การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา PHI 1003 ปรัชญาเบื้องต้น

Advertisement

คําสั่ง ให้นักศึกษาเลือกคําตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงคําตอบเดียว (ข้อสอบมีทั้งหมด 100 ข้อ)

1 สิ่งที่ “ปรัชญา” ไม่สามารถช่วยได้คือข้อใด

(1) ความสามารถคิดอย่างมีเหตุผล

(2) การมีทัศนะกว้างขึ้น

(3) การมีใจกว้างขึ้น

(4) การหางานทําได้ง่ายขึ้น

ตอบ 4 หน้า 1 – 2, (คําบรรยาย) ปรัชญาเป็นสิ่งที่ทําให้มนุษย์สามารถคิดอย่างมีเหตุผล ไม่ยอมรับสิ่งใดโดยง่ายดาย แต่ก็มีใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น จึงทําให้มีทัศนะกว้างขวางขึ้นและพยายามแสวงหาคําตอบสําหรับปัญหาของตนตลอดเวลา แต่ไม่ได้ทําให้หางานทําได้ง่ายขึ้น

2 ข้อใดคือท่าทีของ “ปรัชญา” ตามความหมายในวิชา PHI 1003

(1) การศึกษาเรื่องความรู้อันประเสริฐ

(2) การสงสัยและหาคําตอบ

(3) การหาหลักการให้กับองค์กร

(4) การศึกษาเพื่อการพ้นทุกข์

ตอบ 2 หน้า 1, (คําบรรยาย) ปรัชญาเป็นเรื่องราวของการใช้ปัญญาเพื่อไตร่ตรองในสิ่งที่ตนยังสงสัยหรือคิดว่าเป็นปัญหาอยู่ และเป็นการพยายามใช้ปัญญาไตร่ตรองถึงคําตอบที่เป็นไปได้สําหรับปัญหาที่ตนยังติดใจสงสัย และจะทําการวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาเหล่านั้นอย่างมีเหตุผล ดังนั้น ปรัชญาจึงเป็นเรื่องของผู้ใช้ปัญญา หรือผู้มีความปรารถนาจะรู้ในสิ่งที่ตนไม่รู้ ด้วยเหตุนี้ปรัชญาจึงเกิดขึ้นพร้อมกับมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้มีปัญญา

3 นักปรัชญาใช้วิธีการใดในการแสวงหาความรู้

(1) การวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผล

(2) การเก็บข้อมูลและทดลองแบบนักวิทยาศาสตร์

(3) การใช้การคํานวณแบบนักคณิตศาสตร์

(4) ศึกษาจากคัมภีร์ของศาสนาต่าง ๆ

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 2 ประกอบ

4 คําตอบของนักปรัชญาต่อปัญหาต่าง ๆ มีลักษณะอย่างไร

(1) ปัญหาเดียวกันมีได้หลายคําตอบ

(2) สอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์

(3) คําตอบมีความแน่นอนตายตัว

(4) ความจริงสูงสุด

ตอบ 1 หน้า 1, 9, (คําบรรยาย) ปรัชญาเกิดขึ้นพร้อมกับมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้มีปัญญาซึ่งลักษณะสําคัญประการหนึ่งของปรัชญาก็คือ แม้แต่คําตอบต่อปัญหาอันเดียวกันนั้น ก็อาจมีคําตอบที่เป็นไปได้หลายคําตอบ โดยยังไม่มีการกําหนดหรือยอมรับกันลงไปว่า คําตอบใดเป็นคําตอบที่ถูกต้องที่สุด วิชาปรัชญาถือว่าคําตอบทุกคําตอบเป็นไปได้ทั้งสิ้น ดังนั้นปรัชญาจึงช่วยแก้ปัญหาให้แก่มนุษย์ด้วยการใช้ปัญญาแสวงหาคําตอบที่เป็นไปได้

5 ข้อใดกล่าวได้ถูกต้อง

(1) คําว่า “ปรัชญา” บัญญัติแทน “Philosophy” และมีความหมายตรงกัน

(2) คําว่า “ปรัชญา” บัญญัติแทน “Philosophy” แต่มีความหมายไม่ตรงกัน

(3) คําว่า “ปรัชญา” ไม่ได้บัญญัติแทน “Philosophy” แต่มีความหมายตรงกัน

(4) คําว่า “ปรัชญา” ไม่ได้บัญญัติแทน “Philosophy” จึงมีความหมายไม่ตรงกัน

ตอบ 1 หน้า 1 คําว่า “ปรัชญา” เป็นศัพท์บัญญัติของพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ซึ่งใช้แปลคําว่า Philosophy ในภาษาอังกฤษ ดังนั้นคําว่าปรัชญาจึงมีความหมายที่สอดคล้อง หรือเหมือนกันทุกประการกับ Philosophy ซึ่งหมายถึง ผู้รักความปราดเปรื่อง หรือผู้ปรารถนา

จะเป็นปราชญ์ หรือผู้ปรารถนาจะฉลาด หรือผู้ที่ยังไม่รู้และปรารถนาจะรู้มากขึ้น

6 ทําไม “ปรัชญา” จึงเกี่ยวข้องกับมนุษย์

(1) เพราะมนุษย์มีปัญหา

(2) เพราะมนุษย์มีปัญญา

(3) เพราะมนุษย์มีปรัชญา

(4) เพราะมนุษย์รู้ปรัชญา

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 2.ประกอบ

7 “ปรัชญาบริสุทธิ์” ศึกษาปัญหาเกี่ยวกับสิ่งใด

(1) ความเป็นจริง

(2) การรู้ความเป็นจริง

(3) การปฏิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 11 – 17 ปรัชญาบริสุทธิ์ (Pure Philosophy) หมายถึง ปัญหาหรือขอบเขตของปรัชญาที่เป็นเรื่องของปรัชญาโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับข้อสรุปของวิชาอื่น ๆ ที่แยกตัว ออกไปจากวิชาปรัชญาแล้ว ซึ่งปรัชญาบริสุทธิ์จะศึกษาถึงปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริง ในประเด็นปัญหา 3 ประการ ดังนี้คือ

1 ความเป็นจริงคืออะไร

2 เรารู้ความเป็นจริงได้อย่างไร

3 เราพึงปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริง

8 ปัญหาเรื่องปฐมธาตุของนักปรัชญากรีกโบราณจัดเป็นปัญหาปรัชญาสาขาใด

(1) อภิปรัชญา

(2) ญาณวิทยา

(3) จริยศาสตร์

(4) ปรัชญาประยุกต์

ตอบ 1 หน้า 17, 21 – 23 อภิปรัชญา เป็นศาสตร์ที่มุ่งศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง“ความเป็นจริงคืออะไร” โดยมุ่งที่จะสืบค้นไปถึงสิ่งที่จริงที่สุด ซึ่งอาจซ่อนอยู่เบื้องหลัง ปรากฏการณ์ของโลกที่ปรากฏต่อผัสสะของมนุษย์ หรือสิ่งที่อยู่ล่วงเลยขอบเขตของสสาร (อสสาร) ซึ่งแยกออกได้เป็น 3 ปัญหา คือ

1 ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของโลก เช่น ปฐมธาตุหรือแก่นแท้ของจักรวาลคืออะไร

2 ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของจิต เช่น จิตหรือวิญญาณของมนุษย์มีจริงหรือไม่

3 ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นจริงของพระเจ้า เช่น พระเจ้ามีอยู่และเกี่ยวข้องกับโลกอย่างไร

9 “Metaphysics” มีความหมายตรงกับศัพท์ภาษาไทยคําใด

(1) ปรัชญา

(2) อภิปรัชญา

(3) ญาณวิทยา

(4) อตินทรีย์วิทยา

ตอบ 4 หน้า 21 – 22 Metaphysics แปลว่า วิชาที่ว่าด้วยสิ่งที่อยู่เบื้องหลังวัตถุ หรือวิชาที่ว่าด้วยสิ่งที่อยู่เบื้องหลังสิ่งที่รู้สึกทางประสาทสัมผัส จะมีความหมายตรงกับคําว่า “อตินทรีย์วิทยา ซึ่งแปลว่า ล่วงเลยอินทรีย์หรือประสาทสัมผัส แต่คําว่าอตินทรีย์วิทยานไม่เป็นที่นิยมใช้กัน โดยคําที่นิยมใช้ก็คือ “อภิปรัชญา” ซึ่งแปลว่า ความรู้อันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ อันมีความหมาย เท่ากับ “ปรมัตถ์” หรือ “ความรู้ขั้นปรมัตถ์” ซึ่งแปลว่า ความรู้ที่มีเนื้อหาลึกซึ้งอย่างยิ่ง

10 ข้อใดสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง

(1) โซฟิสต์ – ความรู้เชิงปรนัย

(2) โซเครตีส – ความรู้เชิงอัตนัย

(3) โซฟิสต์ – ปัญญา

(4) โซเครตีส – ปัญญา

ตอบ 4 หน้า 8, (คําบรรยาย) โซเครตีส เพลโต และอริสโตเติล เชื่อว่า มนุษย์มีสมรรถภาพพอที่จะรู้ความเป็นจริงได้ (ความรู้เชิงปรนัย) ถ้ามนุษย์ใช้ปัญญาหรือเหตุผลที่เป็นสมรรถภาพเหนือผัสสะ ส่วนโซฟิสต์ เห็นว่า มนุษย์ไม่มีความสามารถที่จะรู้ว่าอะไรคือสารเบื้องต้นของธรรมชาติที่แท้จริงนักปรัชญาแต่ละคนจึงได้ตอบไปตามความเห็นของตนเท่านั้น

11 สาเหตุที่ทําให้วัตถุประเภทเดียวกันมีลักษณะอย่างเดียวกัน คืออะไรในทัศนะของเพลโต

(1) ความเหมือนเป็นเพียงข้อสังเกตของมนุษย์

(2) วัตถุนั้นมีโครงสร้างของอะตอมเหมือนกัน

(3) วัตถุนั้นจําลองมาจากแม่แบบเดียวกัน

(4) วัตถุนั้นถูกพระเจ้าเนรมิตขึ้นจากแบบเดียวกัน

ตอบ 3 หน้า 26 – 27 เพลโต อธิบายว่า โลกของแบบเท่านั้นที่เป็นจริง เป็นสิ่งเที่ยงแท้ และเป็นต้นแบบของโลกแห่งประสาทสัมผัส ซึ่งแบบเป็นอสสารที่มองไม่เห็น ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ และเป็นหลักสําคัญให้โลกวัตถุมีอยู่ได้ เช่น ทอง ขมิ้น และดอกดาวเรือง ฯลฯ แม้วัตถุทั้งหมดนี้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็จําลองมาจากแบบเดียวกัน คือ “เหลือง” และมนุษย์รับรู้ด้วยเหตุผล

12 ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับแบบของเพลโต

(1) มีจริง และมนุษย์รับรู้ด้วยประสาทสัมผัส

(2) มีจริง และมนุษย์รับรู้ด้วยเหตุผล

(3) ไม่มีจริง แต่มนุษย์สร้างภาพด้วยเหตุผล

(4) ไม่มีจริง แต่มนุษย์สร้างภาพด้วยประสาทสัมผัส

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 11 ประกอบ

13 “ทอง ขมิ้น ดอกดาวเรือง” มีความสัมพันธ์กันอย่างไรในทัศนะของเพลโต (1) ไม่มีความสัมพันธ์กันเลย

(2) มีลักษณะร่วมกัน คือเป็นวัตถุในโลกมนุษย์

(3) มีลักษณะร่วมกัน คือ “เหลือง”

(4) มีลักษณะร่วมกัน คือเป็นแบบให้กับวัตถุสีเหลือง

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 11 ประกอบ

14 ที่ว่าสสารนิยมเป็น “เอกนิยม” (Monism) มีความหมายอย่างไร

(1) โลกเป็นปรากฏการณ์ของสสารเท่านั้น

(2) โลกเป็นปรากฏการณ์ของสสารชนิดเดียว

(3) โลกมีเพียงโลกเดียว

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 31 สสารนียมเป็นเอกนิยม (Monism) ถือว่าปรากฏการณ์ของสสารเท่านั้นที่เป็นจริง เป็นความจริงประเภทเดียว และเป็นปรากฏการณ์ของสสารชนิดเดียว โดยสสารจะเป็นสิ่งที่ครองที่ คือ แผ่ไปในที่ว่าง เป็นสิ่งที่มีอยู่และเกิดขึ้นในที่ว่าง ถ้าวัตถุชิ้นหนึ่งครองที่อยู่ ณ ที่หนึ่งแล้ว วัตถุชิ้นอื่นจะครองที่นั้นในเวลาเดียวกันนั้นไม่ได้

15 สสารมีลักษณะอย่างไร

(1) ไร้รูปร่าง สัมผัสไม่ได้ แต่มีอายุขัย

(2) มีรูปร่าง สัมผัสได้ แต่ไร้อายุขัย

(3) มีรูปร่าง สัมผัสได้ และมีอายุขัย

(4) ไร้รูปร่าง สัมผัสไม่ได้ และไร้อายุขัย

ตอบ 3 หน้า 31 ลัทธิสสารนิยม เชื่อว่า สสารเป็นสิ่งที่ครองเวลา จะต้องมีอยู่ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งจะมีอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ ซึ่งสสารหรือวัตถุทั้งปวงนี้เป็นสิ่งที่รู้จักได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 และประสาทสัมผัสทั้ง 5 เท่านั้นที่จะรู้จักสสารได้ โดยสสารเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่มีรูปร่าง สัมผัสได้ และมีอายุขัยเพียงชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น

16 นักจิตนิยมมีทัศนะต่อโลกมนุษย์อย่างไร

(1) มนุษย์ต้องเรียนรู้ให้มากเพื่อใช้ชีวิตในโลกอย่างมีความสุขสบาย

(2) มนุษย์ต้องใช้ชีวิตในโลกอย่างสุขสบาย ก่อนไปใช้ชีวิตในโลกแห่งความจริง

(3) การมีชีวิตในโลกเป็นเพียงสะพานไปสู่ความจริง

(4) โลกมนุษย์มีความเป็นจริงของมันเอง

ตอบ 3 หน้า 35, (คําบรรยาย) จิตนิยม เชื่อว่า มนุษย์มีองค์ประกอบ 2 อย่างคือ จิตกับร่างกาย โดยจิตหรือวิญญาณสําคัญกว่าร่างกาย เพราะเป็นตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์ และมีสภาวะ เป็นอมตะ เมื่อตายไปแล้วก็จะกลับมาเกิดใหม่ ดังนั้นการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้จึงต้องกระทําความดีเพื่อเป็นสะพานที่จะมุ่งไปสู่ความจริงในโลกหน้า

17 อสสารมีลักษณะอย่างไร

(1) ไร้รูปร่าง สัมผัสไม่ได้ แต่มีอายุขัย

(2) มีรูปร่าง สัมผัสได้ แต่ไร้อายุขัย

(3) มีรูปร่าง สัมผัสได้ และมีอายุขัย

(4) ไร้รูปร่าง สัมผัสไม่ได้ และไร้อายุขัย

ตอบ 4 หน้า 25 – 27, 60 จิตนิยม เห็นว่า สสาร วัตถุ หรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งหมดนั้นมีอยู่จริงแต่ยังมีสิ่งที่จริงกว่าวัตถุและสสาร กล่าวคือ ยังมีของจริงอีกอย่างหนึ่งที่จับต้องหรือสัมผัสไม่ได้ มองเห็นไม่ได้ ไม่มีตัวตน (ไร้รูปร่าง) มีอยู่เป็นนิรันดรหรือมีสภาวะเป็นอมตะ (ไร้อายุขัย) และ ไม่อยู่ในระบบของอวกาศและเวลา ซึ่งมีลักษณะเป็นอสสาร (Immaterial) สิ่งนั้นคือ “จิต” เช่น โลกแห่งแบบ วิญญาณ พรหมัน และพระเจ้า ฯลฯ อันเป็นต้นกําเนิดหรือต้นแบบของวัตถุ ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์มองเห็นอยู่บนโลกนี้จึงเป็นเพียงสภาพที่ปรากฏของสิ่งที่เป็นจริงเท่านั้น

18 ข้อใดคือความหมายของ “ทฤษฎีทอนลง”

(1) วัตถุมีอายุสั้นลงทุกปี

(2) ปริมาณของวัตถุจะค่อย ๆ ลดลง

(3) สามารถสืบค้นเวลาถอยหลังจนถึงจุดที่วัตถุกําเนิดขึ้น

(4) วัตถุสามารถแยกย่อยจนถึงหน่วยย่อยสุดท้าย

ตอบ 4 หน้า 32 สสารนิยมยอมรับแนวคิดเรื่องการทอนลง โดยเชื่อว่าสิ่ง ๆ หนึ่งสามารถแยกได้เป็นหน่วยย่อยจนถึงอนุภาคที่เล็กที่สุดที่เรียกว่า อะตอม โดยอะตอมจะไม่มีองค์ประกอบจึงไม่อาจแบ่งย่อยได้ จะสลายก็ไม่ได้ และเกิดขึ้นใหม่ก็ไม่ได้

19 ข้อใดเป็นแนวคิดแบบธรรมชาตินิยม

(1) มีความคิดเรื่องโลกแบบพหุนิยม

(2) มีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทําให้เกิดสิ่งใหม่

(3) มีความเชื่อในเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการ

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 33 – 34 ธรรมชาตินิยมเป็นพหุนิยมที่เชื่อเรื่องความมากมายหลายหลากว่าในจักรวาลมีสิ่งที่เป็นจริงมากมายหลายสิ่ง และในกระบวนการวิวัฒนาการของจักรวาลนั้น ได้มีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะมีคุณสมบัติใหม่ และคุณภาพใหม่ที่ไม่สามารถทอนลงเป็นอะตอมกับการเคลื่อนไหวของอะตอมได้เลย

20 นักจิตนิยมมีทัศนะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิต-กาย อย่างไร

(1) จิต คือ กาย

(2) จิตสําคัญคู่กาย

(3) จิตสําคัญกว่ากาย

(4) จิตมีอยู่ตราบเท่าที่มีกาย

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 16 ประกอบ

21 คนที่ทํางานเต็มที่ตามกําหนดเวลาทํางาน เมื่อเลิกงานก็ไปดูหนังฟังเพลงเพื่อจะไปทํางานตามกําหนดเวลาจนตลอดชีวิต เป็นคนมีจิตแบบใดในทัศนะของเพลโต

(1) คนมีจิตภาคตัณหาเด่น

(2) คนมีจิตภาคน้ำใจเด่น

(3) คนมีจิตภาคตัณหากับน้ำใจเด่นร่วมกัน

(4) คนมีจิตภาคปัญญาเด่นพอสมควร

ตอบ 1 หน้า 35 – 36, 245 246 จิตในทัศนะของเพลโต แบ่งออกเป็น 3 ภาค ดังนี้

1 ภาคตัณหา คือ ความต้องการความสุขทางกาย โดยจะพยายามทําทุกอย่างเพื่อแสวงหาเงินมาสนองความสุขทางโลก จึงเป็นบุคคลที่ลุ่มหลงในโลกียสุข 2 ภาคน้ำใจ คือ ความรู้สึกทางใจ ได้แก่ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การยึดถือเกียรติและสัจจะเป็นสําคัญ โดยพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นที่ตกทุกข์ได้ยากทุกเมื่อ

3 ภาคเหตุผลหรือภาคปัญญา เป็นจิตภาคที่พัฒนาขึ้นมาสูงสุดแล้ว คือ มีความใฝ่ในสัจจะโดยอาจยอมเสียสละทั้งเงินและเกียรติเพื่อแสวงหาความรู้ ความจริง ความดี ความงามและความยุติธรรม ซึ่งจิตภาคนี้เท่านั้นที่จะทําให้มนุษย์เข้าสู่โลกของแบบได้

22 คนที่ยอมทิ้งความสุขสบายทางกาย มุ่งแสวงหาความเข้าใจเรื่องความจริง ความดี ความงาม เป็นคนมีจิต แบบใดในทัศนะของเพลโต

(1) มีจิตภาคตัณหาเด่น

(2) มีจิตภาคน้ำใจเด่น

(3) มีจิตภาคตัณหาและน้ำใจเด่น

(4) มีจิตภาคเหตุผลเด่น

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 21 ประกอบ

23 บุคคลใดต่อไปนี้มีจิตภาคน้ําใจเด่นในทัศนะของเพลโต

(1) แจน มีงานทําสองแห่ง เธอใช้เงินทั้งหมดกับการ กิน ดื่ม เที่ยว ในวันหยุด (2) เจน ยับยั้งชั่งใจที่จะรักษาเกียรติของเธอไว้ โดยไม่ยอมเป็นภรรยาน้อยใคร (3) แจน ใช้ชีวิตสมถะ เพื่อนําเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายสําหรับการเรียนชั้นปริญญาเอก ซึ่งเธอคงได้รับเงินเดือนมากพอที่จะสะดวกสบายไปตลอดชาติ (4) แจง ใช้ชีวิตสมถะ และพยายามไตร่ตรองเพื่อเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 21 ประกอบ

24 “แบบ” ของเพลโตกับ “พระเจ้า” ของศาสนาคริสต์ มีลักษณะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

(1) เป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถพูดคุยได้เหมือนกัน

(2) มีสถานภาพเป็นอสสารเหมือนกัน

(3) เป็นแหล่งกําเนิดของโลกเหมือนกัน

(4) ถูกข้อ 2 และ 3

ตอบ 4 หน้า 28, (คําบรรยาย) ปรัชญาของเพลโตเป็นจิตนิยม ซึ่งถือว่า ค่าทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกของวัตถุและโลกของมนุษย์มีต้นตออยู่ที่อสสารด้วย เช่น ความดี ความงาม ความยุติธรรม เป็นค่า หรือคุณธรรมที่มีอยู่ในโลก ดังนั้นจึงสอดคล้องกับทัศนะของนักปรัชญาตะวันตกสมัยกลางที่เห็นว่าคุณค่าต่าง ๆ ในโลกเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้างขึ้น มิใช่สิ่งที่มนุษย์คิดขึ้นหรือตั้งขึ้นมา

25 ข้อใดตรงกับแนวความคิดเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ของสสารนิยม

(1) ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น

(2) ลูกไม้หล่นใต้ต้น

(3) เข้าฝูงกาก็เป็นกา เข้าฝูงหงส์ก็เป็นหงส์

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 (คําบรรยาย) ลัทธิสสารนิยม เห็นว่า มนุษย์ไม่มีตัวตนของจิต สิ่งที่เรียกว่าพฤติกรรมของจิตคือ อารมณ์หรือความคิดต่าง ๆ ที่มีพื้นฐานมาจากสสารส่วนที่เป็นก้อนสมองเท่านั้น ถ้าก้อนสมองตายสภาพทางจิตก็จะหายไปด้วย ซึ่งพฤติกรรมของจิตนี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปตาม สภาพแวดล้อมหรือประสบการณ์ที่ได้รับในแต่ละช่วงเวลา

26 ทัศนะใดถือว่า จิตเกิดจากกาย และต่างจากกาย

(1) เทวนิยม

(2) จิตนิยม

(3) ธรรมชาตินิยม

(4) สสารนิยม

ตอบ 3 หน้า 33 – 34, (คําบรรยาย) ธรรมชาตินิยม เชื่อว่า มนุษย์เป็นสิ่งใหม่ เป็นผลผลิตขั้นสุดยอดของวิวัฒนาการ กล่าวคือ มนุษย์จะประกอบด้วยร่างกายและจิตใจซึ่งมีความสําคัญเท่าเทียมกัน โดยจิตใจของมนุษย์จะแตกต่างจากกายเพราะเกิดจากวิวัฒนาการที่ยาวนาน จนทําให้มนุษย์เหนือกว่าสัตว์ประเภทอื่น ๆ

27 ลัทธิใดเชื่อว่าสิ่งที่ทําให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งทั้งหลาย คือ การมีจิต

(1) จิตนิยม

(2) สสารนิยม

(3) ธรรมชาตินิยม

(4) จิตนิยมและธรรมชาตินิยม

ตอบ 1 หน้า 25 – 27, 35 พวกจิตนิยม เห็นว่า มนุษย์นั้นมีองค์ประกอบ 2 อย่างคือ จิตกับร่างกายแต่จิตสําคัญกว่า เพราะเป็นตัวตนที่แท้จริง มีอยู่เป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นสิ่งที่ทําให้มนุษย์มีความแตกต่างจากสิ่งทั้งหลาย ส่วนร่างกายนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงเกิดดับได้ ดังนั้นวิถีชีวิตของแต่ละคนย่อมเป็นไปตามการบังคับบัญชาของจิต โดยร่างกายจะเป็นเพียงการสนองตอบเจตจํานงของจิตเท่านั้น มนุษย์จึงไม่มีอิสระตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจิตและความทะยานอยาก ถ้าไม่หิวก็อาจจะกินได้ ฯลฯ

28 ลัทธิใดเชื่อว่าการตายเป็นการสิ้นสุดของมนุษย์

(1) จิตนิยม

(2) สสารนิยม

(3) ธรรมชาตินิยม

(4) สสารนิยมและธรรมชาตินิยม

ตอบ4 สสารนิยม เชื่อว่า การเกิดและการดับสลายของสิ่งต่างๆเป็นเพียงการเข้ามารวมตัวและแยกออกจากกันของอะตอมทั้งหลาย และการเปลี่ยนแปลงก็เป็นเพียงการสับที่ของอะตอม โดยอะตอมนั้นมิได้เกิดดับหรือเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ส่วนธรรมชาตินิยมนั้น เชื่อว่าสิ่งธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน มนุษย์ กบ ล้วนเป็นสิ่งที่มีขึ้นและดับลงตามปฏิบัติการของสาเหตุธรรมชาติ ดังนั้นทั้งสองแนวคิดนี้จึงเชื่อว่าการตายเป็นการสิ้นสุดของมนุษย์คนนั้น

29 ข้อใดมีความสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง

(1) สสารนิยม – จักรกลนิยม

(2) จิตนิยม – อันตนิยม

(3) ธรรมชาตินิยม – นวนิยม

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 32, (คําบรรยาย) ลัทธิจักรกลนิยมเป็นทฤษฎีที่สืบเนื่องมาจากปรัชญาสสารนิยม ซึ่งเชื่อว่า การเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกนั้นมิได้เป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายอะไร นอกจากเป็นไปอย่างจักรกล ส่วนลัทธิอันตนิยมเป็นทฤษฎีที่สืบเนื่องมาจากปรัชญาจิตนิยม ซึ่งเชื่อว่า ทุกสิ่งที่มีอยู่ในจักรวาลนั้นมีการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง ดับสลาย โดยมีจุดมุ่งหมาย เหมือนกับมนุษย์และสัตว์ และลัทธินวนิยมเป็นทฤษฎีที่สืบเนื่องมาจากปรัชญาธรรมชาตินิยม ซึ่งเชื่อเรื่องกระบวนการวิวัฒนาการของจักรวาล

30 นักจิตนิยมมีความเห็นเกี่ยวกับโลกมนุษย์อย่างไร

(1) โลกเป็นสถานที่แห่งเดียวของมนุษย์

(2) โลกเป็นสถานที่ชั่วคราวที่มนุษย์ใช้ชีวิตเป็นทางผ่านไปสู่โลกหลังการตายที่ประเสริฐกว่า

(3) โลกเป็นมายา

(4) โลกมีแต่สิ่งชั่วร้าย

ตอบ 2 (คําบรรยาย) นักจิตนิยม เห็นว่า โลกเป็นสถานที่ชั่วคราวสําหรับมนุษย์ที่ใช้เป็นทางผ่านโลกหลังความตายที่ประเสริฐกว่า ซึ่งเป็นโลกที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสหรือโลกของแบบที่แท้จริง

31 นักธรรมชาตินิยม มีความเห็นเกี่ยวกับโลกมนุษย์อย่างไร

(1) โลกเป็นสถานที่แห่งเดียวของมนุษย์

(2) โลกเป็นสถานที่ชั่วคราวที่มนุษย์ใช้ชีวิตเป็นทางผ่านไปสู่โลกหลังการตายที่ประเสริฐกว่า

(3) โลกเป็นมายา

(4) โลกมีแต่สิ่งชั่วร้าย

ตอบ 1 (คําบรรยาย) พวกธรรมชาตินิยมหรือสัจนิยมนั้น มีทัศนะว่า โลกหรือวัตถุทั้งหลายมีความแท้จริงตามสภาพของมันโดยไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าจะมีมนุษย์รับรู้มันหรือไม่ และมีอยู่ก่อนที่จะมีผู้ใดมารับรู้มัน ดังนั้นโลกจึงเป็นสถานที่แห่งเดียวของมนุษย์

32 สิ่งใดเป็น “อสสาร” (Immaterial)

(1) พระเจ้า

(2) พรหมัน

(3) โลกแห่งแบบ

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 17 ประกอบ

33 ตามข้อพิสูจน์ของทฤษฎีภววิทยา พระเจ้าต้องมีอยู่ในฐานะอะไร

(1) ผู้สร้างระเบียบให้กับโลก

(2) ผู้ที่โลกต้องพึ่งพา

(3) ผู้กํากับให้คนดีได้ผลดีตอบแทน

(4) ผู้ฝังความคิดความเข้าใจเรื่องพระเจ้าให้มนุษย์

ตอบ 4 หน้า 43 ทฤษฎีเชิงภววิทยา ถือว่า พระเจ้าเป็นสิ่งสัมบูรณ์และเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจํากัดส่วนมนุษย์เป็นสิ่งสัมพัทธ์และเป็นสิ่งจํากัด ซึ่งการที่มนุษย์มีความคิดในเรื่องพระเจ้าได้นั้นเกิดจากพระเจ้าเป็นต้นเหตุให้มนุษย์คิดถึงสิ่งที่ไร้ขอบเขตนี้ขึ้นมาได้ ดังนั้นพระเจ้าจึงมีอยู่

34 ตามข้อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าของทฤษฎีเชิงเอกภพ พระเจ้าต้องมีอยู่ในฐานะอะไร

(1) ผู้สร้างระเบียบให้กับโลก

(2) ผู้ที่โลกต้องพึ่งพา

(3) ผู้กํากับให้คนดีได้ผลดีตอบแทน

(4) ผู้ฝังความคิดความเข้าใจเรื่องพระเจ้าให้มนุษย์

ตอบ 2 หน้า 43 ทฤษฎีเชิงเอกภพ ถือว่า โลกนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีอิสระ เป็นสิ่งสัมพัทธ์ เป็นสิ่งจํากัดและเป็นสิ่งที่เป็นผล ด้วยเหตุนี้จึงต้องพึ่งพาอาศัยพระเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นอิสระ เป็นสิ่งสัมบูรณ์เป็นสิ่งที่ไม่จํากัด และเป็นสิ่งที่เป็นเหตุ เพราะฉะนั้นพระผู้เป็นเจ้าจึงมีอยู่

35 “เทวสิทธิ์” (Divine Right) หมายถึงอะไร

(1) การอ้างว่าพระเจ้าเป็นเจ้าของชีวิตมนุษย์ทุกคน

(2) การอ้างอํานาจของพระเจ้าเพื่อสนับสนุนอํานาจในการปกครอง

(3) การอ้างอํานาจของพระเจ้าเพื่อการควบคุมปรากฏการณ์ธรรมชาติ

(4) การอ้างอํานาจพระเจ้าในพิธีบูชาพระเจ้า

ตอบ 2 หน้า 41 – 45 ทฤษฎีการอ้างเทวสิทธิ์ (Divine Right) หมายถึง การที่ผู้ปกครองอ้างอํานาจของพระเจ้าเพื่อสนับสนุนอํานาจในการปกครองของตน โดยอ้างว่าตนเป็นสมมติเทพหรือเป็น เทพผู้ยิ่งใหญ่ที่เทพบดีคัดเลือกส่งมาปกครอง ถือตนว่าเป็นบุตรแห่งสวรรค์หรือเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากเทพ จึงมีสิทธิเดยชอบธรรมที่จะปกครอง

36 การเคลื่อนไหวของปรมาณู ตามทัศนะของไวเศษกะเป็นอย่างไร

(1) หยุดนิ่งตลอดเวลา

(2) ปกติหยุดนิ่ง แต่จะเคลื่อนไหวโดยอาศัยพระเจ้ากําหนด

(3) เคลื่อนไหวด้วยตัวเองตลอดเวลา

(4) ปกติหยุดนิ่ง แต่จะเคลื่อนไหวด้วยตัวเองเมื่อถึงเวลา

ตอบ 2 หน้า 58 59 ลัทธิไวเศษกะ ถือว่า ปรมาณเป็นสิ่งที่ไร้กัมมันตภาพและจลนภาพ จึงอยู่ในภาวะที่หยุดนิ่ง การเคลื่อนไหวของปรมาณูจะต้องอาศัยพลังแห่งอํานาจที่มองไม่เห็น และเจตจํานงของพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งผลักดันและชักจูง

37 การเคลื่อนไหวของปรมาณูหรืออะตอม ตามทัศนะของปรัชญากรีกเป็นอย่างไร

(1) หยุดนิ่งตลอดเวลา

(2) ปกติหยุดนิ่ง แต่จะเคลื่อนไหวโดยอาศัยพระเจ้ากําหนด

(3) เคลื่อนไหวด้วยตัวเองตลอดเวลา

(4) ปกติหยุดนิ่ง แต่จะเคลื่อนไหวด้วยตัวเองเมื่อถึงเวลา

ตอบ 3 หน้า 58 ปรัชญากรีก ถือว่า ปรมาณูมีทั้งกัมมันตภาพและแสนภาพอยู่ในตัวโดยธรรมชาตินั่นคือ แต่ละปรมาณูเม่มีการหยุดนิ่ง หากแต่มีการเคลื่อนไหวด้วยตัวเองอยู่ตลอดเวลา

38 ตามทัศนะของไวเศษกะ วัตถุที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ต้องเกิดจากการรวมตัวของปรมาณูอย่างน้อยก็ปรมาณู

(1) 2 ปรมาณู

(2) 3 ปรมาณู

(3) 4 ปรมาณู

(4) 5 ปรมาณู

ตอบ 2 หน้า 59 ลัทธิไวเศษกะ ถือว่า วัตถุจะต้องเกิดจากการรวมตัวกันของปรมาณูอย่างน้อย 2 ปรมาณู ส่วนวัตถุที่เราพอจะรู้ด้วยประสาทสัมผัสนั้น จะต้องเกิดขึ้นจากการรวมตัวของปรมาณูตั้งแต่ 3 ปรมาณูขึ้นไป

39 ตามทัศนะของไวเศษกะ วิญญาณของมนุษย์คืออะไร

(1) ปรมาณูธรรมดา

(2) ปรมาณูพิเศษ

(3) ชีวาตมัน

(4) มนุษย์ไม่มีวิญญาณ

ตอบ 3 หน้า 58 ปรัชญากรีก ถือว่า วิญญาณของสิ่งมีชีวิตเกิดจากการรวมตัวของปรมาณู แต่เป็นปรมาณูหรืออะตอมพิเศษ ส่วนปรัชญาไวเศษกะ ถือว่า วิญญาณหรืออาตมันหรือชีวาตมันนั้น เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นพิเศษต่างหากจากปรมาณู ไม่ได้เกิดจากการรวมตัวของปรมาณูของธาตุใด ๆแต่เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้นิรันดรควบคู่ไปกับปรมาณู และมีลักษณะพิเศษของตนเองโดยเฉพาะ

40 “ไม่ว่าโลกนี้จะมีจุดจบหรือไร้จุดจบ ไม่ว่าโลกนี้จะมีขอบเขตหรือไร้ขอบเขต เรื่องการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่เช่นเดิม”

คําพูดนี้แสดงทัศนะของพระพุทธเจ้าในเรื่องใด

(1) ปัญหาทางอภิปรัชญา แก้ไขเรื่องการพ้นทุกข์ของมนุษย์ไม่ได้

(2) ปัญหาญาณวิทยา แก้ไขเรื่องการพ้นทุกข์ของมนุษย์ไม่ได้

(3) ปัญหาจริยศาสตร์ แก้ไขเรื่องการพ้นทุกข์ของมนุษย์ไม่ได้

(4) ปรัชญาตะวันออก แก้ไขเรื่องการพ้นทุกข์ของมนุษย์ไม่ได้

ตอบ 1 หน้า 75 – 76 พระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่า การแสวงหาความจริงทางอภิปรัชญาไม่สามารถนําบุคคลไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต คือ การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ดังนั้น พระพุทธองค์จะไม่ทรงตอบปัญหาในทางอภิปรัชญาและปัญหาที่ไร้ประโยชน์ในทาง จริยศาสตร์ เช่น จักรวาลมีขอบเขตจํากัดหรือไม่, ผู้รู้สัจจะตายแล้วเกิดอีกหรือไม่ ฯลฯ โดยพระองค์จะทรงพยายามให้บุคคลหันมาเผชิญกับปัญหาอันเป็นสัจภาวะที่แท้จริง เช่น ความดับทุกข์ หรือการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร ฯลฯ

41 ข้อใดจัดเป็น “สภาวะทุกข์” ตามคําสอนของอริยสัจ 4

(1) ความแก่

(2) ความเศร้าใจจากความแก่

(3) ความพลัดพรากจากของรักเพราะความแก่

(4) ความคับแค้นใจเพราะความแก่

ตอบ 1 หน้า 82 สภาวทุกข์ หมายถึง ทุกข์โดยสภาพหรือทุกข์ประจํา ได้แก่ ความเกิด ความแก่และความตาย (ส่วนทุกข์จรนั้น เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเพียงบางครั้งบางคราว เช่น ความเศร้าใจ ความระทมใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพราก เป็นต้น

42 ตามคําสอนของอริยสัจ 4 สิ่งที่คนฉลาดควรกลัวเป็นอย่างยิ่ง คืออะไร

(1) การเกิด

(2) การแก่

(3) การตาย

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1 หน้า 83 ตามคําสอนของอริยสัจ 4 นั้น ถือว่า ความเกิดเป็นประตูแห่งความทุกข์ทั้งปวง ดังนั้นคนฉลาดจึงกลัวความเกิดไม่ใช่กลัวความตาย เพราะความเกิดนั้นเองเป็นเหตุให้ต้องตายถ้าไม่เกิดเสียอย่างเดียวก็ไม่ต้องตาย และไม่ต้องลําบากจนกว่าตัวเองจะแก่ตาย

43 “ฉันไม่อยากตัวดําอย่างนี้เลย” จัดว่าเป็นตัณหาแบบไหน

(1) กามตัณหา

(2) ภวตัณหา

(3) วิภวตัณหา

(4) ไม่จัดว่าเป็นตัณหา

ตอบ 3 หน้า 84 – 85 ตัณหามีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่

1 กามตัณหา คือ ความอยากเห็น อยากฟัง อยากสูดกลิ่น อยากลิ้มรส และอยากสัมผัสในสิ่งที่ตนถูกใจ

2 ภวตัณหา คือ ความอยากเป็น เจ้าของ ความอยากมหรืออยากเป็นสิ่งอื่น ๆ 3 วิภวตัณหา คือ ความอยากไม่ให้สิ่งที่ตนมีอยู่ หรือเป็นอยู่เสื่อมสิ้นไป ความอยากไม่มีดังที่ตนมีอยู่หรือไม่อยากเป็นดังที่ตนเป็นอยู่

44 ข้อปฏิบัติที่จัดว่าเป็นการอบรมกายกับวาจา เรียกว่าอะไร

(1) ศีล

(2) สมาธิ

(3) ปัญญา

(4) ทิฐิ

ตอบ 1 หน้า 86 – 89, (คําบรรยาย) มรรค 8 คือ ทางสายกลางซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความดับทุกข์ โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้คือ

1 ส่วนที่อบรมกายกับวาจา เรียกว่า “ศิล” ประกอบด้วย สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ

2 ส่วนที่อบรมจิต เรียกว่า “สมาธิ” ประกอบด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ

3 ส่วนที่อบรมทิฐิและความเห็น เรียกว่า “ปัญญา” ประกอบด้วย สัมมาทิฐิ และสัมมาสังกัปปะ

45 คําสอนที่แสดงเหตุในอริยสัจ 4 คืออะไร

(1) ทุกข์และสมุทัย

(2) นิโรธและมรรค

(3) ทุกข์และนิโรธ

(4) สมุทัยและมรรค

ตอบ 4 หน้า 79 คําสอนของพระพุทธองค์ในอริยสัจ 4 แสดงเหตุและผลโดยลําดับ ดังนี้

1 แสดงเหตุ 2 ประการ ได้แก่ สมุทัย (แสดงเหตุแห่งทุกข์) และมรรค (แสดงเหตุคือ การปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)

2 แสดงผล 2 ประการ ได้แก่ ทุกข์ (แสดงผลคือทุกข์) และนิโรธ (แสดงผลคือความดับทุกข์)

46 คําสอนที่แสดงผลในอริยสัจ 4 คืออะไร

(1) ทุกข์และสมุทัย

(2) นิโรธและมรรค

(3) ทุกข์และนิโรธ

(4) สมุทัยและมรรค

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 45 ประกอบ

47 มรรค 8 คือวิถีปฏิบัติเพื่ออบรมสิ่งใดตามหลักอริยสัจ 4

(1) อบรมกายกับวาจา

(2) อบรมใจ

(3) อบรมความเห็น

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 44 ประกอบ

48 ปรัชญาตะวันตกยุคใดที่ได้ชื่อว่า ด้รับอิทธิพลของวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

(1) ยุคดึกดําบรรพ์

(2) ยุคโบราณ

(3) ยุคกลาง

(4) ยุคใหม่

ตอบ 4 หน้า 8, 251 – 255, (คําบรรยาย) ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ หมายถึง ปรัชญาตะวันตกที่นับตั้งแต่ปรัชญาตะวันตกสมัยกลางสิ้นสุดลง (ประมาณศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา) ซึ่งปรัชญาในยุคนี้ จะได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยมีนักปรัชญาที่สําคัญ ได้แก่ เดส์การ์ต (Descartes), สปิโนซ่า (Spinoza), ไลบ์นิตซ์ (Leibnitz), จอห์น ล็อค (John Locke), เดวิด ฮูม (David Hume), โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) เป็นต้น

49 นักปรัชญาที่เรียกว่านักเหตุผลนิยมจะปฏิเสธวิธีแสวงหาความรู้วิธีใด

(1) คณิตศาสตร์

(2) พีชคณิต

(3) เรขาคณิต

(4) วิทยาศาสตร์

ตอบ 4 หน้า 105 นักเหตุผลนิยมจะแสวงหาความรู้โดยวิธีนิรนัย (Deduction) คือ การพิสูจน์ความเชื่อใด ๆ โดยอาศัยความจริงในฐานที่มีอยู่ก่อนหรือที่ยอมรับกันโดยทั่วไปเป็นหลัก แล้วก็ใช้ความคิดสืบสาวจากความรู้นั้นไปเพื่อที่จะรู้ในสิ่งอื่น โดยที่ข้อสรุปต้องได้มาจากข้ออ้าง ถ้าหากข้ออ้างเป็นจริง ข้อสรุปก็ต้องเป็นจริงด้วย ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์ เรขาคณิต และพีชคณิต ก็ใช้วิธีการคิดหาเหตุผลแบบนิรนัยนี้ในการแสวงหาความจริงโดยไม่อาศัยการพิสูจน์หรือยืนยันจากประสบการณ์ด้วย

50 “อัชญัตติกญาณ” (Intuition) เป็นวิธีมีความรู้แบบใด

(1) การพิสูจน์โดยอาศัยประสบการณ์เป็นข้อมูล

(2) การพิสูจน์โดยอาศัยความรู้ติดตัวเป็นข้อมูล

(3) การหยั่งรู้โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัยสื่อใด ๆ ทั้งสิ้น

(4) การเปิดเผยของพระเจ้าให้มนุษย์รู้โดยตรง

ตอบ 3 หน้า 104 105, 115 – 116 ความรู้ที่แท้จริงในทัศนะของนักปรัชญาลัทธิเหตุผลนิยมที่สําคัญ เช่น เดส์การ์ต (Descartes), สปิโนซา (Spinoza) และไลบ์นิตซ์ (Leibnitz) คือ ความรู้ก่อนประสบการณ์ซึ่งเป็นความจริงที่แน่นอนตายตัวโดยไม่เปลี่ยนแปลง หรือความจริง ชนิดที่จําต้องเป็น (Necessary Truth) คือ ต้องจริงในทุกที่ทุกเวลา เป็นความจริงที่ไม่มีวัน ผิดพลาดได้ เป็นข้อความที่ต้องจริงตลอดไปโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ เป็นสิ่งที่รู้ได้โดยไม่ต้องมี ประสบการณ์มายืนยัน และจิตของมนุษย์ก็สามารถรู้ความจริงชนิดนี้ได้โดย “อัชญัตติกญาณ” (Intuition) คือ การหยั่งรู้โดยตรงด้วยจิตใจหรือด้วยแสงสว่างแห่งเหตุผลหรือแสงสว่างแห่ง ปัญญาแบบทันทีทันใดโดยไม่ต้องอาศัยสื่อใด ๆ ทั้งสิ้น เช่น ข้อความที่ว่า “สิ่งหนึ่งไม่อาจจะอยู่ในสถานที่สองแห่งในเวลาเดียวกันได้” “เส้นตรงที่ขนานกันจะไม่มีวันมาบรรจบกันได้” ฯลฯ

51 “นิรนัย” (Deduction) เป็นวิธีมีความรู้แบบใด

(1) การพิสูจน์โดยอาศัยประสบการณ์เป็นข้อมูล

(2) การพิสูจน์โดยอาศัยความรู้ติดตัวเป็นข้อมูล

(3) การหยั่งรู้โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัยสื่อใด ๆ ทั้งสิ้น

(4) การเปิดเผยของพระเจ้าให้มนุษย์รู้โดยตรง

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 49 ประกอบ

52 “Necessary Truth” หมายถึงความรู้ประเภทใด

(1) ความรู้ที่ถูกต้องตลอดกาล

(2) ความรู้ที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่แรกเกิด

(3) ความรู้ที่มนุษย์สามารถหยังรู้โดยตรงโดยไม่ต้องอาศัยหลักฐาน

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 50 ประกอบ

53 ความรู้เกี่ยวกับหลักการทั่วไปมีบ่อเกิดอย่างไร ในทัศนะของนักเหตุผลนิยม

(1) หยั่งรู้โดยตรงโดยสามัญสํานึก

(2) สรุปจากข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์

(3) สรุปจากข้อมูลที่มีก่อนประสบการณ์

(4) หยั่งรู้โดยตรงโดยแสงสว่างแห่งปัญญาแบบทันทีทันใด

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 50 ประกอบ

54 วิธีแสวงหาความรู้ที่เดส์การ์ต (Descartes) ใช้เป็นแม่แบบในการพิสูจน์ความจริงของโลกและพระเจ้า คืออะไร

(1) คณิตศาสตร์

(2) พีชคณิต

(3) เรขาคณิต

(4) วิทยาศาสตร์

ตอบ 3 หน้า 8, 107, (คําบรรยาย) เดส์การ์ต (Descartes) ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ โดยเขาเป็นผู้ที่ฟื้นฟูแนวคิดเหตุผลนิยมขึ้นมาอย่างจริงจังในศตวรรษที่ 17 และได้นําวิธีการของเรขาคณิตมาใช้ในความคิดทางปรัชญาด้วย

55 “Tabula Rasa” สัมพันธ์กับนักปรัชญาคนใด

(1) Descartes

(2) Locke

(3) Berkley

(4) Hume

ตอบ 2 หน้า 117, (คําบรรยาย) ล็อค (Locke) ถือว่า สภาพจิตของมนุษย์ในตอนเริ่มแรกนั้นมีแต่ความว่างเปล่าเหมือนกระดาษขาวบริสุทธิ์ ปราศจากความคิดและความรู้ใด ๆ ทั้งสิ้นเรียกว่า “Tabula Rasa” ที่หมายถึง สมุดบันทึกที่ว่างเปล่าปราศจากข้อความใด ๆ ทั้งสิ้น

56 ส่วนใดของวัตถุที่ผัสสะของมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ในทัศนะของ Locke (1) คุณสมบัติปฐมภูมิ

(2) คุณสมบัติทุติยภูมิ

(3) สารรองรับคุณสมบัติของวัตถุ

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 119 ล็อค เชื่อว่า สารเป็นสิ่งแท้จริงที่อยู่ภายในตัววัตถุ แต่มนุษย์ไม่อาจจะรู้จักสารได้เพราะไม่อาจเป็นประสบการณ์ของใคร จึงเป็นสิ่งที่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกสิ่งต้องมีสาร เพราะสารเป็นพื้นฐานที่รองรับคุณสมบัติปฐมภูมิของวัตถุซึ่งก่อให้เกิดความคิดเชิงเดี่ยว

57 ตามทัศนะของฮม “ความคิด” ในจิตมนุษย์หมายถึงอะไร

(1) ข้อมูลที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดของจิต

(2) ข้อมูลที่จิตรับรู้จากประสบการณ์โดยทั่วไป

(3) ข้อมูลที่จิตรับรู้จากประสบการณ์ที่ชัดเจนจึงชัดเจนเท่าประสบการณ์

(4) ข้อมูลที่จิตรับรู้จากประสบการณ์ที่ชัดเจนแต่ลางเลือนแล้ว

ตอบ 4 หน้า 122 123 อูม เห็นว่า ความรู้ของมนุษย์แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ ความประทับใจ (Impression) ซึ่งเป็นการรับรู้ในผัสสะ กับความคิด (Idea) ซึ่งเป็นการรับรู้ในสิ่งที่เกิดจาก จินตนาการหรือความจํา เช่น เมื่อเอามือไปแตะน้ําแข็ง จะเกิดสัมผัสของความเย็น ผัสสะนี้ มีความแจ่มชัดในทันทีทันใด ซึ่งเรียกว่า “ความประทับใจ” พอเหตุการณ์นี้ผ่านไปแล้ว แต่เรายังจดจําภาพของความเย็นได้อย่างลาง ๆ นั้น เราเรียกว่า “ความคิด” หรือ “จิตภาพ”

58 ตามทัศนะของฮม “ความประทับใจ” (Impression) หมายถึงอะไร

(1) ข้อมูลที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดของจิต

(2) ข้อมูลขณะมีประสบการณ์โดยทั่วไป

(3) ข้อมูลขณะมีประสบการณ์ที่ชัดเจน

(4) ภาพลางเลือนของประสบการณ์

ตอบ 3 ดูคําอธิบายข้อ 57 ประกอบ

59 จอห์น ล็อค เป็นนักปรัชญาที่เป็นเจ้าของทฤษฎีใด

(1) สัจนิยมโดยตรง

(2) สัจนิยมแบบตัวแทน

(3) สัจนิยมวิจารณ์

(4) จิตนิยมแบบอัตนัย

ตอบ 2 หน้า 138 139 สัจนิยมแบบตัวแทน เห็นว่า วัตถุทั้งหลายที่อยู่ภายนอกตัวคนเป็นสสารที่มีแต่คุณสมบัติปฐมภูมิ (ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก) และคุณสมบัติปฐมภูมิเท่านั้นที่มีอยู่อย่างแท้จริง ส่วนคุณสมบัติทุติยภูมิ (สี กลิ่น รส อุณหภูมิ) ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัววัตถุเพราะมันเป็นสิ่งที่จิต ของคนเป็นผู้สร้างขึ้นมา ดังนั้นจึงถือได้ว่าวัตถุก่อนการรับรู้กับหลังการรับรู้มีความแตกต่างกัน ที่คุณสมบัติทุติยภูมิ ซึ่งนักปรัชญาที่สําคัญของทฤษฎีนี้ คือ จอห์น ล็อค

60 เบอร์คเลย์ เป็นนักปรัชญาที่เป็นเจ้าของทฤษฎีใด

(1) สัจนิยมโดยตรง

(2) สัจนิยมแบบตัวแทน

(3) สัจนิยมวิจารณ์

(4) จิตนิยมแบบอัตนัย

ตอบ 4 หน้า 129, 131 เบอร์คเลย์ เป็นนักปรัชญาลัทธิจิตนิยมแบบอัตนัยที่มีทัศนะว่า วัตถุทั้งหลายหรือโลกภายนอกเป็นเพียงภาพสะท้อนของจิตมนุษย์ โดยสิ่งต่าง ๆ ที่เราเห็นหรือรู้นั้นก็คือความคิด ของจิตของเรานั่นเอง เพราะว่าสิ่งที่เรารู้หรือความรู้ของเรา ได้แก่ วัตถุและสิ่งทั้งหลายภายในโลกสิ่งเหล่านี้มีแก่นแท้คือการรับรู้ด้วยจิตของมนุษย์ ดังนั้นการมีอยู่ของมันจึงเป็นอิสระจากจิตไม่ได้

61 ข้อใดคือท่าทีของนักเหตุผลนิยมเกี่ยวกับประสบการณ์

(1) มนุษย์สามารถพึ่งพาประสบการณ์ได้บางเรื่อง

(2) มนุษย์สามารถพึ่งพาประสบการณ์ได้ทุกเรื่อง

(3) มนุษย์ไม่สามารถพึ่งพาประสบการณ์ได้เลย

(4) มนุษย์ต้องอาศัยประสบการณ์เป็นข้อมูล

ตอบ 1 หน้า 106 – 107, (คําบรรยาย) พวกเหตุผลนิยม เห็นว่า ความรู้ที่แท้จริงแน่นอนไม่อาจจะได้รับจากประสาทสัมผัส แต่ได้จากความคิดหรือเหตุผล แต่ยอมรับว่าประสบการณ์ทางผัสสะ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้ หรือเป็นสิ่งที่มาจุดประกายให้สติปัญญาเริ่มทํางานเท่านั้น ดังนั้นจึงถือได้ว่ามนุษย์สามารถพึ่งพาประสบการณ์ได้ในบางเรื่องเท่านั้น

62 ข้อใดถูกต้องเกี่ยวกับคานท์

(1) ประนีประนอมสุขนิยมกับอสุขนิยม

(2) ประนีประนอมเหตุผลนิยมกับประสบการณ์นิยม

(3) ประนีประนอมสสารนิยมกับจิตนิยม

(4) ประนีประนอมสัมพัทธ์นิยมกับสัมบูรณ์นิยม

ตอบ 2 หน้า 8 – 9, (คําบรรยาย) ปรัชญาตะวันตกยุคใหม่ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 15 จนมาสิ้นสุดที่คานท์ (Kant) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเหตุผลนิยม และกลุ่มประสบการณ์นิยม(ประจักษนิยม) โดยคานท์เป็นผู้ประนีประนอมความคิด/ความเชื่อของทั้ง 2 กลุ่มเข้าด้วยกัน

63 ข้อใดจัดเป็นทัศนะทางจริยศาสตร์

(1) จากการสํารวจพบว่าเด็กในวัยเรียนทําแท้งกันมากขึ้น

(2) บางคนเชื่อว่าการทําแท้งในขณะตั้งครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ทําได้

(3) แพทย์ยืนยันว่าการทําแท้งอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการไม่เป็นอันตรายต่อหญิง

(4) การทําแท้งเป็นเรื่องผิดเพราะเป็นการฆ่าคน

ตอบ 4 หน้า 147, (คําบรรยาย) จริยศาสตร์ (Ethics) หมายถึง ศาสตร์ที่ว่าด้วยความประพฤติโดยจะศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มนุษย์ควรกระทํา ไม่ควรกระทํา สิ่งที่ถูก สิ่งที่ผิด ความดี ความชั่ว และหน้าที่ของความเป็นมนุษย์ ทั้งนี้พื้นฐานอันดีงามของจริยศาสตร์ก็คือ ศาสนาในขณะที่ศาสนาก็ต้องอาศัยจริยศาสตร์ เพราะจริยศาสตร์ทําให้ศาสนามีความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น

64 นักสุขนิยมมีความคิดทางอภิปรัชญาแบบใด

(1) สสารนิยม

(2) จิตนิยม

(3) ธรรมชาตินิยม

(4) เทวนิยม

ตอบ 1 หน้า 155 นักสุขนิยม (Hedonism) มีความคิดทางอภิปรัชญาแบบสสารนิยม เช่น ลัทธิเอพิคิวรัง เป็นนักสุขนิยมที่มีทัศนะว่า ชีวิตเป็นเพียงสสาร เมื่อตายไปก็ไม่มีอะไรเหลือ ไม่มีนรก ไม่มีสวรรค์ดังนั้นถ้าเรายังมีชีวิตอยู่เราต้องแสวงหาความสุขและความพึงพอใจให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

65 Socrates คิดว่าคุณธรรมจะเกิดกับคนชนิดใด

(1) คนที่มีความสุขทางกาย

(2) คนที่มีความสุขทางใจ

(3) คนที่เข้าใจความดี

(4) คนที่มีชีวิตอย่างสุนัข

ตอบ 3 หน้า 150 โซเครตีส (Socrates) กล่าวว่า “คุณธรรมคือความรู้” โดยความดี/ความมีคุณธรรมจะต้องเกิดจากความรู้ ถ้าบุคคลรู้และเข้าใจถึงธรรมชาติของความดีจริง ๆ เขาก็จะไม่กระทําความชั่วหรือความผิด แต่เนื่องจากบุคคลไม่รู้ไม่เข้าใจจึงต้องกระทําความชั่ว

66 นักปรัชญาคนใดถือว่าศีลธรรมเป็นเรื่องของความถูกใจ

(1) โซฟิสต์

(2) เวสเตอร์มาร์ค

(3) มิลล์

(4) คานท์

ตอบ 1 หน้า 149 โซฟิสต์ (Sophist) ถือว่า การตัดสินสิ่งใดก็ตามขึ้นอยู่กับมนุษย์แต่ละคนเป็นผู้ตัดสินความดี/ความชั่วก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ความถูกคือสิ่งที่จะพาไปสู่ความสําเร็จ ความผิด คือ สิ่งที่เป็นอุปสรรค ความยุติธรรม/ศีลธรรมเป็นเรื่องของความพอใจ/ถูกใจ ดังนั้นศีลธรรม/ความยุติธรรม/ความดีจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องแสวงหา และต้องเป็นสิ่งที่ได้รับเมื่อกระทําไปแล้ว

67 นักปรัชญาคนใดถือว่าศีลธรรมกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกัน

(1) โซฟิสต์

(2) เวสเตอร์มาร์ค

(3) มิลล์

(4) คานท์

ตอบ 3 หน้า 165, 168 มิลส์ (MILL) เป็นนักประโยชน์นิยมที่ถือว่าศีลธรรมกับความสุขเป็นเรื่องเดียวกันความสุขของมหาชนเป็นสิ่งสําคัญที่สุด การละเมิดหลักศีลธรรม/ประเพณีหรือกฎหมายย่อม สามารถทําได้ถ้าเราคํานวณแล้วพบว่าการกระทํานั้นก่อให้เกิดประโยชน์สุขมากกว่า เช่น หมออาจโกหกคนไข้ได้ เพื่อไม่ให้คนไข้ตกใจจนหัวใจวายตาย ฯลฯ

68 นักปรัชญาคนใดถือว่าคนดีไม่จําเป็นต้องมีความสุข

(1) โซฟิสต์

(2) เวสเตอร์มาร์ค

(3) มิลล์

(4) คานท์

ตอบ 4 หน้า 169 คานท์ (Kant) เห็นว่าความสุขไม่ใช่สิ่งดีที่สุดในชีวิต ดังนั้นความสุขจะเป็นเครื่องมือในการตัดสินศีลธรรมไม่ได้ แต่ศีลธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีค่าในตัวมันเอง เช่นเดียวกันกับคนดีก็คือ คนทําสิ่งที่ดีโดยไม่หวังผลตอบแทน และคนดีก็ไม่จําเป็นต้องมีความสุขหรือต้องสุขสบายหรือทําให้ผู้อื่นมีความสุข

69 “การทําแท้งเป็นสิ่งที่สังคมไทยรับไม่ได้ ถือว่าเป็นการกระทําที่ผิด” คําพูดนี้แสดงให้เห็นความคิดเกี่ยวกับความดีอย่างไร

(1) ความดี เป็นคุณค่าที่แน่นอนตายตัว

(2) ความดี ขึ้นกับความเห็นของสังคม

(3) ความดี เป็นคุณค่าที่เปลี่ยนแปลงได้

(4) ถูกข้อ 2 และ 3

ตอบ 4 (คําบรรยาย) การตัดสินคุณค่าตามจารีตประเพณี ถือว่า การตัดสินคุณค่าของการกระทําใดของแต่ละสังคมจะขึ้นอยู่กับจารีตประเพณี วัฒนธรรม และค่านิยมที่สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งคุณค่าความดีของสังคมหนึ่งอาจไม่ใช่คุณค่าความดีของอีกสังคมหนึ่งก็ได้ ดังนั้นคุณค่าตามความเห็นของสังคมอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสังคมและกาลเวลา

70 ทัศนะทางจริยศาสตร์สัมพันธ์กับทัศนะเรื่องใดของนักปรัชญา

(1) ศาสนา

(2) ประเพณี

(3) อภิปรัชญา

(4) ญาณวิทยา

ตอบ 1 ดูคําอธิบายข้อ 63 ประกอบ

71 อาจารย์ที่เข้าสอนและเลิกตรงเวลาเป็นคนมีหลักธรรมใด

(1) ขันติ

(2) โสรัจจะ

(3) สัจจะ

(3) สัจจะ

(4) อิทธิบาท 4

ตอบ 3 หน้า 194 195 สัจจะ หมายถึง ความจริงใจซึ่งเป็นลักษณะของความซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาทั้งต่อบุคคล ต่อกาลเวลา และต่อหน้าที่การงาน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

72 ใครมีหลักธรรม “ขันติ”

(1) ยุทธ์ อดตาหลับขับตานอน เพื่อทํารายงานที่สมบูรณ์ส่งอาจารย์

(2) กบ ยอมรับการฉีดยาและให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาลเป็นอย่างดี

(3) จ๋า สามารถรับมือกับวาจาและท่าทีของโบว์ด้วยความสงบ

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 หน้า 189 – 191 ขันติ หมายถึง ความอดทนซึ่งเป็นหลักธรรมที่แสดงถึงความเข้มแข็งของจิตใจสามารถทนทานต่อเหตุร้ายต่าง ๆ ได้ และสามารถบังคับกายกับวาจาให้อยู่ในอํานาจได้ด้วย เช่น ความอดทนต่อความทุกข์เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข, ความอดทนต่อความลําบากเพื่อให้ได้มาซึ่งความสบาย, ความอดทนต่อสิ่งที่กวนใจเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นคนดี เป็นต้น

73 ใครมีหลักธรรม “สัจจะ”

(1) ครูปานจริงจังกับการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าภาควิชาปรัชญา

(2) ครูศรีเข้าสอนและเลิกสอนตรงเวลาเสมอ

(3) ครูพิศจริงใจกับเพื่อนเสมอ

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 4 ดูคําอธิบายข้อ 71 ประกอบ

74 “เสียงเท่าฟ้า หน้าเท่ากลอง” เป็นคนขาดหลักสัปปุริสธรรมข้อใด

(1) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ

(2) ความเป็นผู้รู้จักผล

(3) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ

(4) ความเป็นผู้รู้จักบุคคล

ตอบ 3 หน้า 198 ความเป็นผู้รู้จักประมาณ หมายถึง ความรู้จักกําหนดคาดคะเนได้อย่างเหมาะสมพอเหมาะพอควรและพอดีในทุกเรื่อง ซึ่งผู้ที่ขาดหลักธรรมข้อนี้จะมีลักษณะตามสุภาษิตที่ว่า“เสียงเท่าฟ้า หน้าเท่ากลอง” หมายถึง เสียงดังมาก (ดังเกินไป ไม่พอดี)

75 “ใฝ่สูงจนเกินศักดิ์” เป็นคนขาดหลักสัปปุริสธรรมข้อใด

(1) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ

(2) ความเป็นผู้รู้จักผล

(3) ความเป็นผู้รู้จักประมาณ

(4) ความเป็นผู้รู้จักตน

ตอบ 4 หน้า 197 198 ความเป็นผู้รู้จักตน หมายถึง ความพิจารณาตนเองให้เข้าใจว่าตนเป็นจุดกําเนิดของทุกข์ สุข ความเสื่อม และความเจริญ ซึ่งการรู้จักตนเองนั้นต้องรู้ถึงชาติตระกูล วัย ฐานะ ตําแหน่ง สมบัติ บริวาร หน้าที่ และความรับผิดชอบของตนเอง

76 “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” เป็นคนขาดหลักสัปปุริสธรรมข้อใด

(1) ความเป็นผู้รู้จักกาล

(2) ความเป็นผู้รู้จักชุมชน

(3) ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล

(4) ความเป็นผู้รู้จักผล

ตอบ 2 หน้า 199 200 ความเป็นผู้รู้จักชุมชน หมายถึง การรู้จักปรับปรุงตนเองให้เข้ากับสังคมหรือชุมชนต่าง ๆ และวางตนให้เหมาะสมกับสังคมนั้นได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะสอดคล้องกับ สุภาษิตที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ส่วนคนที่ขาดหลักธรรมข้อนี้จะมีลักษณะตามสุภาษิตที่ว่า “ไม่ดูตาม้าตาเรือ” หรือ “ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาวาง”

77 “ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาวาง” เป็นคนขาดหลักสัปปุริสธรรมข้อใด

(1) ความเป็นผู้รู้จักกาล

(2) ความเป็นผู้รู้จักชุมชน

(3) ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคล

(4) ความเป็นผู้รู้จักผล

ตอบ 2 ดูคําอธิบายข้อ 76 ประกอบ

78 สิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดกับประชาชนคืออะไรในทัศนะของ Aristotle

(1) ความร่ำรวย

(2) ความปลอดภัย

(3) ความยุติธรรม

(4) การพัฒนาตนให้สมบูรณ์

ตอบ 4 หน้า 248 249 อริสโตเติล เห็นว่า สังคมและรัฐที่ดี คือสังคมและรัฐที่สามารถทําให้มนุษย์มีชีวิตที่ดี ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ

1 ช่วยพัฒนาชีวิตให้มีเหตุผล คือ ชีวิตที่สามารถ ประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างเหมาะสมมีคุณธรรมทางศีลธรรม

2 ช่วยพัฒนาให้ใช้ชีวิต ที่ตริตรองถึงสัจจะได้ คือ การใช้ชีวิตเพื่อแสวงหาสัจจะหรือที่เรียกว่า คุณธรรมทางปัญญาดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดกับประชาชนคือการพัฒนาตนให้สมบูรณ์

79 สิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดกับประชาชนคืออะไรในทัศนะของเพลโต

(1) ความร่ำรวย

(2) ความปลอดภัย

(3) ความยุติธรรม

(4) การพัฒนาตนให้สมบูรณ์

ตอบ 3 หน้า 247, 270 เพลโต เห็นว่า จิตของมนุษย์มี 3 ประเภท หากสังคมใดสามารถกําหนดให้มนุษย์สามารถทําหน้าที่ที่เหมาะสมกับจิตของตนเองแล้ว เมื่อนั้นความยุติธรรมก็จะปรากฏขึ้น ในสังคม และสังคมดังกล่าวย่อมเป็นสังคมที่ดีที่สุดสําหรับชีวิตที่ดีที่สุดของมนุษย์ผู้จําเป็นต้องอยู่ในสังคม ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องสนับสนุนให้เกิดกับประชาชนคือความยุติธรรม

80 คุณสมบัติที่สมาชิกของรัฐควรมีคืออะไรในทัศนะของรุสโซ

(1) ความจงรักภักดี

(2) การเชื่อฟัง

(3) การคํานึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

(4) ความใสซื่อตามสัญชาตญาณ

ตอบ 3 หน้า 256 257 ในทัศนะของรุสโซนั้น อํานาจอธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคนเพราะสังคมเกิดจากเจตจํานงร่วมของมนุษย์ ดังนั้นผู้ปกครองกับพลเมืองก็คือ คน ๆ เดียวกัน แต่มองคนละด้านเท่านั้น เมื่อสังคมเกิดเป็นองค์กรร่วมหรือเป็นเอกภาพ เจตจํานงเพื่อผลประโยชน์ของแต่ละคนต้องหมดไป เหลือแต่เจตจํานงทั่วไปอันเป็นเจตจํานงเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเท่านั้น

81 สังคมที่มีคุณค่าในทัศนะของ Godwin มีลักษณะอย่างไร

(1) มีแต่ความรักและความเข้าใจ

(2) ปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม

(3) ไม่มีการขูดรีดกดขี่

(4) สามารถให้ความปลอดภัย

ตอบ 1 หน้า 260 ก้อดวิน (Godwin) นักคิดในกลุ่มอนาธิปไตย เห็นว่า สังคมที่ดีที่สุดควรเป็นสังคมที่ไร้รัฐและไร้องค์กรใด ๆ ทั้งสิ้น และปล่อยให้แต่ละคนร่วมมือกันจากความรู้สึกเป็นเพื่อนจากความรักและจากความเข้าใจที่เกิดขึ้นเองโดยไม่มีการบังคับ

82 สังคมที่มีคุณค่าในทัศนะของมาร์กซ์ มีลักษณะอย่างไร

(1) มีแต่ความรักและความเข้าใจ

(2) ปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม

(3) ไม่มีการขูดรีดกดขี่

(4) สามารถให้ความปลอดภัย

ตอบ 3 หน้า 259 สังคมในอุดมคติของมาร์กซ์ คือ สังคมที่ไม่มีชนชั้น ไม่มีการขูดรีดกดขี่ เพราะพื้นฐานการผลิตเป็นแบบคอมมูน กล่าวคือ ไม่มีใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต หรือปัจจัย การผลิตเป็นของส่วนรวมเท่านั้น และรัฐเป็นสิ่งที่ไม่จําเป็นเลยสําหรับสังคม เพราะสมาชิกของสังคมสามารถปกครองดูแลตนเองและควบคุมความประพฤติของตนเองได้อย่างไร

83 โดยทั่วไปทัศนะเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาของนักปรัชญา สัมพันธ์กับเรื่องใด

(1) ทัศนะทางอภิปรัชญา

(2) ทัศนะทางญาณวิทยา

(3) ทัศนะทางศาสนา

(4) ทัศนะทางด้านรัฐ

ตอบ 1, 2 หน้า 266 เป้าหมายของการศึกษาหรือผลที่พึงประสงค์ของการศึกษา คือ การพยายามตอบคําถามที่ว่า เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนนั้นควรเป็นอย่างไร และมีความเหมาะสม หรือไม่ โดยคําตอบของคําถามเหล่านี้จะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับทัศนะความเชื่อของนักปรัชญาทางด้านอภิปรัชญาและญาณวิทยาเป็นอย่างมาก

84 ทัศนะเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาของเพลโต สัมพันธ์กับเรื่องใดมากที่สุด

(1) ทัศนะทางอภิปรัชญา

(2) ทัศนะทางญาณวิทยา

(3) ทัศนะทางศาสนา

(4) ทัศนะทางด้านรัฐ

ตอบ 4 หน้า 269 เพลโตเป็นคนแรกที่กล่าวถึงทฤษฎีการศึกษาอย่างจริงจัง โดยเขาเห็นว่าการศึกษาเป็นวิธีที่จะนําไปสู่ความยุติธรรม คือการที่รัฐสามารถจัดให้คนในรัฐได้ทําหน้าที่ตาม ความเหมาะสมกับความสามารถของตนเอง ดังนั้นเป้าหมายการศึกษาของเพลโตจึงสอดคล้องและสัมพันธ์กับทัศนะทางการเมืองหรือทัศนะทางด้านรัฐมากที่สุด

85 ทัศนะเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาของ St. Augustine สัมพันธ์กับเรื่องใดมากที่สุด

(1) ทัศนะทางอภิปรัชญา

(2) ทัศนะทางญาณวิทยา

(3) ทัศนะทางศาสนา

(4) ทัศนะทางด้านรัฐ

ตอบ 3 หน้า 272, 283 เป้าหมายการศึกษาของเซนต์ ออกัสติน (St. Augustine) จะสัมพันธ์กับทัศนะทางศาสนามากที่สุด กล่าวคือ เขาเห็นว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษาก็คือ การกลับใจ (Conversion) ไปรักพระเจ้า และการสํานึกในบาป (Repentance) ของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทําให้มนุษย์พบกับความสุขที่แท้จริงได้

86 นักปรัชญาคนใดที่ยึดหลักการว่า เป้าหมายของการศึกษาคือคุณธรรม

(1) นักปรัชญายุคก่อนโซฟิสต์

(2) ยุคโซฟิสต์

(3) โซเครตีส

(4) ยุคหลังอริสโตเติล

ตอบ 3 หน้า 268 269 โซ.ครตีส (Socrates) มีทัศนะว่า การศึกษามิใช่กระบวนการที่มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์และความสําเร็จเฉพาะตนเท่านั้น แต่การศึกษาต้องมี จุดมุ่งหมายเพื่อการค้นพบสัจธรรมหรือความจริงเกี่ยวกับคุณธรรม โดยวิธีการศึกษาที่จะนําไปสู่การค้นพบดังกล่าวได้ก็คือ การสนทนาถกเถียง และการซักถาม

87 ข้อใดเป็นวิธีการศึกษาในระดับเริ่มแรกตามแนวคิดของรุสโซ

(1) การเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรง

(2) การใช้การสนทนาถกเถียงเพื่อขจัดความสับสนทางความคิด

(3) การมีศรัทธาอย่างสุดจิตใจ

(4) การใช้เหตุผลพิสูจน์ความศรัทธา

ตอบ 1 หน้า 275 รุสโซ เห็นว่า การศึกษาในชั้นเริ่มแรกสําหรับเด็กเล็ก ๆ คือ การเปิดโอกาสให้เด็กๆได้มีประสบการณ์เป็นของตัวเอง หรือเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง มิใช่การเรียนรู้โดยการอ่านหนังสือ ยกเว้นหนังสืออย่างเรื่องการผจญภัยของโรบินสัน ครูโซ ซึ่งเป็นหนังสือที่เน้นถึงประสบการณ์และการแก้ปัญหาด้วยตัวเองของโรบินสัน ครูโซ

88 ข้อใดเป็นวิธีการศึกษา ในระดับก้าวหน้าของ St. Augustine

(1) การใช้ประสบการณ์ตรงทําความรู้จักสิ่งแวดล้อม

(2) การใช้การสนทนาถกเถียงเพื่อขจัดความสับสนทางความคิด

(3) การมีศรัทธาอย่างสุดจิตใจ

(4) การใช้เหตุผลพิสูจน์ความศรัทธา

ตอบ 4 หน้า 273 เซนต์ ออกัสติน (St. Augustine) ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระดับ คือ

1 ระดับเริ่มแรก เป็นการศึกษาวิชาศิลปศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึกษาแบบเข้มงวดและบังคับให้เชื่อโดยยังไม่ใช้เหตุผล เช่น การอ่านคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลัก ๆ

2 ระดับก้าวหน้า เป็นการศึกษา 2 วิชาสําคัญ คือ เทววิทยาและปรัชญา ซึ่งเป็นการศึกษาที่มีลักษณะของใช้เหตุผลและการพิสูจน์ให้เห็นจริงด้วยตนเองว่าทําไมความเชื่อและศรัทธาในขั้นเริ่มแรกจึงถูกต้อง

89 ข้อใดคือหลักการจัดการศึกษาของเพลโต

(1) จัดให้ลูกคนมีฐานะเท่านั้น

(2) จัดให้เฉพาะลูกผู้ดีมีตระกูล

(3) จัดให้กับลูกกรรมกรเท่านั้น

(4) จัดให้กับคนทุกคนอย่างทั่วถึง

ตอบ 4 หน้า 270, (คําบรรยาย) เพลโต (Plato) เห็นว่า การศึกษามีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในสังคมด้วยการปฏิรูปคนและการปฏิรูปรัฐ โดยรัฐต้องจัดการศึกษาแบบทั่วถึง กล่าวคือ เป็นการศึกษาที่สามารถให้กับทุกคนในสังคมและเป็นการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้ เด็กทุกคนมีโอกาสศึกษาเพื่อทดสอบความสามารถของตนเอง ก่อนที่เขาจะไปปฏิบัติหน้าที่ตามความเหมาะสมของตนให้กับรัฐและสังคม

90 คนที่เป็นผู้ปกครองควรเรียนวิชาใดจนสําเร็จ ในทัศนะของเพลโต

(1) วิชาเศรษฐศาสตร์

(2) วิชาทหาร

(3) วิชาพลศึกษา

(4) วิชาอภิปรัชญา

ตอบ 4 หน้า 246, 270 บุคคลที่เหมาะสมที่สุดและดีที่สุดสําหรับการเป็นผู้ปกครองในทัศนะของเพลโตคือ ราชาปราชญ์ ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ควรจะเรียนวิชาอภิปรัชญาจนสําเร็จ

91 กฎหมายจํากัดความเร็วของรถ เป็นไปตามหลักการใดมากที่สุด

(1) หลักการป้องกันทางศีลธรรม

(2) หลักการป้องกันเหตุร้าย

(3) หลักการป้องกันผลกระทบต่อบุคคลอื่น ๆ

(4) หลักการบังคับให้คนสนับสนุนโครงการสาธารณประโยชน์

ตอบ 2 หน้า 325 – 326 หลักการควบคุมการใช้เสรีภาพของบุคคลเพื่อป้องกันเหตุร้ายต่อตัวเองเห็นว่า รัฐมีหน้าที่ต้องเข้าไปควบคุมเสรีภาพของบุคคล เพื่อป้องกันมิให้บุคคลกระทําในสิ่งที่ อาจเกิดผลร้ายต่อตนเอง เช่น รัฐต้องออกกฎหมายปราบปรามยาเสพติด รัฐต้องออกกฎหมายควบคุมการซื้อและจําหน่ายยา รัฐต้องออกกฎหมายกําจัดความเร็วของรถยนต์ เป็นต้น

92 ข้อใดคือแนวคิดของ “Anarchism” ในเรื่องเสรีภาพ

(1) เสรีภาพไม่ควรมีขอบเขต

(2) ไม่ควรมีเสรีภาพแต่อย่างใด

(3) ไม่ควรจํากัดเสรีภาพกิจกรรมส่วนตนที่ไม่มีผลกระทบคนอื่น ๆ

(4) ควรจํากัดเสรีภาพกิจกรรมส่วนตน เช่น ความประพฤติทางเพศด้วย

ตอบ 1 หน้า 320 ลัทธิอนาธิปไตย (Anarchism) สนับสนุนการใช้เสรีภาพอย่างไม่ถูกจํากัดของบุคคลในสังคม โดยลัทธินี้เห็นว่า รัฐควรมอบเสรีภาพที่สมบูรณ์แก่พลเมืองของตน และไม่ควรเข้าไปยุ่งหรือบังคับให้พลเมืองกระทําสิ่งใด ๆ ที่ขัดต่อเสรีภาพที่มีอยู่

93 ข้อใดคือแนวคิดของมิลล์ ในเรื่องเสรีภาพ

(1) เสรีภาพไม่ควรมีขอบเขต

(2) ไม่ควรมีเสรีภาพแต่อย่างใด

(3) ไม่ควรจํากัดเสรีภาพกิจกรรมส่วนตนที่ไม่มีผลกระทบคนอื่น ๆ

(4) ควรจํากัดเสรีภาพกิจกรรมส่วนตน เช่น ความประพฤติทางเพศด้วย

ตอบ 3 หน้า 319 – 321 มิลล์ สนับสนุนการใช้เสรีภาพของบุคคลอย่างเต็มที่ และไม่ควรจํากัดเสรีภาพของบุคคลที่กระทําในสิ่งที่ไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อบุคคลอื่น เนื่องจากเสรีภาพมีบทบาทสําคัญสําหรับการพัฒนาปัญญาและบุคลิกภาพของบุคคล

94 หลักการแบ่งปันผลประโยชน์หลักการใด มีความเห็นแตกต่างจากหลักการอื่น ๆ ในเรื่องมนุษย์

(1) หลักการแบ่งปันเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์

(2) หลักการแบ่งปันตามความเหมาะสม

(3) หลักการแบ่งปันตามส่วนของแรงงาน

(4) หลักการแบ่งปันตามความมานะพยายาม

ตอบ 1 หน้า 332 – 338 หลักการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์มีความเห็นที่แตกต่างจากหลักการอื่น ๆ เพราะการแบ่งปันผลประโยชน์ประเภทนี้จะแบ่งให้กับมนุษย์ ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถ อายุ เพศ ความมานะพยายาม หรือความเหมาะสมใด ๆ ทั้งสิ้น

95 คนอ่อนแอและคนพิการจะไม่ได้รับความยุติธรรม ถ้าใช้หลักการแบ่งปันผลประโยชน์หลักการใด

(1) หลักการแบ่งปันเท่าเทียมกันอย่างสมบูรณ์

(2) หลักการแบ่งปันตามความเหมาะสม

(3) หลักการแบ่งปันตามส่วนของแรงงาน

(4) หลักการแบ่งปันตามความมานะพยายาม

ตอบ 4 หน้า 337 – 338 หลักการแบ่งปันผลประโยชน์ตามความมานะพยายาม เห็นว่า การแบ่งปันผลประโยชน์จะมากหรือน้อยต้องขึ้นอยู่กับความมานะพยายาม โดยผู้ที่มีความขยันขันแข็ง ในการทํางานจะต้องได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์มากกว่าคนขี้เกียจ ซึ่งข้อบกพร่องของหลักการนี้ก็คือ ไม่ยุติธรรมกับคนที่อ่อนแอและพิการ

96 “ห้ามรถยนต์ใช้ความเร็วเกิน 30 กม./ชม. ในเขตมหาวิทยาลัยรามคําแหง ยกเว้นรถพยาบาล” เป็นกฎที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดต่อทุกคน การบังคับใช้กฎดังกล่าวมีความยุติธรรมอย่างไร

(1) เนื้อหาของกฎหมายไม่ยุติธรรม แต่บังคับใช้อย่างยุติธรรม

(2) เนื้อหาของกฎหมายไม่ยุติธรรม และบังคับใช้อย่างไม่ยุติธรรม

(3) เนื้อหาของกฎหมายยุติธรรม และบังคับใช้อย่างยุติธรรม

(4) เนื้อหาของกฎหมายยุติธรรม แต่บังคับใช้อย่างไม่ยุติธรรม

ตอบ 3 หน้า 330 331 โดยทั่วไปกฎหมายต้องมีข้อความที่ระบุถึงกลุ่มคนที่กฎหมายนั้นต้องใช้บังคับและระบุถึงกลุ่มคนที่ได้รับข้อยกเว้นจากกฎหมายนั้น เช่น กฎหมายห้ามรถยนต์ใช้ความ เกิน 30 กม./ชม. ในเขตมหาวิทยาลัย ยกเว้นรถพยาบาล ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวถือว่ามี ยุติธรรม ทั้งนี้เพราะรถพยาบาลมีความแตกต่างจากรถโดยทั่วไปที่จําเป็นต้องเร่งรีบนําคนหรือผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

97 ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ มุ่งศึกษาปัญหาใด

(1) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต

(2) แบบแผนของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

(3) ความเป็นปรนัยของวิชาประวัติศาสตร์

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 2 หน้า 287 – 289 ปรัชญาประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ หมายถึง ปรัชญาประวัติศาสตร์ที่สืบค้นถึงความหมายและแบบแผนของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้งหลาย ซึ่งปัญหาของปรัชญา เชิงวิเคราะห์นี้ แบ่งออกเป็น

1 แบบแผนของอดีต

2 ความหมายของประวัติศาสตร์

3 ความจําเป็นของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

98 ประวัติศาสตร์เชิงวิจารณ์ มุ่งศึกษาปัญหาใด

(1) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต

(2) แบบแผนของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์

(3) ความเป็นปรนัยของวิชาประวัติศาสตร์

(4) ถูกทุกข้อ

ตอบ 3 หน้า 287, 299 ปรัชญาประวัติศาสตร์เชิงวิจารณ์ หมายถึง ปรัชญาประวัติศาสตร์ที่สืบค้นถึงวิธีการค้นคว้าของนักประวัติศาสตร์เพื่อตัดสินประเภทวิชาของประวัติศาสตร์ว่าสามารถเป็น วิชาประเภทเดียวกับวิทยาศาสตร์หรือไม่ ซึ่งปัญหาของปรัชญาเชิงวิจารณ์นี้ แบ่งออกได้เป็น

1 ปัญหาเรื่องการอธิบายทางประวัติศาสตร์

2 ปัญหาเรื่องปัจเจกบุคคลของประวัติศาสตร์

3 ปัญหาเรื่องความเป็นปรนัยของประวัติศาสตร์

99 การเปลี่ยนแปลงของสถาบันทางสังคมเป็นผลของสาเหตุใดในทัศนะของมาร์กซ์

(1) ผลของการเปลี่ยนแปลงประเพณี

(2) ผลของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

(3) ผลของการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต

(4) ผลของการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ

ตอบ 3 หน้า 293 296 มาร์กซ์ เชื่อว่า สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอันเป็นการเปลี่ยนแปลงของสถาบันทางสังคมนั้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิต โดยยุคเริ่มต้นการผลิตของมนุษย์จะเป็นแบบทาส และพัฒนาเรื่อยมาจนไปสู่จุดหมายการผลิตแบบสังคมคอมมิวนิสต์ที่ปราศจากชนชั้นและไม่มีการขูดรีด

100 “การสร้างประวัติศาสตร์” ของน้าประวัติศาสตร์มีความหมายอย่างไร

(1) นักประวัติศาสตร์เป็นผู้แต่งเรื่องราวจากความจริงบางส่วนของเหตุการณ์ (2) นักประวัติศาสตร์เลือกเฉพาะสิ่งที่ตนเห็นว่าสําคัญมาบันทึกเป็นประวัติศาสตร์

(3) นักประวัติศาสตร์มักจะเป็นวีรบุรุษที่เป็นผู้นําให้เกิดเหตุการณ์สําคัญ

(4) นักประวัติศาสตร์เป็นคนรื้อฟื้นอดีตที่ถูกลืมแล้ว

ตอบ 2 หน้า 307 308 การสร้างประวัติศาสตร์ของนักประวัติศาสตร์ มิได้มีความหมายเพียงแค่การบรรยายหรือบันทึกสิ่งที่เขารู้ทั้งหมดเท่านั้น แต่เขาจะต้องเลือกเฉพาะสิ่งสําคัญที่เกี่ยวข้อง กับเหตุการณ์ที่ศึกษามาบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ๆ

 

Advertisement