การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 2013
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 3 ข้อ
ข้อ 1 ก แดงซื้อลูกไก่ อาหารไก่และวัคซีนไก่ ด้วยเงินเชื่อจากเหลืองโดยเหลืองได้จดบัญชีลงรายการที่แดงซื้อเงินเชื่อไว้และมีข้อตกลงกับแดงว่าเมื่อครบ 45 วัน ไก่เจริญเติบโตเหลืองจะไปซื้อไก่จากแดงโดยตีราคาไก่ตามน้ำหนักได้ยอดเท่าใดก็จะเอายอดเงินค่าลูกไก่ อาหารไก่ และวัคซีนไก่มากักออก หากเงินเหลือก็จะมอบให้แดงไป แต่ถ้าเงินไม่พอแดงต้องชำระราคาลูกไก่อาหารไก่และวัคซีนไก่ที่ค้างอยู่ทั้งหมด แต่ถ้าชำระไม่ได้เหลืองจะจดบัญชีว่าแดงเป็นหนี้อยู่จำนวนเท่าใดและจะหักจากราคาไก่ในรอบต่อไป ข้อตกลงนี้มีกำหนด 2 ปี ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างแดงกับเหลืองเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ข ผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงินที่ผู้สั่งจ่ายออกมาโดยชอบแล้ว จะเกิดผลทางกฎหมายอย่างไรบ้าง
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
มาตรา 856 อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค
วินิจฉัย
สัญญาระหว่างแดงและเหลืองเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด เพราะว่าเป็นสัญญาที่คู่กรณีมีเจตนาที่จะหักทอนหรือตัดทอนหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นในระหว่างเขาทั้งสองนั้นด้วยการหักกลบลบกันและชำระแต่จำนวนคงเหลือโดยดุลภาค ตามมาตรา 856
สรุป ข้อตกลงระหว่างแดงกับเหลืองเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด
ข อธิบาย
ตามกฎหมายตั๋วเงิน แม้มีการบัญญัติให้ผู้สั่งจ่าย ผู้ทรง ธนาคาร ขีดคร่อมเช็คได้ไม่ว่าจะเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป หรือเช็คขีดคร่อมเฉพาะก็ตาม แต่ในส่วนของตั๋วแลกเงินนั้นมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายให้สิทธิผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงินแต่อย่างใด ดังนั้น ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินขีดคร่อมตั๋วแลกเงิน ไม่ว่าจะเป็นขีดคร่อมทั่วไปหรือขีดคร่อมเฉพาะก็ตาม รอยขีดคร่อมนั้นย่อมหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วแลกเงินไม่ กล่าวคือ ตั๋วแลกเงินนั้นก็ยังเป็นตั๋วแลกเงินที่มิได้มีรอยขีดคร่อมแต่อย่างใด ตามมาตรา 899 ซึ่งมีหลักว่า ข้อความอันใดซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายลักษณะตั๋วเงิน ถ้าเขียนลงในตั๋วเงิน ข้อความอันนั้นหาเป็นผลอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ตั๋วเงินนั้นไม่
ข้อ 2 นายดำสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อนายแดงเป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คออก แล้วส่งมอบชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าให้แก่นายแดง ต่อมานายแดงได้สลักหลังลอยเช็คนั้นแล้วส่งมอบให้แก่นายทอง เพื่อชำระหนี้ค่าเช่าบ้าน หลังจากนั้นนายทองได้ส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้ค่าจ้างซ่อมรถยนต์ให้แก่นายขาว ต่อมานายขาวมีความจำเป็นต้องใช้เงินโดยด่วนจึงจะทำการสลักหลังเช็คนั้นขายลดให้แก่นายเขียว นางสาวส้มเพื่อนสนิทของนายเขียวได้บอกแก่นายเขียวว่าอย่ารับซื้อลดเช็คนั้นไว้ โดยให้เหตุผลว่านายเขียวจะไม่มีสิทธิใดๆ ในเช็คนั้นเลยเนื่องจากจะไม่มีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย นายเขียวไม่แน่ใจจึงมาปรึกษาท่าน
ท่านจงให้คำปรึกษาแก่นายเขียวว่าหากนายเขียวรับสลักหลังขายลดเช็คนั้นมาจากนายขาวแล้ว จะมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 904 อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือๆ ก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน
มาตรา 905 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 1008 บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย
ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่ เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
อนึ่งข้อความในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับตลอดถึงผู้ทรงตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือด้วย
มาตรา 920 วรรคสอง ถ้าสลักหลังลอย ผู้ทรงจะปฏิบัติดังกล่าวต่อไปนี้ประการหนึ่งประการใดก็ได้ คือ
(1) กรอกรข้อความลงในที่ว่างด้วยเขียนชื่อของตนเอง หรือชื่อบุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
(2) สลักหลังตั๋วเงินต่อไปอีกเป็นสลักหลังลอย หรือสลักหลังให้แก่บุคคลอื่นผู้ใดผู้หนึ่ง
(3) โอนตั๋วเงินนั้นให้ไปแก่บุคคลภายนอกโดยไม่กรอกความลงในที่ว่าง และไม่สลักหลังอย่างหนึ่งอย่างใด
วินิจฉัย
ข้อเท็จจริงนั้นนายทองเป็นผู้ทรงเช็คที่ได้รับโอนมาโดยการสลักหลังลอย ดังนั้นจึงสามารถโอนเช็คนั้นต่อไปได้โดยการส่งมอบให้แก่นายขาวได้ ตามมาตรา 920 วรรคสอง (3) ซึ่งก็จะถือว่านายขาวเป็นผู้ทรงเช็คที่ได้รับสลักหลังลอยเช็คนั้นมาจากนายแดงโดยตรงโดยไม่ผ่านมือนายทองเลย จึงถือว่านายขาวเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีสิทธิที่จะโอนเช็คนั้นต่อไปได้ตามวิธีการตามมาตรา 920 วรรคสอง หากนายขาวต้องการจะโอนเช็คนั้นขายลดให้แก่นายเขียวโดยการสลักหลังก็สามารถที่จะกระทำได้ ตามมาตรา 920 วรรคสอง (2) โดยไม่ถือว่าเป็นการโอนที่ขาดสายแต่อย่างใด
ดังนั้น หากนายขาวทำการสลักหลังเช็คนั้นนายลดให้แก่นายเขียวแล้ว นายเขียวก็จะมีฐานะเป็นผู้ทรงเช็คนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะ
1 ได้ครอบครองเช็คนั้นอยู่
2 ได้ครอบครองเช็คนั้นในฐานะผู้รับสลักหลัง
3 ได้ครอบครองเช็คนั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
4 ได้ครอบครองเช็คนั้นมาโดยการสลักหลังไม่ขาดสาย
ทั้งนี้ ตามมาตรา 904, 905
สรุป นายเขียวเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3 ก ประมวลกฎหมายแพ่งลักษณะตั๋วเงิน ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่ายเงิน (Paying Bank) และผลของการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อมไว้อย่างไร
ข แดงลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารสินไทย สาขาหัวหมาก ระบุดำเป็นผู้รับเงินและได้ขีดคร่อมทั่วไปลงบนเช็คทั้งได้ขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ในเช็คนั้นออกแล้วได้มอบเช็คนั้นให้ดำ ดำลงลายมือชื่อด้านหลังเช็คนั้นเพื่อเตรียมไปมอบให้ธนาคารอ่าวไทยเรียกเก็บเงินให้ แต่เขียวได้ขโมยเช็คนั้นไปขึ้นเงินสดจากธนาคารสินไทย สาขาหัวหมาก ได้สำเร็จ ในขณะที่ธนาคารสินไทย ผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คโดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อและตามทางการค้าปกติ ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คฉบับนี้ และธนาคารสินไทยผู้จ่ายยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลใดหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ก อธิบาย
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมสำหรับธนาคารผู้จ่าย (Paying Bank)
– กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินแก่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งของผู้ทรงเช็ค หากมีการนำเช็คนั้นให้ธนาคารอื่นเรียกเก็บ (Collecting Bank) หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีของผู้ทรงเช็ค จะจ่ายเป็นเงินสดมิได้ (มาตรา 994 วรรคแรก)
– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารผู้จ่ายต้องใช้เงินให้แก่ธนาคารที่ระบุชื่อไว้โดยเฉพาะจะจ่ายให้ธนาคารอื่นมิได้ และจะจ่ายเป็นเงินสดมิได้ (มาตรา 994 วรรคสอง)
– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป ธนาคารผู้จ่ายต้องปฏิเสธการจ่ายเงิน เว้นแต่อีกธนาคารหนึ่งนั้นมีฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินแทน ดังนี้ ธนาคารผู้จ่ายก็สามารถจ่ายให้แก่ธนาคารตัวแทนนั้นได้ แต่จะจ่ายให้แก่ธนาคารอื่นมิได้ (มาตรา 995 (4) ประกอบมาตรา 997 วรรคแรก)
(2) ผลของการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การใช้เงินตามเช็คขีดคร่อม
– กรณีเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดให้แก่ผู้ทรงเช็คก็ดี หรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่ผู้ทรงเช็คมิได้มีบัญชีเงินฝากก็ดี
– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะ ธนาคารผู้จ่ายได้ใช้เงินสดหรือจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารอื่นที่มิได้ถูกระบุชื่อลงไว้โดยเฉพาะก็ดี
– กรณีเช็คขีดคร่อมเฉพาะให้แก่ธนาคารกว่าธนาคารหนึ่งขึ้นไป ธนาคารผู้จ่ายไม่ปฏิเสธการจ่ายเงิน หรือจ่ายเงินให้แก่ธนาคารอื่นที่มิใช่อยู่ในฐานะเป็นธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินก็ดี
ผล ธนาคารผู้จ่ายต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คขีดคร่อมนั้น (ผู้ทรงเดิม) ในการที่น่าต้องเสียหาย (มาตรา 997 วรรคสอง) และไม่สามารถหักเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้สั่งจ่ายได้ เพราะถือว่าใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ แม้ถึงว่าจะใช้เงินไปตามทางการค้าโดยปกติ โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อก็ตาม (มาตรา 1009)
ข อธิบาย
มาตรา 994 วรรคแรก ถ้าในเช็คมีเส้นขนานคู่ขีดขวางไว้ข้างด้านหน้า กับมีหรือไม่มีคำว่า “และบริษัท” หรือคำย่ออย่างใดๆ แห่งข้อความนี้อยู่ในระหว่างเส้นทั้งสองนั้นไซร้ เช็คนั้นชื่อว่าเป็นเช็คขีดคร่อมทั่วไป และจะใช้เงินตามเช็คนั้นได้แต่เฉพาะให้แก่ธนาคารเท่านั้น
มาตรา 997 วรรคสอง ธนาคารใดซึ่งเขานำเช็คเบิกขืนใช้เงินไปตามเช็คที่ขีดคร่อมอย่างว่ามานั้นก็ดี ใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมทั่วไปเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารอันใดอันหนึ่งก็ดี ใช้เงินตามเช็คอันเขาขีดคร่อมเฉพาะเป็นประการอื่นนอกจากใช้ให้แก่ธนาคารซึ่งเขาเจาะจงขีดคร่อมให้โดยเฉพาะ หรือแก่ธนาคารตัวแทนเรียกเก็บเงินของธนาคารนั้นก็ดี ท่านว่าธนาคารซึ่งใช้เงินไปดังกล่าวนี้จะต้องรับผิดต่อผู้เป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนั้นในการที่เขาจะต้องเสียหายอย่างใดๆ เพราะการที่ตนใช้เงินไปตามเช็คนั้น
วินิจฉัย
เช็คธนาคารสินไทยฯ เป็นเช็คระบุชื่อขีดคร่อมทั่วไป อันเป็นผลให้ธนาคารสินไทยผู้จ่ายต้องจ่ายเงินผ่านธนาคารของผู้ทรงเช็ค หรือธนาคารผู้เรียกเก็บ มิใช่จ่ายเงินสด การที่ธนาคารสินไทยได้จ่ายเงินสดให้แก่เขียว แม้ว่าจะจ่ายเงินตามเช็คนั้นไปตามทางการค้าปกติ โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่อก็ตาม กรณีย่อมเป็นการใช้เงินไปโดยไม่ถูกระเบียบ ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามเช็คขีดคร่อมทั่วไป ธนาคารสินไทยจึงต้องผูกพันรับผิดต่อดำผู้ทรงเดิมซึ่งเป็นเจ้าของอันแท้จริงแห่งเช็คนี้ ตามนัยมาตรา 994 วรรคแรก และมาตรา 997 วรรคสอง
สรุป ดำเป็นเจ้าของอันแท้จริงของเช็คฉบับนี้ และธนาคารสินไทยผู้จ่ายยังคงต้องรับผิดต่อดำ