การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  ให้อธิบายถึงลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข  การรับรองตั๋วแลกเงินคืออะไร  การรับรองนั้นทำอย่างไร  และความรับผิดของผู้รับรองนั้นมีอย่างไรบ้าง

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

จากบทบัญญัติดังกล่าว  สัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  มีลักษณะดังต่อไปนี้

 1       เป็นสัญญาต่างตอบแทน  เพราะคู่สัญญาต่างมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาในอันที่จะต้องปฏิบัติต่อกันเช่นการชำระหนี้  กล่าวคือ  จัดทำบัญชีและให้มีการหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนโดยวิธีการหักกลบลบหนี้กัน  แล้วชำระหนี้เฉพาะยอดที่คงเหลือ

2       เป็นสัญญาระหว่างบุคคล  2  ฝ่าย  ซึ่งไม่ต้องทำตามแบบ  กล่าวคือ  เพียงแค่คู่สัญญาแสดงเจตนามีคำเสนอ  คำสนองตรงกัน  ก็ก่อให้เกิดเป็นสัญญาผูกมัดบังคับกันได้โดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือ  หรือมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ต้องรับผิดแต่อย่างใด

3       ที่ตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือชั่วระยะเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  แสดงว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่มีการกำหนดเวลาและไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสัญญา

4       ให้ตัดทอน  หรือหักทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนที่เกิดขึ้นจากกิจการระหว่างเขาทั้งสอง

5       คงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

ข  อธิบาย

การรับรองตั๋วแลกเงิน  คือ  การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน

สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น  มาตรา  931  ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า  รับรองแล้ว  หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน  เช่น  รับรองจะใช้เงิน  หรือ  ยินยอมจะใช้เงิน  ฯลฯ  และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น  และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้  หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย  ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน  อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน  ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด    ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล

อย่างไรก็ดี  การรับรองตามมาตรา  931  นี้  ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น  บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย  หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา  940)  หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า  (มาตรา  953)  ก็ได้

การรับรองตั๋วแลกเงิน  ตามมาตรา  935  ได้กำหนดไว้  2  ประเภท  ดังนี้

 1       การรับรองตลอดไป  คือ  การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน  โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน

2       การรับรองเบี่ยงบ่าย  คือ  การรับรองใน  2  กรณีดังต่อไปนี้  คือ

 –          การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข  เช่น  ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน

–          การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน  เช่น  ตั๋วแลกเงินราคา  50,000  บาท  ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน  40,000  บาท  เป็นต้น

ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน  มีบัญญัติไว้ในมาตรา  937  กล่าวคือ  เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว  ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

 

ข้อ  2  ก  ให้นักศึกษาอธิบายหลักเกณฑ์ที่บุคคลจะมีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาตั๋วเงิน  โดยยกหลักกฎหมายประกอบให้ชัดเจน

ข  นายเสือสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าระบุให้จ่ายเงินแก่ผู้ถือ  เป็นเงินจำนวน  500,000  บาท  ชำระหนี้ค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้แก่นายสิงห์  ต่อมาก่อนที่เช็คฉบับดังกล่าวจะถึงกำหนดชำระ  มีข่าวลือว่าธุรกิจต่างๆของนายเสือกำลังประสลภาวะขาดทุนอย่างหนัก  ทำให้นายสิงห์เกรงว่าตนจะไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวได้  เพราะไม่สามารถติดต่อนายเสือได้เลยจึงมาปรึกษานายกระทิงซึ่งเป็นพี่ชายของนายเสือ  นายกระทิงจึงทำการเขียนคำว่า  กระทิงทอง  ซึ่งเป็นชื่อร้านอาหารที่นายกระทิงเป็นเจ้าของอยู่นั้นลงในด้านหลังเช็คฉบับดังกล่าวให้กับนายสิงห์ไป  ต่อมาเช็คฉบับดังกล่าวถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  นายสิงห์จึงมาเรียกให้นายกระทิงชำระเงินตามเช็คให้ตน  กรณีนี้นายกระทิงมีหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายสิงห์หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ตาม  ป.พ.พ.  ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่บุคคลจะมีหน้าที่ต้องรับผิดตามสัญญาตั๋วเงิน  ดังนี้คือ

 1       บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น (มาตรา  900  วรรคแรก)  โดยอาจรับผิดเนื่องจากลงลายมือชื่อ

–          โดยลำพัง  เพราะไม่ปรากฏว่าลงลายมือชื่อรับผิดในฐานะใด

–          รับผิดในฐานะผู้สั่งจ่ายตั๋วแลกเงินหรือเช็ค

–          รับผิดในฐานะผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน

–          รับผิดในฐานะผู้สลักหลังตั๋วแลกเงินหรือเช็ค

–          รับผิดในฐานะเป็นผู้รับรองตั๋วแลกเงิน

–          รับผิดในฐานะเป็นผู้รับอาวัลตั๋วแลกเงินหรือเช็ค

 2       การลงแต่เพียงเครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด  เช่น  แกงได  หรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงิน  แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม  หามีผลเป็นการลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่ (มาตรา  900  วรรคสอง ) ฉะนั้นผู้ใดจะสั่งจ่าย  สลักหลัง  รับอาวัล  โดยพิมพ์ลายนิ้วมือและมีพยานรับรอง  2  คน  ตามมาตรา  9  วรรคสอง  ก็ไม่เป็นการลงลายมือชื่อสั่งจ่าย  สลักหลัง  หรือรับอาวัล

3       บุคคลใดลงลายมือชื่อของตนในตัวเงิน  และมิได้เขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอีกคนหนึ่ง  บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้รับผิดตามความในตั๋วเงินนั้น  (มาตรา  901)

4       ถ้าตั๋วเงินมีลายมือชื่อของบุคคลหลายคน  มีทั้งบุคคลไม่อาจจะเป็นคู่สัญญาแห่งตั๋วเงินได้เลย  หรือเป็นได้แต่ไม่เต็มผลการนี้ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงความรับผิดของบุคคลอื่นๆ  นอกนั้นซึ่งยังคงต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้น  (มาตรา  902)

ข  อธิบาย

มาตรา  900  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

มาตรา  921  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย

มาตรา  940  ผู้รับอาวัลย่อมต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับบุคคลซึ่งตนประกัน

แม้ถึงว่าความรับผิดใช้เงินอันผู้รับอาวัลได้ประกันอยู่นั้นจะตกเป็นใช้ไม่ได้ด้วยเหตุใดๆ  นอกจากเพราะทำผิดระเบียบ  ท่านว่าข้อสัญญารับอาวัลนั้นก็ยังคงสมบูรณ์

เมื่อผู้รับอาวัลได้ใช้เงินไปตามตั๋วแลกเงินแล้ว  ย่อมได้สิทธิในอันจะไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลซึ่งตนได้ประกันไว้  กับทั้งบุคคลทั้งหลายผู้รับผิดแทนตัวผู้นั้น

มาตรา  967  วรรคแรก  ในเรื่องตั๋วแลกเงินนั้น  บรรดาบุคคลผู้สั่งจ่ายก็ดีรับรองก็ดี  สลักหลังก็ดี  หรือรับประกันด้วยอาวัลก็ดี  ย่อมต้องร่วมกันรับผิดต่อผู้ทรง

มาตรา  989  วรรคแรก  บทบัญญัติทั้งหลายในหมวด  2  อันว่าด้วยตั๋วแลกเงินดังจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านให้ยกมาบังคับในเรื่องเช็คเพียงเท่าที่ไม่ขัดกับสภาพแห่งตราสารชนิดนี้  คือบทมาตรา  910  914  ถึง  923…938  ถึง  940…967  971

วินิจฉัย

การที่นายกระทิงเขียนคำว่า  กระทิงทอง  ซึ่งเป็นชื่อร้านอาหารที่นายกระทิงเป็นเจ้าของอยู่นั้นลงในด้านหลังเช็คฉบับดังกล่าว  ถือได้ว่านายกระทิงเป็นผู้ลงลายมือชื่อของตนในเช็คฉบับดังกล่าวแล้ว  ในฐานะสลักหลังเช็คผู้ถือ  จึงตกเป็นประกัน (อาวัล)  นายเสือผู้สั่งจ่ายตาม มาตรา  900  921  989  วรรคแรก  ดังนั้นนายกระทิงย่อมอยู่ในฐานะต้องผูกพันใช้เงินตามเช็คนั้นให้กับนายสิงห์  เช่นเดียวกับนายเสือผู้สั่งจ่าย  ตามมาตรา  967  ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก

สรุป  นายกระทิงมีหน้าที่ต้องชำระเงินตามเช็คฉบับดังกล่าวให้แก่นายสิงห์

 

ข้อ  3  ก  เช็คขีดคร่อมที่มีข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนมือนั้น  อาจเกิดจากการกระทำของบุคคลใดและจะก่อให้เกิดผลตามกฎหมายอย่างไร

ข  ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีเช็คพิพาทอยู่  2  ฉบับ

ฉบับแรก  เป็นเช็คที่มีคนร้ายปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย  แล้วต่อมาเช็คนั้นตกอยู่ในความครอบครองของไก่ย่าง  ซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าไก่ย่างเป็นผู้ทรงเช็คที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ฉบับสอง  เป็นเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อส้มตำผู้รับเงิน  แล้วสลักหลังโอนเช็คนั้นขายลดให้แก่ไก่ย่าง  ซึ่งรับโอนเช็คนั้นไว้โดยสุจริตและไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง  ต่อมาธนาคารผู้จ่ายได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทดังกล่าว  ดังนี้ให้ท่านวินิจฉัยว่าธนาคารจะหักบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายเช็คได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

เช็คขีดคร่อมที่มีข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนมือนั้น  อาจเกิดจากการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตั๋วเงินบัญญัติไว้  ได้แก่  บุคคลสามฝ่ายประกอบด้วย  ผู้สั่งจ่าย  ผู้สลักหลัง  และผู้ทรง  กล่าวคือ

 (1) กรณีผู้สั่งจ่ายเช็ค  อาจขีดคร่อมเช็ค  (มาตรา  995  (1) )  และหรือลงข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยน  หรือความหมายทำนองเดียวกัน  เช่น  “A/C  PAYEE  ONLY”  ลงไว้บนเช็ค  (มาตรา  917  วรรคสอง ประกอบมาตรา  989  วรรคแรก)

(2) กรณีผู้สลักหลังเช็ค  ซึ่งเดิมเคยเป็นผู้รับเงินมาก่อนหรือเคยเป็นผู้รับสลักหลังต่อมาโดยลำดับคนใดคนหนึ่ง  จะลงข้อกำหนดห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนลงไว้บนเช็คขีดคร่อมก็ได้  (มาตรา  923  ประกอบ  มาตรา  989  วรรคแรก)

(3) กรณีผู้ทรงเช็ค  จะลงข้อความห้ามเปลี่ยนมือ  ลงไว้บนเช็คขีดคร่อมก็ได้  (มาตรา  995  (3) )

เช็คขีดคร่อมที่มีข้อความห้ามโอนหรือห้ามเปลี่ยนมือ  โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังกล่าวข้างต้น  หากมีการโอนหรือเปลี่ยนมือต่อไป  ย่อมเป็นผลให้ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน  (มาตรา  999)

ข  อธิบาย

มาตรา  905  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา  1008  บุคคลผู้ได้ตั๋วเงินไว้ในครอบครองถ้าแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย  แม้ถึงว่าการสลักหลังรายที่สุดจะเป็นสลักลอยก็ตาม  ให้ถือว่าเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  เมื่อใดรายการสลักหลังลอยมีสลักหลังรายอื่นตามหลังไปอีก  ท่านให้ถือว่าบุคคลผู้มีลงลายชื่อในการสลักหลังรายที่สุดนั้น  เป็นผู้ได้ไปซึ่งตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย อนึ่งคำสลักหลังเมื่อขีดฆ่าเสียและห้ามให้ถือเสมือนว่ามิได้มีเลย

ถ้าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดต้องปราศจากตั๋วเงินไปจากครอบครอง  ท่านว่าผู้ทรงซึ่งแสดงให้ปรากฏสิทธิของตนในตั๋วตามวิธีการดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น  หาจำต้องสละตั๋วเงินไม่  เว้นแต่จะได้มาโดยทุจริตหรือได้มาด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

มาตรา  1008  วรรคแรก  ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้  เมื่อใดลายมือชื่อในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอมก็ดี  เป็นลายมือชื่อลงไว้โดยที่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของลายมือชื่อนั้นมิได้มอบอำนาจให้ลงก็ดี  ท่านว่าลายมือชื่อปลอมหรือลงปราศจากอำนาจเช่นนั้นเป็นอันใช้ไม่ได้  ใครจะอ้างอิงอาศัยแสวงสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อยึดหน่วงตั๋วเงินไว้ก็ดี เพื่อทำให้ตั๋วนั้นหลุดพ้นก็ดี  หรือเพื่อบังคับการใช้เงินเอาแก่คู่สัญญาแห่งตั๋วนั้นคนใดคนหนึ่งก็ดี  ท่านว่าไม่อาจจะทำได้เป็นอันขาด  เว้นแต่คู่สัญญาฝ่ายซึ่งจะพึงถูกยึดหน่วงหรือถูกบังคับใช้เงินนั้นจะอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอม  หรือข้อลงลายมือชื่อปราศจากอำนาจนั้นขึ้นเป็นข้อต่อสู้

มาตรา  1009  ถ้ามีผู้นำตั๋วเงินชนิดจะพึงใช้เงินตามเขาสั่งเมื่อทวงถามมาเบิกต่อธนาคารใด  และธนาคารนั้นได้ใช้เงินให้ไปตามทางค้าปกติโดยสุจริตและปราศจากประมาทเลินเล่อไซร้  ท่านว่าธนาคารไม่มีหน้าที่จะต้องนำสืบว่าการสลักหลังของผู้รับเงิน  หรือการสลักหลังในภายหลังรายใดๆได้ทำไปด้วยอาศัยรับมอบอำนาจแต่บุคคลซึ่งอ้างเอาเป็นเจ้าของคำสลักหลังนั้น  และถึงแม้ว่ารายการสลักหลังนั้นจะเป็นสลักหลังปลอมหรือปราศจากอำนาจก็ตาม  ท่านให้ถือว่าธนาคารได้ใช้เงินไปถูกระเบียบ

วินิจฉัย

เช็คฉบับแรก  เช็คที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเป็นลายมือชื่อปลอม  เช็คนั้นคงเสียไปเฉพาะผู้สั่งจ่ายตามมาตรา  1008  แต่ไก่ย่างยังคงเป็นผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมาย  ตามมาตรา  905

เช็คฉบับที่สอง  เช็คที่มีลายมือชื่อผู้สลักหลังเป็นลายมือชื่อปลอม  ธนาคารจ่ายเงินตามเช็คภายใต้หลักเกณฑ์มาตรา  1009  ย่อมหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของผู้สั่งจ่ายเช็คได้

Advertisement