การสอบไล่ภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2550

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 2013 

Advertisement

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตั๋วเงิน บัญชีเดินสะพัด 

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  3  ข้อ

ข้อ  1  ก  อาทิตย์ออกทุนให้จันทร์ออกทะเลจับปลาครั้งละห้าแสนบาท  เป็นเวลา  5  ปี  โดยให้เบิกเป็นเงินสด  น้ำมัน  หรือน้ำแข็งเพื่อใช้แช่ปลา  โดยอาทิตย์จะจดบัญชีคำนวณเป็นจำนวนเงินทั้งหมดตามที่จันทร์เบิกไปและเมื่อจันทร์ได้ปลามาแล้วจะต้องขายให้อาทิตย์  โดยอาทิตย์จะชำระราคาปลาให้กับจันทร์เพียง  10  เปอร์เซ็นต์  เพื่อให้จันทร์ไว้ใช้ส่วนตัว  ส่วนอีก  90  เปอร์เซ็นต์นั้นเก็บไว้เพื่อรอชำระหนี้ แล้วมอบใบเสร็จรับเงินให้จันทร์เก็บไว้เพื่อตรวจสอบและหักบัญชีกันทุกๆ  3  เดือน  ทำให้รู้ว่าฝ่ายใดเป็นหนี้จำนวนเงินเท่าใด  และจะกระทำเช่นนี้ตลอดเวลา  5  ปี  ดังนี้  นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดหรือไม่

ข  การรับรองตั๋วแลกเงินนั้นจะต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องตามกฎหมาย

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

มาตรา  856  อันว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้น  คือสัญญาซึ่งบุคคลสองคนตกลงกันว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลากำหนดอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกัน  และคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค

วินิจฉัย

นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์มีข้อตกลงว่าสืบแต่นั้นไปหรือในชั่วเวลาอันใดอันหนึ่ง  ให้ตัดทอนบัญชีหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนอันเกิดขึ้นแต่กิจการในระหว่างเขาทั้งสองนั้นหักกลบลบกันและคงชำระแต่ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือโดยดุลภาค  จึงถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามมาตรา  856

สรุป  นิติสัมพันธ์ระหว่างอาทิตย์กับจันทร์เป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด

ข อธิบาย

การรับรองตั๋วแลกเงิน  คือ  การที่ผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วแลกเงินเพื่อผูกพันตนเองในอันที่จะรับผิดชอบจ่ายเงินตามคำสั่งของผู้สั่งจ่ายที่ได้มีคำสั่งให้ผู้จ่ายจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน

สำหรับวิธีการรับรองตั๋วแลกเงินนั้น  มาตรา  931  ได้กำหนดแบบหรือวิธีการรับรองไว้โดยกำหนดให้ผู้จ่ายลงข้อความว่า  รับรองแล้ว  หรือข้อความอื่นทำนองเช่นเดียวกัน  เช่น  รับรองจะใช้เงิน  หรือ  ยินยอมจะใช้เงิน  ฯลฯ  และลงลายมือชื่อของผู้จ่ายในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้น  และอาจลงวันที่รับรองไว้หรือไม่ก็ได้  หรือเพียงแต่ผู้จ่ายลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วแลกเงินนั้นเพียงลำพังโดยไม่จำต้องมีข้อความดังกล่าวอยู่เลย  ก็จัดว่าเป็นคำรับรองแล้วเช่นเดียวกัน  อนึ่งการที่ผู้จ่ายทำการรับรองที่ด้านหลังตั๋วแลกเงิน  ถือว่าเป็นการรับรองที่ผิดแบบหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด    ไม่ถือว่าเป็นการรับรองหรือคำรับรองนั้นไม่มีผล

อย่างไรก็ดี  การรับรองตามมาตรา  931  นี้  ย่อมมีผลเฉพาะตัวผู้จ่ายเท่านั้น  บุคคลอื่นซึ่งมิใช่ผู้จ่าย  หากได้ทำการรับรองตามความในมาตรานี้ก็มิได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับรอง แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัล (มาตรา  940)  หรือเป็นผู้สอดเข้ารับรองเพื่อแก้หน้า  (มาตรา 953)  ก็ได้

การรับรองตั๋วแลกเงิน  ตามมาตรา  935  ได้กำหนดไว้  2  ประเภท  ดังนี้

1       การรับรองตลอดไป  คือ  การที่ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินทั้งหมดตามจำนวนเงินที่ปรากฏในตั๋วแลกเงิน  โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขในการจ่ายเงิน

2       การรับรองเบี่ยงบ่าย  คือ  การรับรองใน  2  กรณีดังต่อไปนี้  คือ

 –          การรับรองเบี่ยงบ่ายอย่างมีเงื่อนไข  เช่น  ผู้จ่ายรับรองจะจ่ายเงินจำนวนทั้งหมดในตั๋วแลกเงินฉบับนี้ต่อเมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในอนาคตและไม่แน่นอน

–          การรับรองเบี่ยงบ่ายบางส่วน  เช่น  ตั๋วแลกเงินราคา  50,000  บาท  ผู้จ่ายรับรองการจ่ายเงินจำนวน  40,000  บาท  เป็นต้น

ผลของการรับรองตั๋วแลกเงิน  มีบัญญัติไว้ในมาตรา  937  กล่าวคือ  เมื่อผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว  ผู้จ่ายจะกลายเป็นผู้รับรองและต้องผูกพันรับผิดตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน

 

ข้อ  2  ก  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บัญญัติวิธีการโอนตั๋วเงินไว้อย่างไร  ให้อธิบายโดยสังเขป

          ข  จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าสั่งให้ธนาคารสินไทยจ่ายเงินสดหรือผู้ถือ  จำนวน  500,000  บาท  มอบให้อังคาร  เพื่อเป็นการวางมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า  อังคารสลักหลังขายลดเช็คโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดเช็คนั้น  ต่อมาพุธได้ส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้เงินกู้ให้แก่พฤหัส  ถึงกำหนดวันที่ออกเช็ค  พฤหัสได้นำเช็คนั้นไปฝากเข้าบัญชีของตนที่ธนาคารกรุงทองให้ธนาคารเรียกเก็บเงินแทน  แต่ธนาคารสินไทยปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากเงินในบัญชีฯ  จันทร์ไม่พอจ่าย  ดังนี้ใครบ้างที่ต้องรับผิดและไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นต่อพฤหัสเพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย

ตามลักษณะของตั๋วแลกเงินมีอยู่  2  ชนิด  คือ  ตั๋วแลกเงินชนิดระบุชื่อผู้รับเงินหรือตามคำสั่งผู้รับเงิน  เรียกว่า  ตั๋วแลกเงินระบุชื่อ  ซึ่งในตั๋วเงินทั้ง  3  ประเภท  คือ  ตั๋วแลกเงิน  ตั๋วสัญญาใช้เงินและเช็ค  และตั๋วแลกเงินชนิดที่ระบุชื่อผู้รับและมีคำว่า  หรือผู้ถือ  รวมอยู่ด้วย หรือระบุให้ใช้เงินแก่ผู้ถือ  เรียกว่า  ตั๋วแลกเงินผู้ถือ  ซึ่งมีเฉพาะตั๋วแลกเงินและเช็คเท่านั้น

ดังนั้นวิธีการโอนตั๋วแลกเงินจึงแตกต่างกันตามชนิดของตั๋วแลกเงินดังกล่าวข้างต้น  กล่าวคือ

1       กรณีโอนตั๋วแลกเงินระบุชื่อ  มาตรา  917  วรรคแรก  บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการสลักหลังและส่งมอบ

อนึ่งการสลักหลังมี  2  วิธี  คือ  สลักหลังเฉพาะ  (เจาะจงชื่อผู้รับสลักหลัง)  ซึ่งมาตรา  919  ได้บัญญัติวิธีการสลักหลังไว้ดังนี้

 (ก)  สลักหลังเฉพาะ  (Specific  Endorsement)  ให้ระบุชื่อผู้รับสลักหลัง  แล้วลงลายมือชื่อผู้สลักหลังลงไปในตั๋วเงิน  โดยจะกระทำด้านหน้าหรือด้านหลังตั๋วเงินนั้นก็ได้  (มาตรา  917  วรรคแรก  มาตรา  919  วรรคแรก)

(ข)  สลักหลังลอย  (Blank  Endorsement)  ผู้สลักหลังเพียงลงลายมือชื่อตนเองโดยลำพังด้านหลังตั๋วเงิน  โดยไม่ต้องระบุชื่อผู้รับประโยชน์  (ผู้รับสลักหลัง)  (มาตรา  917  วรรคแรก  มาตรา  919  วรรคสอง)

ผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังโอนตั๋วเงินนั้นมาจากการสลักหลังดังกล่าวใน  (ก)  หรือ  (ข)  แล้วก็สามารถสลักหลังโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นโดยวิธีข้างต้นต่อไปอีกก็ได้  แต่ผู้ทรงที่ได้รับโอนตั๋วเงินด้วยการสลักหลังลอย  สามารถเลือกโอนตั๋วเงินระบุชื่อนั้นต่อไปได้อีก  3  วิธี  ทั้งนี้ตามมาตรา  920  วรรคสอง  คือ

(1) เติมชื่อบุคคลที่ตนเองประสงค์จะโอนให้

(2) สลักหลังลอยหรือสลักหลังเฉพาะต่อไป  หรือ

(3) ส่งมอบต่อไปโดยไม่ต้องสลักหลัง

 2       กรณีโอนตั๋วแลกเงินผู้ถือ  มาตรา  918  บัญญัติให้โอนต่อไปได้ด้วยการส่งมอบ

ข  อธิบาย

มาตรา  900  บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในตั๋วเงินย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในตั๋วเงินนั้น

ถ้าลงเพียงแต่เครื่องหมายอย่างหนึ่งอย่างใด  เช่น  แกงไดหรือลายพิมพ์นิ้วมืออ้างเอาเป็นลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไซร้  แม้ถึงว่าจะมีพยานลงชื่อรับรองก็ตาม  ท่านว่าหาให้ผลเป็นลงลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นไม่

มาตรา  914  บุคคลผู้สั่งจ่ายหรือสลักหลังตั๋วแลกเงินย่อมเป็นอันสัญญาว่า  เมื่อตั๋วนั้นได้นำมายื่นโดยชอบแล้วจะมีผู้รับรองและใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋ว  ถ้าและตั๋วแลกเงินนั้นเขาไม่เชื่อถือโดยไม่ยอมรับรองก็ดี  หรือไม่ยอมจ่ายเงินก็ดี  ผู้สั่งจ่ายหรือผู้สลักหลังก็จะใช้เงินแก่ผู้ทรง  หรือแก่ผู้สลักหลังคนหลังซึ่งต้องถูกบังคับให้ใช้เงินตามตั๋วนั้น  ถ้าหากว่าได้ทำถูกต้องตามวิธีการในข้อไม่รับรองหรือไม่จ่ายเงินนั้นแล้ว

มาตรา  921  การสลักหลังตั๋วแลกเงินซึ่งสั่งให้ใช้เงินแก่ผู้ถือนั้นย่อมเป็นเพียงประกัน  (อาวัล)  สำหรับผู้สั่งจ่าย

วินิจฉัย

เช็คที่จันทร์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมอบให้แก่อังคาร  เพื่อเป็นการวางมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า  เช็คดังกล่าวเป็นเช็คผู้ถือสามารถโอนได้ด้วยการส่งมอบ  และยังถือว่าเป็นการโอนโดยชอบด้วยกฎหมาย  แม้จะมีการสลักหลังโอนตั๋วเช็คชนิดผู้ถือ  โดยผู้ทำการสลักหลังนั้นจะต้องผิดในฐานเป็นผู้รับอาวัล  (ประกัน)  ผู้สั่งจ่าย  ดังนั้นเมื่อธนาคารสินไทยปฏิเสธการจ่ายเงิน  พฤหัสผู้ทรงเช็คสามารถฟ้องจันทร์ที่ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดได้  ตามมาตรา  900  ประกอบมาตรา  914  ส่วนอังคารสลักหลังขายลดเช็คโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดเช็คนั้นอังคารต้องรับผิดในฐานะผู้รับอาวัลจันทร์ผู้สั่งจ่าย  ตามมาตรา  921  พุธได้ส่งมอบเช็คนั้นชำระหนี้เงินกู้ให้แก่พฤหัส  โดยที่พุธมิได้ลงลายมือชื่อบนเช็คนั้น  พุธจึงไม่ต้องรับผิดตามกฎหายตั๋วเงินต่อพฤหัสถึงกำหนดวันที่ออกเช็ค  ตามมาตรา  900

สรุป  จันทร์และอังคารต้องรับผิด  ส่วนพุธไม่ต้องรับผิด

 

ข้อ  3  ก  ตั๋วเงินที่มีการแก้ไขรายการที่สำคัญนั้นจะเกิดผลอย่างไรกับบุคคลที่เป็นคู่สัญญาบ้าง

ข  เอกเขียนและลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คเมื่อวันที่  8  มิถุนายน  2550  สั่งให้ธนาคารสินไทยจ่ายเงินจำนวน  500,00  บาท  ให้กับนายบุญมีและขีดฆ่าคำว่า  หรือผู้ถือ  ออกแล้ว  ระบุวันที่ออกเช็คคือ  วันที่  8  สิงหาคม  2550  มอบให้นายบุญมี  เพื่อเป็นการวางมัดจำในการสั่งซื้อสินค้า  บุญมีสลักหลังขายลดเช็คโดยระบุชื่อพุธเป็นผู้รับซื้อลดเช็คนั้น  ต่อมาพุธได้สลักหลังเช็คนั้นชำระหนี้เงินกู้ให้แก่พฤหัสโดยมี  โทเป็นผู้รับอาวัล  พูธ  ดังนี้  วันที่  8  สิงหาคม  2550  นายเอกมาพบพฤหัสแจ้งให้ทราบว่าเงินในบัญชีของตนไม่มีเงินพอที่จ่าย  จึงขอแก้วันที่ออกเช็คเป็นวันที่  10  กันยายน  2550  โดยลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไว้  วันที่  12  กันยายน  2550  พฤหัส  นำเช็คนั้นไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารสินไทยปฏิเสธการจ่ายเงินเนื่องจากเงินในบัญชีฯ  เอกมีไม่พอจ่าย  ดังนี้ใครบ้างที่ต้องรับผิดและไม่ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นต่อพฤหัส

ธงคำตอบ

ก  อธิบาย 

ในกรณีที่มีการแก้ไขข้อความสำคัญในตั๋วเงิน  เช่น  แก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ  แก่วันที่ลง  จำนวนเงินอันจะพึงใช้  เวลาใช้เงิน  สถานที่ใช้เงิน  กับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน  ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย  (มาตรา  1007  วรรคสาม)  ตาม  ป.พ.พ.  ได้บัญญัติผลตามกฎหมายไว้  2  กรณี  คือ

 1       กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นประจักษ์  กล่าวคือ  มองเห็นได้หรือมีการแก้ไขไม่แนบเนียนหรือเห็นเป็นประจักษ์นั่นเอง  โดยมิได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาทุกคนในตั๋วเงินนั้น  ย่อมเป็นผลให้ตั๋วเงินเสียไป  แต่ยังคงใช้ได้กับผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลง  หรือผู้ที่ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและหรือผู้สลักหลังภายหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  (มาตรา  1007  วรรคแรก)

2       กรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ประจักษ์  กล่าวคือ  มองไม่เห็น  หรือมีการแก้ไขได้อย่างแนบเนียน  หรือไม่เห็นเป็นประจักษ์  และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย  กรณีย่อมเป็นผลให้ผู้ทรงที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นสามารถจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้  เสมือนว่าตั๋วเงินนั้นมิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงินตามตั๋วเงินนั้นตามเนื้อความเดิมก็ได้  (มาตรา  1007  วรรคสอง)

ข  อธิบาย

มาตรา  1007  ถ้าข้อความในตั๋วเงินใด  หรือในคำรับรองตั๋วเงินใด  มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญโดยที่คู่สัญญาทั้งปวงผู้ต้องรับผิดตามตั๋วเงินมิได้ยินยอมด้วยหมดทุกคนไซร้  ท่านว่าตั๋วเงินนั้นก็เป็นอันเสีย  เว้นแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  หรือได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  กับทั้งผู้สลักหลังในภายหลัง

แต่หากตั๋วเงินใดได้มีผู้แก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ประจักษ์และตั๋วเงินนั้นตกอยู่ในมือผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายไซร้  ท่านว่าผู้ทรงคนนั้นจะเอาประโยชน์จากตั๋วเงินนั้นก็ได้เสมือนดังว่ามิได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเลย  และจะบังคับการใช้เงินตามเนื้อความแห่งตั๋วนั้นก็ได้

กล่าวโดยเฉพาะ  การแก้ไขเปลี่ยนแปลงเช่นจะกล่าวต่อไปนี้  ท่านถือว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในข้อสำคัญ  คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใดๆ  แก่วันที่ลง  จำนวนเงินอันจะพึงใช้  เวลาใช้เงิน  สถานที่ใช้เงินกับทั้งเมื่อตั๋วเงินเขารับรองไว้ทั่วไปไม่เจาะจงสถานที่ใช้เงิน  ไปเติมความระบุสถานที่ใช้เงินเข้าโดยที่ผู้รับรองมิได้ยินยอมด้วย

วินิจฉัย

การที่เอกขอแก้วันที่ออกเช็คจากวันที่  8  สิงหาคม  2550  เป็นวันที่  10  กันยายน  2550  โดยลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขไว้ถือว่าเป็นการแก้ไขรายการที่สำคัญในเช็คตามมาตรา  1007  วรรคท้าย  และเป็นการแก้ไขที่ประจักษ์มีผลทำให้เช็คนั้นเสียไปแต่ยังคงใช้ได้ต่อคู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นคือ  เอกยังต้องรับผิดต่อพฤหัส  ส่วนโทผู้รับอาวัลพุธนั้นมิได้ยินยอมด้วยกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้น  กับทั้งมิใช่ผู้สลักหลังในภายหลัง  จึงมิต้องรับผิดต่อพฤหัสแต่อย่างใด  ตามมาตรา  1007  วรรคแรก

สรุป  เฉพาะนายเอกผู้ทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเท่านั้นต้องรับผิดต่อพฤหัส

Advertisement