การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3310 การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ
คําสั่ง ข้อสอบมี 5 ข้อ เลือกทํา 3 ข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายถึงพัฒนาการของวิชาการศึกษาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมาโดยละเอียด
แนวคําตอบ
พัฒนาการของการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ
การศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย เกิดจากวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ซึ่งต้องการขจัดปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการของสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้นให้หมดไป จึงทําให้เกิดกลุ่มศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มศึกษาเปรียบเทียบ ระบบบริหาร (Comparative Study Administration : CSA) เพื่อศึกษาระบบบริหารราชการของประเทศยุโรป คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และปรัสเซีย (เยอรมันปัจจุบัน) และนําแนวทางการบริหารจากประเทศดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหา การบริหารราชการของสหรัฐอเมริกา
การศึกษาของกลุ่ม CSA นําไปสู่พัฒนาการของการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ ซึ่ง แบ่งออกเป็น 4 ช่วงเวลา ดังนี้
1 ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – 1940)
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งสถาปนาตัวเองเป็นผู้นําโลก ได้ ประกาศใช้แผนมาร์แชล (Marshall Plan) โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การศึกษา และเทคโนโลยีแก่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าว มีส่วนผลักดันให้ประเทศโลกที่ 3 หรือประเทศกําลังพัฒนาเกิดอุดมการณ์การพัฒนา (Developmentalism) โดย มีความเชื่อว่า บรรดาประเทศยากจนสามารถพัฒนาประเทศของตนให้เหมือนกับประเทศที่เจริญแล้วหรือประเทศ อุตสาหกรรมได้ หากนําแนวทางของสหรัฐอเมริกามาเป็นต้นแบบ
ผลจากนโยบายการให้ความช่วยเหลือและอุดมการณ์การพัฒนาทําให้เกิดกลุ่มศึกษา การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มบริหารเปรียบเทียบ (Comparative Administration Group : CAG) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กลุ่มบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ (Comparative Public Administration : CPA) ซึ่งกลุ่มนี้ มองว่าระบบบริหารของประเทศโลกที่ 3 เป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตะวันตก ดังนั้น ถ้าต้องการจะให้ระบบบริหารของประเทศโลกที่ 3 มีประสิทธิภาพ สามารถเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้ ก็จําเป็นจะต้องพัฒนาและปรับปรุงระบบบริหารของประเทศเหล่านี้ให้ “ทันสมัย” ซึ่งกลุ่ม CAG/CPA ได้เรียกร้อง ให้มีการสร้างสถาบันทางการบริหาร (Institution Building) ใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศโลกที่ 3
2 ยุคทองของการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ (ค.ศ. 1969 – 1974)
เป็นยุคที่แนวความคิดของกลุ่ม CAG/CPA ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จะเห็นได้จาก . การจัดพิมพ์วารสาร เอกสาร ตําราเกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบมากมาย และในมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา ก็มีการเปิดการเรียนการสอนการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบกันมาก ซึ่งจุดเน้นของแนวความคิดของกลุ่ม CAG/CPA
มีดังนี้
1) การสร้างระบบการบริหารแบบอเมริกัน (American Public Administration) ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด (The Best Efficiency) สามารถเป็นต้นแบบให้กับประเทศโลกที่ 3 เพื่อใช้ เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้
2) การนํารูปแบบการบริหารแบบอเมริกันไปใช้จะต้องครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน เนื่องจากรูปแบบการบริหารงานแบบอเมริกันมีลักษณะ “ครบวงจร” หรือเป็นแบบ “Package” คือ ประกอบด้วย ความรู้ทางด้านการบริหารทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ การจัดการ เทคโนโลยี รวมทั้งทัศนคติและค่านิยมแบบอเมริกัน
3) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อต้องการที่จะปรับปรุงระบบราชการของประเทศโลกที่ 3 ให้มีความทันสมัยแบบสหรัฐอเมริกา โดยการกําหนดมาตรการต่าง ๆ ในการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ระบบราชการ ในประเทศโลกที่ 3 และเสนอให้มีการสร้างสถาบันทางการบริหารใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น
4) การเพิ่มขีดความสามารถของระบบบริหารของหน่วยงานราชการจะต้องกระทํา ก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด โดยไม่คํานึงถึงระดับของการพัฒนาทางการเมือง
3 ยุคเสื่อมของการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ (ค.ศ. 1975 1976)
สาเหตุที่ทําให้การศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบของกลุ่ม CAG/CPA เสื่อม มี 2 ประการ คือ
1) ความบกพร่องของแนวความคิดของกลุ่ม CAG/CPA ได้แก่
การศึกษาของกลุ่ม CAG/CPA มุ่งเน้นการบริหารงานตามแบบตะวันตก ละเลยการพิจารณาถึงปัจจัยสภาพแวดล้อมภายในของประเทศโลกที่ 3 จึงทําให้การบริหารงานของประเทศโลกที่ 3 ไม่ประสบผลสําเร็จเท่าที่ควร เพราะการพัฒนาจําเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างสมประสบการณ์ของประเทศนั้น ๆ เอง เพื่อค้นหารูปแบบการบริหารงานที่เหมาะสมกับประเทศของตน
การถูกวิพากษ์วิจารณ์จนเกิดความไม่แน่ใจในศาสตร์การบริหารรัฐกิจ เปรียบเทียบ กล่าวคือ การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบตามแนวคิดของกลุ่ม CAG/CPA ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในการขยายอิทธิพลและอํานาจครอบงําประเทศโลกที่ 3 โดยผ่าน วิธีการชักจูงให้ประเทศโลกที่ 3 หันมาเลียนแบบสไตล์การบริหารแบบสหรัฐอเมริกา
2) สถานการณ์ภายในและภายนอกของสหรัฐอเมริกา ทําให้สหรัฐอเมริกาต้องกลับมา สนใจดูแลความสงบเรียบร้อยภายในประเทศจนละเลยการให้ความช่วยเหลือประเทศโลกที่ 3 ประกอบกับนักวิชาการ เริ่มทําตัวเหมือน “มือปืนรับจ้าง” เห็นแก่เงินรางวัลอามิสสินจ้างมากกว่าความก้าวหน้าทางวิชาการ ส่งผลให้ การศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบซบเซาลง
4 ยุคฟื้นฟูการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบ (ค.ศ. 1976 – ปัจจุบัน)
ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1975 นักวิชาการเริ่มกลับมามองถึงปัญหาร่วมกัน โดยการรวมตัวกัน จัดประชุมทางวิชาการเพื่อประเมินสถานการณ์และสถานภาพของการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบในอดีตและมอง แนวโน้มในอนาคต โดยได้จัดพิมพ์แนวทางการศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ไว้ใน หนังสือ “Public Administration Review” ฉบับที่ 6 (พ.ย. – ธ.ค. 1976) ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นแนวการศึกษา การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ในยุคนี้จึงทําให้เกิดกลุ่มศึกษาการบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มบริหารรัฐกิจ เปรียบเทียบแนวใหม่ (New Comparative Public Administration : New CPA) ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากต้องการแก้ไข ข้อบกพร่องของกลุ่ม CAG/CPA โดยแนวความคิดของกลุ่ม New CPA นี้ มุ่งเน้นการศึกษาระบบบริหารที่เกิดขึ้นจริง ในประเทศโลกที่ 3 มากกว่าการสร้างทฤษฎี รวมทั้งเป็นการมุ่งตอบคําถามว่าทําไมการพัฒนาของประเทศหนึ่ง จึงประสบความสําเร็จในขณะที่อีกประเทศหนึ่งล้มเหลว มีปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้เกิดความสําเร็จหรือความล้มเหลว ในการพัฒนา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการนํานโยบายไปปฏิบัติ
ข้อ 2 จงอธิบายถึงลักษณะของการศึกษาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบตามแนวทางการศึกษาเชิงนิเวศวิทยามาโดยละเอียด
แนวคําตอบ
1 การศึกษาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบเชิงนิเวศวิทยาเป็นผลสืบเนื่องมาจากทัศนะของริกส์ (Riggs) ที่มองว่า การบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบยังคงจํากัดตนเองอยู่ในวงแคบ ซึ่งจะเป็นการสูญเปล่าหากไม่ได้มีการพิจารณา ถึงสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป ตลอดจนผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่มีต่อการบริหาร ดังนั้นจึงมีความพยายาม ในการสร้างระบบแบบแผนที่จะทําให้การบริหารรัฐกิจมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษา ในเชิงนิเวศวิทยาที่เป็นวิชาที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิดกับสิ่งแวดล้อม
เฮด (Heady) เป็นนักวิชาการคนสําคัญที่ศึกษาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบเชิงนิเวศวิทยา เขามองว่า ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อระบบราชการและส่งผลให้การบริหารรัฐกิจของแต่ละประเทศมีความ แตกต่างกัน ได้แก่ ระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ และระบบสังคม
ระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ และระบบสังคม ต่างก็ส่งผลต่อการบริหารรัฐกิจและทําให้การบริหารรัฐกิจของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยวงกลมใดจะส่งผลต่อการบริหารรัฐกิจมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวงกลมที่อยู่ใกล้กับระบบราชการมากน้อย เพียงไร หรือพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมใดยิ่งอยู่ใกล้ระบบราชการมากเท่าใดก็จะยิ่งส่งผลต่อ การบริหารรัฐกิจของแต่ละประเทศมากเท่านั้น ดังนั้นจากรูปจึงสรุปได้ว่า ระบบการเมือง เป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ใกล้ระบบราชการมากที่สุด จึงส่งผลต่อการบริหารรัฐกิจมากที่สุด รองลงมาคือ ระบบเศรษฐกิจ และน้อยที่สุด คือ ระบบสังคม
ระบบการเมือง ได้แก่ เสถียรภาพของรัฐบาล การดําเนินนโยบายของรัฐบาล รูปแบบการปกครอง ที่เอื้อต่อการบริหารงานภาครัฐ วัฒนธรรมและพฤติกรรมการเมือง ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษและ สหรัฐอเมริกา ทั้งสองประเทศมีรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ประเทศอังกฤษมี การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีจะกระจายอํานาจการบริหารงานให้แก่รัฐมนตรี ประจํากระทรวงต่าง ๆ โดยจะมอบหมายภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ และอํานาจการตัดสินใจให้แก่รัฐมนตรีแต่ละคน ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี การบริหารงาน จะรวมอํานาจไว้ที่ประธานาธิบดี แม้จะมีการมอบหมายภาระหน้าที่และความรับผิดชอบให้แก่รัฐมนตรีต่าง ๆ แต่อํานาจการตัดสินใจเด็ดขาดจะอยู่ที่ประธานาธิบดีเพียงผู้เดียว จึงทําให้การบริหารรัฐกิจของทั้งสองประเทศ มีความแตกต่างกัน
ระบบเศรษฐกิจ ได้แก่ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบตลาดและกลไกราคาของสินค้าและ บริการ ภาวะการมีงานทํา/ว่างงานของประชาชน ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ประเทศกําลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งสองประเทศมีการบริหารรัฐกิจที่แตกต่างกันก็เนื่องมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศพัฒนาแล้ว มีสภาพเศรษฐกิจมั่นคง มีงบประมาณที่เพียงพอในการบริหารรัฐกิจ จึงทําให้การบริหารรัฐกิจมีประสิทธิภาพ แต่ประเทศกําลังพัฒนามักมีปัญหาด้านงบประมาณ จึงทําให้ไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะบริหารรัฐกิจ การบริหารรัฐกิจจึงไม่มีประสิทธิภาพ
ระบบสังคม ได้แก่ การแบ่งชนชั้นทางสังคม เชื้อชาติ ศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม ปทัสถานของสังคม ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ประเทศอินเดีย ระบบสังคมของประเทศอินเดียแบ่งชนชั้นทางสังคม ออกเป็นวรรณะต่าง ๆ 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร นอกจากนี้ยังมีพวกจัณฑาลซึ่งเป็น พวกนอกวรรณะ การแบ่งวรรณะของอินเดียทําให้เกิดการกิดกันต่าง ๆ จึงทําให้การบริหารรัฐกิจไม่สามารถสร้าง ความเท่าเทียมกันได้ ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่สามารถสร้างความเท่าเทียมในการบริหารรัฐกิจได้มากกว่า เพราะ ประเทศไทยไม่มีระบบวรรณะ แม้ในอดีตประเทศไทยจะเคยเป็นระบบอุปถัมภ์แต่ก็ไม่ได้กีดกันประชาชนในการ รับบริการหรือได้รับสิทธิต่าง ๆ จากทางราชการ จึงทําให้ประเทศไทยมีความเท่าเทียมกันในการบริหารรัฐกิจมากกว่า ประเทศอินเดีย
นอกจากแนวคิดของเฮดดี้แล้ว ยังมีนักวิชาการอีกหลายท่านได้นําเสนอถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่ควร นํามาพิจารณาในการศึกษาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบเชิงนิเวศวิทยา เช่น
ริกส์ มองว่า ในการศึกษาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบเชิงนิเวศวิทยาผู้ศึกษาควรให้ความสนใจ กับปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการติดต่อสื่อสาร อํานาจ และสัญลักษณ์ด้วย
แมคคินซี เสนอให้มีการพิจารณาถึงภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ เทคนิค กฏเกณฑ์ทางด้านการเมือง การบริหาร และวัฒนธรรม
ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบเชิงนิเวศวิทยา มีดังนี้
1 ทําให้การบริหารงานราบรื่น และสามารถปรับใช้กับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
2 คาดคะเนถึงการบริหารงานที่ต้องปฏิบัติตามสภาวะแวดล้อม
3 แก้ปัญหาได้ถูกต้อง เนื่องจากทราบปัจจัยที่เป็นต้นเหตุอย่างแท้จริง
ปัญหาของการศึกษาบริหารรัฐกิจเปรียบเทียบเชิงนิเวศวิทยา มีดังนี้
1 ความคุ้นเคยและความแพร่หลายของแนวทางการศึกษายังมีไม่มากพอ
2 ความแตกต่างในทัศนะของนักวิชาการต่อแนวทางการศึกษา
ข้อ 3 จงอธิบายถึงลักษณะของการบริหารรัฐกิจในประเทศรัสเซียมาโดยละเอียด
แนวคําตอบ
การบริหารรัฐกิจในประเทศรัสเซีย เป็นการบริหารที่มีพื้นฐานมาจากประเทศยุโรป แต่มีแนวโน้ม ว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารไปตามระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ปฏิวัติ เมื่อปี ค.ศ. 1917 โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นสถาบันที่มีบทบาทมากทั้งทางด้านการเมืองและการบริหารราชการ ดังนั้นการบริหารรัฐกิจในประเทศรัสเซียจึงเป็นการบริหารภายใต้ระบบคอมมิวนิสต์ และมีลักษณะของการเป็น เอกรัฐมากกว่าการเป็นสาธารณรัฐ
ลักษณะเด่นทางการบริหาร การบริหารของรัสเซียมีลักษณะเด่น 2 ประการ คือ
1 เป็นการบริหารที่มุ่งเน้นการรวมศูนย์อํานาจแต่กระจายความรับผิดชอบ กล่าวคือ อํานาจในการตัดสินใจทุกอย่างจะรวมอยู่ที่ผู้นําประเทศเพียงคนเดียว แต่เมื่อมีการปฏิบัติงานแล้วทุกฝ่ายและ ข้าราชการทุกคนจะต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
2 เป็นการบริหารที่มุ่งเน้นการตรวจสอบ จากผลงานของเฟนสอดได้แสดงให้เห็นถึง สิ่งสําคัญที่สุดที่ผู้นํารัสเซียต้องการก็คือ การสร้างความจงรักภักดีของข้าราชการ โดยการมีนโยบายให้สิทธิ การจ้างงานตลอดชีพแก่ข้าราชการรุ่นเก่าที่ปฏิบัติงานมานาน ไม่มีการปลดเกษียณ ในขณะเดียวกันก็พยายาม สร้างข้าราชการรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนข้าราชการรุ่นเก่าโดยการจัดให้มีการฝึกอบรมและสอนงานจากข้าราชการรุ่นเก่า โดยทั้งข้าราชการรุ่นเก่าและข้าราชการรุ่นใหม่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด หากข้าราชการละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่และคําสั่งจะถูกลงโทษค่อนข้างหนัก ดังนั้นข้าราชการทุกคนจึงพยายาม กระทําทุกอย่างเพื่อลดอันตรายที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้น้อยลง
การบริหารงานบุคคล
ในตอนปลายของปี ค.ศ. 1920 – 1930 ประเทศรัสเซียมีการรวมอํานาจไว้ที่ส่วนกลาง ผู้นํา พรรคคอมมิวนิสต์จึงเป็นผู้มีอํานาจตัดสินใจสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการ โดยเน้นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถสูง ต่อมาภายหลังปี ค.ศ. 1930 รัสเซียได้มีการเปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับราชการเป็นจํานวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาในการดําเนินการสรรหาและคัดเลือก ดังนั้นรัฐบาลภายใต้การนําของครุสเซฟจึงได้ประกาศ รับสมัครบุคคลเข้ารับราชการโดยไม่คํานึงถึงคุณวุฒิ เพียงแต่ขอให้ยอมรับและปฏิบัติตามระเบียบวินัยของพรรค อย่างไม่มีเงื่อนไขเท่านั้น ส่งผลให้ข้าราชการส่วนใหญ่มาจากอาชีพกรรมกรช่างไม้และกรรมกรขุดดิน
เนื่องจากผู้นําพรรคคอมมิวนิสต์ต้องการให้ได้มาซึ่งอํานาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมหน่วยราชการ และตัวข้าราชการ ดังนั้นการบรรจุบุคคลลงสู่ตําแหน่งต่าง ๆ จึงมีลักษณะของการบังคับเลือก ซึ่งถูกมองว่าเป็น เรื่องธรรมดาของระบบราชการในประเทศคอมมิวนิสต์ มากกว่าจะมีการเปิดสอบคัดเลือก โดยพิจารณาประวัติ การศึกษาและระดับคะแนน ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานสําคัญในการพิจารณาตัดสินในการรับบุคคลใดเข้ารับราชการ ดังนั้นรัสเซียจึงเป็นประเทศที่ให้ความสําคัญกับระดับการศึกษาของบุคคลมากกว่าสถานภาพทางสังคม และ ฐานะของครอบครัว
บทบาทของข้าราชการ
การบริหารรัฐกิจของรัสเซียมีการรวมอํานาจไว้ที่เบื้องบน แต่กระจายความรับผิดชอบลงสู่ เบื้องล่าง จึงทําให้บทบาทของข้าราชการเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามคําสั่งอย่างเคร่งครัดมากกว่าการแสดงความคิดเห็น ข้าราชการจะให้ความสําคัญกับบุคคลที่มีบทบาทในการให้คุณให้โทษแก่ตน โดยข้าราชการที่ประสบความสําเร็จ ในการทํางานมักเป็นข้าราชการที่มีความจงรักภักดี มีความรอบรู้และมีความฉลาดในการเอาตัวรอดในสถานการณ์ ต่าง ๆ อย่างมาก ดังนั้นข้าราชการจึงถูกมองว่ามีสถานภาพเป็น “ผู้รับใช้นายมากกว่าผู้รับใช้ประชาชน”
การควบคุมการดําเนินงาน
ในการดําเนินงานของหน่วยงานราชการ ข้าราชการจะถูกควบคุมอย่างเข้มงวดทั้งจากภายใน หน่วยงาน คือ จากผู้บังคับบัญชา และหน่วยงานภายนอก อันได้แก่ คณะกรรมการควบคุมพรรค ศาล กรรมการ ควบคุมประจํารัฐ ตํารวจ รวมทั้งหน่วยงานควบคุมพิเศษซึ่งปะปนอยู่กับประชาชนโดยทั่วไป โดยจะมีเจ้าหน้าที่ ควบคุมทุกระดับหน่วยงานเพื่อตรวจตราผู้กระทําความผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้รับเลือกมาจากประชาชน ซึ่ง ในความเห็นของเฟนสอดมองว่า การมีระบบตรวจสอบดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามที่จะเปิดโอกาสให้ ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารอย่างมาก โดยเฉพาะการตรวจสอบ เนื่องจากสามารถวิจารณ์ ข้าราชการในการทํางานได้ แต่การวิจารณ์ทุกครั้งมักจะถูกเตรียมการไว้โดยพรรคคอมมิวนิสต์
นอกจากนี้เบนดิกซ์ (Bendix) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าพรรคคอมมิวนิสต์พยายามแสดงตนว่าเป็นตัวแทนของประชาชน แต่การกระทําบางอย่างมักขัดแย้งกับเจตนารมณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการห้ามจัดตั้ง กลุ่มใด ๆ นอกเหนือจากพรรคคอมมิวนิสต์ การปิดโอกาสในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมและสื่อสาร ระหว่างประชาชนกับผู้มีอํานาจรัฐ จนกลายเป็นสังคมที่ป้องกันมิให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกัน
ข้อ 4 จงอธิบายถึงลักษณะของการบริหารรัฐกิจในประเทศอินเดียมาโดยละเอียด
แนวคําตอบ
การบริหารรัฐกิจในประเทศอินเดีย มีรูปแบบการบริหารแบบระบบกึ่งแข่งขันของพรรคการเมือง ที่มีอํานาจเหนือเด่น (Dominant-Party Semicompetitive Systems) ซึ่งเป็นการบริหารที่มีพรรคการเมือง หนึ่งพรรคมีอํานาจเหนือพรรคการเมืองอื่น ๆ ความเด่นชัดดังกล่าวส่งผลให้นโยบายของพรรคการเมืองนั้นได้รับ การยอมรับมาปฏิบัติ แต่หากมีพรรคการเมืองพรรคอื่น ๆ ขึ้นมามีอํานาจและบทบาทหน้าที่แทนก็จะส่งผลให้ นโยบายที่มุ่งเน้นนั้นเปลี่ยนแปลงไป และรูปแบบการบริหารก็แตกต่างกันออกไปด้วย
ลักษณะของการบริหาร
รูปแบบการบริหารรัฐกิจของประเทศอินเดียแตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ เนื่องจากประเทศ อินเดียได้รับอิทธิพลรูปแบบการบริหารมาจากประเทศอังกฤษ จึงทําให้ระบบการบริหารรัฐกิจของประเทศอินเดีย มีความทันสมัยอย่างมากและมีลักษณะการบริหารที่มุ่งเน้นระบบคุณธรรม (Merit System) ตามแนวทางของประเทศตะวันตก
การบริหารงานบุคคล
การบริหารงานบุคคลของประเทศอินเดียมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยประเทศอินเดียมีการสรรหา และคัดเลือกข้าราชการโดยใช้ระบบคุณธรรม ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับอิทธิพลรูปแบบการบริหารมาจากประเทศ อังกฤษ จึงส่งผลให้ประเทศอินเดียมีการสรรหาและคัดเลือกข้าราชการที่เข้มงวดและจริงจัง ให้ความสนใจรับคน ที่จบมหาวิทยาลัย มีคณะกรรมการ Union Public Service Commission ในการรับสมัครและการคัดเลือก เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
บทบาทและสถานภาพของข้าราชการ
ข้าราชการอินเดียมีบทบาทและสถานภาพเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” โดยข้าราชการถูกกําหนด ให้เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่ฝ่ายการเมืองเป็นผู้กําหนด ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการและฝ่ายการเมือง ถือว่ามีความราบรื่นดี เพราะข้าราชการระดับสูงมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับนักการเมือง จึงทําให้ข้าราชการมี บทบาทต่อการบริหารรัฐกิจค่อนข้างมากและมีอิทธิพลจนยากต่อการควบคุม แต่อย่างไรก็ตามข้าราชการอินเดีย ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การสั่งการของผู้นําฝ่ายการเมืองของพรรคคองเกรส
การควบคุมการบริหารรัฐกิจ
ประเทศอินเดียมีการควบคุมการบริหารรัฐกิจทั้งการควบคุมโดยตรงจากภายในองค์การ คือ การควบคุมตามสายการบังคับบัญชา และการควบคุมโดยอ้อมจากฝ่ายการเมือง คือ การควบคุมจากพรรคการเมือง ที่มีอํานาจและบทบาทสําคัญในช่วงนั้น โดยข้าราชการตั้งแต่ระดับสูงลงมาถึงระดับล่างจะต้องมีการรายงาน และนําเสนองานผ่านความเห็นชอบของฝ่ายการเมือง ซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มพรรคคองเกรส เนื่องจากถือว่าเป็น พรรคการเมืองที่มีอํานาจและอิทธิพลครอบงําระบบการเมืองมากกว่าพรรคอื่น ๆ จึงมีอิทธิพลต่อการควบคุม ตรวจสอบการบริหารรัฐกิจของข้าราชการ
ข้อ 5 จงอธิบายถึงหลักการบริหารงานตามแนวคิดการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลมาโดยละเอียด
แนวคําตอบ
หลักการบริหารงานตามแนวคิดการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มี 6 ประการ คือ
1 หลักการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Public Participation) คือ การให้ประชาชน ทุกคนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและการบริหารอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงการให้เสรีภาพ แก่สื่อมวลชนและสาธารณชนในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์
2 หลักความสุจริตและโปร่งใส (Honesty and Transparency) คือ การกําหนด ระบบกติกาและการดําเนินงานที่เปิดเผย ตรงไปตรงมา ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับ ข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี เป็นธรรม ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ
3 หลักพันธะความรับผิดชอบต่อสังคม (Accountability) คือ การมีความรับผิดชอบ ในบทบาทภาระหน้าที่ที่มีต่อสาธารณชน โดยมีการจัดองค์กรหรือการกําหนดกฎเกณฑ์ที่เน้นการดําเนินงานเพื่อ ตอบสนองความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมอย่างเป็นธรรม
4 หลักกลไกการเมืองที่ชอบธรรม (Political Legitimacy) คือ ผู้ที่เป็นรัฐบาลหรือ ผู้ที่มีบทบาทในการบริหารประเทศต้องชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของคนในสังคมส่วนรวม ทั้งในเรื่องความสุจริต ความเที่ยงธรรม และความสามารถในการบริหารประเทศ
5 หลักกฎเกณฑ์ที่ยุติธรรมและชัดเจน (Fair Legal Framework and Predictability) คือ การกําหนดกรอบในการปฏิบัติหรือกฎหมายที่เป็นธรรมและยุติธรรมสําหรับกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งกฎเกณฑ์ จะต้องมีการบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่เข้าใจตรงกัน มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ สามารถคาดหวังผล และรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้
6 หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Efficiency and Effectiveness) คือ ประสิทธิภาพ ในการดําเนินงานไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดกระบวนการทํางาน การจัดองค์การ การจัดสรรบุคลากร และมีการใช้ ทรัพยากรสาธารณะต่าง ๆ อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม มีการดําเนินการและให้บริการสาธารณะที่ให้ผลลัพธ์เป็นที่ น่าพอใจและกระตุ้นการพัฒนาของสังคมทุกด้าน