การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา POL 3328 การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐ
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยจํานวน 2 ข้อ ให้นักศึกษาทําทุกข้อ
ข้อ 1 จงอธิบายสถานการณ์ของมุมมองทรัพยากรมนุษย์ระดับมหภาค (Macro) ในสังคมไทย ทั้งในด้านคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและการพัฒนาศักยภาพของคนไทย จะสามารถช่วยยกระดับให้เป็น ทุนมนุษย์ (Human Capital) จนนําไปสู่การเตรียมความพร้อมเป็น Knowledge Worker ได้อย่างไรบ้าง พร้อมยกตัวอย่างกรณีศึกษามา 1 กรณีให้เข้าใจโดยละเอียด (50 คะแนน)
แนวคําตอบ
สถานการณ์ของมุมมองทรัพยากรมนุษย์ระดับมหภาค (Macro) ในสังคมไทย
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ได้ประเมินสถานการณ์ ด้านทรัพยากรมนุษย์ระดับมหภาคในสังคมไทยไว้ดังนี้
1 โครงสร้างประชากรไทยเปลี่ยนแบลงเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์เมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในขณะที่จํานวนประชากรวัยแรงงานได้เริ่มลดลงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน ในภาวะที่ผลิตภาพแรงงานยังต่ำ
2 คุณภาพคนยังมีปัญหาในทุกช่วงวัยและส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงกันตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่พัฒนาการไม่สมวัยในเด็กปฐมวัย ผลลัพธ์ทางการศึกษาของเด็กวัยเรียนค่อนข้างต่ํา แรงงานมีปัญหาทั้งในเรื่อง ความรู้และทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดงาน และผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพและมีแนวโน้มอยู่คนเดียว มากขึ้น
3 ครอบครัวพ่อ แม่เลี้ยงเดี่ยวและครอบครัวข้ามรุ่นมีความเปราะบางสูงส่งผลต่อการเลี้ยงดู เด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
4 คุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทยยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
5 คนไทยมีแนวโน้มเป็นโรคไม่ติดต่อมากขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต
6 คนไทยส่วนใหญ่ยังมีปัญหาด้านคุณธรรมจริยธรรม และไม่ตระหนักถึงความสําคัญของ การมีวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต และการมีจิตสาธารณะ
จากสถานการณ์ดังกล่าว แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้กําหนดจุดเน้นในการพัฒนาศักยภาพ ของคนไทยในทุกมิติ เละในทุกช่วงวัยให้เป็นทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่มีศักยภาพสูง และเตรียมพร้อมเป็น Knowledge Worker โดยจุดเน้นในการพัฒนาศักยภาพคน มีดังนี้
1 พัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัยให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี มีทักษะทางสมอง ทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม เพื่อให้เด็บโตอย่างมีคุณภาพ
2 หล่อหลอมให้คนไทยมีค่านิยมตามบรรทัดฐานที่ดีทางสังคม คนไทยทุกช่วงวัยเป็นคนดี มีสุขภาวะที่ดี มีคุณธรรมจริยธรรม มีระเบียบวินัย มีจิตสํานึกที่ดีต่อสังคมส่วนรวม
3 พัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของคน มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่เหมาะสมในแต่ละ ช่วงวัยเพื่อวางรากฐานให้เป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคต การพัฒนาทักษะสอดคล้องกับความต้องการในตลาดแรงงาน และทักษะที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ของคนในแต่ละช่วงวัยตามความเหมาะสม เช่น เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นพัฒนาทักษะการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งการให้ความสําคัญกับการพัฒนา ให้มีความพร้อมในการต่อยอดพัฒนาทักษะในทุกด้าน มีทักษะการทํางานและการใช้ชีวิตที่พร้อมเข้าสู่ตลาดงาน วัยแรงงานเน้นการสร้างความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพที่สอดคล้องกับตลาดงานทั้งทักษะขั้นพื้นฐาน ทักษะเฉพาะในวิชาชีพ ทักษะการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ทักษะการประกอบอาชีพอิสระ วัยสูงอายุเน้น พัฒนาทักษะที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์
4 เตรียมความพร้อมของกําลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกลุ่มวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต
5 ยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศในทุกระดับและยกระดับการเรียนรู้ โดย เน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ปรับระบบการจัดการเรียน การสอน และการพัฒนาคุณภาพครูทั้งระบบ รวมทั้งการยกระดับคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศในสาขาวิชา ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และพัฒนาระบบทวิภาคีหรือสหกิจศึกษาให้เอื้อต่อการเตรียมคนที่มีทักษะให้พร้อม เข้าสู่ตลาดแรงงาน นอกจากนี้ต้องให้ความสําคัญกับการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งสื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย
6 สร้างเสริมให้คนมีสุขภาพดี เน้นการบรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพและการลด ปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ โดยให้ความสําคัญกับการพัฒนาความรู้ในการดูแลสุขภาพ การพัฒนารูปแบบการออกกําลังกายและโภชนาการที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย การใช้มาตรการทางกฎหมาย และภาษีในการควบคุมและส่งเสริมอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การสร้างกลไกในการจัดทํา นโยบายสาธารณะที่ต้องคํานึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่จะนําไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี
นอกจากนี้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้กําหนดแนวทางในการพัฒนาศักยภาพคนให้เป็นทุนมนุษย์ และเตรียมความพร้อมเป็น Knowledge Worker ดังนี้
1 ส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีการพัฒนาทักษะทางสมองและทักษะทางสังคมที่เหมาะสม เช่น
– ให้ความรู้แก่พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กในเรื่องการมีโภชนาการที่เหมาะสม วิธีการ เลี้ยงดูเด็กที่จะกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
– พัฒนาหลักสูตรการสอนที่วิ่งผลงานวิจัยทางวิชาการและปรับปรุงสถานพัฒนา เด็กปฐมวัยให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่เน้นการพัฒนาทักษะสําคัญด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะทางสมอง ทักษะด้าน ความคิดความจํา ทักษะการควบคุมอารมณ์ ทักษะการวางแผนและการจัดระบบ เป็นต้น
– ผลักดันให้มีกฎหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ครอบคลุมทั้งการพัฒนาทักษะ การเรียนรู้เน้นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ระบบการศึกษา การพัฒนาสุขภาพอนามัยให้มีพัฒนาการที่สมวัย และการเตรียมทักษะการอยู่ในสังคมให้มีพัฒนาการอย่างรอบด้าน
2 พัฒนาเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีความคิด สร้างสรรค์ มีทักษะการทํางานและการใช้ชีวิตที่พร้อมเข้าสู่ตลาดงาน เช่น
– ปรับกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กมีการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงสอดคล้อง กับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย เน้นพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านคณิตศาสตร์ ด้านศิลปะ และด้านภาษาต่างประเทศ
– สร้างแรงจูงใจให้เด็กเข้าสู่การศึกษาในระบบทวิภาคีและสหกิจศึกษาที่มุ่งการฝึก ทักษะอาชีพให้พร้อมเข้าสู่ตลาดงาน
3 ส่งเสริมแรงงานให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพที่เป็นไปตามความต้องการ ของตลาดงาน เช่น
– พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมสมรรถนะแรงงานที่ได้มาตรฐานตามระบบคุณวุฒิวิชาชีพ และมาตรฐานฝีมือแรงงาน จัดทํามาตรฐานอาชีพในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ และให้มีการประเมิน ระดับทักษะของแรงงานบนฐานสมรรถนะ
4 พัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้สูงอายุวัยต้นให้สามารถเข้าสู่ตลาดงานเพิ่มขึ้น เช่น
– จัดทําหลักสูตรพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับวัย สมรรถนะ ทางกาย ลักษณะงาน และส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ในการทํางานร่วมกันระหว่างรุ่น
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจุดเน้นและแนวทางในการพัฒนาศักยภาพคนดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้เน้นการพัฒนาศักยภาพของคนไทยตั้งแต่เด็กให้มีทักษะความรู้และ ความสามารถพร้อมที่จะเป็น Knowledge Worker เมื่อเข้าสู่วัยแรงงานโดยใช้การศึกษาเป็นสําคัญ ซึ่งการศึกษา ถือเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพคนที่ทุกประเทศต่างก็ให้ความสําคัญ ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ได้กําหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาศักยภาพคนโดยใช้การศึกษาเป็นยุทธศาสตร์หลัก โดยกําหนดวิสัยทัศน์ ในการพัฒนาศักยภาพคนว่า “โรงเรียนนักคิด ชาติแห่งการเรียนรู้” ซึ่งผู้นําประเทศสิงคโปร์มีความเชื่อมั่นว่า ระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพจะเป็นกลไกสําคัญในการพัฒนาศักยภาพของประชากรอันจะนําไปสู่การพัฒนา คุณภาพชีวิตและการพัฒนาประเทศโดยรวม
การดําเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนของประเทศสิงคโปร์โดยใช้การปฏิรูปการศึกษา ควบคู่กับการปฏิรูปด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านความเป็นนานาชาติ ส่งผลให้ประเทศสิงคโปร์ประสบความสําเร็จด้านศักยภาพของคนเป็นอย่างมาก โดยประเทศสิงคโปร์ได้อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันในอันดับต้น ๆ จากการจัดอันดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของ UNDP และอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านศักยภาพของมนุษย์ของ IMD
ข้อ 2 ให้นักศึกษาทําให้ครบทุกข้อ
2.1 อธิบายคําว่า “คนไทย 4.0” ว่าสะท้อนเรื่องอะไรบ้าง และยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ
แนวคําตอบ
คนไทย 4.0 เป็นแนวคิดในการพัฒนาคนไทยภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 เพื่อให้คนไทย เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 และเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่ประเทศโลกที่หนึ่ง
คนไทยเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 คือ คนไทยที่มีปัญญาที่เฉียบแหลม (Head) มีทักษะที่เห็นผล (Hand) มีสุขภาพที่แข็งแรง (Health) และมีจิตใจที่งดงาม (Heart) ซึ่งการปรับเปลี่ยนให้คนไทย เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จะครอบคลุมการปรับเปลี่ยนใน 4 มิติ ดังนี้
1 เปลี่ยนจากคนไทยที่มีความรู้ความสามารถและทักษะที่จํากัด เป็นคนไทยที่มีความรู้และทักษะสูง มีความสามารถในการรังสรรค์นวัตกรรม
2 เปลี่ยนจากคนไทยที่มองเน้นประโยชน์ส่วนตน เป็นคนไทยที่มีจิตสาธารณะ และมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม
เปลี่ยนจากคนไทยแบบ Thai-Thai เป็นคนไทยแบบ Global Thai มีความภาคภูมิใจ ” ในความเป็นไทยและสามารถยืนอย่างมีศักดิ์ศรีในเวทีสากล
4 เปลี่ยนจากคนไทยที่เป็น Analog Thai เป็นคนไทยที่เป็น Digital Thai สามารถดํารงชีวิต เรียนรู้ทํางาน และประกอบธุรกิจได้อย่างเป็นปกติสุขในโลกยุคดิจิตอล
โดยเริ่มจากการเสริมสร้างให้เกิดการเจริญเติบโตในตัวคน (Growth for People) ผ่านการสร้างสังคมแห่งโอกาสเพื่อเติมเต็มศักยภาพ เมื่อคนเหล่านี้ได้รับการเติมเต็มศักยภาพอย่างเต็มที่จะกลายเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโต (People for Growth) และนําพาประเทศสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และ ยังยืนอย่างแท้จริง
แนวคิดการเสริมสร้างให้เกิด Growth for People และ People for Growth นําไปสู่ . การปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของคนไทยทั้งระบบ ดังนี้
1 ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจ มีความมุ่งมั่น เพื่อให้มีชีวิตอยู่ อย่างมีพลังและมีความหมาย เช่น
– ปรับเปลี่ยนจากการเรียนแบบเฉื่อยชาเป็นการเรียนด้วยความกระตือรือร้น
– ปรับเปลี่ยนจากการเรียนตามภาคบังคับเป็นการเรียนที่เกิดจากความอยากรู้ อยากทํา และอยากเป็น
2 ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้เพื่อบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น
– ปรับเปลี่ยนฉากการเรียนรู้ในห้องเรียน ในโรงเรียน และในระบบเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกโรงเรียน และนอกระบบ
– ปรับเปลี่ยนจากการคิดในกรอบเป็นการคิดนยกกรอบ
3 ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้เพื่อปลูกฝังจิตสาธารณะ ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เช่น
– ปรับเปลี่ยนจากการเน้นผลประโยชน์ร่วมเป็นการเน้นสร้างคุณค่าร่วม
– ปรับเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์รายบุคคลเป็นการมุ่งเน้นการระดมความคิดสร้างสรรค์แบบกลุ่ม
4 การปรับเปลี่ยนการเรียนรู้เพื่อมุ่งการทํางานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เช่น
– ปรับเปลี่ยนจากการเรียนโดยเน้นทฤษฎีเป็นการเรียนที่เน้นการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา
– ปรับเปลี่ยนจากการเรียนแบบฟังบรรยายเป็นการทําโครงงานและแก้ปัญหาโจทย์ในรูปแบบต่าง ๆ
– ปรับเปลี่ยนจากการเรียนเพื่อวุฒิการศึกษาเป็นการเรียนเพื่อการประกอบอาชีพ
การพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 และการตระเตรียมคนไทย 4.0 เพื่อก้าวเข้าสู่ประเทศโลกที่หนึ่งผ่าน 4 กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวจะเป็นหัวใจสําคัญในการเปลี่ยนผ่านสังคมไทย ไปสู่ “สังคมไทย 4.0” นั้นคือ สังคมที่มีความหวัง (Hope) สังคมที่เปี่ยมสุข (Happiness) และสังคมที่มีความ สมานฉันท์ (Harmony) ในที่สุด
2.2 อธิบายคําว่า “STEM Education” ว่าสะท้อนเรื่องอะไรบ้าง และยกตัวอย่างประกอบมาให้เข้าใจ (10 คะแนน)
แนวคําตอบ
คําว่า “STEM” หรือ “สะเต็ม” เป็นคําย่อมาจากภาษาอังกฤษของศาสตร์ 4 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics) หมายถึง องค์ความรู้วิชาการของศาสตร์ทั้งสีที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริง ที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่าง ๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดําเนินชีวิตและการทํางาน “STEM” หรือ “สะเต็ม” ถูกใช้ครั้งแรกโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (the National Science Foundation : NSF) ซึ่งใช้คํานี้เพื่ออ้างถึงโครงการหรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตามสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ ให้นิยามที่ชัดเจนของคําว่า STEM มีผลให้มีการใช้และให้ความหมายของคํานี้แตกต่างกันไป (Hanover Research 2011, p.5) เช่น มีการใช้คําว่า STEM ในการอ้างอิงถึงกลุ่มอาชีพที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์
สําหรับประเทศไทย “STEAM Education” หรือ “สะเต็มศึกษา” เป็นแนวทางการจัดการศึกษา ที่บูรณาการความรู้ใน 4 สาขาวิชา ได้แก่ ทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มาใช้แก้ปัญหา ที่พบเห็นในชีวิตจริง เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ ทักษะชีวิต ความคิดสร้างสรรค์ และเป็นการเตรียมความพร้อม ให้กับนักเรียนในการปฏิบัติงานที่ต้องใช้องค์ความรู้และทักษะกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ เทคโนโลยี รวมทั้งนําไปสู่การสร้างนวัตกรรมในอนาคต
การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ STEM Education เป็นการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมหรือโครงงาน ที่บูรณาการการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี ผนวกกับแนวคิดการออกแบบเชิงวิศวกรรม โดยนักเรียน จะได้ทํากิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจและฝึกทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี และ ได้นําความรู้มาออกแบบชิ้นงานหรือวิธีการ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจําวัน เพื่อให้ได้เทคโนโลยีซึ่งเป็นผลผลิตจากกระบวนการออกแบบเชิงวิศวกรรม
การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางของ STEM Education มีลักษณะ 5 ประการ คือ
1 เป็นการสอนที่เน้นการบูรณาการ
2 ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชาทั้ง 4 กับชีวิตประจําวันและการประกอบอาชีพ
3 เน้นการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21
4 ท้าทายความคิดของนักเรียน
5 เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นและความเข้าใจที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาทั้ง 4
ดังนั้น STEM Education จึงเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เน้นการท่องจําทฤษฎีหรือกฎทาง วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่ให้ความสําคัญกับการทําความเข้าใจเนื้อหาวิชาผ่านการปฏิบัติจริงควบคู่กับ การพัฒนาทักษะการคิด การตั้งคําถาม การแก้ปัญหา การหาข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียน สามารถนําความรู้มาใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งพัฒนากระบวนการและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ ต่อการดําเนินชีวิตและการทํางาน
2.3 การเข้าสู่ Thailand 4.0 กับแนวคิด ทักษะในศตวรรษที่ 21 จะมีความเกี่ยวข้องกับ Knowledge Worker อย่างไรบ้าง และจะส่งผลต่อการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐ หรือไม่ อย่างไร จงอธิบายมาเป็นประเด็น ๆ ให้เข้าใจ
แนวคําตอบ
Thailand 4.0
ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจมาหลายครั้ง โดยเริ่มจาก Thailand 1.0 ที่เน้นภาคเกษตรกรรม ปสู่ Thailand 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา และ Thailand 3.0 ที่เน้น อุตสาหกรรมหนัก อย่างไรก็ตามแม้ Thailand 3.0 จะทําให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้อง เผชิญกับ “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง” “กับดักความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง” และ “กับดักความไม่สมดุล ในการพัฒนา” ซึ่งกับดักเหล่านี้เป็นประเด็นท้าทายของประเทศไทยในปัจจุบันและนําไปสู่การปฏิรูปโครงสร้าง เศรษฐกิจเพื่อก้าวข้าม Thailand 3.0 ไปสู่ Thailand 4.0 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจาก 3 กับดักดังกล่าว พร้อม ๆ กับเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ “ประเทศในโลกที่หนึ่ง” ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ในบริบทของการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 อย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทางที่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้วางไว้ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับประชาคมโลาตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจ พอเพียง” โดยขับเคลื่อนผ่านกลไก “ประชารัฐ”
Thailand 4.0 เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ใน 3 มิติสําคัญ คือ
1 เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม
2 เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
3 เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม
ดังนั้น ภายใต้ Thailand 4.0 นี้ แรงงานจึงถือเป็นองค์ประกอบสําคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วย ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 โดยเฉพาะ Knowledge Worker หรือแรงงานที่มี ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
ทักษะในศตวรรษที่ 21
ทักษะในศตวรรษที่ 21 (21 Century Skills) เป็นทักษะที่จําเป็นสําหรับ Knowledge Worker ในการทํางาน รวมทั้งการปรับตัวเพื่อดํารงชีวิตอย่างมีคุณภาพในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วย 3 ด้านหลัก ๆ ที่สําคัญ คือ
1 ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ได้แก่
– การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving)
– การสื่อสารและความร่วมมือ (Communication and Collaboration)
– ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation)
2 ทักษะชีวิตและงานอาชีพ ได้แก่
– ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Flexibility and Adaptability)
– การริเริ่มสร้างสรรค์และกํากับดูแลตนเองได้ (Initiative and Self-Direction)
– ทักษะสังคมและสังคมข้ามวัฒนธรรม (Social and Cross-Cultural Interaction)
– การเป็นผู้สร้างผลงานหรือผลผลิตและความรับผิดชอบเชื่อถือได้ (Productivity and Accountability)
– ภาวะผู้นําและความรับผิดชอบ (Leadership and Responsibility)
3 ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี ได้แก่
– การรู้เท่าทันสารสนเทศ (Information Literacy)
– การรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy)
– การรู้ทันเทคโนโลยี (ICT : Information, Communication and Technology Literacy) การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในภาครัฐ
การเข้าสู่ Thailand 4.0 กับแนวคิดทักษะในศตวรรษที่ 21 ส่งผลให้ภาครัฐต้องมีการวางแผน ทรัพยากรมนุษย์ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยภาครัฐต้องมีการคาดการณ์ความต้องการใช้ทรัพยากร มนุษย์ขององค์การไว้ล่วงหน้าว่าต้องการบุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างไร ระดับใด จํานวนเท่าใด เมื่อใด ด้วยวิธีการใด ต้องพัฒนาบุคคลในองค์การให้มีทักษะ ความรู้ความสามารถอย่างไร จะควบคุมจํานวนทรัพยากรบุคคลในองค์การ ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับการดําเนินงานขององค์การได้อย่างไร รวมทั้งจะกําหนดนโยบายและระเบียบ ปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อจะใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร