่สั่งสอนและจัดพิธีกรรม แพศย์มีหน้าที่ทําการเกษตร การช่างและค้าขาย ส่วนศูทรเป็นผู้ใช้แรงงานรับจ้าง โดยพราหมณ์เห็นว่าวรรณะของตน นั้นมีเกียรติ และมีโอกาสได้รับโภคทรัพย์และอํานาจมาก จึงต้องการสงวนไว้ให้สืบทอดตามการเกิด ชมพูทวีปในช่วง พุทธกาลจึงเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งของระบบวรรณะและขนบจารีตตามคัมภีร์พระเวทของศาสนาพราหมณ์ที่ถูก ปฏิเสธมากขึ้น ซึ่งทั้งระบบวรรณะและคัมภีร์พระเวทต่างไม่เป็นคําตอบให้กับยุคสมัยได้อีกต่อไป บริบทดังกล่าวนี้ ได้ส่งผลให้พุทธศาสนาสามารถสถาปนาขึ้นเป็นศาสนาใหม่ และได้รับการศรัทธาอย่างแพร่หลายในชมพูทวีปใน เวลาต่อมา
ข้อ 4 ให้นักศึกษาอธิบายความแตกต่างเรื่องแนวคิดในการปกครองของรัฐศาสนากับรัฐโลกาวิสัย มาให้เข้าใจ
แนวคําตอบ
ความแตกต่างเรื่องแนวคิดในการปกครองของรัฐศาสนากับรัฐโลกาวิสัย
รัฐศาสนากับรัฐโลกาวิสัยมีความแตกต่างกันในเรื่องของความหมาย และหลักการหรือ ลักษณะในการปกครอง ดังนี้
ความหมายของรัฐศาสนา รัฐศาสนา (Religious State) มีความหมาย 2 ระดับ คือ
1 รัฐหรือประเทศที่ระบุชัดในรัฐธรรมนูญและการปฏิบัติว่ามีการยกย่องให้ศาสนาใด ศาสนาหนึ่งเป็นศาสนาประจําชาติและให้ศาสนานั้นมีอิทธิพลต่อรัฐ
2 ประเทศที่เคร่งในศาสนาใดศาสนาหนึ่งอย่างเต็มที่ จนเอาหลักคําสอนมาปกครองประเทศ ความหมายของรัฐเลกาวิสัย รัฐโลกาวิสัยหรือรัฐโลกวิสัย (Secular State) สามารถอธิบายความหมายได้ 2 แนวทาง คือ
1 รัฐหรือประเทศที่เป็นกลางทางด้านศาสนา ไม่สนับสนุนหรือต่อต้านความเชื่อหรือ การปฏิบัติทางด้านศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น รัฐโลกาวิสัยจะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ส่วนใหญ่จะไม่มีศาสนาประจําชาติ หรือหากมีศาสนาประจําชาติ ศาสนานั้นก็จะมีความหมายทางสัญลักษณ์และ ไม่มีผลกระทบต่อชีวิตประจําวันของประชาชนในรัฐที่นับถือศาสนาอื่น
2 รัฐสมัยใหม่ที่ยึดถือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ โดยหัวใจสําคัญของรัฐ โลกาวิสัย คือ การปกครองแบบทางโลกหรือการปกครองด้วยหลักเหตุผลของมนุษย์ (เช่น การปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยและสังคมนิยม) และต้องเป็นกลางทางศาสนา
หลักการของรัฐศาสนา หลักการหรือลักษณะทั่วไปของรัฐศาสนา มีดังนี้
1 ระบุในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนว่ามีศาสนาหรือกระทั่งนิกายใดเป็นศาสนาประจําชาติ ซึ่งแม้จะบอกว่าให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ศาสนาอื่น แต่ก็ต้องเป็นรอง และห้ามขัดแย้งกับศาสนาหลัก
2 รัฐศาสนาโดยส่วนใหญ่ก็ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาอื่น แต่มักหมายถึงให้เป็น ศาสนาของชนกลุ่มน้อยเท่านั้นและกีดกันไม่ให้คนในศาสนาหลักเปลี่ยนศาสนา
3 รัฐอุดหนุนบํารุงศาสนาหลักอย่างเต็มที่ มีการให้ศาสนาหลักเป็นศาสนาเดียวหรือ ศาสนาหลักในรัฐพิธี และมีการใช้วันสําคัญทางศาสนาหลักมาเป็นวันหยุดราชการและวันสําคัญของชาติ
4 มีโทษสําหรับการกระทําที่หมิ่นศาสนาหรือปั่นทอนศาสนาหลัก และมีการใช้หลัก คําสอนของศาสนาหลักมากําหนดเป็นกฎหมายและประเพณีของรัฐอย่างมาก
5 ผู้นําประเทศต้องนับถือศาสนาหลักหรืออาจต้องเป็นผู้นําศาสนาหลักด้วย นอกจากนี้ตราสัญลักษณ์ของชาติ ธงชาติ และของหน่วยงานราชการจะมีมาจากเนื้อหาของศาสนาหลักปนอยู่ รวมทั้งมีการกําหนดให้นักเรียนต้องเรียนศาสนาหลักในโรงเรียนและมีพิธีกรรมของศาสนาหลักในโรงเรียน
หลักการของรัฐโลกาวิสัย หลักการหรือลักษณะสําคัญของรัฐโลกาวิสัย มีดังนี้
1 การไม่บัญญัติศาสนาใดเป็นศาสนาประจําชาติในกฎหมาย คือ การไม่ได้ระบุถึงศาสนา ประจําชาติ ไม่มีการยกศาสนาใดให้มีอภิสิทธิ์เหนือศาสนาอื่นและไม่มีการปกป้องศาสนาใดเป็นพิเศษ หมายความว่า รัฐไม่ควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือต่อการจํากัดเสรีภาพของประชาชนในการเลือกนับถือศาสนา และในขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงศาสนาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
2 กฎหมายต้องให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ประชาชน คือ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในทางการศาสนาควรได้รับอย่างเต็มที่จากรัฐและกฎหมายของรัฐอีกด้วย หมายความว่า ประชาชนสามารถใช้ สิทธิของตนเองแสดงออกและเสนอทางความคิดเห็นเรื่องศาสนาได้โดยไม่มีกฎหมายหมิ่นศาสนาเข้ามาควบคุม และสิทธิของประชาชนในการแสดงออกทางศาสนาควรได้รับการคุ้มครองจากรัฐอีกด้วย เพราะว่าศาสนาเป็น สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลหรือเป็นเรื่องส่วนตัว
3 รัฐไม่มีการสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ คือ รัฐไม่มีการใช้งบประมาณ จากเงินภาษีของประชาชนในรัฐไปสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น พิธีการทางศาสนา เชิงสัญลักษณ์ ประจําศาสนา และกําหนดวันหยุดทางศาสนาในปฏิทินของประเทศ เป็นต้น
4 รัฐต้องไม่ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยเหตุผลทางศาสนา คือ การปฏิบัติของรัฐต่อประชาชน ควรใช้หลักการของเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเหตุผลทางศาสนา ยิ่งกว่านั้นไม่ควรนําเอาศาสนาใด ศาสนาหนึ่งมาเป็นหลักแล้วนําเอาความคิดนั้นไปจัดการคนต่างศาสนา หมายความว่า การกระทําความผิดของ ประชาชนใช้หลักกฎหมายในการตัดสินการกระทํานั้นไม่ใช้หลักการทางศาสนาเป็นการกําหนดโทษ
ข้อ 5 พุทธศาสนาได้อธิบายการเกิดสังคมมนุษย์ไว้อย่างไร โปรดอธิบาย
แนวคําตอบ
การกําเนิดสังคมมนุษย์ในทางพุทธศาสนาตามอัคคัญญสูตร
อัคคัญญสูตร เป็นคําสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสถึงมนุษย์ สังคม และสถาบันทางการเมือง โดยแสดงถึงวิวัฒนาการเป็นลําดับชั้นตั้งแต่โลกพินาศจนถึงการเกิดขึ้นของมนุษย์ โดยการเกิดขึ้นของมนุษย์ที่มี ตัณหาก่อให้เกิดการสะสมทรัพย์ การสร้างครอบครัว การเลือกหัวหน้า และการลงโทษผู้กระทําความผิด
พุทธศาสนาเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมความดีบนสภาวะธรรมชาติดั้งเดิมที่อุดมสมบูรณ์ สุขสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสะดวกสบายในการดํารงชีพ ไม่มีความอยากอาหารเพราะได้สําเร็จทางใจแล้ว ซึ่งทําให้มนุษย์ไม่ต้องลงแรงอะไรเลย มนุษย์ไม่มีความแตกต่างกัน ไม่มีการแบ่งแยกชาติวงศ์หรือพรรคพวก มีแต่ความดี ประกอบกุศลกรรม ทําให้มีชีวิตมั่นคง ปลอดภัย
แต่ตัณหาทําให้มนุษย์ตกต่ำลง และเกิดความยึดมั่นถือมั่นหรืออุปาทานขึ้น พอบริโภคง้วนดิน ก็ทําให้เกิดรูปร่างและผิวพรรณที่แตกต่างกันขึ้น เกิดการยึดมั่นว่าผิวพรรณตนดี ผิวพรรณคนอื่นต่ำทรามกว่า เกิดยึดเอาผิวพรรณเป็นเครื่องกําหนดความสูงต่ำ ต่อมาร่างกายเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นหญิงเป็นชายขึ้น เกิดการเสพเมถุนขึ้น ทําให้ถูกสัตว์โลกอื่น ๆ ขว้างปา จนต้องสร้างบ้านเรือนกําบัง เกิดการสร้างครอบครัวขึ้น
ส่วนด้านอาหารก็เริ่มมีผู้เกียจคร้านสะสมอาหารไว้เกินกว่าความจําเป็น คนอื่นก็สะสมบ้าง จนเกิดการแข่งขันกันสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดความโลภขึ้นมา เมื่อมีคนโลภกันมาก ทําให้ความขาดแคลน เกิดขึ้นแก่ส่วนรวม ดังนั้นจึงแก้ปัญหาโดยการปักปันเขตแดนกันขึ้น ก็เกิดทรัพย์สินส่วนตัวขึ้น แต่ความโลภก็ทําให้คนลักทรัพย์ของคนอื่นจึงถูกด่าว่าทุบตี
การลงโทษจึงเกิดขึ้นมาจากการมีทรัพย์สินส่วนตัว แต่การลงโทษก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์และไม่ชอบธรรมพอ จึงเกิดความต้องการที่จะให้มีระเบียบการปกครองขึ้น จึงได้ตกลงกันเลือกตั้งคนผู้หนึ่งขึ้นมา ทําหน้าที่ว่ากล่าวติเตียนลงโทษผู้กระทําความผิด โดยได้รับส่วนแบ่งผลผลิตจากคนในปกครองของตน จึงเกิด คําเรียกผู้ปกครองว่า “มหาชนสมมุติ” คือ เป็นผู้ที่คนทั่วไปสมมุติขึ้นเป็นหัวหน้า เรียกว่า “กษัตริย์” เพราะเป็น หัวหน้าดูแลเขตแดนหรือที่ทํากินซึ่งเป็นนา เรียกว่า “ราชา” เพราะทําให้เกิดความสุขใจโดยให้ความเป็นธรรม จนถือเป็นบรรทัดฐานสําหรับปฏิบัติต่อ ๆ กันมา ก็กลายเป็นกฎหมายที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม
ดังนั้นในทางพุทธศาสนาสังคมมนุษย์เกิดขึ้นจากที่มนุษย์มีตัณหา เกิดการยึดเอาผิวพรรณเป็นเครื่องกําหนดความสูงต่ำ เกิดการเสพเมถุนจนทําให้เกิดสถาบันครอบครัวขึ้นมา การมีสถาบันครอบครัวทําให้ เกิดความอยากสะสมต่อทรัพย์สินต่าง ๆ ทําให้เกิดการแก่งแย่งกันขัดแย้งกันขึ้น จึงจําเป็นต้องมีผู้ปกครองทําหน้าที่ ปกป้องคุ้มครองความเป็นอยู่การดํารงชีวิตของคนในสังคมโดยผู้ปกครองได้รับค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่