การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา POL 4321 การบริหารร่วมสมัย

Advertisement

คําสั่ง ข้อสอบมี 3 ข้อ ให้นักศึกษาตอบทุกข้อ

ข้อ 1 คําว่า กลยุทธ์ (Strategy) กับยุทธศาสตร์มีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร จงอธิบาย แนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) มีความเป็นมาอย่างไร ยกตัวอย่างชื่อนักวิชาการ มา 1 ท่าน พร้อมกับผลงานเด่น ๆ 1 เรื่อง และจงนำ SWOT Analysis มาวิเคราะห์องค์การ กรณีกรุงเทพมหานคร พร้อมกับเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อน (อย่างน้อย 5 ประการ)

แนวคําตอบ

คําว่า “กลยุทธ์” หรือ “ยุทธศาสตร์ ภาษาอังกฤษใช้คําว่า “Strategy” โดยมีรากศัพท์มาจาก คําว่า “Strategos” ในภาษากรีก ซึ่งเกิดจากศัพท์ 2 คํา คือ “Stratos” หมายถึง Army หรือ กองทัพ และ Agein หมายถึง Lead หรือ นําหน้า โดยเมื่อนําศัพท์ 2 คํานี้มารวมกันจะหมายถึง การนํากองทัพ หรือยุทธวิธีหลักในการรบ เพื่อเอาชนะศัตรู ดังนั้นคําว่ากลยุทธ์กับยุทธศาสตร์จึงเป็นคํา ๆ เดียวกันและมีความหมายเหมือนกัน

ความเป็นมาของแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์

แนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์ถูกนํามาใช้กันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 โดยคําว่า กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ เป็นคําที่ใช้ในวงการทหารมาก่อน เช่น ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช หรือใน ตําราพิชัยสงครามของซุนวูมีคํากล่าวว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ต่อมาวงการธุรกิจได้หยิบยืม กลยุทธ์ทางทหารมาใช้ในการประกอบการทางธุรกิจ เช่น กลยุทธ์การขาย กลยุทธ์การเข้าถึงลูกค้า กลยุทธ์ การส่งมอบสินค้าให้ผู้บริโภคถึงที่บ้านแบบ Delivery ของร้านพิซซ่า เป็นต้น

ในวิชารัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารรัฐกิจก็มีการกล่าวถึงกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ เช่นกัน แต่ใช้คําว่าการวางแผน (Planning) ดังนั้นการวางแผนจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สําคัญของผู้บริหาร เช่น (Gulick & Urwick ได้เสนอหน้าที่ของผู้บริหารที่เรียกว่า “POSDCORB”, Henri Fayol ได้เสนอหน้าที่ของผู้บริหารที่เรียกว่า “POCCC” และ Robbins ได้เสนอหน้าที่ของผู้บริหารที่เรียกว่า “POLC” โดยตัวอักษร P ตามแนวคิดของนักวิชาการทั้งสามท่านก็คือ การวางแผน (Planning) นั่นเอง

สําหรับประเทศไทยได้นําแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินไทย เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2545 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น การนําแนวคิดการบริหารเชิงกลยุทธ์ มาประยุกต์ใช้ในการจัดทําแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ. 2546 – 2550 การปรับเปลี่ยน ระบบงบประมาณมาเป็นระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ การให้หน่วยงานภาครัฐ ทุกกระทรวงจัดทํายุทธศาสตร์ระดับกระทรวง ระดับกรม เป็นต้น

ตัวอย่างนักวิชาการด้านการบริหารเชิงกลยุทธ์

Michael E. Porter เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการบริหารเชิงกลยุทธ์ เขาได้เสนอ แนวคิดในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) โดยกล่าวว่า การวิเคราะห์สถานการณ์ การแข่งขันกับคู่แข่ง ผู้บริหารจะต้องคํานึงถึงปัจจัย 5 ประการ คือ

1 อัตราของการแข่งขันกันระหว่างบริษัทต่าง ๆ ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้น

2 การคุกคามที่เกิดขึ้นจากการมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาในตลาด

3 การคุกคามที่เกิดขึ้นจากสินค้าหรือบริการทดแทน

4 อํานาจต่อรองของผู้จัดส่ง

5 อํานาจต่อรองลูกค้า

 

ทั้งนี้การได้เปรียบในการแข่งขันจะเกิดขึ้นได้ใน 2 ลักษณะ คือ

1 การทําให้ต้นทุนต่ำ (Low Cost)

2 การทําให้สินค้า/บริการมีความแตกต่าง (Differentiation) หรือทําให้ดีกว่าคู่แข่ง

 

เทคนิค “SWOT Analysis

SWOT Analysis เป็นเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์องค์การเพื่อหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ อุปสรรคขององค์การ ซึ่งคําว่า SWOT ประกอบด้วย

1  S = Strengths คือ จุดแข็งขององค์การ เป็นการพิจารณาทรัพยากรภายในองค์การ หรือระบบย่อยขององค์การ เช่น อํานาจหน้าที่ เป้าประสงค์ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง บุคลากร ความรู้และข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี เป็นต้น ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นจุดแข็ง/จุดเด่นขององค์การ องค์การสามารถทําได้ดี มีความชํานาญ มีคุณภาพ มีชื่อเสียง เป็นต้น

2 w = Weakness คือ จุดอ่อนขององค์การ เป็นการพิจารณาอํานาจหน้าที่ เป้าประสงค์ จุดมุ่งหมาย โครงสร้าง บุคลากร ความรู้และข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีภายในองค์การว่ามีจุดอ่อนอย่างไร เพื่อที่จะได้ปรับปรุงแก้ไข

3 O = Opportunities คือ โอกาสที่จะทําให้เกิดความได้เปรียบแก่องค์การ เป็นการ พิจารณาดูว่ามีปัจจัยภายนอกองค์การใดที่จะนํามาเป็นประโยชน์ในการดําเนินงานขององค์การได้บ้าง ซึ่งแบ่งออกเป็น

1) สิ่งแวดล้อมของงาน ได้แก่ ลูกค้า คู่แข่ง ผู้ผลิต แรงงาน กฎระเบียบหรือหน่วยงาน ที่ควบคุม

2) สิ่งแวดล้อมทั่วไป ได้แก่ การเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และต่างประเทศ

4 T = Threats คือ อุปสรรคหรือภยันตรายที่จะทําให้เกิดหายนะแก่องค์การ เป็นการ พิจารณาสิ่งแวดล้อมภายนอกองค์การ ได้แก่ สิ่งแวดล้อมของงานและสิ่งแวดล้อมทั่วไปที่ทําให้เกิดภยันตรายหรือ หายนะต่อการดําเนินงานขององค์การ

 

การใช้เทคนิค SWOT Analysis วิเคราะห์กรุงเทพมหานคร

จุดแข็งของกรุงเทพมหานคร

1 มีบุคลากรที่มีคุณภาพและมีความรู้ความสามารถ

2 มีงบประมาณจํานวนมาก

3 มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย

4 มีสํานักงานเขต 50 เขต แต่ละเขตมีบุคลากรและเครื่องมือพร้อมในการทํางาน

5 คณะผู้บริหารมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ และได้รับการยอมรับจากประชาชนสูง

 

จุดอ่อนของกรุงเทพมหานคร

1 การบริหารราชการยังขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่ดําเนินภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

2 การบริหารราชการขาดความโปร่งใส เกิดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

3 ระบบการตรวจสอบและควบคุมการบริหารราชการไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน

4 ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง ทําให้บางครั้งการดําเนินนโยบายต่าง ๆ ขาดความต่อเนื่อง

5 ขาดอํานาจต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาล ทําให้ไม่สามารถริเริ่มภารกิจใหม่ ๆ หรือขยายเขตอํานาจตามกฎหมายให้กว้างขวางมากขึ้นได้

 

โอกาสของกรุงเทพมหานคร

1 เป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจของประเทศ

2 เป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงและต่อเนื่อง

3 เป็นสถานที่ตั้งของสถานที่สําคัญ ๆ เช่น กระทรวง กรมต่าง ๆ สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงที่ทําการหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ จํานวนมาก เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดอรุณราชวราราม วัดเบญจมบพิตรเป็นต้น

4 มีระบบโครงข่ายการสื่อสารสมัยใหม่ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ประชากรส่วนใหญ่เข้าถึง เครือข่ายได้ถ้วนหน้า

5 ประชากรมีระดับการศึกษาสูงกว่าเมืองอื่น ๆ ในประเทศ

 

อุปสรรคของกรุงเทพมหานคร

1 การอพยพของคนเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเป็นจํานวนมากส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ความแออัด การขาดแคลนที่อยู่อาศัย การเกิดปัญหาอาชญากรรม เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดหรือโรคติดต่อต่าง ๆ

2 ภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำส่งผลต่อระดับรายได้ของประชากร การจ้างงาน และการลงทุนต่าง ๆ

3 การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนส่งผลให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว และกัมพูชา หลั่งไหลเข้ามาทํางานในกรุงเทพมหานครเป็นจํานวนมาก

4 การเมืองที่ขาดเสถียรภาพส่งผลให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีความเสี่ยงต่อการชุมนุมประท้วง หรือการก่อเหตุความรุนแรงต่าง ๆ อันเนื่องมาจากปัญหาการเมือง

5 การมีความเสี่ยงต่อการก่อการร้ายหรือการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ

 

แนวทางในการปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนของกรุงเทพมหานคร

1 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน รวมทั้งบูรณาการวัตถุประสงค์ แผนงาน และการปฏิบัติงานระหว่างหน่วยงานให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

2 พัฒนาระบบป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3 เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบและควบคุมการบริหารราชการ

4 กําหนดบทบาท ภารกิจ และอํานาจหน้าที่ให้ชัดเจน

5 กระจายอํานาจให้กรุงเทพมหานครมีอํานาจในการตัดสินใจดําเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับกรุงเทพมหานคร และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่

 

ข้อ 2 การที่จะให้องค์การสามารถอยู่รอด และพัฒนาไปสู่องค์การสมรรถนะสูง (High Performance Organization) เป็นภารกิจที่สําคัญประการหนึ่งของผู้บริหาร ถ้าท่านเป็นผู้บริหารองค์การภาครัฐ แห่งหนึ่ง ท่านจะส่งเสริมวัฒนธรรมองค์การให้เกิดความแข็งแกร่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น อย่างไร (แนวการตอบให้นําแนวคิดการปฏิรูปวัฒนธรรมองค์การแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งมาอธิบาย 1 แนวคิด)

แนวคําตอบ

หากข้าพเจ้าเป็นผู้บริหารองค์การภาครัฐ ข้าพเจ้าจะนําแนวคิด “การเปลี่ยนโฉมใหม่ของ ภาคราชการ” (Reinventing Government) มาส่งเสริมวัฒนธรรมองค์การเพื่อให้องค์การมีความแข็งแกร่งและ สามารถพัฒนาไปสู่องค์การที่มีสมรรถนะสูง

การเปลี่ยนโฉมใหม่ของภาคราชการ (Reinventing Government) เป็นแนวคิดของ David Osborne & Ted Gaebler ซึ่งได้เสนอเนวคิดในการปฏิรูประบบราชการไว้ 10 ประการ ดังนี้

1 ระบบราชการจะต้องทําหน้าที่เป็นผู้ถือหางเสือเรือมากกว่าพายเรือเอง (A Catalytic Government) หมายถึง ระบบราชการจะต้องทําหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือกํากับดูแลมากกว่าการลงมือทําเอง งานที่เอกชนทําได้ดีกว่าก็ควรให้เอกชนรับไปทํา

2 ระบบราชการจะต้องให้ชุมชนเป็นเจ้าของและมอบอํานาจให้ประชาชนไปดําเนินการเองมากกว่าจะเป็นองค์การที่ให้บริการแต่เพียงอย่างเดียว (A Community-Owned Government)

3 ระบบราชการจะต้องมีลักษณะของการแข่งขันการให้บริการสาธารณะ (A Competitive – Government)

4 ระบบราชการจะต้องมีลักษณะเป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วยภารกิจมากกว่าขับเคลื่อนด้วยกฎระเบียบ (A Mission-Driven Government)

5 ระบบราชการจะต้องเป็นระบบที่ให้ความสําคัญต่อผลการปฏิบัติงานมากกว่าสนใจปัจจัยนําเข้าทางการบริหารและขั้นตอนการทํางาน (A Results-Oriented Government)

6 ระบบราชการจะต้องมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการหรือลูกค้ามากกว่าตอบสนองความต้องการของระบบราชการ (A Customer-Driven Government)

7 ระบบราชการจะต้องแสวงหารายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย (An Enterprising Government)

8 ระบบราชการจะต้องวางระบบป้องกันปัญหามากกว่าคอยแก้ปัญหา (An Anticipatory Government)

9 ระบบราชการจะต้องเป็นระบบที่กระจายอํานาจจากข้างบนสู่ข้างล่างตามลําดับชั้นโดยให้ข้าราชการระดับปฏิบัติการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และส่งเสริมการทํางานเป็นทีม (A Decentralized Government)

10 ระบบราชการจะต้องเป็นระบบที่นํากลไกการตลาดมาใช้ (A Market-Oriented Government)

 

ข้อ 3 จากการที่ได้ฟังการบรรยายในเรื่องหลักการบริหารที่สําคัญและเครื่องมือการจัดการ (Management Tools) จงเลือกหลักการบริหารหรือเทคนิคการบริหารสมัยใหม่ อาทิ หลักการ 5 G s, หลักการ 4 VIPs, ทฤษฎี 7 S’s Model, 5 ส., ไคเซ็น (Kaizen), การบริหารคุณภาพทั้งองค์การ (Total Quality Management), การรื้อปรับระบบ (Reengineering) เป็นต้น เลือกอธิบาย 1 แนวคิด มาให้เข้าใจอย่างชัดเจน

แนวคําตอบ

ทฤษฎี 7S’s Model

เมื่อปลายปี ค.ศ. 1970 บริษัทที่ปรึกษาชื่อ “McKinsey” ได้เชิญ Richard Pascale แห่ง มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และ Anthony Athos แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้มาช่วยพัฒนากรอบแนวคิดการบริหาร ที่เรียกว่า The McKinsey 7 S’s Framework ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยที่สําคัญ 7 ประการสามารถอธิบายได้ดังนี้

1 กลยุทธ์ (Strategy) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการวางแผนองค์การเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยการใช้เทคนิค SWOT (SWOT Technique) มาทําการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคขององค์การ เพื่อนํามากําหนดเป็นกลยุทธ์

2 โครงสร้าง (Structure) คือ การปรับปรุงโครงสร้างองค์การ การแบ่งหน่วยงาน การรวม อํานาจ และการกระจายอํานาจที่เหมาะสม

3 ระบบ (Systems) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดระบบงาน และการลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ให้สั้นลง เพื่อทําให้สามารถปฏิบัติงานได้รวดเร็ว

4 สไตล์ (Style) คือ แบบแผนพฤติกรรมของผู้นํา การใช้รูปแบบการบริหารที่เหมาะสม และแสดงบทบาทผู้นําการเปลี่ยนแปลง

5 การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Staff) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคลากรที่มีความ สามารถ การพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง การหมุนเวียนกันทํางาน และการเห็นคุณค่าของทรัพยากรมนุษย์

6 ทักษะ (Skills) เป็นเรื่องเกี่ยวกับความชํานาญ ความสามารถพิเศษของบุคลากร การพัฒนาทักษะการทํางานของแต่ละบุคคล และการส่งเสริมการทํางานเป็นทีม

7 ค่านิยมร่วม (Shared Values) เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างค่านิยมร่วมกันในการทํางาน หรือที่เรียกว่า “Spiritual Values” เช่น การให้บริการ ความยุติธรรม ความสามัคคีปรองดอง ความร่วมมือ ความสุภาพ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความกตัญญ การทําในสิ่งที่ดีกว่า การปรับปรุงแก้ไข การปรับตัวเข้าหากัน เป็นต้น ค่านิยม ดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่ควรสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในองค์การ

 

ปัจจัยทั้ง 7 ประการสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

1 Hard คือ ส่วนที่แข็ง ไม่คล่องตัว และปรับตัวได้ค่อนข้างช้า ได้แก่ กลยุทธ์ และโครงสร้าง ขององค์การ

2 Soft คือ ส่วนที่อ่อน มีความคล่องตัว และสามารถปรับตัวได้ง่าย ได้แก่ สไตล์ของ ผู้บริหาร ระบบงาน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ ทักษะ และค่านิยมร่วม

สรุป จากกรอบแนวคิดของปัจจัย 7 S’s Model ดังกล่าว ผู้บริหารจําเป็นต้องใช้ภาวะผู้นํา ในการบริหารปัจจัยทั้ง 7 ประการให้สอดคล้องและสมดุลกัน นับตั้งแต่การกําหนดกลยุทธ์ขององค์การ การปรับปรุง โครงสร้างที่เหมาะสม การจัดระบบงานให้เหมาะสมและลดขั้นตอนการทํางานให้สั้นลงเพื่อทําให้สามารถบริการ ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น การใช้สไตล์การบริหารงานที่ให้ความสําคัญทั้งบุคคลและงาน การให้เกียรติผู้ร่วมงาน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ด้วยการสรรหาและคัดเลือกคนดีมีฝีมือเข้ามาทํางาน การพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาทักษะส่วนบุคคล การสร้างทักษะการทํางานเป็นทีม และการสร้างค่านิยมสร้างสรรค์ในการทํางาน

Advertisement